xs
xsm
sm
md
lg

5 โรคตาพบบ่อยสุดในผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการแพทย์ เผย 5 โรคตาที่พบมากสุดในผู้สูงอายุ “ต้อกระจก - ต้อหิน - จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม - เบาหวานขึ้นจอตา - สายตายาว” แนะตรวจตาปีละครั้ง ชะลอความเสื่อม

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปี 2568 คาดว่า จะมีสูงอายุร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมด โดยที่ร้อยละ 85 ของผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ และที่ต้องพึ่งพิงคนอื่นเกือบร้อยละ 15 ผลกระทบสุขภาพของผู้สูงอายุนอกจากโรคเรื้อรังสุดฮิตทั้งอันดับต้น ๆ คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และโรคข้อเสื่อม แล้วยังพบว่า มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 ที่สายตาไม่ดี การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดภาวะสายตาเลือนราง หรืออาจตาบอด ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ซึ่งโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ ได้แก่

1. ต้อกระจก พบได้บ่อยที่สุดและเป็นทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง เกิดจากปัจจัยเสี่ยง คือ อายุมากขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงร่วม เช่น การได้รับแสง UV บ่อย ๆ หรือแสงแดดจ้า โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้เป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น ยากินและหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยต้อกระจกจะมีตามัวลง เห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้อาจเริ่มจากต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ ต่อมามัวลงมาก ปรับแว่นอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง บางคนอาจมองเห็นแสงกระจายในที่สว่างจ้า สามารถชะลอความเสื่อมได้บ้างด้วยการสวมแว่นกันแดดป้องกันรังสี UV

2. ต้อหิน พบได้น้อยกว่าต้อกระจก แต่เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว เกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ เชื้อชาติ อายุ ภาวะสายตาสั้นมาก ๆ โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องโดยกิน ฉีด หรือหยอดตา หรือเคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน สำหรับอาการในช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ จะเริ่มสูญเสียลานสายตา คือ การมองเห็นจำกัดวงแคบลง จากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อย ๆ และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร อาจมีต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีอาการปวดมาก เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มัวลงมาก และตาแดง ถือเป็นภาวะเร่งด่วนมากต้องมาพบจักษุแพทย์ทันที ที่สำคัญ ผู้ป่วยต้อหินทุกคนต้องมาตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด และยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่จะทำให้การมองเห็นเป็นปกติ ทำได้เพียงมิให้การมองเห็นแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้น ควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงต้อหินเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หากไม่มีความเสี่ยงก็ควรตรวจตาเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ไม่มีอาการ แต่ถ้าสงสัยหรือสังเกตพบความผิดปกติต้องรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

3. จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม เกิดจากภาวะเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้เป็นปกติ เกิดจากปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะสูงวัย แสง UV การสูบบุหรี่ และความดันโลหิตสูง ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้น จะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด ผู้สูงอายุควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อสังเกตพบความผิดปกติต้องรีบมาพบจักษุแพทย์ และควรหยุดสูบบุหรี่ และสวมแว่นกันแดดเป็นประจำ และหมั่นรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก - ผลไม้สีเขียว - สีเหลือง ถั่วแดง เป็นต้น

4. ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่จอตา ทำให้เลือดและสารต่าง ๆ รั่วซึมออกมา เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ประกอบกับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต ภาวะซีด อาการในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา หากมีอาการตามัวแสดงว่าเบาหวานขึ้นจอตาเป็นมากแล้ว การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคไต โรคไขมันในเลือดสูงอย่างเหมาะสม จะสามารถชะลอความรุนแรงของโรคได้ และผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง

5. ภาวะสายตายาวสูงอายุ เกิดขึ้นเมื่อสูงอายุทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจะมองหรืออ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ระยะใกล้ ๆ ไม่ชัดเจน ต้องถือหนังสือห่าง ๆ ทำงานระยะใกล้ ๆ ไม่ได้ แต่มองไกลได้ปกติบางคนอาจมีตาพร่า หรืออาการปวดตา มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความสามารถและช่วงในการเพ่งปรับสายตาลดลง เนื่องจากเลนส์แก้วตาแข็งตัวขึ้น และการทำงานของกล้ามเนื้อตาลดลง สามารถรักษาด้วยการใช้แว่นสายตา หรือการผ่าตัดทำเลสิก แต่ควรมาตรวจกับจักษุแพทย์ก่อนว่าไม่มีความผิดปกติของโรคตาอื่น ๆ ร่วมด้วย

“ผู้สูงอายุมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงตามวัยในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงระบบการมองเห็นที่อาจจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากโรคตา เช่น ต้อกระจกผ่าตัดรักษาได้ บางโรคถ้าดูแลรักษาในระยะแรกและต่อเนื่องจะสามารถชะลอความเสื่อมได้ เช่น ต้อหิน จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม หรือบางโรคถ้าควบคุมโรคประจำตัว จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุสงสัยว่าสายตาผิดปกติสามารถมาพบจักษุแพทย์ได้ทันที หรือตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง ที่สำคัญ ลูกหลานควรใส่ใจดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุข” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น