xs
xsm
sm
md
lg

พูดเรื่องยาบ้ากันหน่อยแล้วกัน

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เรื่องยาบ้า ยาเสพติด เป็นข่าวฮือฮาเมื่อสัปดาห์ก่อน ภายหลังการประชุมเรื่องทิศทางนโยบายยาเสพติดโลก ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ศาลฎีกา และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 -16 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา

เป็นการจัดประชุมขึ้นในไทย ภายหลังการประชุม UNGASS (2016)ของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายและการตีความของไทยเกี่ยวกับยาเสพติด และพูดถึงการนำสารเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ออกจากบัญชีสารเสพติดให้โทษ

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม มีความเห็นว่า ต้องคุยกันทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม ป.ป.ส. ตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นแนวโน้มกันแล้ว และก็เห็นแล้วว่า เมท มีโทษน้อยกว่าบุหรี่และสุรา อีกที่จะทำร้ายสมอง แต่เรากลับมองว่ามันไปไกลกว่าเหล้าและบุหรี่อีก โดยมองว่ามันเป็นอาชญากรรม ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแอมเฟตามีน(สารตั้งต้นของยาบ้า)จากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์เมทแอมเฟตามีนมีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุรา ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวบ้านพูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมือง

รมว.ยุติธรรม ยังบอกว่า หากพูดในภาษาชาวบ้านคือ เราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไรอย่างมีความสุข และทุกคนเข้าใจมัน ใช้ประโยชน์จากมัน เพราะยาเสพติดบางประเภทมียาแก้ปวด แก้อะไรพวกนี้ และสังคมต้องปลอดภัย ซึ่งต้องเข้าใจมันให้มากขึ้น เมื่อก่อนเราปราบยาเสพติด เราใช้การปราบนำจับมาติดคุก ประเทศไทยใช้ 20-30 ปี เราทำสำเร็จหรือไม่ มันไม่สำเร็จหรอก ต้องยอมรับผลอันนี้ ยอมรับวิธีการดำเนินการนี้ แต่เราต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจ เพราะการรับรู้ยาเสพติดกับประเทศไทยจะเป็นในเรื่องของการปราบ เชิงของอาชญากรรมที่เลวร้าย และเป็นยาเสพติดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้งที่เมื่อก่อนเราใช้ยาเสพติดเพื่อการรักษา บำบัด และดูแลดี

พอข่าวนี้ออกมา ก็ฮือฮาซิครับ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันละครับ หลังการประชุม สื่อบางสำนักก็สรุปประเด็นว่า ศาล - ก.ยุติธรรม เห็นพ้องปรับมุมมองคดียาเสพติดตามกม.ใหม่ สอดคล้องทิศทางUN -บิ๊กต๊อก ระบุ 5 ปราบอย่างเดียวไม่ได้ผล เล็งหารือ “สธ.” เปลี่ยนยาเสพติดเป็นยารักษา เผย สารเสพติดบางชนิดรักษาโรคได้

ที่จริงการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้าร่วม เช่น ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศาลอุทธรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งการเชิญวิทยากรระดับโลกจากต่างประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ มาร่วมให้ข้อมูลอีกด้วย

มีอีกหลายความเห็นครับ นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายว่า จะได้สามารถนำสารชนิดนี้มาใช้ในทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น หรือใช้ในทางที่เกิดประโยชน์

ส่วนการแก้กฎหมาย จะจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ กลุ่มผู้ใช้ยา และกลุ่มเหยื่อ ซึ่งกลุ่มผู้ค้ายารายใหญ่ จะมีการปราบปรามให้หมดเหมือนเดิม ส่วนกลุ่มผู้ใช้ยาจะมีการกำหนดบทลงโทษที่นอกเหนือจากการจำคุก โดยจะให้ศาลเป็นผู้พิจารณาในแต่ละกรณี

ขณะที่กลุ่มเหยื่อคือ กลุ่มที่เสพยาเสพติดจำนวนน้อยจะต้องมีการทบทวนใหม่ เพราะที่ผ่านมาได้แต่ดำเนินคดี และลงโทษด้วยการจำคุก แต่พบว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และจากการศึกษาผลวิจัยพบว่า การแก้ปัญหายาเสพติด ไม่สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมายอย่างเดียว เพราะมีสาเหตุหลักจากปัญหาทางสังคมด้วย

นอกจากนี้ ผลการวิจัย ยังพบว่า ในสังคมที่มีทางเลือกจะมีอัตราของคนที่เสพยาน้อยกว่าสังคมที่ไม่มีทางเลือก ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับบริการสาธารณสุขให้เข้าถึงผู้เสพสารเสพติดได้อย่างรวดเร็ว และสรุปว่ากฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และยังต้องศึกษาต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ผมว่า คำอธิบายทางวิชาการของเภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร ( http://haamor.com/th ) มีรายละเอียดน่าสนใจ แอมเฟตามีน (Amphetamine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางหรือสมองถูกนำมา ใช้บำบัดโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactiviry disorder) และโรคลมหลับ (Narcolepsy) ยานี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) และพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันในเวลาต่อมา ในรูปแบบของ ยารับประทาน ยาพ่นจมูก ยาเหน็บทวาร และยาฉีด

ผลเสียของการนำยาแอมเฟตามีนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์มีมาก เช่น ใช้กระตุ้นสมองให้ตื่นตัวและเพิ่มระยะเวลาทำงานได้ยาวนานขึ้น การใช้ยาดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เกิดการติดยา นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์และส่งผลเสียต่อระบบประสาทเช่น มีอาการสับสน การตอบสนองต่อสิ่งเร้าผิดปกติ เกิดอาการชักกระตุก  มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ยานี้ยังอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะขัด ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีการรณรงค์และออกกฎหมายเรื่องการใช้ยาแอมเฟตามีนอย่างผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งผู้บริโภคต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ไม่ทดลองหรือเชื่อคำแนะนำจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่แนะ นำให้ใช้ยานี้

ปัจจุบัน แอมเฟตามีนถูกคณะกรรมการอาหารและยา ระบุให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ประเทศไทยจึงไม่มีการผลิตยานี้ แต่ในแถบอเมริกากำหนดให้ยาแอมเฟตามีนเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้นจึงจะซื้อได้ ส่วนในแถบเอเชียมีบางประเทศที่ระงับการใช้ยานี้ แล้วเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ยาแอมเฟตามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ร้ายแรง เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจเสียชีวิต ทันทีได้  ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว กระสับกระส่าย วิงเวียน นอนไม่หลับ มีอาการจิตหลอน/ประสาทหลอน ซึมเศร้า ตัวสั่น ปวดศีรษะ ชัก เกิดอาการ Tourette’s syndrome (กลุ่มอาการทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ทั้งตัว) ปากแห้ง การรับรสชาติผิดปกติไป ท้องเสีย ท้องผูก รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหารเบื่ออาหาร น้ำหนักลด สามารถพบลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง เกิดภาวะผิวเป็นจ้ำ ช้ำ และบวมเป็นต้น

อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดเช่น มีอาการกระสับกระส่าย หายใจเร็ว รู้สึกสับสน มีอาการประสาทหลอนจนถึงคลุ้มคลั่ง ตัวสั่น อ่อนแรง และซึมเศร้า ในเวลาต่อมา หัวใจเต้นผิดจังหวะความ ดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว นอกจากนี้ยังพบอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องแบบปวดบีบ มีอาการชักจนถึงเกิดภาวะโคม่า ซึ่งเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที่

ข้อควรระวังการใช้แอมเฟตามีนมีมาก เช่น ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีประวัติติดยาเสพติด ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI หากจำเป็นต้องใช้ยาแอมเฟตามีน ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOI เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันขึ้นไป ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจและผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่โรค อยู่ในระยะปานกลาง - ระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคต้อหิน ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตทั้งต่ำและสูง หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ ระวังการใช้ยานี้เป็นเวลานานกับเด็ก ด้วยยานี้สามารถกดการเจริญเติบโตของเด็กได้ ระวังการติดยาเนื่องจากใช้ยานี้ผิดวัตถุประสงค์

ด้วยเหตุนี้ การใช้ยาแอมเฟตามีนจึงควรต้องอยู่ในการดูแลของแทพย์เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ข้อมูลจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยังระบุว่าการเสพยาทำให้ไม่มีสติควบคุมตัวเองไม่ได้ จนขาดสติและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือถูกแอบถ่ายรูปขณะมีเพศสัมพันธ์มีจำนวนมากขึ้น การเสพไอซ์จะทำให้ผู้เสพมีความต้องการทางเพศสูงทั้งหญิงและชาย

            อันตรายที่พบอีกประการหนึ่งคือยาเสพติดกับโรคเอดส์นั้นมีความสัมพันธ์กัน โดยพบว่า หลังจากเสพยามักมีกิจกรรมทางเพศ ทั้งที่แม้ว่าจะมีการป้องกันการติดโรคจากเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัย แต่พบว่าร้อยละ 95 ของผู้เสพยาที่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันด้วย

ผมว่านโยบายเรื่องยาเสพติด การทบทวนกฎหมาย และการตีความยาเสพติด อย่างเรื่องยาแอมเฟตามีน ต้องคิดกันดีๆ ถึงผลดีผลเสีย ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ การใช้อย่างจำแนกและมีมาตรการป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น ต้องความคิดเห็นของหลายฝ่าย รวมทั้งประชาชนด้วย ในขณะเดียวกันการแสดงความคิดเห็นและการสื่อสารกันก็ควรระมัดระวังความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การศึกษาประสพการณ์การใช้นโยบายยาเสพติดจากประเทศอื่นๆ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจขณะเดียวกันก็ต้องมีนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น