xs
xsm
sm
md
lg

Alone in Gifu ๑.๔ : บุกปราสาทกิฟุ - ไหว้พระใหญ่ที่สุดในเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน
Alone in Gifu ๑.๐ : กว่าจะถึงทาคะยะมะ ...
Alone in Gifu ๑.๑ : ตะลุย หมู่บ้านชาวฮิดะ Hida no sato
Alone in Gifu ๑.๒ : มรดกโลก Shirakawa go
Alone in Gifu ๑.๓ : Sanmachi เขาว่าที่นี่ Little Kyoto
Alone in Chubu : ข้าวหน้าทะเล สุดอลัง!! ที่ Kanazawa
Alone in Kyoto ๒.๐ : Nishi hongan ji วัดนี้ไม่ธรรมดา
Alone in Kyoto ๒.๑ : Nijo castle ที่นี่(เคย)มีปราสาท?
Alone in Kyoto ๒.๒ : ศาลเจ้า สำหรับสาวที่อยากสวย?

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๙ : สถานีรถไฟเจอาร์นาโกย่า จ.ไอจิ

ท่านผู้อ่านยังจำกันได้ไหมครับว่า ทริปนี้ผมได้ใช้บัตรโดยสารที่ชื่อ ทาคะยะมะ โฮคุริคุ พาส เดินทางท่องเที่ยวจากนาโกย่า ไปทาคะยะมะ คานะซะวะ จนถึงเกียวโต รวมแล้วก็ ๔ วันผ่านไป ... มาถึงวันนี้ วันที่ ๕ ของการเดินทาง และเป็นวันสุดท้ายที่ผมจะสามารถใช้บัตรเบ่งอันนี้นั่งรถไฟไปตามเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขได้ ผมจะไปที่ไหนดี ...

และคำตอบก็คือ... เมืองกิฟุ ครับ

เช้านี้ผมรีบมาที่สถานีรถไฟ เพื่อกลับไปยัง จ.กิฟุ อีกครั้ง แต่คราวนี้เราจะไปกันที่อำเภอเมือง ที่นี่ก็มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอยู่เช่นกัน พาหนะที่จะพาไปเรายังเมืองนั้น ก็คือรถไฟสายโทะไคโดะ ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๐ นาทีเศษก็ถึงสถานีรถไฟเจอาร์ กิฟุ ที่นี่มีป้ายต้อนรับเขียนเป็นภาษาไทยด้วย แสดงว่าคนไทยต้องมาเที่ยวไม่น้อยเลยทีเดียว ... เหรอ?

พอเดินออกจากสถานีรถไฟ ก็ได้พบกับอนุสาวรีย์นักรบสีทองยืนสูงเด่นตรงลานกว้างหน้าสถานี ท่านผู้นั้นก็คือ “โนบุนะงะ โอดะ” ไดเมียวผู้พยายามรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวในยุคเซ็งโงกุ บุคคลผู้มีความสำคัญต่อเมืองนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเขาเนี่ยล่ะที่เป็นคนเปลี่ยนชื่อเมืองจาก อิโนะกุจิ (Inokuchi) เป็น กิฟุ ในปัจจุบัน พร้อมกับสร้างเมืองและตลาดให้พ่อค้าเข้ามาทำการค้าอย่างเสรี จนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการค้าและการแลกเปลี่ยนที่สำคัญของภูมิภาค เขาพำนักอยู่ที่นี่เป็นเวลา ๙ ปี ก่อนย้ายกลับไปยังเมืองอะซุจิ (Azuchi) (จ.ชิงะ ในปัจจุบัน)

โดยจุดหมายของเราแห่งแรกก็คือ ปราสาทกิฟุ ครับ ก่อนอื่นผมต้องไปขึ้นรถเมล์ที่ป้ายหมายเลข ๑๒ เพื่อนั่งไปลงสวนสาธารณะกิฟุ ที่อยู่ไม่ไกลนัก ซึ่งคันนี้วิธีขึ้นดูจะไม่คุ้นเคยกับผมเสียเลย เพราะเมื่อผมขึ้นบันไดไป ผมต้องรอรับตั๋วจากกล่องอัตโนมัติก่อนจึงจะไปนั่งได้ โดยในตั๋วจะเขียนแค่ตัวเลขป้ายต้นทาง แล้วให้ดูค่าโดยสารตามตารางบนจอทีวีหน้ารถ มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามระยะทางที่ไกลออกไป พอตอนลงก็นำเงินไปหยอดตรงช่องด้านข้างคนขับ อันนี้แปลกดี

ระหว่างทางพอใกล้จะถึงป้ายสวนสาธารณะกิฟุ ถ้าเรามองเงยหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้า เราจะเห็นตัวปราสาทตั้งตระหง่านบนยอดเขา ดูแล้วน่าขึ้นไปจริงเชียว ไม่นานนักรถก็จอดลงตรงป้าย แต่ว่าสวนมันไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ ต้องข้ามถนนเดินทะลุซอยไปอีกราวๆ ๑๐๐ เมตร ได้



โดย “สวนสาธารณะกิฟุ” (Gifu park) อยู่ตีนเขาคินคะ (Kinkazan) เปิดเป็นสวนให้ประชาชนเข้าชมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๑ ซึ่งพื้นที่รอบๆ นี้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นบ้านพักของไดเมียวโนบุนะงะ และบรรดาซามุไร รวมทั้งตลาดการค้ารากุ อิจิ (Raku ichi) ที่สำคัญในยุคนั้นด้วย เมื่อเดินเข้ามาจะพบกับลานน้ำพุที่มีรูปปั้นสตรียืนอยู่ตรงกลาง เป็นเสมือนจุดนัดพบของผู้มาเยือนที่นี่ได้กระมัง

ภายในสวนสาธารณะนี้ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองกิฟุ ,พิพิธภัณฑ์แมลง นาวะ ที่เขาว่า ๑ ในพิพิธภัณฑ์ทางด้านนี้ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น เพราะมีแมลงให้ชมกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ตัวอย่าง รวมทั้งผีเสื้อกิฟุ ที่จะได้เห็นในช่วงฤดูใบไม้ผลิช่วงนี้ด้วย ... แต่ดูจากเวลานี่ ผมคงมีไม่เพียงพอที่จะได้เข้าชมแน่นอนครับ

เดินมาอีกสักพักก็เจอกับอนุสาวรีย์ของชายผู้หนึ่งในชุดสมัยใหม่ เขาคือ ไทสุเกะ อิตะงะกิ (Itagaki Taisuke) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งพรรคเสรีนิยมพรรคแรกในญี่ปุ่น ซึ่งมีรายงานว่า ในปี ๒๔๒๕ เขาเคยถูกลอบทำร้ายที่นี่ ขณะเข้าสักการะในศาลเจ้าที่บริเวณนี้ ซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้ว

ถัดมามีซุ้มประตูไม้ที่ดูคล้ายกับทางเข้าบ้านคนอยู่บนเนินเขา ... ใช่แล้วครับ ตรงนี้เคยเป็นหน้าบ้านพักของไดเมียวโนบุนะงะ ถ้าขึ้นไปด้านบนก็จะพบกับร่องรอยแนวหินรากฐานที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านที่มีการขุดค้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ขึ้นไปหรอกครับ นอกจากนี้ในสวนก็ยังมีจุดที่เคยมีตลาดรากุอิจิ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะอนุสรณ์เอะอิโซะ และ โทะอิจิ ๒ พี่น้องตระกูลคาโตะ รวมทั้งต้นซากุระที่กำลังเบ่งบานให้ผู้มาเยือนได้ชมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันด้วย




ไม่ไกลกันนักเราก็เจอสถานีกระเช้าลอยฟ้าที่จะพาเราขึ้นไปบนเขาคินคะแล้วครับ ซึ่งภายในก็มีร้านค้าขายของที่ระลึก จุดนั่งพัก จุดฝากสัมภาระ และห้องจำหน่ายตั๋ว มีราคาค่าโดยสารไปกลับ ๑,๐๘๐ เยน ส่วนผมเลือกขึ้นขาเดียวก็ถูกลงมาหน่อย เหลือ ๖๒๐ เยน ...เหมือนว่าซื้อไปกลับจะถูกกว่านะ พอซื้อตั๋วเสร็จก็เดินขึ้นไปยังจุดจอดกระเช้า มีพนักงานพาขึ้นไปพร้อมกัน ลิฟท์ค่อยๆ เลื่อนขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้มองทัศนียภาพรอบๆ ได้นานขึ้น แต่สำหรับรอบนี้คนเยอะไปหน่อยทำให้มองอะไรไม่ค่อยถนัด ด้านซ้ายมือมีเจดีย์ ๓ ชั้น แต่ทว่ามีฉากกั้นครอบเหมือนถูกปิดซ่อม เลยมองไม่เห็นว่าสวยแค่ไหน ผู้โดยสารใช้เวลาร่วมกันราว ๓ นาทีกระเช้าก็เคลื่อนตัวมาถึงสถานีด้านบนเขา และเราต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกเกือบ ๒๐๐ เมตร ก็จะถึงตัวปราสาท


พูดถึง “ปราสาทกิฟุ” (Gifu jo) ที่เรากำลังจะขึ้นไปนี่มีประวัติยาวนานมากครับ โดยผู้สร้างปราสาท คือ ยุกิมะซะ นิไคโดะ (Yukimasa Nikaido) เมื่อราวๆ พ.ศ.๑๗๔๔ – ๑๗๔๗ ในยุคคามะกุระ ต่อมา มิตสึซะเกะ อิบะนะ (Mitsusake Ibana) ผู้ครองปราสาทในยุคถัดๆ ไป ได้เอานามสกุลของตนมาตั้งเป็นชื่อปราสาทว่า อินะบะยะมะ (Inabayama jo) หลังจากนั้นในยุคมุโระมะจิ ตระกูลไซโตะ ได้เข้ามาครอบครอง

โดยไดเมียวแห่งมณฑลมิโนะ โดะซัง ไซโตะ (Dosan Saito) ได้เข้ามาใช้พำนักในช่วงระหว่างปี ๒๐๗๕ – ๒๐๙๗ ก่อนที่จะถูก โยะชิทัตสึ (Yoshitatsu) บุตรชายเข้าแย่งชิงอำนาจ โดยมีสาเหตุมาจากที่เจ้าตัวล่วงรู้ความลับที่พ่อของตนมีแผนจะยกมณฑลมิโนะให้กับบุตรคนในคนหนึ่ง หรือไม่ก็ ไดเมียว โนบุนะงะ โอะดะ ผู้เป็นลูกเขย ก็เลยบุกเข้าไปในปราสาทจัดการสังหารน้องชายทั้ง ๒ ก่อนทำการยึดอำนาจ แล้วส่งพ่อไปอยู่ในปราสาทซางิยะมะแทน ต่อมาได้เกิดศึกระหว่างพ่อลูก ที่แม่น้ำนางะระ (Nagara gawa no tatakai) ในปี ๒๐๙๙ และกองทัพของพ่อ ก็เป็นฝ่ายปราชัย โดยตัวเขาได้ถูกสังหารในระหว่างรบ ส่วนโยะชิทัตสึ ก็เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อนในอีก ๕ ปีต่อมา

หลังจากนั้นลูกชายของโยะชิทัตสึ ก็คือ ทัตสึโอะกิ ไซโตะ (Tatsuoki Saito) เป็นผู้ครองปราสาท แต่จากนั้นเพียงแค่ ๓ ปี ขุนพลผู้รับใช้ตระกูลไซโตะ ที่ชื่อ ชิเงะฮะรุ ทาเกะนะกะ (Shigeharu Takenaka) หรือ ฮันเบะ ได้ทำการยึดอำนาจ แต่ยังคงสถานะให้แก่นายของเขาเช่นเดิม และในปี ๒๑๑๐ ทัพของไดเมียว โนะบุนะงะ ก็เข้าปิดล้อมปราสาท ก่อนจะยึดได้ในเวลาราว ๒ สัปดาห์ ซึ่งเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อปราสาทมาเป็น กิฟุ ตามชื่อเมือง หลังจากนั้นปราสาทก็ตกเป็นของ โนะบุทะดะ โอดะ บุตรชายของโนะบุนะงะ ซึ่งต่อมาได้กระทำการฆ่าตัวตายด้วยวิธีคว้านท้อง หรือ เซ็ปปุกุ พร้อมกับพ่อที่วัดฮนโนะ ในเกียวโต โดยลูกชายคนที่ ๓ ของโนะบุนะงะรับสืบทอดปราสาทต่อ จากนั้นก็ตกเป็นของตระกูลอิเกะดะ ,โทะโยะโทะมิ

และท้ายที่สุด ฮิเดะโนะบุ โอะดะ (Hidenobu Oda) คือผู้ครองปราสาท ซึ่งอยู่มาได้ ๘ ปี ก็เกิดยุทธการศึกปราสาทกิฟุ (Gifu jo no Tatakai) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามระหว่างฝั่งไดเมียว ฮิเดะโยะริ โทะโยะโทะมิ กับ อิเอะยะสุ โทกุงะวะ ขุนพลผู้ทรงอำนาจ โดยฮิเดะโนะบุ อยู่ฝั่งของฮิเดะโยะริ และได้ถูกกองทัพของอิเอะยะสุ ที่นำโดย เทรุมะสะ อิเกะดะ ไดเมียวผู้ที่เคยครองปราสาทนี้มาก่อน และไดเมียว มาสะโนะริ ฟุกุชิมะ บุกมาตี ก่อนที่จะสามารถยึดครองได้สำเร็จ ในปี ๒๑๔๓ และต่อมาอีก ๑ ปีปราสาทก็ได้ถูกทำลาย โดยบางส่วนได้ถูกนำไปสร้างเป็นปราสาทคาโนะอุ (Kanou jo) ในเมืองกิฟุ แต่ปัจจุบันปราสาทนี้ก็ไม่มีแล้ว ขณะที่แผ่นพื้นไม้เปื้อนเลือดของเหล่าผู้รับใช้ฮิเดะโนะบุ ที่กระทำการเซ็ปปุกุ ภายในปราสาทหลังแพ้การศึก ก็ถูกส่งไปยังวัดโซะฟุกุ ว่ากันว่ายังมีร่องรอยเลือดให้เห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วย

จากสถานีกระเช้าลอยฟ้าเราเดินผ่านประตู เท็นกะ ไดอิจิ โนะ (Tenka daiichi no mon) เดินเข้ามาสักพักก็พบกับทางเดินขึ้นเขาเล็กๆ และชัน อยู่ก่อนถึงประตูชั้นที่ ๒ ตรงนั้นมีป้ายภาษาอังกฤษเขียนว่า Tokichiro Kinoshita and Sennari Byotan ... ถ้าใครที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นคงจะเริ่มร้องอ๋อเลยทีเดียว เพราะตรงนี้ก็คือจุดที่สร้างชื่อให้กับ โทะกิจิโระ คิโนะชิตะ หรือ ฮิเดะโยะชิ โทะโยโทะมิ ไดเมียวผู้รวมประเทศได้ในเวลาต่อมานั่นเอง


โทะกิจิโระ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตีปราสาทกิฟุของโนะบุนะงะ ในขณะที่ล้อมปราสาทมาจนถึงบริเวณประตูนี้ เขาพร้อมขวดน้ำเต้าบรรจุน้ำดื่ม ได้นำขุนพลและทหารอีก ๗ คน ปีนขึ้นไปบนเขาเพื่อลัดเลาะข้ามเข้าไปในเขตของปราสาท ก่อนเข้าไปจุดไฟเผาเพิง คลังเก็บของ และโรงเก็บดินปืน แล้วอาศัยช่วงชุลมุนวิ่งกวัดแกว่งหอกสังหารศัตรูจนมาที่หน้าประตู เพื่อเปิดประตูให้กองทัพของโนะบุนะงะบุกเข้าไปยังปราสาทได้สำเร็จ

ทางเดินนี้ถูกวางบันไดหินไว้จนสามารถขึ้นไปได้ และแน่นอน ผมไม่พลาดที่จะขึ้นไปดูครับ ข้างบนสุดทางเดินมีศาลเล็กๆ ตั้งอยู่ ส่วนทางขวามือที่จะขึ้นไปยังปราสาทตอนนี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของเสาไฟและอาคารซะแล้ว ผมจึงต้องลงกลับมาทางเดิมแล้วเดินเข้าสู่ประตูชั้นที่ ๒ นิโนะมะรุ (Ninomaru mon) ไม่ไกลจากตรงนี้มีจุดชมวิวให้ถ่ายรูปตัวปราสาทแบบชัดๆ ด้วยครับ ก็เลยแวะถ่ายรูปพลางขอให้ชาวบ้านถ่ายรูปให้ เพื่อผมได้มีภาพตัวเองกับเขาบ้าง สักพักก็เดินต่อไปอีกนิด ก็ถึงตัวปราสาทสักที


อย่างที่บอกไปว่า ปราสาทของจริงได้ถูกทำลายตั้งแต่เมื่อ ๔๐๐ กว่าปีที่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เห็นก็คือสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปี ๒๔๙๙ ก่อนจะเพิ่งทำการบูรณะไปในปี ๒๕๔๐ โดยตัวปราสาทมี ๔ ชั้น เสียค่าเข้าชมคนละ ๒๐๐ เยน เท่านั้น ซึ่งในแต่ละชั้น ก็มีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ อย่างชั้นแรก มีการนำอาวุธต่างๆ มาโชว์ ทั้งดาบ หอก ง้าว และอาวุธของนินจา ที่ทำจำลองขึ้น พวกระเบิดควัน ดาวกระจาย และอื่นๆ แบบที่เห็นในการ์ตูนนั่นล่ะครับ

โดยข้อมูลระบุว่า โนะบุนะงะ เป็นผู้เริ่มใช้นินจาจากตระกูลโคะงะเพื่อสอดแนมที่อยู่ของ โยะชิโมะโตะ อิมะงะวะ ไดเมียว ๑ ใน ๓ ผู้มีอำนาจแห่งภูมิภาคโทะไคโดะ ก่อนจะเกิดยุทธการศึกโอะเกะฮะซะมะ (Okehazama no tatakai) ในปี ๒๑๐๓ และขุนพลของโนะบุนะงะก็สังหารไดเมียวได้ในเวลาต่อมา

ในส่วนชั้นที่ ๒ จัดแสดงรูปภาพของเหล่าไดเมียวผู้เคยครองปราสาท ภาพแผนผังปราสาทและเมือง รวมทั้งโบราณวัตถุที่ขุดพบ พอขึ้นมาชั้นที่ ๓ เป็นห้องโนะบุนะงะ จัดแสดงหุ่นจำลอง ชุดเกราะ หมวกเหล็ก ดาบ กล้องส่องทางไกลของฝรั่ง และแว่นตาสมัยก่อน ซึ่งเป็นของเก่าจริงๆ หรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจนัก ส่วนชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิวบนหอคอย เห็นเมืองกิฟุสอดแทรกบนที่ลุ่มสลับภูเขาที่มี



พักชมวิว นั่งเล่นไวไฟฟรี ที่เร็วจนขนาดถ่ายไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กได้จนพอใจแล้ว ก็ได้เวลาลงจากปราสาท กลับมายังพื้นยอดเขา ไม่ไกลจากแถวนี้มี “พิพิธภัณฑ์ปราสาทกิฟุ” ให้เข้าชมด้วยแต่ต้องเสียตังค์นะครับ สำหรับคนที่ไม่ได้ขึ้นปราสาท ส่วนใครที่จ่าย ๒๐๐ เยนค่าบัตรผ่านประตูปราสาทแล้วก็สามารถนำมายื่นเพื่อเข้าชมได้ ซึ่งภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ มีของใช้โบราณมาจัดแสดง ทั้งเสื้อเกราะเบา เสื้อออกศึก ไปจนถึงชุดเกราะ อาวุธ เครื่องใช้พวกหม้อ ถ้วย จาน คันฉ่อง เกี้ยว ม้าไม้ และนาฬิกาโบราณ

พิพิธภัณฑ์นี้คนเข้าชมไม่มากนัก ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม หรือเขาอาจจะไม่เห็นก็เป็นได้ ซึ่งบนเขาคินคะนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอื่นๆ อย่าง จุดชมวิวที่มีร้านอาหารให้นักท่องเที่ยวได้แวะทาน และหมู่บ้านกระรอก ในส่วนนี้ต้องเสียค่าเข้าอีก ๒๐๐ เยน ซึ่งผมไม่ได้เข้าไปครับ แถวถนนพระอาทิตย์ก็มีให้เห็นอยู่หลายตัว ขอลงเขาไปเที่ยวที่อื่นต่อดีกว่า ... ว่าแต่ จะลงยังไงล่ะ ในเมื่อเราเสียค่ากระเช้าลอยฟ้ามาแค่ขาขึ้น?

ผมทราบมาว่าภูเขานี้มีเส้นทางการเดินป่าที่ได้รับความนิยมพอสมควร ซึ่งมีทางเดินมากถึง ๑๐ เส้นทาง ซึ่งผมเลือกเส้นทางที่ ๔ นานะ มางะริ (Nanamagari tozan do) ที่มีระยะทางรวมกว่า ๑.๙ กิโลเมตร และว่ากันว่าเป็นเส้นทางเดียวกันกับที่มิชชันนารีชาวโปรตุเกส หลุยส์ ฟรอยส์ (Luís Fróis) ขึ้นไปพบกับโนบุนะงะด้วย

ตลอดเส้นทางเป็นทางเดินที่เลาะริมเขาไปเรื่อยๆ บางจุดมีปูนลาดเป็นขั้นบันได บางจุดมีแค่ไม้ไผ่วางขวางเป็นแนวทางเดินเท่านั้น ระหว่างทางก็เจอแต่ผู้สูงวัยเดินเล่นลงเขากันสบายใจ กับเด็กน้อยวัยประถมวิ่งขึ้นเขากันสนุกสนาน บางคนก็มาคนเดียว มาถามทางผมประมาณว่าทางนี้ใช่มั้ยครับ ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง เลยทำได้เพียงแค่พยักหน้าบอกใบ้ให้ เด็กมันคงงง ทำไมอีตาลุงคนนี้มันไม่พูดกะเราวะ?

เดินชมวิวป่าไปเรื่อยๆ ราวๆ เกือบชั่วโมงก็ถึงทางออกซอยข้างบ้านชาวบ้าน เดินลัดเลาะอีกนิดจึงถึงถนนใหญ่ ซึ่งที่หมายต่อไปก็อยู่ไม่ไกลนี้นัก สำหรับ “วัดโชะโฮะ” (Shoho ji) วัดที่มีหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ติด ๑ ใน ๓ ของญี่ปุ่นอยู่ที่นี่ครับ วัดนี้สร้างขึ้นน่าจะราวๆ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เพื่อใช้สวดมนต์ขจัดสิ่งร้ายแห่งการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

โดยพื้นที่ภายในวัดค่อนข้างเล็ก มีวิหารไม้ขนาดใหญ่ ๓ ชั้น ตั้งเด่นเป็นแลนด์มาร์กของวัด ซึ่งแน่นอนว่าภายในเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต แต่ไม่ได้เปิดให้เข้าฟรีนะครับ มีค่าเข้าชมคนละ ๒๐๐ เยนด้วย พอเข้าไปข้างในก็ได้พบกับ “พระชากะ เนียวไร” (Shaka Nyorai) หรือพระพุทธเจ้าที่ชาวพุทธเถรวาทเรานับถือกัน เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับในท่าขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาผายพระหัตถ์ออก ส่วนพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบนิ้วกลางกับนิ้วโป้งจรดกันคล้ายกับทำสัญลักษณ์ OK มีแผ่นไม้สลักเป็นรูปคล้ายกับก้อนเมฆ (ดูแล้วน่าจะใช่) เป็นฉากอยู่หลังองค์พระ

ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้สร้างเสร็จในปี ๒๓๗๕ หลังใช้เวลาการสร้างนานถึง ๓๘ ปี มีความสูง ๑๓.๖๓ เมตร พระพักตร์ยาว ๓.๖๓ เมตร เท่าที่อ่านดูเป็นพระพุทธรูปที่มีวิธีการสร้างซับซ้อนอย่างยิ่ง องค์พระถูกสร้างยึดคร่อมกับเสาไม้แปะก๊วยเอาไว้ แล้วก่อด้วยดินเหนียว ไม้ และไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยกระดาษญี่ปุ่น เคลือบด้วยน้ำมันชักเงาญี่ปุ่น แล้วปิดทองคำเปลวทับ ถือเป็นงานประติมากรรมชนิดนี้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยชาวกิฟุเรียกหลวงพ่อโตองค์นี้ว่า พระตะกร้า เนื่องจากโครงร่างขององค์พระได้ถูกสานขึ้นด้วยไม้ไผ่เหมือนกับตะกร้าที่ถูกสานขึ้น

เท่าที่สำรวจภายในวิหารรอบๆ องค์พระประธานเรียงรายไปด้วยรูปสลักพระอยู่บนชั้นริมผนังทั้ง ๒ ด้าน ส่วนผนังประดับด้วยงานแกะสลักไม้เป็นรูปต่างๆ แลดูเป็นเรื่องราว ส่วนด้านหลังองค์พระมีทางขึ้นไปสู่ระเบียงชั้น ๒ ได้ด้วย แต่ถูกปิดกั้นด้วยแผงไม้ไม่ให้ขึ้นไปด้านบน


จากวัดโซะโฮะ ผมเดินออกมายังถนนใหญ่ ความตั้งใจเดิมคือจะไปเดินเล่นริมแม่น้ำนางะระ ดูหมู่บ้านที่เลี้ยงนกอุไค ที่นำขึ้นเรือออกไปจับปลาอายุในแม่น้ำในเวลากลางคืนตามวิถีชาวบ้านหลายร้อยปี จนกลายมาเป็นไฮไลต์สำคัญในการท่องเที่ยวของเมืองกิฟุ จริงๆ เมืองนี้ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ผมอยากไปอีกแห่งอย่าง วัดโซะฟุกุ แต่แหม่ วันนี้ดันเดินชิลไปหน่อยจึงเลยกำหนดเวลาที่วางแผนไว้พอสมควร ก็เลยต้องหารถเมล์นั่งไปยังสถานีรถไฟกิฟุ เพื่อมุ่งสู่จุดหมายต่อไป

ผมเดินกลับมาที่สวนสาธารณะกิฟุ ป้ายรถเมล์ตรงนี้มีสายที่สามารถผ่านไปยังสถานีรถไฟเจอาร์กิฟุได้ รอไม่นานมากรถก็มา นั่งเพลินๆ แป๊บเดียวก็ถึง เลยแวะเข้าไปหาอะไรกินรองท้องสักหน่อย เดินไปเจอร้าน “ริงเกอร์ฮัต” (Ringer hut) ขายราดหน้าดูน่าสนใจ แวะเข้าไปลองสักหน่อย ร้านนี้ต้องกดสั่งอาหารและชำระเงินผ่านตู้อัตโนมัติ ซึ่งผมกดเลือก “นางะซะกิ จัมปง ซารุอุด้ง” (Nagazaki Champon Saruudon) แล้วก็จะได้บิล เราก็ไปนั่งที่เคาน์เตอร์บาร์ ยื่นให้กับพนักงานตรงหน้า เขาก็จะไปทำอาหารมาให้

สักพักสิ่งที่สั่งก็มาเสิร์ฟ ดูหน้าตาคล้ายราดหน้าบะหมี่กรอบบ้านเรามาก แต่เส้นที่ผมสั่งเป็นเส้นมาม่ากรอบซึ่งมีรูปร่างตรงและเล็กกว่ามาม่าที่เรากินกัน เห็นในภาพอาจดูน้อย แต่ของจริงขอโทษครับ ไม่น้อยเลย ในจานมีกะหล่ำปลี ถั่วลันเตา ถั่วงอก ข้าวโพด หมูสไลด์ ลูกชิ้นชิกุวะหั่น ลูกชิ้นปลาคะมะโบะโกะ รสชาติก็อร่อยดี น้ำข้นมาก เค็มนิดๆ มีหวานปลายลิ้น กินแล้วรู้สึกอยากหาร้านที่ขายแบบนี้ในไทยจะมีมั้ยนะ?

ทานจนหมดเกลี้ยงก็ได้เวลาเดินทางต่อ จากสถานีรถไฟเจอาร์กิฟุ เราจะมั่งหน้าไปยังสถานีอุนุมะ เพื่อต่อรถไฟไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของ จ.ไอจิ กับปราสาทของจริง!! ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน กับปราสาทที่ชื่อว่า อินุยะมะ!!

อ่านต่อฉบับหน้า ....

ข้อมูลบางส่วน http://gifu-daibutsu.com/shohoji/english.html , http://www.gifucvb.or.jp/en/01_sightseeing/index.html
กำลังโหลดความคิดเห็น