ในขณะที่กรุงเทพมหานคร เพิ่งจะได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ด้วยวิธีพิเศษ หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 สั่งให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เพราะถูกตรวจสอบการทุจริตไปก่อนหน้านี้
ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ก็กำลังอยู่ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการคนใหม่ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการในหมายเลขเดียวกัน ซึ่งจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยพบว่านอกจากผู้ว่าราชการคนเก่าจะขอลงชิงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งแล้ว ยังมีผู้สมัครหน้าใหม่ที่โปร์ไฟล์ถือว่าไม่ธรรมดา
เริ่มจาก หมายเลข 1 พันตรีอากัส ฮาริมูร์ติ ยุดโดโยโน อดีตนายทหารวัย 38 ปี บุตรชายคนโตของ พลเอกซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จบการศึกษาจากโรงเรียนทหารฟอร์ดลีเวนเวิร์ธ สหรัฐอเมริกา ก่อนศึกษาต่อทางทหารในประเทศ ต่อปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษายุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์
ที่ผ่านมา อากัสได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ ในจังหวัดอาเจะห์ บนเกาะสุมาตรา เพื่อสู้รบกับกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนที่ชื่อว่า ขบวนการอาเจะห์เสรี และในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนเมื่อปี ค.ศ. 2006 อินโดนีเซียส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีอากัสรวมอยู่ด้วย
เมื่อเดือนกันยายน 2559 อดีตประธานาธิบดีซูซิโล ประกาศเสนอชื่อพันตรีอากัส ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา โดยได้เพิ่งยื่นใบลาออกจากกองทัพอินโดนีเซียก่อนครบกำหนดเส้นตาย คราวนี้ลงสมัครพร้อมด้วย นางซิลเวียนา เมอร์นิ ผู้ช่วยผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา
การลาออกของพันตรีอากัส เพื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง สร้างความประหลาดใจต่อหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือ พลเอกกาต็อต นูร์มันต์โย ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ยืนยันว่า ไม่ว่าอากัสจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง แต่หากลาออกไปแล้ว จะไม่สามารถกลับเข้ามาร่วมงานกับกองทัพอินโดนีเซียได้อีก
แต่ก็มีคนวิเคราห์กันว่า หากอากัสชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตามาได้ ก็จะได้เป็นใบเบิกทางในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เหมือนกับนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตามาก่อน เชื่อกันว่าเป็นการสานต่องานการเมือง ต่อจากพลเอกซูซิโล ที่ลงรับสมัครเลือกตั้งไม่ได้อีก เนื่องจากดำรงตำแหน่งมาแล้วสูงสุด 2 สมัย
ต่อกันด้วยหมายเลข 2 เป็นของ นายบาซูกี จาฮายา ปุรนามา ขอชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาอีกสมัย พร้อมด้วย นายดจาโรท ไซฟุล ฮิดายัต รองผู้ว่าฯ ซึ่งนายบาซูกีเรียกกันว่า "อาฮก" (AHOK) เป็นชาวฮากกา หรือจีนแคะ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จบปริญญาตรีด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยตรีซากิ
เข้าสู่แวดวงการเมือง จากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในเกาะบังกาเบลีตุง อินโดนีเซีย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วลาออกไปสมัครเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา กับ นายโจโค วิโดโด และชนะการเลือกตั้ง จากนั้นนายโจโควีลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และชนะการเลือกตั้ง จึงได้ส่งไม้ต่อให้กับนายอาฮก เป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตามาถึงปัจจุบัน
ส่วนหมายเลข 3 เป็นของ นายแอนีส บาสเวดาน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย เขาลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกับ นายแซนดิกา อูโน ผู้ก่อตั้งบริษัทด้านการลงทุน ซาราโตกา แคปิตอล ที่คนอินโดนีเซียรู้จักเขาในฐานะนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง และเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับของประเทศ
ก่อนหน้านี้นายแอนีสถูกนายโจโควีปรับออกจากตำแหน่ง หลังทำหน้าที่มาได้ 20 เดือน ผลงานที่ถูกวิจารณ์อย่างมากคือ การผลักดันหลักสูตรการศึกษาใหม่ ตัดวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ออกจากวิชาบังคับของนักเรียนประถม แทนที่ด้วยวิชาภาษาอินโดนีเซีย อุดมการณ์ของชาติ และอิสลามศึกษา แต่ภายหลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจึงได้ยกเลิก
แม้หลังการจับสลากหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าจาการ์ตา (เจไอ เอ็กซ์โป) ในย่านเคมาโยรัน เขตกรุงจาการ์ตากลาง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา จะเป็นการส่งสัญญาณลั่นกลองรบ สู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
แต่ระหว่างนั้นก็เกิดเรื่องราวขึ้นกับผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาคนปัจจุบันอย่างนายอาฮก เกี่ยวกับคำพูดที่ทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา นายอาฮกได้ประชุมสภาบนหมู่เกาะปูเลาเซริบู (Pulau Seribu) ทางชายฝั่งเหนือกรุงจาการ์ตา ในตอนหนึ่งเขากล่าวทำนองว่า "มีคนหน้าเดิม (ฝ่ายตรงข้ามของเขา) ได้กล่าวไปยังพ่อแม่พี่น้องไว้ในใจว่าไม่ให้เลือกตน โดยใช้คำสอนบทหนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอาน คือ ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ (Al-Maidah) อายะหฺ 51 ต่าง ๆ นานา"
เมื่อคำพูดของนายอาฮก กลายเป็นไวรัลในสังคมออนไลน์ ผู้คนบนโลกโซเชียลต่างก็กระพือความโกรธแค้น ผู้นำมุสลิมกว่า 10 แห่ง แสดงความไม่พอใจ แม้นายอาฮกจะออกมาขออภัยก็ตาม ระบุว่าคำพูดถูกบิดเบือน ยืนยันว่าไม่มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์คัมภีร์อัลกุรอาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามนำข้อความจากพระคัมภีร์มาใช้โจมตีตน
แต่ สภานักวิชาการมุสลิมอินโดนีเซีย (MUI) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าถ้อยแถลงของนายอาฮกมีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนา นำไปสู่การเคลื่อนไหวในนามกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มแนวหน้าปกป้องอิสลาม” (FPI) ที่มี นายโนเวล ไชเดอร์ ฮาซาน เป็นแกนนำ เพื่อเรียกร้องให้นายอาฮกลาออกและถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
เริ่มต้นชุมนุมที่ด้านนอกศาลาว่าการกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทั่งการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการ 4 พฤศจิกายน” โดยชาวมุสลิมนับแสนคน รวมตัวกันที่มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดของกรุงจาการ์ตาเพื่อสวดมนต์ ก่อนที่จะออกมาเดินขบวนบนถนน ปลุกระดมเรียกร้องให้ตำรวจจับกุมและกักขังเขา รวมทั้งแขวนคอในข้อหาหมิ่นศาสนา
หนึ่งในนั้นคือนักการเมืองสายอิสลาม อย่าง นายฟาห์รี ฮัมซาห์ จากพรรคยุติธรรมรุ่งเรือง หรือ PKS (Partai Keadilan Sejahtera) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย กล่าวว่า “มันไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้คนลุกฮือ ทำไมเมื่อเป็นกรณีของอาฮก กฎหมายนี้ถึงไม่ถูกใช้”
แม้ประธานาธิบดีโจโควี จะพบกับผู้นำทางศาสนา และผู้นำทางการเมือง เรียกร้องต่อต้านความรุนแรง ตำรวจพยายามจัดกิจกรรมสวดมนต์และเรียกร้องสันติภาพผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็ไม่เป็นผล
พอเข้าสู่ช่วงเย็น ฝูงชนก็เริ่มควบคุมยาก ปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ จุดไฟเผารถยนต์ 2 คัน ตกดึกผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ และปล้นสดมภ์ร้านสะดวกซื้อ ที่สุดแล้ว การชุมนุมอย่างโกรธแค้น โดยชาวมุสลิมนับแสน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย บาดเจ็บ 12 คน ตำรวจอินโดนีเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยนับสิบคน ที่อาจเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง
ประธานาธิบดีโจโควี ถึงกับเปิดแถลงข่าวกลางดึก เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ พร้อมประณามสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเวลาละหมาดอิชาอ์ (ละหมาดกลางคืน) ซึ่งการชุมนุมควรจะยุติลงอย่างสงบ แต่กลับมีความรุนแรงเกิดขึ้น และเชื่อว่ามี "นักการเมืองบางกลุ่ม" ที่จงใจแสวงหาผลประโยชน์จากการชุมนุมครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ตำรวจอินโดนีเซียสอบปากคำนายอาฮก หลังการประท้วงผ่านไป 3 วัน กระทั่งวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ติโต คาร์นาเวียน ระบุว่า นายอาฮกเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างเป็นทางการ ควรเข้าสู่การพิจารณาคดี และสั่งไม่ให้ออกนอกประเทศ แม้ยอมรับว่ามีความเห็นแย้งกันอย่างรุนแรงและการตัดสินใจนี้ไม่ได้เป็นเอกฉันท์
หากผลการพิจารณาคดีระบุว่ามีความผิด ภายใต้กฎหมายหมิ่นศาสนาอย่างเข้มงวด จะต้องถูกจำคุกนานสูงสุด 5 ปี
อันที่จริง หากใครได้ตามข่าวความเคลื่อนไหวในอินโดนีเซีย จะพบว่านายอาฮกมีปัญหากับชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งมานานแล้ว ด้วยความที่นายอาฮกนับถือศาสนาคริสต์ และถือเป็นผู้ว่าฯ ชาวคริสต์คนแรกในรอบ 50 ปีของกรุงจาการ์ตา ในประเทศที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิม องค์กรอิสลามในกรุงจาการ์ตาอย่างน้อย 8 แห่ง ที่เขาจะต้องเป็นประธานโดยตำแหน่ง
ก็มีชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ ถึงขั้นประท้วงขัดขวาง ไม่ให้นายอาฮกได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
แต่ที่ผ่านมา นายอาฮกพยายามสื่อสารว่า เขาได้สนับสนุนกิจการของศาสนาอิสลาม ได้แก่ สานต่อโครงการก่อสร้างมัสยิดฟาตาฮิลลาห์ ให้เงินอุดหนุนมัสยิด ส่งผู้แสวงบุญไปประกอบพิธีฮัจญ์ จ้างครูผู้สอนอัลกุรอานในมัสยิดรายได้ขั้นต่ำ 3.1 ล้านรูเปีย (ประมาณ 8,200 บาท) ต่อเดือน และการให้พนักงานรัฐกลับบ้านตั้งแต่บ่ายสองโมงในเดือนรอมฎอน
ถ้าจะกล่าวถึงด้านอื่น ๆ นายอาฮกถือเป็นนักการเมืองหัวสมัยใหม่ ชูความโปร่งใส ถึงขนาดให้เบอร์มือถือส่วนตัว ไว้ส่งข้อความ SMS เพื่อติดต่อหรือร้องเรียนได้ทุกเมื่อ แจกแจงรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงจาการ์ตา ให้ผู้เสียภาษีตรวจสอบได้ รวมทั้งยังให้บริการประชาชนที่ดีขึ้นในด้านสาธารณสุข การศึกษา และการรักษาความสงบเรียบร้อย
แต่ที่เขย่าแวดวงข้าราชการในกรุงจาการ์ตา ก็คือ การทำงานแบบโผงผางของนายอาฮก
ครั้งหนึ่ง นายอาฮกเคยบุกไปสำนักงานด้านการขนส่งของจาการ์ตา แบบที่คนข้างในไม่ทันตั้งตัว และขู่ไล่ออกเจ้าหน้าที่ทุจริต มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นเวลานายอาฮกอารมณ์ขึ้น จะต่อว่าเจ้าหน้าที่ทำงานไร้ประสิทธิภาพกลางที่ประชุม แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ชอบ และคนที่รู้สึกขัดหูขัดตา เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมชาวชวาที่สุภาพถ่อมตน
นอกจากนี้ ความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้วยการรื้อถอนชุมชนแออัดริมน้ำเมื่อปีที่แล้ว ก็ถูกชาวบ้านอย่างชุมชนแออัดกัมปุงปูโล ริมแม่น้ำซิลิวุง ต่อต้านการรื้อทำลายบ้านเรือน 150 หลัง ที่ตั้งกีดขวางเส้นทางระบายน้ำ ผู้ชุมนุมใช้ก้อนหินขว้างปาใส่ตำรวจและจุดไฟเผารถแบ็กโฮ ต้องใช้แก๊สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำยิงสลายการชุมนุม
แม้จะเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ชาวอินโดนีเซียที่ยึดแนวทางอิสลามสายกลาง การชุมนุมประท้วงซึ่งใหญ่โตและรุนแรงเช่นครั้งนี้ ก็แทบไม่เคยเกิดขึ้น น่าคิดว่า ภาพความรุนแรงของชาวมุสลิมที่ไม่พอใจนายอาฮก จะส่งผลให้ชาวจาการ์ตาที่มีอยู่ราว 10 ล้านคน ลังเลที่จะเลือกเขา เพราะไม่อยากเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่
และความไม่พอใจนายอาฮกของชาวมุสลิมในวันนั้น จะส่งผลดีต่อผู้สมัครอีกสองฝั่ง โดยเฉพาะพันตรีอากัส ที่อาจก้าวมาเป็นประธานาธิบดีตามรอยบิดา หรือนายแอนีสที่จะเป็นม้ามืดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นงานยากและท้าทายสำหรับนายอาฮก จะสามารถผ่านด่านหิน ที่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ถึงขั้นขัดแย้งทางศาสนา ที่อาจกลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา
สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่งก็คือ หากคำพูดของนายอาฮก ระบุเจตนาในการพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการนำเรื่องความแตกต่างทางศาสนามาใช้โจมตีตนจริง รวมทั้งประธานาธิบดีโจโควีระบุว่า นักการเมืองบางกลุ่มจงใจแสวงหาผลประโยชน์จากความขัดแย้งทางศาสนา ย่อมแสดงให้เห็นว่า เรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไม่ว่าเรื่องใด ๆ มักจะถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือเสมอ
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยบ้านเรา แม้คนไทยยังสามารถนับถือศาสนาได้อย่างเสรี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ที่ผ่านมาเรื่องศาสนา กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปกป้องอุดมการณ์ หรือผลประโยชน์ของตนเอง และทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม และก็มีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทางศาสนาเหล่านั้น
บทเรียนจากอินโดนีเซียในวันนั้น ยังรู้สึกว่าประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีการเคร่งครัดเรื่องศาสนา ส่วนตัวยังขอยืนยันคำเดิมว่า ไม่เห็นด้วยหากจะให้บัญญัติศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะเปรียบเสมือนผลักไสให้ศาสนิกชนอื่นถูกมองว่าเป็นคนนอกรัฐธรรมนูญ เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาซ้ำเติมเข้าไปอีก.
อ่านข่าวเก่า
- Focus: “อาฮก” หนุ่มอิเหนา “เชื้อจีน-นับถือคริสต์” จ่อนั่งเก้าอี้ “พ่อเมืองจาการ์ตา” คนใหม่ (15 สิงหาคม 2557)
- “อาฮก” พ่อเมืองจาการ์ตาที่ “นับถือคริสต์” คนแรกในรอบ 50 ปี เข้าพิธีสาบานตนวันนี้ (19 พฤศจิกายน 2557)