วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
วันที่ 5 สิงหาคม 2559 สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีทำรายงานพิเศษเรื่อง “อุตสาหกรรมทีวีไทย ถึงคราวไร้อนาคต?” โดยเผยแพร่ตอนที่ 5 เรื่อง ทีวีแบบเดิม กำลังจะตายใน 3-5 ปี
เป็นวอยซ์ทีวีแห่งเดียวกันกับที่เมื่อปลายปี 2556 เพิ่งทุ่มเงินประมูลกว่า 1,330 ล้านบาท เพื่อคว้าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทช่องข่าว
วอยซ์ทีวียอมรับว่าพฤติกรรมการดูทีวีเปลี่ยนไป ผู้คนหันมาดูทีวีผ่านจอสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักวิชาการสายสื่อมวลชนคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทีวีมีจอ จะล้มหายตายจากไปภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
“เพราะมีสิ่งดึงดูดคนดูหลายช่องทาง สิ่งที่จะทำให้ทีวีแบบเดิมดึงใจคนดูได้นั่นคือ จุดยืนและเนื้อหาของทีวีแต่ละช่อง เพื่อให้คนดูกลับมาดูทีวีแบบเดิม ไม่เช่นนั้นทีวีจะกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์เร็วขึ้น ภายใน 3-5 ปี พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไวมาก เด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่ได้ดูทีวีจากจอทีวีแบบปกติทั่วไปแล้ว บางคนเมื่อก่อนบอกว่าหนังสือพิมพ์จะตาย แต่ปรากฎดีไม่ดีแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อทีวีอาจจะตายก่อนด้วย ...” ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าว
พูดความจริงกันแบบไม่อ้อมค้อมก็คือ ณ เวลานี้ ทุกคนในวงการสื่อสารมวลชนต่างยอมรับโดยดีแล้วว่า “สื่อดั้งเดิม (Traditional Media; นักวิชาการบางครั้งเรียก Old Media หรือ Legacy Media)” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น นั้นเวลาใกล้หมดแล้ว
บอกได้เลยว่า ณ เวลานี้ หนังสือพิมพ์เกินครึ่งที่วางอยู่บนแผง “ต้องผลิต-ต้องพิมพ์-ต้องวางแผง” ทั้งๆ ที่ขาดทุน และมองไม่เห็นว่าอนาคตข้างหน้าจะหนังสือพิมพ์จะกลับมาทำกำไรได้อย่างไร
เช่นเดียวกับทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ที่รับสารภาพออกมาอย่างชัดเจนว่า อนาคตของสื่อนั้นไม่ได้อยู่ที่คำว่า “ทีวีดิจิตอล” ซึ่งเป็นดิจิตอลแต่ในเพียงชื่อและเทคโนโลยีการออกอากาศเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว “ทีวีดิจิตอล” ร่างที่แท้จริงยังเป็นสื่อดั้งเดิม-สื่อเก่า-สื่อโบราณ ที่กำลังจะพ้นสมัย
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในแวดวงสื่อมวลชนทั้งในแวดวงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุและโทรทัศน์ ณ เวลานี้ก็คือ ทุกคนรู้ว่าอนาคตของสื่ออยู่บนโลกออนไลน์ แต่ไม่รู้ว่าจะหาเงินจากโลกออนไลน์ได้อย่างไร?
พลิกไปดูภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทย แหล่งรายได้สำคัญที่สุดของสื่อสารมวลชนในบ้านเรา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2558) มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 127,000-131,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเจาะลึกเข้าไปถึงเนื้อใน มูลค่าโฆษณาดิจิตอลในประเทศไทยที่ว่ากันว่าเติบโตเร็วที่สุดและเป็นอนาคต กลับมีมูลค่าน้อยนิด เพียงแค่ 3-6% หรือ 4,250-8,130 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งงบโฆษณาส่วนใหญ่ยังไหลไปอยู่กับแพลตฟอร์มโฆษณาของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล ยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ เป็นต้น [1]
เมื่อเขยิบมาดูภาพรวมโฆษณาครึ่งปีแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2559) จากรายงานของนีลเส็น ประเทศไทย แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่าสื่ออินเทอร์เน็ต-สื่อออนไลน์ จะเติบโตมากที่สุด แต่งบโฆษณาเมื่อเทียบกับภาพรวมก็ยังน้อยนิด คืออยู่ที่เพียง 849 ล้านบาท (หรือคิดเป็นเพียง 1.5% ของงบโฆษณารวม 55,972 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับ สื่อโทรทัศน์ คือ ทีวี 26,023 ล้านบาท, ทีวีดิจิตอล 9,570 ล้านบาท, เคเบิล/ทีวีดาวเทียม 2,440 ล้านบาท หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ อย่างหนังสือพิมพ์ 4,930 ล้านบาท และนิตยสาร 1,506 ล้านบาท แล้วก็ชัดเจนว่าสื่อออนไลน์หรือสื่ออินเทอร์เน็ตไม่สามารถทำรายได้เพิ่มเติมขึ้นมาชดเชยกับรายได้ที่สื่ออาชีพสูญเสียไปได้เลย [2]
จุลสารราชดำเนินฉบับล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งจัดทำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พยายามนำวิกฤตสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ใน พ.ศ.2559 นี้ ไปเปรียบเทียบกับ วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศเมื่อ 19 ปีก่อน ใน พ.ศ.2540 ว่ายุคฟองสบู่แตกสื่อมวลชนต้องตกระกำลำบากอย่างไรบ้าง โดยยกตัวอย่างวิธีรัดเข็มขัดของสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือต่างๆ ทั้งบางกอกโพสต์ เนชั่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน บ้านเมือง สยามรัฐ แนวหน้า ผ่านรายงานเรื่อง “วิกฤตหนังสือพิมพ์ไม่อวสาน แต่ปาดเหงื่อ” โดยทิ้งท้ายไว้ว่า
“จะเห็นได้ว่าหนังสือพิมพ์เกือบทุกค่ายในปัจจุบันต้องออกมาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบ โลกเปลี่ยน หากการออกมาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ เพื่อฝ่าแรงเสียดทานจากปัญหาต่างๆ ตามที่ ‘ราชดำเนิน’ สำรวจมาข้างต้น มิใช่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ในวิกฤติเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็ทำในลักษณะเดียวกัน” (จุลสารราชดำเนินฉบับที่ 31 หน้าที่ 7)
การนำเอาการเปลี่ยนแปลงของแวดวงสื่อมวลชนในรอบนี้ไปเปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 นั้น ผมเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบที่จะผิดฝาผิดตัวไปสักหน่อย เนื่องด้วยวิกฤตที่เกิดกับแวดวงสื่อมวลชนอาชีพไทยในปี 2540 นั้นเป็นผลกระทบที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจการเงินของโลกและของประเทศโดยรวม ขณะที่วิกฤตในปัจจุบันเป็นวิกฤตเชิงโครงสร้าง และวิธีการหารายได้ของสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
วิกฤตสื่อปี 2540 แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำ โฆษณาจะหดหาย แต่พฤติกรรมของคนอ่าน คนดู ผู้รับสื่อยังไม่เปลี่ยน พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รายได้ของสื่อก็เริ่มฟื้น แต่วิกฤตสื่อ ณ ปี 2559 คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม การเปลี่ยนแปลงในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน การปฏิวัติรูปแบบและวิธีการนำเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชน รูปแบบการหารายได้ แวดวงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ธุรกิจการค้า รวมไปถึงแวดวงการศึกษาทั้งนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน ธุรกิจ การตลาด อุตสาหกรรมไอที ฯลฯ
การเปลี่ยนแปลงของสื่อครั้งนี้ ต่อให้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาเฟื่องฟู ผู้คนก็จะไม่หันกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุแบบเดิมๆ แต่จะเปลี่ยนเข้าหาสื่อใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้กุมอำนาจสูงสุดคือเจ้าของแพลตฟอร์ม ผู้ครอบครองเทคโนโลยีที่ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทข้ามชาติระดับโลกทั้งสิ้น
ฟังดูแล้วน่าหดหู่ไหมครับ? ... กระนั้น เมื่อมีราตรีอันมืดมิด ก็ย่อมต้องมีอรุณรุ่งของแสงตะวัน และในทุกวิกฤตย่อมต้องมีโอกาสซ่อนแฝงอยู่เสมอ
ข้อมูลอ้างอิง :
[1] งบโฆษณาปีหน้าโตช้า ลูกค้าซื้อตรงดิจิทัล-เงินรั่วไปนอก 8 ธ.ค. 2558 (http://www.posttoday.com/digital/403789)
[2] เม็ดเงินโฆษณา ครึ่งปี ’59 ยังซบ ใช้ไป 5.5 หมื่นล้านบาท ติดลบ 7.8% 12 ก.ค. 2559 (http://positioningmag.com/1097145);
ในความเป็นจริง ปัจจุบันตัวเลขของนีลเส็นขาดความแม่นยำในการสะท้อนงบโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ต-ออนไลน์ เนื่องจากงบโฆษณาออนไลน์จำนวนมากถูกใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอลโดยตรงทั้ง โฆษณากูเกิล ยูทิวบ์ เฟซบุ๊กและเครือข่ายโฆษณา ซึ่งนีลเส็นและเอเจนซีโฆษณาไม่อาจทราบได้