xs
xsm
sm
md
lg

Alone in Gifu ๑.๓ : Sanmachi เขาว่าที่นี่ Little Kyoto

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน
Alone in Gifu ๑.๒ : มรดกโลก Shirakawa go
Alone in Gifu ๑.๑ : ตะลุย หมู่บ้านชาวฮิดะ Hida no sato
Alone in Gifu ๑.๐ : กว่าจะถึงทาคะยะมะ ...

๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙ : เมืองทาคะยะมะ จ.กิฟุ

“ทาคะยะมะ” หรือ “ฮิดะ ทาคะยะมะ” (Hida Takayama) บางคนคงเคยได้ยินคำเชิญชวนโฆษณาการท่องเที่ยวว่า ที่นี่คือ “ลิตเติ้ล เกียวโต” มีบ้านสมัยเก่าให้ได้เข้าชม ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แต่สิ่งที่ไม่ค่อยรู้กันก็คือ เมืองนี้มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ถ้าย้อนสืบกัน ไปก็ตั้งแต่ยุคโจมง (Jomon) ราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๓ จนกระทั่งมาถึงยุคนาระ (Nara) นี่จัดว่าโด่งดังในเรื่องงานหัตถศิลป์ แต่ละปีจึงมี ช่างฝีมือ ช่างไม้ หลายคนถูกใช้ไปสร้างปราสาท ประตูเมือง และวัด ในเมืองหลวง

ในยุคเฮอัง (Heian) ตระกูล เฮย์เกะ (Heike) ผู้ปกครองฮิดะได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ในพื้นที่โคะคุฟุ โจะ (Kokufucho) แต่พอถึงในยุคของโทคุเง็น ทางะ (Taga Tokugen) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองก็ได้ย้ายกลับมาพร้อมสร้างปราสาทที่ภูเขาเท็นจิน (Tenjin yama) ต่อมาในยุคเซ็งโงะกุ (Sengoku) ตระกูลมิตสึกิ ได้เข้าปกครองเมือง แต่ก็ถูกขุนพลนางะจิกะ คานะโมริ เจ้าของปราสาทเอจิเซ็ง โอโนะ (Echizen Ono) นำทัพตามคำบัญชาของฮิเดะโยชิ โทโยะโทะมิ เข้ามายึดเมือง ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปกครองพื้นที่ฮิดะ ในเวลาต่อมา (ส่วนนี้เคยเขียนเอาไว้นิดนึงเมื่อตอนไปชมหมู่บ้านพื้นเมืองฮิดะ)

ซึ่งตระกูลนี้ก็ครองภูมิภาคฮิดะมายาวนานถึง ๖ รุ่น รวมเวลา ๑๐๗ ปี มีการสร้างปราสาททาคะยะมะ และวัดมากมาย จนถึง พ.ศ.๒๒๓๕ การปกครองของตระกูลคานะโมริ ก็ได้สิ้นสุดลงในยุคเอะโดะ โชกุนได้สั่งทำลายปราสาททิ้ง จนกลายมาเป็นสวนสาธารณะชิโระยะมะ (Shiroyama) ในปัจจุบัน จากนั้นก็ส่งมาปกครองเจ้าเมือง เคยเกิดการจลาจลจากชาวนา ที่ถูกกดขี่ และปัญหาทุจริต แต่บางคนก็สามารถปกครองให้รอดพ้นจากความอดอยาก และสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมทั้งเครื่องปั้นดินเผา และชุดผ้าไหม จนกระทั่งเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปเมจิ เมืองก็ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น จนว่ากันว่ามีประชากรหนาแน่นที่สุดใน จ.กิฟุ เลยทีเดียว

เท้าความมายืดยาว มิใช่อะไร ผมกำลังจะไปเที่ยวสถานที่ที่ในอดีตเคยเป็น “ที่ว่าการเมืองทาคะยะมะ” (Takayama Jinya) ซึ่งอยู่ในย่านเมืองเก่าห่างจากสถานีรถไฟราวๆ ๗๐๐ เมตร ได้ และแน่นอน แถวนี้มีแต่ของกิน ของฝากเพียบ ที่เล็งไว้ ๑ ในนั้นก็คือร้านขนมญี่ปุ่น เพิงเล็กๆ อยู่ตรงแยกก่อนถึงที่ว่าการฯ ในเว็บไซต์ของญี่ปุ่นก็การันตีจัดว่าเด็ด ... อีกแล้วเหรอ? อ่ะ ลองก็ลองครับ ร้านนี้ชื่อว่า “จินยะดังโงะเท็ง” (Jinya dango ten) ขายขนมดังโงะเสียบไม้ดูคล้ายลูกชิ้นปิ้งราดน้ำจิ้ม แต่ความจริงมันคือแป้งข้าวเจ้า (บ้างก็ใช้แป้งข้าวเหนียว) ปั้นเป็นก้อนแล้วนึ่ง ราดซอสสไตล์ “มิตะระชิ ดังโงะ” (Mitarashi dango)

คืออะไรวะ? ไม่รู้เหมือนกันครับ ต้องลองชิมดู ซื้อมา ๑ ไม้ในราคา ๘๐ เยน โอ้ไม่แพงแหะ แต่ดูสีสภาพแล้วมันคุ้นๆ เหมือนเคยซื้อที่ทาคะโอะซัง (Takao san) เมื่อครั้งมาเยือนโตเกียวงวดก่อน ... พอกัดคำแรกเท่านั้นล่ะ อื้อหือ ชัดเลย ใช่เลย เค็มเหมือนกันเลยจ้า!!! นี่ก็คือดังโงะย่างราดซอสรสโชยุนั่นเอง!! ฮือๆๆๆ

ยืนกินเสียให้เสร็จสรรพมันตรงนั้นแล้วก็เดินเข้าอดีตที่ว่าการเมืองทาคะยะมะกันครับ ดูจากกำแพงแล้วภายในน่าจะกว้างขวางเหมือนกันนะ ที่นี่เปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา ๐๘.๔๕ น. – ๑๖.๓๐ น.เฉพาะช่วงหน้าหนาว ถ้าปกติก็ปิด ๕ โมงเย็น มีซุ้มประตูทางเข้าเก็บค่าผ่านประตูในราคา ๔๓๐ เยน ก็จะได้สูจิบัตรมา ๑ ใบ และที่นี่มีแบบพิมพ์เป็นภาษาไทยด้วย แสดงว่าเป็น ๑ ในสถานที่ที่ทัวร์ต้องพามาแหงๆ นี่ถือเป็นข้อดีของคนขี้เกียจอย่างผม จะได้ไม่ต้องมานั่งแปลภาษาอังกฤษอ่านเป็นไทย เย้!!

ที่ว่าการเมืองทาคะยะมะ แต่เดิมเป็นคฤหาสน์ของตระกูลคานะโมริ จนกระทั่งยุคที่โชกุนได้ปรับเปลี่ยนการปกครองเป็นสั่งการจากส่วนกลาง ที่นี่จึงถูกใช้ว่าราชการ (ถ้ามองในมุมผมทาคะยะมะก็น่าจะเปรียบดั่งอำเภอเมืองของ จ.ฮิดะ กระมัง) ซึ่งที่แห่งนี้ถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี ๒๒๓๕ – ๒๔๑๑ รวม ๑๗๖ ปี มีผู้ว่าราชการเมืองทั้งหมด ๒๕ รุ่น ทำหน้าที่เก็บภาษี ,การคลัง ,ดูแลความสงบ ,พิพากษาคดี และการบริหารจัดการป่าไม้

ในสูจิบัตรแผนผังจะเขียนไว้เลยว่า อาคารหลังไหนเป็นของเก่า และหลังไหนเพิ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปี ๒๕๓๙ อันนี้ดีแหะ ซึ่งของเก่าก็มีตั้งแต่ประตูหน้า ,ป้อมยาม ,โกดังข้าว ,โกดังเครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหาร ,โกดังเอกสาร แต่ในส่วนแรกที่เรากำลังจะเข้าไป ก็คืออาคารหลักนี้ ทั้งหลังเป็นของเก่าเกือบหมดถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๓๕๙ มีแค่บางจุดที่ถูกต่อเติมขึ้นเชื่อมต่อกับอาคารหลังอื่นที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดการสมบูรณ์แบบของโครงสร้างทั้งหมด

สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนเข้าก็คือถอดรองเท้าแล้วนำไปใส่ในถุงพลาสติก จากนั้นก็จงหิ้วมันไปด้วยตลอดการเยี่ยมชม เมื่อเข้ามาแล้วมันจะเป็นทางบังคับให้เราเดินไปเรื่อยๆ ผ่านสำนักงานข้าราชการส่วนกลาง ,สำนักงานข้าราชการท้องถิ่น ,ห้องสำหรับพระสงฆ์ ,สำนักผู้แทนเมือง ,สำนักเจ้าเมือง ,ห้องครัวย่อย ,สำนักงานคัดลอกหนังสือ


หมดโซนนี้จะมีทางเชื่อมไปสู่อาคารที่สร้างใหม่ ก็มี ห้องพักแขก ,ห้องรับแขก ,ห้องคนรับใช้ชาย และ หญิง ,ห้องครัว ในบริเวณนี้มีจัดแสดงเครื่องครัว และโบราณวัตถุพวกถ้วย ชามกระเบื้องให้ได้ชมด้วย นอกจากนั้นก็เป็น ห้องน้ำชา , ห้องนั่งเล่นสำหรับผู้ว่าฯ และภรรยาผู้ว่าฯ ห้องเหล่านี้จะหันหน้าเข้าสู่สวนญี่ปุ่นที่อยู่ใจกลางที่ว่าการฯ

จากนั้นก็วกกลับมายังอาคารเดิมเข้าสู่ห้องประชุมหลังใหญ่ โอะฮิโระมะ (Ohiroma) ซึ่งก็มีทางเดินไปสู่องคุระ (Onkura) โกดังเก็บข้าวที่ถูกสร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๒๒ จัดว่าใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ปัจจุบันภายในกลายเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองทาคะยะมะ ทั้งโซนโกดังเก็บกระสอบฟางข้าว เพื่อบอกเล่าถึงการจัดเก็บภาษีข้าวจากชาวนา หรือเนงกูไม (Nengumai) โดยฟางข้าวหนึ่งกระสอบจะมีน้ำหนักประมาณ ๖๐ กิโลกรัม จากนั้นก็เป็นโซนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมือง มีหนังสือ และเรื่องราว ที่เป็นภาษาท้องถิ่น ถูกเก็บไว้อย่างดี ให้ได้ศึกษา ไอ้เราอ่านไม่ออกก็ดูอย่างเดียว ถ่ายรูปก็ไม่ได้ เขาห้าม อ่อ มีชุดเกราะซามุไรโยะโระอิ คาบุโตะ มรดกตระกูลของข้าราชการท้องถิ่นของแท้ให้ได้ดูด้วยนะ

ที่นี่ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นตัวปิดหัวตะปูเป็นรูปกระต่าย เรียกว่า มะมุกิ อุซางิ (Mamuki Usagi) แต่ที่จัดแสดงได้อย่างน่าสนใจอีกแห่งก็คือโอะชิราสุ กินมิโฉะ (Oshirasu Ginmisho) หรือห้องสอบสวนและพิจารณาคดีความทางอาญา ระบุที่นั่งของผู้ต้องโทษ พร้อมเครื่องลงโทษ ทั้งไม้เฆี่ยนที่ทำจากไม้ไผ่ กรงขังไก่ และที่นั่งสำหรับลงทัณฑ์ด้วยการนำนักโทษนั่งคุกเข่าบนตะแกรงไม้แล้ววางหินหนักก้อนละ ๔๐ กิโลกรัมทับลงไป ... โหดไม่เบาเลยแหะ

ซึ่งจุดนี้คือห้องสุดท้ายของการชมอาคาร รวมเวลาสำหรับที่นี่ก็ปาเข้าไปชั่วโมงนึง อาจจะนานไปหน่อยเพราะพยายามนึกภาพตามถึงวิธีการใช้งานของแต่ละห้อง เพลินไปหน่อย และก็เดินกลับมาสู่ด้านหน้าทางเข้าอีกครั้ง นำถุงพลาสติกมาคืนเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการรียูสให้คนอื่นได้นำไปใส่รองเท้าต่อ ...

จากที่ว่าการฯ เราข้ามฝั่งถนนไปสู่สะพานข้ามแม่น้ำสีแดงดูสะดุดตาที่ชื่อว่า “นาคะบะชิ” (Nakabashi) ที่นี่มีชื่อเสียงมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เป็นอีก ๑ จุดชมวิวดอกซากุระที่สวยงามไม่แพ้ที่ใด แต่... ยังไม่ใช่ช่วงที่ผมมาครับ T-T พูดถึงชื่อเสียงของเมืองนี้ มีอีกอย่างคือขบวนแห่เกี้ยว งานเทศกาลทาคะยะมะ (Takayama Matsuri) ที่ติด ๑ ใน ๓ ของงานเทศกาลที่สวยงามที่สุดในญี่ปุ่น จะจัดขึ้น ๒ ครั้งคือช่วงสงกรานต์บ้านเรา วันที่ ๑๔ – ๑๕ เมษายน ในชื่อเทศกาลซังโนะ (Sanno festival) จัดในแถบสะพานแดงนี้ และอีกช่วงคือฤดูใบไม้ร่วง วันที่ ๙ – ๑๐ ตุลาคม ในชื่อเทศกาลฮาจิมัง (Hachiman festival) แต่จัดทางตอนเหนือของเมืองคนละที่กัน โดยเกี้ยวบางส่วนถูกนำไปเก็บไว้เพื่อจัดแสดงที่ หอจัดแสดงทาคะยะมะ มัตสึริ ยาไต (Takayama Matsuri Yatai Kaikan)และแน่นอนว่า เวลาที่เหลือทำให้ผมไม่ได้ไปชมอีกเช่นกัน ....

พอเดินข้ามสะพานมาเราก็เข้าสู่พื้นที่โบราณสถานแห่งชาติ (Furui Machinami) ที่เต็มไปด้วยบ้านเก่าในยุคเอะโดะ บนย่าน “ซังมะจิ” (San machi) บ้างก็ว่ามีอายุกว่า ๓๐๐ – ๔๐๐ ปีเลยทีเดียว เป็นบ้านไม้ ๒ ชั้น ทาสีดำหรือน้ำตาลเข้มทั้งหลัง แถวนี้ล่ะครับที่เขาเรียกว่า ลิตเติ้ล เกียวโต ในสมัยก่อนถือเป็นย่านใจกลางเมือง เพราะอยู่ไม่ไกลจากปราสาททาคะยะมะ และที่ว่าการเมืองฯ นัก จึงเป็นทั้งที่อยู่และแหล่งการค้าที่สำคัญในยุคนั้น จนกระทั่งยุคนี้ก็ยังถือว่าสำคัญ แต่เปลี่ยนเป็นด้านการท่องเที่ยวแทน ซึ่งก็คาดว่าน่าจะสร้างเม็ดเงินให้แก่คนท้องถิ่นไม่น้อย

ซึ่งโซนนี้มี ๓ ซอยให้เดินเข้าไป และซอยตรงกลางก็จะคนพลุกพล่านมากสุด เท่าที่สำรวจ บ้านหลายหลังยังคงสภาพเดิม บางหลังกลายก็เป็นร้านค้า เท่าที่ดูในแผนที่แถวนี้มีโรงกลั่นสาเกเก่าด้วยแหะ ด้านหน้ามีถังเหล้าวางอยู่เป็นจุดเด่นชัดเลย


ผมเดินไปเรื่อยๆ พร้อมเปิดลายแทงของกินไปด้วย ตามหาจนเจอร้านชื่อว่า “คิสสะโคะ คัทสึเตะ” (Kissako katsute) เป็นร้านขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่นแบบนั่งทาน ที่ฮิตๆ ของที่นี่คือชาเขียวร้อนกับขนมโมจิเหนียวๆ ใสๆ ที่เรียกว่า วาระบิ (Warabi mochi) ตั้งใจจะมาสั่งเมนู่นี้เลยครับ แต่เหลือบไปเห็นอีกเมนูนึงที่ดังไม่แพ้กัน ก็คือ “ไอศกรีมพาร์เฟต์ แบบดั้งเดิม อามะงะซะเนะ” (Original parfait Amagasane) เฮ้ย ดูน่าสนใจกว่าแหะ แม้ราคาจะไม่ใช่น้อยๆ ๙๕๐ เยน กินข้าวได้มื้อนึงเลย แต่ก็ขอลองสักหน่อย

ภายในร้านแบ่งเป็น ๒ ชั้น ผมนั่งชั้นล่างมีตรงบาร์ติดหน้าต่างให้ดูคนเดินไปมาผ่านม่านเสื่อกันแดด ข้างหลังผมเป็นโซนที่นั่งพื้นยกสูงสำหรับมากันเป็นหมู่คณะ ชั้นบนก็คงมีที่นั่งพอสมควร แต่ผมก็ไม่ได้ขึ้นไปดูนะ ไม่นานนักพนักงานสาวน่ารักก็มาเสิร์ฟ มันเป็นไอศกรีมในถ้วยทรงสูงที่อัดแน่นมาด้วยเครื่องอันหลากหลาย ชั้นบนสุดเป็นไอศกรีมชาเขียวที่ได้กลิ่นชาเบาๆ และไม่ค่อยหวาน ราดด้วยน้ำเชื่อมโรยผงชาเขียว มีถั่วแดงกวนเนื้อเนียนไม่หวานนักอยู่ด้านข้าง ส่วนอีกด้านที่เห็นเป็นผงนี่ถั่วเหลืองคั่วบดอารมณ์เหมือนขนมตุ๊บตั๊บ ตักลงไปเจอครีมสดที่เนียนและไม่หวาน ตรงกลางมีแครกเกอร์แบบญี่ปุ่น แป้งทอดแบบคอร์นเฟล็ก และขนมวาระบิโมจิ ที่เหนียวนุ่มลิ้นมาก ด้านใต้สุดมีน้ำเชื่อมน้ำตาลทรายแดงก็ไม่หวานมาก แต่กินรวมกันทั้งหมดได้รสหวานกำลังดี

รู้สึกคิดถูกที่แวะเข้าร้านนี้ เพราะเจอขนมรสชาติดี แถมยังได้นั่งพักชมพนักงาน เอ๊ย แก้เมื่อยขาก่อนเดินทางต่อ พอจ่ายตังค์เสร็จออกมาร้านก็ปิดทันที ในละแวกนี้พอห้าโมงเย็นร้านค้าก็เริ่มปิดบริการกันแล้วครับ เร็วแท้ แถวนี้นี่มีพิพิธภัณฑ์แฝงตัวอยู่ตามบ้านต่างๆ ด้วยนะ อย่างเช่น หลังที่หน้าบ้านมีชุดนินจาพร้อมอาวุธโชว์อยู่ในตู้กระจก นั่นคือพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีฮิดะ (Hida Minzoku Kouko-kan) หรืออย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะท้องถิ่นฮิระตะ (Hirata Kinen-kan) และพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองฟุจิอิ (Fujii Bijutsu Mingei-kan) ก็อยู่ในละแวกนี้ด้วย แต่ทั้งหมดผมก็ไม่ได้เข้าชมตามเคย เพราะปิดทำการเสียแล้ววววว


เอาเข้าจริง ถ้าใช้เวลาเดินทั่วๆ ในย่านนี้ คิดว่าใช้เวลาราวๆ ๑ – ๒ ชั่วโมงก็น่าจะเดินจนครบได้ แต่ผมยังเดินไม่ครบนะ ยิ่งเย็นคนยิ่งน้อยลง ผมเดินมาจนเจอถนนใหญ่ ยะสุคะวะ (Yasukawa dori) ก็เลี้ยวซ้ายเดินข้าม “สะพานคะจิ” (Kaji bashi) บนสะพานนี้มีความพิเศษอยู่ ก็คือ รูปหล่อยักษ์ ๒ ตนอยู่กลางสะพานคนละฝั่ง ตน ๑ มีแขนยาวเรียกว่า เทะนะงะ โซะ (Tenagazo) ส่วนอีกตนมีขายาว อาชินะงะ โซะ (Ashinaga Zo) เป็นอีก ๑ สัญลักษณ์ของย่าน และละแวกนี้เองตอนเช้าๆ จะมีตลาดให้เดินจับจ่ายกันด้วย เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยว่ากัน

หลุดจากสะพานผมก็เดินเลี้ยวซ้ายเลาะตามถนนมาเรื่อยๆ ตรงนี้มีร้านขายสินค้าต่างๆ เพียบเลยครับ แต่แน่นอนว่าหลายร้านก็เริ่มปิดทำการ เดินมาเรื่อยๆ ก็เจอร้านนึงขายซูชิหน้าเนื้อฮิดะผ่านทางช่องกระจก พอดูในลายแทงที่ทำไว้ อ้าวนี่มันอยู่ในลิสต์พอดี อย่างนี้ต้องลอง


ร้านนี้ชื่อว่า “เคียวอุชิ” (kyoushi) จริงๆ ขายอาหารท้องถิ่นพวกซูชิปลา และเมนูเนื้อ ราคาก็เอาเรื่องตามสภาพร้านที่ดูหรูไม่น้อย ส่วนด้านช่องกระจกนี้ก็อย่างที่บอกล่ะครับ เขาขายในราคา ๒ คำ ๖๐๐ เยน แต่ถ้าเป็นแบบจัดเต็ม มีซูชิหน้าเนื้อโรยเกลือ ,ราดซอสโชยุ และแบบมากิห่อสาหร่าย ทั้งหมดนี้ราคา ๙๐๐ เยน ... เอ้า มาถึงขั้นนี้ต้องลองแล้วล่ะ

พูดถึง “เนื้อฮิดะ” (Hida Gyu) สักนิด จัดว่าเป็น ๑ ในวัตถุดิบที่ขึ้นชื่อของพื้นที่ฮิดะ รวมไปถึง จ.กิฟุ ข้อมูลระบุว่า เป็นเนื้อวัวขนดำที่ถูกเลี้ยงในจังหวัดเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๔ เดือน โดยเนื้อเหล่านี้ที่จะเป็นฮิดะชั้นเลิศได้ต้องผ่านการรับรองและมีผลคะแนนในเกรดเอ และ บี เท่านั้น จากที่ประชุมการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าเนื้อฮิดะ (the Hida Beef Brand Promotion Conference) และยังต้องมีความหนาแน่นในชั้นเนื้อในระดับเกรด ๓ , ๔ และ ๕ จากสมาคมจัดอันดับเนื้อประเทศญี่ปุ่น (the Japan Meat Grading Association) ด้วย ส่วนเนื้อที่วัดระดับไม่ถึงก็จะถูกขายกลายเป็นฮิดะวากิว (Hida Wagyu) เนื้อฮิดะนี่ถูกจัดว่าเป็น ๑ ในเนื้อที่มีคุณภาพดีที่สุดทั้ง โดยเฉพาะในส่วนลายหินอ่อนไขมันแทรกเนื้อที่ดูสวย ซึ่งเขาว่าจำนวนของลายนี้มันเป็นปัจจัยที่กำหนดถึงคุณภาพของเนื้อได้เลยทีเดียว



ทีนี้เรามาลองดูสิ่งที่ผมสั่งกันครับ พ่อครัวทำการเอาเศษเนื้อที่ย่างไฟไม่สุกมากมาทำข้าวห่อสาหร่ายใส่ต้นหอมหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ จากนั้นก็ไปย่างเนื้อที่จะทำซูชิ ผมใช้คำว่าอังไฟดีกว่า ให้พอโดนความร้อน แล้วก็ปั้นข้าวเอาเนื้อดิบอังไฟแปะบนข้าว วางบนแผ่นข้าวเกรียบชิ้นใหญ่ แล้วเผาไฟนิดนึง โรยเกลือ กับใส่ไชเท้าสับราดโชยุ เป็นอันเสร็จพิธี ... คือ .... พี่แกเล่นให้กินเนื้อดิบเลยเนี่ยนะ? ถ้าใครไม่เคยทานคงมีอึ้งกันไปบ้างล่ะ

กินเลยดีกว่า เริ่มจากมากิเนื้อฮิดะ กลิ่นเนื้อย่างหอมมากซอสที่ราดมาก็อร่อยดี ส่วนซูชิ เนื้อนุ่มเคี้ยวง่ายมาก แต่โชยุ กับเกลือ นี่ทำให้เค็มกลบรสสัมผัสเนื้อไปเยอะเหมือนกัน อ่อ แผ่นข้าวเกรียบรองนี่ก็กินได้นะ รสชาติเหมือนกินขนมโดโซะบ้านเราน่ะ อร่อยดี ... แต่ตอนนี้ติดใจเนื้อย่างมาก!! อยากกินๆๆๆ ต้องได้โดนกันบ้างล่ะวันนี้

เดินกินไปเรื่อยจนหมดจนกลับถึงที่พักที่เราฝากกระเป๋าเอาไว้ ที่ “เจ ฮอปเปอร์ ฮิดะ ทาคะยะมะ เกสต์เฮาส์” (J-Hoppers Hida Takayama Guest House) อยู่แถวๆ ที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อทำการเช็กอิน ห้องนอนคืนนี้คืนสู่สามัญกับเตียงรวมที่มีหมู่มวลนักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ ซึ่งงวดนี้เป็นเตียง ๒ ชั้น ในห้องมีประมาณ ๖ เตียงเอง คนน้อยดี มีม่านกั้น ส่วนในเกสต์เฮาส์ มีห้องครัว ห้องดูทีวี ห้องอาบน้ำอยู่ชั้นล่างแยกชายหญิง แต่ห้องน้ำชักโครกเป็นระบบทำความสะอาดด้วยตัวเราเอง

เอ้า ... ทำความรู้จักกับที่นอนพร้อมจัดวางของจนเรียบร้อยเสร็จก็ถึงเวลาออกไปหาอะไรกินดีกว่า ลงไปถามพนักงานเพื่อความอยากรู้ว่าแถวนี้อะไรอร่อย เนื้อฮิดะย่างร้านไหนเด็ดสุด เขาก็แนะนำร้านที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟที่นึง และก็ร้านที่อยู่แถวๆ วัดฮิดะ โคคุบุน ๒ ที่นี่ก็อยู่ในลิสต์ของผมเหมือนกันครับ สงสัยจะอร่อยจริง ต้องออกตามหา แพงแค่ไหนก็ต้องโดนให้ได้!!

เริ่มออกตามหาร้านใกล้ๆ สถานีรถไฟเป็นร้านแรก เดินๆ ไปจนถึงหน้าร้าน พนักงานต้อนรับบอกว่า ปิดรับคิวแล้ว... เฮ้ย เพิ่งจะทุ่มครึ่งเนี่ยนะ เอ้า ปิดก็ปิด เดินต่อไปผ่านสถานีรถไฟวกไปทางวัดฮิดะ โคคุบุน แล้วตรงไปสู่ร้านที่ ๒ พอเข้าไปถามก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิม ... เอาละสิ อดแล้ว จะกินอะไรต่อล่ะเนี่ย จริงๆ แถวนั้นก็มีร้านเนื้อฮิดะย่างที่ยังเปิดอยู่หลายร้าน แต่ด้วยความงกกะทันหัน (ไหนเมื่อกี้บอกแพงแค่ไหนก็ยอมไง) เพราะกลัวอร่อยสู้ร้านที่อยากลองไม่ได้ เลยตัดใจไม่กินดีกว่า

เวลานี้ประมาณ ๒ ทุ่มกว่าๆ มันเงียบสงัดราวกับอยู่ในเมืองร้างเลยครับ มีแสงไฟ กับชายชื่อดรงค์ ยืนว้าเหว่อยู่บนทางเดินที่เต็มไปด้วยร้านค้าแต่ปิดลงหมดแล้ว เดินคอตกกลับไปร้านสะดวกซื้อแถวที่พักแล้วกัน ... ระหว่างนั้นก็เดินเข้าซอยโน้นออกซอยนี้ไปเรื่อย ไหนๆ ได้อยู่ที่นี่เป็นคืนสุดท้ายก็ขอสำรวจหน่อย แล้วก็ไปเจอร้านนึงครับ ข้างหน้ามีเมนูเขียนว่า “โซบะเนื้อฮิดะ” แถมยังเปิดอยู่ด้วย ... เอาวะ อย่างน้อยก็คงดีกว่ากินข้าวกล่อง

ร้านนี้ทราบภายหลังชื่อว่า “ฮิดะ โซบะ โคบุเนะ” (Hida soba kobune) อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนัก เข้ามาในร้านมีฝรั่งอยู่เต็มเลย ภายในก็ตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่นมีป้ายภาพวาด ตัวอักษรแขวนเต็มเลย ส่วนที่นั่งมีสองแบบ เป็นโต๊ะปกติ กับแบบนั่งพื้นยกสูง นั่งสักพักพนักงานเป็นสตรีวัยกลางคน น่าจะเป็นภรรยาเจ้าของร้านมั้ง ก็เดินเอาเมนูมาให้ ผมไม่รอช้าสั่งก๋วยเตี๋ยวโซบะเนื้อฮิดะ มา ๑ ชาม แกก็รับออเดอร์เข้าไปในครัว มีชายวัยใกล้เกษียณเป็นเชฟ อาจจะพ่วงตำแหน่งสามีของเจ๊เขาด้วยกระมัง

ไม่นานนัก ก๋วยเตี๋ยวก็มาเสิร์ฟ ในชามมีเส้นโซบะ เนื้อฮิดะสดๆ ๒ ชิ้นแผ่นใหญ่ๆ ยาวๆ วางอยู่บนเส้น ให้น้ำซุปค่อยๆ ทำปฏิกิริยากับเนื้อจนสุก มีลูกชิ้นรูปดอกไม้ และต้นหอมญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้ ๑,๒๐๐ เยน มาถึงก็ซัดเนื้อก่อนเลย ดูมีลายหินอ่อนดีแหะ แต่ผมก็ดูไม่ค่อยเป็นหรอกครับ กินดีกว่า คำแรกนี่อื้อหือ เนื้อเหนียวนุ่มดีจริงๆ พอลองทานเส้นโซบะตามนี่แบบ ...สงสัยจะไม่ค่อยถนัดกับเส้นนี้เลย มันออกกระด้างกินแล้วไม่เจริญอาหารเลยแหะ ส่วนน้ำซุปกลิ่นหอมดี แต่พอชิมแล้วกลับรสชาติเฉยๆ ... ถ้าไม่คิดอะไร อย่างน้อยก็ถือว่าได้กินชาบูเนื้อฮิดะแล้วกัน ฮ่าๆๆๆ

ทานเสร็จก็ได้เวลากลับสู่ที่พักท่ามกลางความหนาวเย็น เพื่อพักผ่อนเข้านอนหลังจากอ่อนเพลีย วันนี้เดินเยอะแท้ ทั้งทัวร์หมู่บ้านชิระคะวะ แล้วยังมาเดินเล่นในเมืองทาคะยะมะอีก สมควรแก่เวลาเก็บแรงเอาไว้เดินทางต่อในวันพรุ่งนี้ ... เรามีนัดกันที่ตลาดเช้า!!

อ่านต่อฉบับหน้า...

ที่มาข้อมูลบางส่วน : http://www.hida.jp/english/about-takayama-city/history
http://www.wdo-kao.jp/
http://www.kyoushi.co.jp/
http://www.hida.jp/english/dining/hida-beef
http://tabelog.com/gifu/A2104/A210401/21002694/
กำลังโหลดความคิดเห็น