xs
xsm
sm
md
lg

โคลัมบัส Facebook และสึนามิข้อมูลข่าวสาร

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

“ในยุคหนึ่งผ่านมาแล้วเป็นร้อยๆ ปี คนในยุโรปอาจจะต้องรอเป็นปีๆ จนกว่าโคลัมบัสกลับมาจากการผจญภัย แล้วมาเล่าให้ฟังถึงดินแดนใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ที่มีทรัพย์ศฤงคารอันมากมายมหาศาล ที่มีความสวยงามอย่างไม่มีที่ติ เป็นที่ทุกคนที่ฟังต้องน้ำลายสอ คนมีเงินก็พร้อมจะลงทุนซื้อเรือลำใหม่ให้โคลัมบัสออกผจญภัยในทะเลกว้างเพื่อหวังส่วนแบ่ง คนบางคนก็อยากติดเรือขอไปดูนมต้มของสาวชาวเกาะที่แต่งตัวไม่เหมือนผู้หญิงบ้านเมืองของเขา
“มายุคนี้สมัยนี้ Concept และอำนาจของข่าวสารก็ไม่ได้เปลี่ยนไปในเนื้อหา แต่รูปแบบวิธีการเปลี่ยนไปมาก จากต้องรอคอยเป็นปีๆ ให้โคลัมบัสกลับมาเป็นแค่เปิดปุ่มรีโมตหรือฟังวิทยุ หรือซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านก็สามารถเห็นภาพ สามารถได้ยิน และสามารถจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ นอกจากนั้น ยังผสมผสานกับการได้ฟังจากญาติสนิทมิตรสหาย หรือเพื่อนนักธุรกิจที่ไปสัมผัสมาแล้ว
“ผมเชื่อว่า ปรากฎการณ์ครั้งนี้ เป็นปรากฎการณ์ของอิทธิพลของ ‘โลกานุวัตรทางข้อมูลและข่าวสาร’ ทุกวันนี้ เราเคยนึกย้อนหลังไปบ้างหรือเปล่าว่า ข้อมูลนั้นเปรียบเสมือนดาบที่คมกริบเล่มหนึ่ง ดาบนี้จะดื่มเลือดใครบ้าง หรือจะวางประดับไว้บนหิ้งก็ได้ ย่อมขึ้นกับผู้ใช้ดาบนั้น หรือที่เขาว่าดาบนั้นไม่ผิด ผิดที่คนใช้ ...”
--- สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดการรายวัน วันที่ 2 สิงหาคม 2536
Instant Articles Publishers Workshop เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมาที่กรุงเทพ
ผมได้รู้จักกับเคน เทย์ ช่วงปลายปี 2558 …

เคนเป็นหนุ่มสิงคโปร์หน้าตาหล่อเหลา อัธยาศัยดี เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยทำงานข่าวให้กับแชนแนล นิวส์ เอเชีย รุ่นใกล้ๆ กับ “พี่แอ้ม” สโรชา พรอุดมศักดิ์ ทั้งยังเคยเป็นนักข่าวของซีเอ็นเอ็นประจำอยู่ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

“เราน่าจะได้เจอกันที่ปักกิ่ง แต่ตอนนั้นเราอาจจะไม่รู้จักกัน (หัวเราะ) ... ตอนอยู่ปักกิ่งผมยังเคยไปทำข่าวที่เกาหลีเหนือด้วยนะ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก” เคนบอก เมื่อรับทราบว่าผมก็เคยเรียนและทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่ปักกิ่งหลายปีเช่นกัน

ปัจจุบันเคนไม่ได้ทำงานสื่อแล้ว แต่เขายังเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะเขาทำงานให้กับเฟซบุ๊ก ในส่วน Strategic Partnerships หรือ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ผู้ประสานงานสื่อทั้งหมดในภูมิภาค

ภารกิจแรกของเคนในการประสานงานและพูดคุยกับสื่อมวลชนทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมไปถึงฮ่องกงและไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ นั้นคือการผลักดันบริการใหม่ที่เรียกว่า อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ (Instant Articles) หรือที่ในแวดวงสื่อสารมวลชนเรียกสั้นๆ กันว่า ไอเอ (IA)

Instant Articles คือ ฟังก์ชันบนมือถือในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ที่เฟซบุ๊กทำร่วมกับสื่อ ที่ช่วยเอื้อให้การโหลดเนื้อหา ทั้งตัวอักษร ภาพ ภาพเคลื่อนไหวทำได้แบบ “ฉับพลันทันใด” สมชื่อกับชื่อของมัน โดยเฟซบุ๊กระบุว่า จุดเด่นของ Instant Articles คือ เร็วและตอบสนองทันที หรือหากจะกล่าวแบบมีตัวเลขอ้างอิงก็คือ โหลดเร็วกว่าหน้าเว็บบนมือถือ (Mobile Web) 10 เท่า ซึ่งความรวดเร็วนี้เองที่ช่วยลดความเป็นไปได้ที่ผู้อ่านจะผละไปอ่านเรื่องอื่นเพราะเว็บไซต์นั้นๆ โหลดเนื้อหาล่าช้า ทั้งยังนำมาสู่การกระตุ้นให้ผู้บริโภคเสพเนื้อหาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20



จริงๆ หัวใจที่สำคัญที่สุดของ Instant Articles นั้นมีอยู่เรื่องเดียวคือ “ความเร็ว” โดยความเร็วในที่นี่ไม่ได้หมายความว่าเร็วเฉยๆ 10 วินาที 20 วินาที หรือ 1 นาที แต่หมายถึง “ทันทีทันใด” โดยเฟซบุ๊กบอกว่าโดยเฉลี่ยแล้วเว็บไซต์ในประเทศไทยใช้เวลาโหลดหน้ามือถือ ประมาณ 8 วินาที แต่ Instant Articles นั้นโดยเฉลี่ยใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวินาที!

ข้อมูลดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับที่กูเกิลบอก คือ ปัจจุบันความเร็วนั้นเป็นความจำเป็นพื้นฐานไปแล้ว มิใช่ส่วนเสริมเพิ่มเติมแต่อย่างใด (Speed is a requirement, not a bonus) โดยจากการศึกษาของกูเกิลผลปรากฎว่า หากเว็บไซต์ใดใช้เวลาโหลดนานถึง 3.3 วินาที จะทำให้คนอ่านหายไป 1 ใน 5 (ร้อยละ 20) และถ้าใช้เวลาโหลดนานถึง 10 วินาทีจะทำให้คนอ่านหายไปกว่าร้อยละ 60
คนสมัยนี้ใจร้อน เว็บโหลดช้าแค่เสี้ยววินาที ก็ไม่รอแล้ว (ข้อมูลจากงาน Google News Lab 2016)
เฟซบุ๊กเปิดตัว Instant Articles มานานกว่าหนึ่งปีแล้ว โดยทีมพัฒนาเป็นทีมเดียวกับที่ทำแอปพลิเคชันเปเปอร์ (Facebook Paper) และพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม โดยเฟซบุ๊กเริ่มจับมือกับสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาเพื่อผลักดันการเสพข้อมูลข่าวสารรูปแบบใหม่ให้กับชาวโลก

ในประเทศไทย เฟซบุ๊กประสานสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่อง Instant Articles ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 และเริ่มเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ผ่านเฟซบุ๊กของคมชัดลึก ก่อนจะเปิดตัวกับ สื่อผู้จัดการ ไทยรัฐ มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ เนชั่น เป็นต้น ในเวลาต่อมา

จากนั้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เฟซบุ๊กก็เริ่มเปิดตัวฟีเจอร์ Instant Articles นี้กับเว็บไซต์ และบล็อกเกอร์ในประเทศไทย ทว่า ปัญหาอุปสรรคของ Instant Articles ก็ยังมีอีกหลายประการ ทั้งในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน ไปจนถึงรูปแบบการหารายได้ซึ่งประเด็นหลังเฟซบุ๊กยังไม่มีรูปแบบรองรับที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากพอที่จะตอบโจทย์การทำงานของสื่อมืออาชีพในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเฟซบุ๊กน่าจะทยอยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และ Instant Articles จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ของสื่อมวลชนบ้านเรา

กลับมาถึงเรื่องที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เขียนไว้ตั้งแต่ 23 ปีก่อนโดยอุปมาอุปไมยว่า ‘โลกานุวัตรทางข้อมูลและข่าวสาร’ นั้นเปรียบได้กับ ‘ดาบที่คมกริบ’

ในเชิงข้อมูลข่าวสารเมื่อเปรียบเทียบการเดินทางเมื่อห้าร้อยกว่าปีก่อนนับตั้งแต่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินทางและนักบุกเบิกชาวอิตาเลียนออกเดินเรือไปยังทวีปอเมริกา 4 ครั้ง แต่ละครั้งกว่าที่คนยุโรปจะได้ข้อมูลของดินแดนใหม่กลับมานั้นใช้เวลาแรมเดือน แรมปี เรื่อยมาถึงยุคของหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จนสงครามอ่าวเปอร์เซีย (ช่วงปี 2533-2534) กับการถ่ายทอดสดสงครามผ่านดาวเทียมโดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น จนกระทั่งทุกวันนี้ที่อินเทอร์เน็ตครองโลก ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าและถั่งโถมเข้าหาพวกเราดั่งสึนามิลูกแล้วลูกเล่า แบบวินาทีต่อวินาที ผ่านเครื่องมือเล็กๆ ที่อยู่ติดตัวเราคือ โทรศัพท์มือถือ

สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเราพร้อมหรือไม่ที่จะใช้มัน จะใช้มันอย่างไร หรือ ในที่สุดแล้วต้องตกเป็นเหยื่อถูกมันใช้เชือดคอตัวเอง?
กำลังโหลดความคิดเห็น