วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
เดือนกันยายน 2559 มีข่าวเศร้าปนอกสั่นขวัญแขวนของคนวงการสื่อหลายชิ้นด้วยกัน ตั้งแต่ข่าวการปิดตัวลงของนิตยสารเก่าแก่ และนิตยสารคุณภาพของแผงหนังสือถึง 3 หัวด้วยกันคือ สกุลไทย WHO และพลอยแกมเพชร การลาจอของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทีนิวส์ รวมไปถึงข่าวลือต่างๆ นาๆ ในแวดวงหนังสือพิมพ์ว่าฉบับนั้นฉบับนี้กำลังจะปิดตัว
จริงๆ ไม่ใช่แค่วงการสื่อสารมวลชนที่กำลังดิ้นรนเอาตัวรอดจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ณ ปัจจุบัน เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาผมก็มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนหลายแห่งด้วยกัน มีข้อมูลที่เป็นห่วงก็คือ ช่วงหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนหลายแห่งมีจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยบางแห่งปรับลดอาจารย์ไปแล้วหลายร้อยตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่น้อยลง มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งที่คาดการณ์สถานการณ์ออกล่วงหน้าก็นำสินทรัพย์ที่พอมีนำมาปัดฝุ่นปั้นเป็นโครงการหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถจุนเจือกับงบประมาณจากภาครัฐ และรายได้รวมจากค่าธรรมเนียมการศึกษา (ค่าเทอม) ที่มีแนวโน้มลดลง
ในแวดวงผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิเคราะห์กันว่า สถานการณ์จำนวนนักศึกษาที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งหากนับนิ้วดูแล้วเด็กที่เกิดหลังช่วงปี 2540 ก็จะโตเป็นวัยรุ่น เข้ามหาวิทยาลัยในช่วง 2-3 ปีนี้ (พ.ศ.2557-2559) พอดิบพอดี
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) ระบุว่า ปี 2540 ประเทศไทยมีนักเรียนในระบบการศึกษาจำนวน 13.8 ล้านคน โดยเป็นนักเรียนประถมศึกษาซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ที่สุด 5.9 ล้านคน ลดลงเหลือ 5.1 ล้านคนในปี 2552 และคาดว่าจะเหลือ 4 ล้านคนในปี 2573 และเหลือเพียง 3.4 ล้านคนในปี 2583 เช่นเดียวกัน เด็กวัยเรียนกลุ่มอื่นๆ ก็มีสัดส่วนลดลงด้วย [1]
ขณะที่ตัวเลขปี 2555 จำนวนนักเรียนรวมทุกชั้น (อายุ 3-21 ปี) มี 18.2 ล้านคน และคาดว่าจะลดลงเหลือ 14.2 ล้านคน ในปี 2583 หรือกล่าวได้ว่าภายใน 20 กว่าปีข้างหน้าเด็กและเยาวชนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาจะลดลงกว่า 4 ล้านคน หรือลดลงราวร้อยละ 22
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้ระบบการศึกษาต้องปรับตัวอีกมากมาย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ อินเทอร์เน็ต และความก้าวหน้าของวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงให้สื่อและวิธีการเรียนการสอนต้องปรับตัว และปรับรูปโฉมใหม่ทั้งหมด
จากภาพใหญ่ด้านประชากร มาถึงภาพย่อยทางการศึกษา เน้นไปที่ระดับอุดมศึกษา มองลึกลงไปถึงการเรียนการสอนด้านสื่อมวลชน นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงต่างๆ หลายเดือนก่อน ผมได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง อาจารย์ท่านดังกล่าวปรับทุกข์กับผมว่า ปีนี้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่องค์กรสื่อแห่งหนึ่ง แต่แทนที่จะได้รับคำชมเชยเช่นทุกปี ปีนี้กลับได้ยินเสียงบ่นมาว่า นักศึกษาที่ส่งไปฝึกงานขาดทักษะทางสื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะ สื่อออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจารย์ก็ยอมรับว่าตัวเองก็โตมากับยุคสื่อกระดาษ-สื่อหนังสือพิมพ์ ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสื่อในยุคออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ อยากให้ผมช่วยให้คำปรึกษา
ผมนั่งคิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนตอบอาจารย์ท่านดังกล่าวไปว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นปัจจุบันกับแวดวงสื่อสารมวลชนอาชีพ จะส่งผลกระทบไปถึงระบบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเมื่อสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ปิดตัวลง นั่นหมายถึงตำแหน่งงานในแวดวงสื่อสารมวลชนอาชีพนั้นลดจำนวนลง
ทว่า ในขณะเดียวกันกับที่สื่อส่วนหนึ่งปิดตัว กลับมีสื่อใหม่เกิดขึ้นมาแทน ทำให้ตำแหน่งงานบางตำแหน่ง ทักษะบางทักษะในแวดวงสื่อสารมวลชนเป็นที่ขาดแคลน เช่น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักออกแบบ UI/UX (UI/UX Designer) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและโฆษณาดิจิทัล (Digital Specialist) ผู้จัดการสื่อโซเชียล (Social Media Manager) คนคัดเรื่อง (Content Curator) ผู้สื่อข่าวโซเชียล ฯลฯ
ผมเชื่อว่าหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมไปผลิตบุคลากรเหล่านี้ เพราะบางตำแหน่งงานอย่างเช่น โปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาแอปพลิเคชันนั้นเป็นวิชาที่สอนกันในคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์มากกว่า ส่วนเรื่องวิทยาศาสตร์ข้อมูล การตลาดและโฆษณาดิจิทัลในปัจจุบันนั้นคาบเกี่ยวกับหลักสูตรทางด้านการตลาด สถิติ และทางด้านไอทีค่อนข้างมาก
ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ ผมจึงเชื่อว่าในยุคสมัยที่สื่อมวลชนต้องปรับตัวขนานใหญ่ ระบบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ในบ้านเราก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่ด้วยเช่นกัน
แม้เราทุกคนจะทราบดีว่า “สื่อมวลชนคุณภาพ (Good Journalism)” จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมที่กำลังพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาด แต่ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงสื่อทุกวันนี้ พวกเราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และในที่สุดต้องร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออก
ข้อมูลอ้างอิง :
[1] โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (4): เมื่อเด็กวัยเรียนลดลงทุกระดับ ; http://thaipublica.org/2014/03/population-structure-4/