15 กรกฎาคม 2559 เป็นวันแรกที่มีการลงทะเบียนตามนโยบายภาครัฐอย่างเป็นทางการ
ได้แก่ การลงทะเบียนระบบชำระเงินแบบนานานาม (Any ID) ที่เรียกว่า “พร้อมเพย์” (PromptPay) โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมกับเบอร์มือถือ ผ่านสาขาและบริการอิเล็กทรอนิกส์ธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์รวม 19 แห่ง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับเงินสวัสดิการจากรัฐ เงินคืนภาษี เงินช่วยเหลือภัยพิบัติ ช่วยเหลือเกษตรกร และการโอนเงินระหว่างกันโดยไม่ต้องใช้เลขบัญชีด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ตามนโยบาย E-Payment ของรัฐบาล
อีกส่วนหนึ่ง คือ การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการจากภาครัฐ หรือเรียกแบบติดปากว่า “ลงทะเบียนคนจน” ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 2559 เพื่อให้รัฐบาลจัดสวัสดิการต่างๆ ลงไปให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง
เพราะที่ผ่านมา สวัสดิการจากรัฐบาลเพื่อลดค่าครองชีพ เช่น มาตรการรถเมล์ฟรี จากภาษีประชาชน, มาตรการรัฐช่วยคนไทย ขึ้นรถไฟฟรี และใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย เป็นการทำนโยบายแบบหว่านเมล็ด
คนมีรายได้ประจำ เช่น มนุษย์เงินเดือน หรือคนที่มีฐานะ แต่ต้องการใช้สวัสดิการตรงนี้เพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็มาร่วมใช้บริการด้วย ทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
เบื้องต้น คุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย คือ
- มีสัญชาติไทย
- อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2541
และ ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทในปี 2558
วิธีการลงทะเบียน คือ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนไปที่สาขาธนาคารของรัฐ 3 แห่ง (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยในแบบฟอร์มต้องระบุรายได้ทั้งสิ้นในปี 2558, อาชีพ/การทำงาน, ทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของ อาทิ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งต้องระบุทรัพย์สินทางการเงิน และหนี้สิน ณ วันที่ลงทะเบียน เป็นต้น
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ธนาคารจะฉีกส่วนล่างของแบบฟอร์มไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นธนาคารจะส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไปที่กรมสรรพากร เพื่อจัดเก็บข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง
หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เพียงแค่กรอกเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ก็จะแสดงผลทันทีว่าลงทะเบียนแล้วหรือยัง
จากนั้น ก็จะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย เพื่อรวมรวมข้อมูลผู้มีรายได้น้อย นำไปบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม เพื่อใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมโดยใช้ E-Payment ของรัฐบาล
แม้กรมสรรพากร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการ “รีดภาษี” จะเป็นเจ้าภาพเก็บข้อมูล แต่รัฐบาลก็ยืนยันว่า ข้อมูลที่ลงทะเบียนจะไม่มีการรั่วไหล และไม่ใช่ลงทะเบียนผู้เสียภาษี แต่เก็บข้อมูลไว้เพื่อให้รัฐประเมินจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น
ใครที่ลงทะเบียนคราวนี้ไม่ทัน รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเปิดให้ลงทะเบียนปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายนของทุกปี
แต่เอาเข้าจริง หากพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส การลงทะเบียนคนจน จะทำให้ประชาชนสามารถบอกกรมสรรพากรได้ว่า “รายได้มีแค่นี้ หนี้สินเยอะขนาดนี้ กรมสรรพากรจะมารีดภาษีอะไรจากกูอีก” (ฮา)
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”
ระบุว่า “ปี 2560 บัตรประชาชนน่าจะมีการระบุ อาชีพและรายได้ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม”
ทำเอาสังคมเกิดความวิตกกังวล เกรงว่าข้อมูลอาชีพ และรายได้ ซึ่งเป็นความลับ จะประจานลงบนบัตรประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน บางคนบอกว่า สิ่งที่ควรระบุบนบัตรประชาชนมากกว่าคือ โรคประจำตัว และข้อมูลทางการแพทย์
ภายหลัง นายกรัฐมนตรีต้องชี้แจงว่า ข้อมูลตัวนี้ไม่ได้เอามาโชว์ แต่จะอยู่ในแถบแม่เหล็ก และในชิป
อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนคนจนนั้น เปิดให้ลงทะเบียนเฉพาะธนาคารของรัฐ 3 แห่ง คนละเรื่องกับการลงทะเบียนพร้อมเพย์ ที่ปกติใช้บัญชีธนาคารไหน ก็ไปลงทะเบียนที่นั่นตามความสะดวก
แต่สมมติเวลาที่รัฐบาลโอนเงินช่วยเหลือคนจน เงินช่วยเหลือเกษตรกร เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หรือเงินสวัสดิการต่างๆ เข้ามา ก็จะรับเงินผ่านบัญชีที่ผูกกับพร้อมเพย์โดยใช้ “เลขที่บัตรประชาชน” อยู่ดี
มาถึงเรื่องของพร้อมเพย์ ก่อนหน้านี้ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา คัดค้านระบบพร้อมเพย์ ระบุว่า
"พร้อมท์เพย์ ถ้าไม่ออกกฎหมายบังคับ ผมไม่มีวันยอมทำ มีแต่ประเทศไทยนี่แหละที่ใช้เลขบัตรประชาชนเลขเดียวกับทุกเรื่อง ซึ่งยุโรปและอเมริกามีกฎหมายห้ามเด็ดขาด เพราะความเป็น Personal Privacy (ส่วนตัว) ไม่เหลือเลย ในทั้งยุโรปและอเมริกาเขามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Act และเขาห้ามเชื่อมโยงข้อมูล ห้ามขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยเจ้าตัวไม่อนุญาต เขายังไม่ยอมให้ใช้เลขเดียวกับทุกเรื่อง ของเรากฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลออกไม่ได้ ใครมีข้อมูลเราก็เอาไปขายได้ตามสบายแล้วมาบังคับให้ใช้เลข 13 หลักเดียวกันจะไปเหลืออะไร เหมือนเราไม่มีเสื้อผ้าเหลือปกปิดกาย ให้ตายผมก็ไม่ยอม พี่พงศ์โพยม (วาศภูติ - อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย) นับถือกันมากก็จริง แต่เรื่องนี้น้องต้องขออภัย ยอมไม่ได้เด็ดขาดครับ หวังว่าจะไตร่ตรองกันให้ดีนะครับ
ยุโรปและอเมริกาห้ามใช้เลขเดียวกัน เพราะเขาบอกว่าถ้าเวลานั้นมีคอมพ์แล้วใช้เลขเดียวทั้งประเทศ ยิวไม่ตายแค่ล้านคนนะครับ แต่อาจสูญพันธ์เลย เพราะฮิตเลอร์จะรู้หมด!!!!! ออกกฎหมายบังคับก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญกันล่ะ ผม Serious (เครียด) มากครับ เงินในบัญชีหายยังเสียหาย น้อยกว่าเป็นทาสใครก็ไม่รู้ตลอดชาติ ผมอ่านไลน์พี่ๆ เพื่อนๆ ทุกวันและเห็นด้วยเกือบหมด ยกเว้นเรื่องนี้ ตายก็ยอมไม่ได้ หวังว่าคงให้อภัยนะครับ”
ทำเอานายกรัฐมนตรีถึงกับฉุนเฉียว สั่งให้ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลังชี้แจง พร้อมชี้แจงในทุกเรื่อง ขอให้ยืนยันว่าทำด้วยความตั้งใจ
จากนั้นจึงประชดประชันไปว่า “ปัญหาที่เกิดก็แก้กันไป แต่ถ้าไม่อยากให้เกิดก็ยกเลิกทั้งหมด ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เลิกแล้วก็กลับไปที่เดิม”
ด้าน รมว.คลัง ชี้แจงว่าการลงทะเบียนพร้อมเพย์ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ได้มีเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะการนำเลขบัตรประชาชนมาลงทะเบียนนั้น เป็นเพียงการอ้างอิงข้อมูลเท่านั้น
ขณะที่ข้อมูลของตัวบุคคลตามเลขบัตรประจำตัวประชาชนนั้น ธนาคารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และระบบพร้อมเพย์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเข้าพบคุณบวรศักดิ์ด้วยตัวเอง อธิบายว่า การโอนเงินระบบพร้อมเพย์ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นทางเลือกในการให้บริการโอนเงินที่มีอัตราธรรมเนียมถูกลง และเป็นระบบปิด ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้
แบงก์ชาติอ้างว่า มีพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ดูแลอยู่ โดยเฉพาะมาตรา 157 ห้ามผู้ใดที่ล่วงรู้ข้อมูลกิจการสถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูล หากทำผิดมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบว่ามีผู้ใดละเมิดมาตรานี้
ผลการเข้าพบ คุณบวรศักดิ์บอกว่าถ้าระบบพร้อมเพย์ไม่ใช่การบังคับก็ไม่ติดใจเรื่องนี้ แต่อยากให้ผลักดันกฎหมายควบคุมดูแลข้อมูลส่วนบุคคลในระดับประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ฟังฝ่ายแบงก์ชาติพูดแล้วได้แต่ขำในใจ เพราะตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อจากการขายข้อมูลทางโทรศัพท์มาก่อน หลังสมัครบัตรเครดิตเจ้าหนึ่งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารแห่งนั้น ปรากฏว่าบัตรเครดิตรายนั้นไปขายข้อมูลให้บริษัทประกัน
จากนั้นก็ถูกบริษัทประกันหลายรายโทรศัพท์ชักชวนให้ซื้อประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ แถมบอกความจริงไม่หมด พอจะยกเลิกก็ถูกโทรศัพท์หว่านล้อม และทราบมาว่ากระบวนการยกเลิกนั้นยุ่งยากมาก น้อยรายที่ยกเลิกได้สำเร็จ
เลขที่บัตรประชาชน แม้จะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ควรจะรู้เฉพาะตัวบุคคล แต่ที่ผ่านมากระบวนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังคงหละหลวม จนทำให้บุคคลทั่วไปสามารถสืบค้นและล่วงรู้ข้อมูล ก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่รู้ตัว
เช่น หน่วยงานราชการเปิดเผยข้อมูลทั้งเลขที่บัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิด ผ่านรูปแบบการแปลงไฟล์เอกสารในรูปแบบ PDF แล้วอัปโหลดลงเว็บไซต์โดยตรง เพราะเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเขียนโปรแกรมฐานข้อมูลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
หรือจะเป็นครั้งหนึ่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกเครื่องหมายทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered)กรณีผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา กลายเป็นว่าเลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็คือเลขที่บัตรประชาชนถูกเปิดเผยหมด 13 หลัก
ท้ายที่สุด จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลโดยปกปิดตัวเลข 4 ตัวสุดท้ายเอาไว้
หรือจะเป็นบุคคลทั่วไปที่ล่วงรู้เลขที่บัตรประชาชน 13 หลักและวันเดือนปีเกิด สามารถสวมรอยสมัครสมาชิกและทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ได้ รวมทั้งสอดรู้สอดเห็นทางการเมือง เช่น กรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จะถือเป็นผู้ที่เสียสิทธิทางการเมือง
เว็บไซต์ของ กกต. จะมีโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียงแค่กรอกเลขที่บัตรประชาชน 13 หลังก็รู้ได้แล้วว่าไปเลือกตั้งหรือไม่ แล้วข้อมูลพวกนี้ถูกนำไปใช้ในการโจมตีทางการเมือง ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม
นอกจากนี้ ร้านค้าและร้านอาหาร ที่ใช้กลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ผ่านการออกบัตรสมาชิกเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า ก็มีการใช้ข้อมูลเลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์มือถือ
ทุกวันนี้เวลาแคชเชียร์ถาม “มีบัตรสมาชิกไหมคะ” ก็จะต้องบอกเบอร์มือถือแทนการยื่นบัตรสมาชิก หรือแม้กระทั่งร้านค้าบางร้าน ใช้วิธีขอเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก กลายเป็นว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวถูกประจานให้คนอื่นได้ยิน
การก้าวเข้าสู่สังคมที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งทางด้านทะเบียนราษฎร ข้อมูลการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมการจับจ่ายของภาคเอกชนอย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อความลับย่อมไม่เป็นความลับ ความเป็นส่วนตัวของเราเริ่มหายไปมากขึ้นทุกที
ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าใครจะหยิบฉวยข้อมูลของเราไปใช้ทำอย่างอื่น นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ โดยที่เราไม่รู้เรื่องมาก่อน และไม่ยินยอม สงสัยคงต้องรอให้เกิดเรื่องเดือดร้อนขึ้นมาก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะออกมาจัดการปัญหานี้
เป็นวิธีแก้ปัญหา "แบบไทยๆ" ไม่ต่างอะไรกับ "วัวหายแล้วล้อมคอก" ที่เกิดขึ้นในหลายกรณี.