xs
xsm
sm
md
lg

คำทำนายของ Mr.Google

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

เอริค ชมิดต์กับผู้เขียน
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


วันหนึ่งต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ผมได้รับคำชวนจากคุณเอมี่ ซึ่งในเวลานั้นเป็นพีอาร์ของกูเกิลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และดูแลประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ให้ไปรับประทานอาหารเช้าร่วมกับผู้บริหารระดับสูงสุดของกูเกิลในเวลานั้น ซึ่งก็คือ เอริค ชมิดต์

เอริค ชมิดต์ คือหนึ่งในผู้บริหารสูงสุดของกูเกิลมีดีกรีเป็นหนึ่งใน 3 ทหารเสือผู้บริหารบริษัทร่วมกับ แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน สองผู้ก่อตั้งกูเกิล โดยชมิดต์ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของกูเกิลตั้งแต่ปี 2544-2554 (ค.ศ.2001-2011) ก่อนจะปล่อยเก้าอี้ซีอีโอให้แลร์รี เพจ และเขยิบขึ้นไปเป็นประธานกรรมการบริหารกูเกิล อิงค์ ... กูเกิล อิงก์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นแอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา

ต้นเดือนพฤศจิกายนเมื่อสามปีก่อน ชมิดต์เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Google Big Tent Thailand โดยเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี

เช้าวันนั้น ชมิดต์ชวนคนในแวดวงอินเทอร์เน็ต สื่อมวลชน นักการทูต และผู้คร่ำหวอดทางการเมืองไทยจำนวนหนึ่งมานั่งร่วมวงรับประทานอาหารเช้าที่ห้องเพนท์เฮาส์ที่เขาพัก โดยในวงมีคนไทยร่วมรับประทานอาหารอยู่สามคนคือ คุณมีชัย วีระไวทยะ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ tarad.com และผม

ทีแรกผมนึกว่าบนโต๊ะอาหารเช้าวันนั้น ชมิดต์จะชวนพูดคุยเรื่องอินเทอร์เน็ต หรือ ธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับกูเกิลเสียอีก แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นว่าเป็นการสนทนาเรื่องราวสังคม เศรษฐกิจ การเมืองทั่วไป เป็นการคุยไปทานไปที่ออกรสออกชาติ และเนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอินเทอร์เน็ตมากมายอย่างที่คิด

แม้จะเป็นผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับท็อปของโลก เป็นวิศวกรซอฟท์แวร์ แต่สิ่งที่ชมิดต์อยากรู้จากเพื่อนร่วมโต๊ะกินข้าวคือ สภาพสังคมไทยในสายตาคนไทย สภาพสังคมไทยในสายตาคนต่างชาติ สภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมืองภายในและภูมิภาค รวมไปถึงประสบการณ์ มุมมองและแนวคิดของแต่ละคน

ตอนหนึ่งเมื่อถูกถามว่า ผมคิดอย่างไรเกี่ยวกับแนวโน้มสังคมไทยในเวลานั้นและในอนาคต ผมให้คำตอบว่า ชนชั้นกลางในสังคมไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต วิกฤตในทางการเมืองจากนโยบายประชานิยมของภาครัฐ ที่ผู้ปกครองรีดภาษีจากชนชั้นกลางเพื่อไปเจือจุนฐานเสียง วิกฤตในทางเศรษฐกิจทุนยักษ์ใหญ่ก็กำลังเขมือบกินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุนข้ามชาติก็กวาดต้อนเอาปัญญาชน ชนชั้นกลางผู้มีความรู้และการศึกษาดีไปเป็นลูกจ้างเพื่อกอบโกยเอาทรัพยากรอีกทาง

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ ชนชั้นกลางกำลังจนลงเรื่อยๆ เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้นเรื่อยๆ ยากที่จะเติบโตเป็นเจ้าของกิจการ หรือจะว่าไปก็ไม่ต่างไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตาม หนังสือ War on the Middle Class ที่ Lou Dobbs อดีตผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการของซีเอ็นเอ็นว่าไว้เท่าไหร่” ผมให้ความเห็น

ในช่วงท้ายของการกินอาหารเช้าแกล้มบทสนทนา ผู้ร่วมสนทนารอบวงต่างถามขึ้นมาตรงกันว่า แล้ววาระสำคัญอะไรที่ทำให้ผู้บริหารสูงสุดของกูเกิลถึงกับต้องบินมาร่วมงานที่ประเทศไทยด้วยตัวเอง? ชมิดต์ยิ้มๆ ... ก่อนที่จะมีคนหนึ่งบนโต๊ะเอ่ยขึ้นว่า คงเป็นเรื่องของ Youtube Thailand แน่ๆ

ผมไม่แน่ใจว่าชมิดต์มีส่วนมากน้อยเพียงไรในการออกแรงผลักดัน หรือ ตัดสินใจอะไรหรือไม่เกี่ยวกับ Youtube Thailand แต่ในการเดินทางมาครั้งนั้นชมิดต์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ขณะนี้หนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มยอดขายลดลงปีละ 2-3% ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อขยายธุรกิจมาสู่ออนไลน์ กลับไม่มีรายได้มากอย่างที่เคย ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะมีคนอ่านไม่มากเท่าฉบับพิมพ์ แต่น่าจะเป็นเรื่องของการให้บริการและรูปแบบทางธุรกิจมากกว่า ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่เห็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่หนังสือพิมพ์จะเปลี่ยนตัวเองมาสู่สื่อออนไลน์แล้วยังคงมีกำไรเท่าเดิม

“ไม่เฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้นที่ได้รับความนิยมลดลงแต่โทรทัศน์ก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน เพราะในหลายประเทศ พบว่า คนรุ่นใหม่มักไม่บริโภคสื่อโทรทัศน์แล้ว แต่จะรับข่าวสารจากทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์มากกว่า ดังนั้นเจ้าของสถานีโทรทัศน์จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ผู้ชมเป็นใครเพื่อที่จะสามารถผลิตรายการได้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคข่าวสารทุกรุ่น ... แนวโน้มในอนาคตโทรทัศน์จะมีความเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่การพัฒนาอินเทอร์เน็ตทีวีที่มีลักษณะเป็นสมาร์ททีวีที่สามารถตอบสนองความต้องการรับชมของผู้ชมเป็นรายบุคคลนั้น น่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งทีวีในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรายการประจำเช่นเดียวกับรายการทีวีในปัจจุบัน
ชมิดต์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 [1]

หลังจากที่ผู้บริหารสูงสุดของกูเกิลมาเยือนเมืองไทยได้ราว 1 เดือนกว่าๆ ธันวาคม 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็จัดประมูลทีวีดิจิตอลจำนวน 24 ช่อง โดยมีรายได้จากการประมูลมากกว่า 50,000 ล้านบาท

อีก 5 เดือนถัดมา ในเดือนพฤษภาคม 2557 Youtube Thailand ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมสร้างปรากฎการณ์ ดึงดูดผู้ชมได้มากมายมหาศาล ทั้งยังทำรายได้จากโฆษณาแบบถล่มทลาย

จากนั้นเพียง 1 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2558 “เจ๊ติ๋ม” พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด ก็ยื่นหนังสือถึง กสทช. ขอเลิกใบอนุญาตและการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลจำนวน 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และช่องเด็ก LOCA พร้อมทั้งไม่จ่ายค่าสัมปทานงวดที่สอง

เดือนมีนาคม 2559 เฟซบุ๊กเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Facebook LIVE คู่แข่งการถ่ายทอดสด และรายการโทรทัศน์โดยตรง พร้อมทั้งแย้มๆ มาด้วยว่า เร็วๆ นี้กำลังจะเปิดการรับโฆษณาผ่านทาง Facebook LIVE ในประเทศไทย

หมายเหตุ :
[1] ซีอีโอกูเกิลฟังธง "อินเตอร์เน็ตทีวี" เป็นคำตอบธุรกิจสื่อในอนาคต โดยไทยรัฐออนไลน์ 5 พฤศจิกายน 2556

กำลังโหลดความคิดเห็น