xs
xsm
sm
md
lg

บ้านเมืองไม่(ค่อย)มีขื่อมีแป

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ความรู้สึกของสังคมเมื่อปรากฏข่าวว่า “ไฮโซ” (ซึ่งภายหลังถูกกระเทาะเปลือกออกจนโบ๋เบ๋ว่าเป็นแค่นักเลงนอมินี) แฟนดาราสาวที่ต้องข้อหาว่าทำร้ายร่างกายลูกนายพลจนได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้นคือความสะใจ

ความสะใจที่รอบนี้ “ขาใหญ่” จะได้เจอ “ตอ” เสียบ้าง แถมเป็นตอขนาดใหญ่ที่จมเรือทั้งลำก็ได้ด้วย

ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้คนต่อข่าวนี้ว่า “ให้เขาจัดการกันเองก็แล้วกัน” หรือบางคนก็เดาะใช้ภาษาอังกฤษว่า “Let them fight.” เพราะรู้สึกว่านี่เป็นมวยที่ถูกคู่แล้วในสังคมแบบ “ตอๆ” ของบ้านเรา ฝ่ายหนึ่งเป็นนายทุนขาใหญ่แฟนดารา อีกฝ่ายเป็นลูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นายพลทหารบก

ความรู้สึกของประชาชนที่รู้สึกว่า กฎหมายบ้านกบิลเมืองนั้นคุ้มครองอะไรเราไม่ได้ เมื่อก้าวเท้าย่างกรายไปในบางสถานที่ ซึ่งมีกฎของเขา หรือมี “คน” จำนวนหนึ่งไม่ต้องทำตามกฎหมาย และประพฤติตนราวกับแน่ใจว่ากฎหมายไม่มีวันทำอะไรได้

อย่างในเรื่อง ก็เช่นปิดห้องน้ำทำอะไรไม่ทราบอยู่เป็นครึ่งค่อนชั่วโมง พอเจ้าทุกข์ไปโวยวายก็กระทืบเขาเสียน่วม หรือพฤติกรรมของการเปิดสถานบันเทิงใกล้สถานศึกษาแบบไม่ยี่หระต่อกฎหมายหรือแม้แต่คำสั่ง คสช. หรือการต่อเติมอาคารเปิดเป็นสถานประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแสดงถึงความย่ามใจแบบอำเภอใจที่เหมือนกับบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย

อาศัยหลักการว่าใครใหญ่ใครอยู่ ใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้ ถ้าเส้นไหวเงินถึง คนพวกนี้เหิมเกริมตั้งตัวเองเป็นไฮโซบ้าง เซเลบบ้าง เพื่อยกระดับตัวเองให้อยู่เหนือกว่าลูกชาวบ้านหลานชาวเมืองทั่วไป

อภิสิทธิชนพวกนี้ ใครๆ ก็รู้ทั้งนั้น แต่ทำอะไรไม่ได้ ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐถ้าไม่มีเส้นมีสายก็อาจจะเป็นภัยแก่ตัวเองเดือดร้อนอีก

ดังนั้นเมื่อพวก “อภิสิทธิชน” เหล่านี้ไป “ชนตอ” เข้ากับ “ของจริง” ก็เกิดเป็นความสะใจของประชาชนคนตัวเปล่าที่โดยปกติแล้วแทบไม่อาจต่อกรกับคนพวกนี้ได้เลย อย่างข่าวเมื่อไม่นานก่อนเรื่องนี้ ขนาดเป็นตำรวจผู้รักษากฎหมาย ยังถูกอันธพาลคุมสถานบันเทิงยิงตายเอาฟรีๆ ยังมีเลย

บางคนแอบคิดแอบเชียร์ในใจให้ฝ่าย “ตอ” นายทหารคุณพ่อของผู้เสียหาย “สั่งสอน” ด้วยวิธีการแบบเดียวกันนั้นด้วย อย่างที่บางคนก็ไปยกข่าวเก่าของพวกอันธพาลคุมผับที่ดันไปทำร้ายร่างกายคนมีสีเข้า และพบจุดจบแบบจับมือใครดมไม่ได้

แต่คราวนี้คงเป็นความโชคดีของฝ่ายอันธพาลคุมสถานบันเทิง ที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นนายทหารที่มีเมตตาและตรงไปตรงมา ท่านเพียงต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียหายบุตรชายของท่านเท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายเองก็เป็นบุคคลที่จิตใจดีและเชื่อมั่นในความยุติธรรมเช่นกัน อย่างที่ได้แสดงความเห็นเปิดใจออกมาในโซเชียลเน็ตเวิร์กของเขา เรียกเสียงชื่นชมจากคนที่ไปพบเห็นว่าเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการศึกษาและอบรมมาดีจริงๆ

ผลของการเรียกร้อง “ความเป็นธรรม” ของฝ่ายนายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ได้ “ความเป็นธรรม” มาตามครรลองที่ควรจะเป็นตามกฎหมายจริงๆ มีการเร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ ทั้งผู้สั่งการและผู้ร่วมกระทำการ

ส่วนสถานบันเทิงต้นเหตุนั้นก็ได้รับการดำเนินการตาม “กระบวนยุติธรรม” ทันตา เมื่อถูกตรวจสอบเรื่องใบอนุญาตการก่อสร้างต่อเติม ใบอนุญาตการประกอบกิจการ และการเปิดกิจการใกล้สถานศึกษา จนถูกสั่งปิดไปแบบทันตาทันใจ

“ความยุติธรรม” ที่ทางฝ่ายผู้เสียหายได้รับก็ดี หรือการ “บังคับใช้กฎหมาย” ที่เคร่งครัดตามหลักเกณฑ์ก็ตามนั้นจะมองว่าเป็นเรื่องที่ดีก็อาจจะได้

แต่ปัญหาของเรื่องนี้ คือความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องเฉพาะคดีไป ซึ่งมันสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายในภาพรวม

เอาง่ายๆ คือสถานบันเทิงเปิดบริการมาเป็นเวลานานได้อย่างไรโดยไม่ต้องทำตามกฎหมาย บางเรื่องเป็นเรื่องที่มองไปก็เห็นประจักษ์ เช่นการเปิดอยู่ใกล้สถานศึกษาซึ่งขัดต่อประกาศของ คสช.ที่เป็นเหมือน “องค์อำนาจ” ในทางความเป็นจริงในบ้านในเมืองเราตอนนี้ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีการปล่อยปละละเลยกันได้

รวมถึงการที่มี “อันธพาล” ประจำสถานบันเทิงที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รู้กันหมดในวงการแล้วว่า ถ้าใครจะไปเที่ยวสถานที่เหล่านี้ พึงหลีกเลี่ยงคนกลุ่มนี้ไว้ให้ดีก็แล้วกัน เพราะมีเรื่องอะไรขึ้นมาก็ได้แต่เจ็บฟรีตายฟรี

อย่างถ้าเหตุการณ์ในผับที่เกิดเหตุคืนนั้น ผู้เคราะห์ร้ายเป็นนักศึกษาธรรมดาสักคนหนึ่ง เรื่องก็คงจะจบเงียบๆ ลงอย่างนั้น เป็นเรื่องของคนเคราะห์ร้ายไปสะดุดเท้าอันธพาลประจำสถานบันเทิงไป

สิ่งที่สังคมเราต้องคิดคือ อะไรกันเล่า ที่ทำให้คนบางกลุ่มเชื่อว่าตัวเองมี “อภิสิทธิ์” เหนือคนอื่น ไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะกฎหมายอาญาหรือกฎหมายปกครอง

นึกจะเปิดผับเผิดบาร์ตรงไหนก็เปิดได้ เปิดขึ้นมาแล้วหานักเลงอันธพาลมาดูแลจัดการบังหน้า แล้วนักเลงคุมร้านพวกนั้นนึกอยากจะกระทืบใครก็ทำได้ไม่ต้องกลัวกฎหมายบ้านกบิลเมือง

เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบ ปล่อยปละให้มีบุคคลที่ใช้อภิสิทธิ์ตามอำเภอใจโดยไม่ยี่หระต่อกฎหมายนี้อยู่ได้อย่างไรกัน

จนต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ “เหยียบผิดตีน” หรือ “กร่างชนตอ” กันหรือ จึงจะมีการดำเนินคดีหรือค่อยพลิกหากฎหมายมาเอาผิดมาบังคับกันได้

มีคำพูดในทางกฎหมายกล่าวไว้ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม แต่สำหรับเรื่องนี้นั้นจะต้องกล่าวเพิ่มไปด้วยว่า กระบวนยุติธรรมที่ไม่ได้มีให้สำหรับทุกคนนั้นคือความอยุติธรรม

การที่บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปเสียเลย อาจจะไม่น่ากลัวเท่าขื่อแปนั้นมี แต่ไม่ได้มีไว้ลงกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น