xs
xsm
sm
md
lg

Review : บัญชีออมทรัพย์ JustOne เมื่อมนุษย์เงินเดือนหนีทหาร มาซบผู้ดีอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หลัง ธนาคารทหารไทย หรือ TMB สร้างความฮือฮาในวงการธนาคาร ด้วยการลดดอกเบี้ยเงินฝาก บัญชีออมทรัพย์ธรรมดา จากเดิม 0.125% ต่อปี

เหลือ 0% เป็นธนาคารแรกในประวัติศาสตร์

ทำเอาสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงขั้นที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

เพราะไม่เคยพบเห็นบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ที่ฝากเงินไปแล้ว กลับไม่มีดอกเบี้ยให้ลูกค้า

แต่สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับ TMB เป็นประจำ จะรู้ว่าที่ผ่านมาดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เหลือ 0.125% ต่อปีมานานแล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกค้าบริหารจัดการเงิน

แยกเป็น “บัญชีเพื่อใช้” เน้นสำหรับฝาก-ถอนโดยไม่มีค่าธรรมเนียม

กับ “บัญชีเพื่อออม” ที่เน้นการออมโดยให้ดอกเบี้ยสูง เช่น บัญชีฝากไม่ประจำ (No Fix) ที่มีลูกค้ามากกว่า 5 แสนบัญชี และ บัญชี ME by TMB

แม้ทางแบงก์ทหารไทยจะออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แต่เมื่อลูกค้าอีกส่วนหนึ่งไม่พร้อม โดยเฉพาะลูกค้าบัญชีเงินเดือน ลูกค้าที่เป็นข้าราชการทหารกว่า 2 แสนนาย รวมทั้งสังคมออกมาไม่พอใจ โจมตีธนาคารนี้อย่างหนัก

ที่สุดแล้วผ่านไป 2-3 วัน จึงปรับดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.125% ต่อปีเหมือนเดิม

อีกด้านหนึ่ง ขณะที่ดราม่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ธรรมดาเพิ่งจะจางลง แต่ก่อนหน้านี้ บัญชี ME บัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นฝากเงิน – ถอนเงินด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านเคาน์เตอร์ แลกกับรับดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป

มาวันนี้ ME by TMB ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1.5% ต่อปี

แม้ทาง ME by TMB จะชี้แจงว่า การปรับเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยนั้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความเคลื่อนไหวของตลาด การบริหารสภาพคล่อง การปรับปรุงต้นทุนเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำการปรับลดลงตามภาวะปัจจุบัน

แต่คนที่เคยใช้บัญชี ME โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน คาดหวังว่าจะเป็น “ที่พักเงิน” เพราะฝากง่าย ถอนง่าย ก่อนจะเอาไปใช้ทำอย่างอื่นนั้น

กลับมองว่าดอกเบี้ยแค่ 1.5% ต่อปี ถือว่า “น้อยเกินไป”

ที่สุดแล้ว หลายคนพยายามหาผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ในเว็บไซต์พันทิป หรือแม้กระทั่งบล็อกเกอร์ ต่างพากันแนะนำบัญชีที่มีชื่อว่า JustOne Savings ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2.25%

เช่น เว็บไซต์ ireview.in.th ก็เคยเขียนรีวิวเรื่อง “JustOne ดอกเบี้ย 5% ทางออกหลัง Me by TMB ลดดอกเบี้ย” ซึ่งเป็นที่สนใจแก่ชาวเน็ต แล้วถูกนำไปแชร์ต่ออย่างมาก

ก่อนที่จะตัดสินใจรีวิว มีคนบอกว่า ที่สาขาสีลมมีคนไปเปิดบัญชี และสอบถามรายละเอียดเยอะมาก

แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า ดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี เฉพาะเงินฝาก 1 แสนบาทแรกเท่านั้น

เงินฝากตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป จะคิดดอกเบี้ยเพียงแค่ 1% ต่อปี

เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าบัญชีนี้ดีจริงหรือไม่ จึงขออาสารีวิว ด้วยการไปเปิดบัญชีธนาคารนี้ด้วยตัวเอง เพื่อให้คุณผู้อ่านประกอบการตัดสินใจ

ส่วนใช้แล้วดีจริงหรือไม่ อยากให้คุณผู้อ่านเป็นผู้ตัดสิน

- สาขาหายาก ในกรุงเทพฯ มีไม่ถึง 20 แห่ง

อันที่จริง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เกิดขึ้นจากแบงก์ต่างชาติ สัญชาติอังกฤษ ไปถือหุ้นธนาคารนครธน ของตระกูลหวั่งหลี เมื่อปี 2542

ก่อนที่จะควบรวมกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สาขากรุงเทพฯ เมื่อปี 2548

หลังจากนั้น ธนาคารได้ค่อยๆ ปิดสาขาทั้งในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด

เช่น ในปี 2552 ปิดสาขาสมุทรสาคร สาขาศรีราชา จ.ชลบุรี สาขาขอนแก่น สาขานครราชสีมา และสาขาหาดใหญ่ จ.สงขลา แล้วโอนข้อมูลบัญชีไปที่สำนักงานใหญ่

ในตอนนั้นให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องทางการตลาด ที่ต้องการเปิดสาขาใหม่ในพื้นที่ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ และทบทวนแผนธุรกิจ

ทำเลของบางสาขาก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์การเติบโตของธนาคารได้

หลังจากนั้น ได้ปิดสาขาเชียงใหม่ และนครปฐม

ทำให้สาขาต่างจังหวัด คงเหลือเพียงแค่ "สาขาระยอง" เพียงแห่งเดียว

สำหรับในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากเดิมตั้งแต่ธนาคารนครธน มีสาขามากกว่า 60 สาขา ก็ถูกยุบเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 20 สาขา

โดยหันมาเปิดสาขาใหม่ในศูนย์การค้า และย่านธุรกิจสำคัญ แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก

การรีวิวครั้งนี้เราพยายามที่จะเปิดบัญชีสาขาที่ใกล้ออฟฟิศ



ที่สุดมาลงเอยที่ "สาขามหานาค" ซึ่งน่าจะเป็นสาขาที่เก่าแก่ที่สุด ต่อจากสำนักงานใหญ่ อาคารสาทรธานี เพราะสาขาที่เก่าแก่กว่านี้ถูกยุบไปแล้ว

แต่การหาธนาคารแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระหว่างที่เราตามหากลับพบว่า สาขานี้ไม่ได้อยู่ติดถนนใหญ่อย่างถนนกรุงเกษม

แต่อยู่ในซอยอนันตนาค ฝั่งขวามือ ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ อยู่ระหว่างแยกยศเส กับสะพานเจริญราษฎร์

เมื่อไปถึงก็พบว่าเป็นอาคารพาณิชย์เล็กๆ 2 คูหา เข้าไปด้านในก็ถูกจัดออกเป็นล็อกเล็กๆ แยกเป็นฝั่งบริหารลูกค้าสำหรับเปิดบัญชี กับเคาน์เตอร์ฝาก ถอน

โดยมีเคาน์เตอร์ PRIORITY BANKING เล็กๆ สำหรับลูกค้าบริการธนาคารพิเศษ

เรากดรับบัตรคิวในเวลาไม่นานนัก พนักงานสาขาก็เรียกมาทำรายการที่โต๊ะ

- ไม่บังคับทำบัตร ไม่ตื้อขายผลิตภัณฑ์

เราได้ทำการเปิดบัญชีออมทรัพย์ JustOne โดยเปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท

โชคดีที่ก่อนหน้านี้เคยเปิดบัญชี eSaver สมัยที่เรียนปริญญาตรีใบแรกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เลยมีข้อมูลอยู่ในระบบ

ถ้าไม่เคยเปิดบัญชีที่ธนาคารนี้มาก่อนอาจใช้เวลานานหน่อย จำได้ว่าตอนไปเปิดบัญชีที่สาขาเดอะมอลล์ 3 รามคำแหง ต้องกรอกเอกสารวุ่นวายมาก

แต่ถ้าไม่เคยสมัครบริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ต (Online Banking) มาก่อน หากไม่ได้ทำบัตรเดบิต ให้แจ้งพนักงานขอสมัครใช้บริการเดี๋ยวนั้นเลย จะได้นำไปใช้งานเบ็ดเสร็จไปเลยทีเดียว

สำหรับดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ JustOne (ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2559) สำหรับยอดฝากตั้งแต่ 1 บาทถึง 100,000 บาท ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2.25% เกิน 100,000 บาทขึ้นไปจะอยู่ที่ 1% ต่อปี

แต่หากใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต Bonus Saver หรือบัตรเดบิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิน 8,000 บาทต่อเดือน จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มอีกเป็น 5% สำหรับเงินฝากตั้งแต่ 1 ถึง 200,000 บาท

ระหว่างนั้นพนักงานแนะนำว่า เฉพาะช่วงโปรโมขั่น ฝากเงินนอนบัญชีขั้นต่ำ 30,000 บาท ไม่ถอนเงิน 3 เดือน จะมีกระเป๋าส่งให้ฟรีถึงบ้าน

พร้อมเอามือชี้ไปที่กระเป๋าสะพายสีน้ำเงินยี่ห้อ FRENCH CONNECTION ราคาหลักพันบาท

เราก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ เพราะหลังเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรไปแล้ว เงินเหลือติดกระเป๋ากินข้าวกลางวันแค่สองร้อยเอง (ฮา)

ทีแรกศึกษาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ เห็นว่ามาพร้อมกับบัตรเดบิต นึกสงสัยเลยสอบถามพนักงานว่าต้องทำบัตรเดบิตด้วยไหม

พนักงานก็ตอบอย่างสุภาพว่า “ไม่บังคับ”

หมายความว่าบัญชี จะทำบัตรก็ได้ ค่าทำบัตร 200 บาท หรือฝากอย่างเดียวไม่ทำบัตรก็ได้

แต่ถ้าทำบัตรเดบิต ปัจจุบันธนาคารใช้บัตรเดบิตแบบชิปการ์ดแล้ว ถ้าเป็นบัญชีออมทรัพย์ JustOne จะถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารได้ฟรีทั่วประเทศ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ค่าธรรมเนียมรายปีอยู่ที่ 250 บาท

สอบถามพนักงานว่ามีคนเข้ามาเปิดบัญชีนี้มากไหม ก็ได้รับคำตอบว่ามีมาเรื่อยๆ

อาจเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในย่านที่มีมนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก เพราะมีคนบอกกับผมว่าสาขาสีลมมีคนไปเปิดบัญชีกันเพียบ

หลังเปิดบัญชีเสร็จ พนักงานก็นำเสนอบัตรเครดิต Bonus Saver สำหรับเงินเดือนตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มจากเดิมเป็น 5%

แต่เมื่อตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลบางประการ พนักงานก็ไม่ได้ตื้อ ไม่หน้างอใส่เหมือนธนาคารอื่นแต่อย่างใด

สิ่งที่ได้รับหลังจากเปิดบัญชี คือ สมุดคู่ฝาก บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และซองบัตรเดบิตที่ด้านในซองมีรหัสเอทีเอ็ม 4 หลัก

แนะนำว่าให้เปลี่ยนรหัสประจำตัวที่ตู้เอทีเอ็มหน้าสาขาตั้งแต่ตอนนั้นเลย
เครื่องฝากเงินสด (CDM) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย สาขาสีลมซอย 6
- แบงก์อินดี้ ฝากเงินยาก แต่ถอนง่าย

การทำรายการผ่านบัญชีของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ปัจจุบันจะเน้นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

เช่น บริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ต (Online Banking), บริการธนาคารทางโทรศัพท์ 1595, ใบแจ้งยอดอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

ส่วนสาขาธนาคารนี้ยังมีน้อยอยู่ ยิ่งถ้าเป็นเครื่องรับฝากเงินสด (CDM) ทั้งประเทศมีเพียงแค่ 5 แห่งเท่านั้น เช่น

- สำนักงานใหญ่ สาทร
- สีลมซอย 6
- เซ็นทรัลเวิล์ด
- เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ
- และ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต


เพราะฉะนั้น วิธีการฝากเงินนอกเหนือจากนี้ จึงต้องอาศัยการโอนเงินข้ามธนาคาร หรือต่างสถาบันการเงิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

และไม่คุ้มเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้รับ หากฝากเงินไม่ถึงหลักแสนบาท โดยมีวิธีฝากเงินดังนี้

- ฝากเงินสดผ่านเครื่อง CDM ธนาคารอื่น ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 50 บาท สูงสุด 120 บาทต่อครั้ง รับเฉพาะธนบัตรใบละ 100, 500 และ 1,000 บาท ทำรายการได้สูงสุด 100 ใบ หรือ 100,000 บาทต่อครั้ง

- โอนเงินต่างธนาคาร ผ่านตู้เอทีเอ็ม / อินเตอร์เน็ต / มือถือ ด้วยระบบ ORFT โอนน้อยกว่า 20,000 บาท ค่าธรรมเนียม 25 บาทต่อครั้ง มากกว่า 20,000 – 50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 35 บาทต่อครั้ง

- โอนเงินต่างธนาคาร ผ่านอินเตอร์เน็ต / มือถือ แบบ 1 วันทำการ มีให้บริการบางธนาคาร ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อครั้ง ต่อยอดโอนน้อยกว่า 100,000 บาท หากทำรายการตอนเช้าก่อน 9.00 น. เงินเข้าบัญชีเย็นวันทำการเดียวกัน

- โอนเงินจากระเป๋าเงินทรูมันนี่ ไปยังบัญชีธนาคาร โดยเติมเงินผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (มีให้เลือกตั้งแต่ 500, 1,000 และ 2,000 บาท) หรือเติมด้วยเงินสดและเหรียญที่ตู้ทรูมันนี่ก่อน

จากนั้น ทำรายการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่น Wallet by TrueMoney โอนได้ครั้งละ 500 – 25,000 บาทต่อครั้ง ค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อครั้ง

บัญชีปลายทางจะได้รับเงินภายใน 18.00 น. ภายในวันทำการธนาคารถัดไป

- โอนเงินต่างธนาคาร ผ่านอินเตอร์เน็ต / มือถือ แบบ 2 วันทำการ มีให้บริการเฉพาะธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และซีไอเอ็มบี ไทย ค่าธรรมเนียม 12 บาทต่อครั้ง เงินเข้าบัญชีอีก 2 วัน (ไม่นับวันหยุดธนาคาร)

สำหรับการถอนเงินนั้น หากทำบัตรเดบิตไปด้วย ถอนเงินสดได้ฟรีที่ตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารทั่วประเทศ

แต่ถ้าไม่ได้ทำบัตรเดบิต ถ้าไม่อยากถอนผ่านสาขา ใช้วิธีโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคารเพื่อถอนเงิน ผ่านทางธนาคารทางอินเตอร์เน็ต (Online Banking)

โดยมีให้เลือกสองแบบ คือ โอนเงินแบบทันที ค่าธรรมเนียม 25-35 บาทต่อครั้ง

และ โอนเงินแบบวันทำการถัดไป ฟรี

โดยหากทำรายการก่อนเวลา 22.00 น. เงินจะเข้าบัญชีไม่เกินตอนเย็นของวันทำการถัดไป

แม้การทำรายการฝากเงินจะดูยุ่งยาก แต่การถอนเงินถ้ามีบัตรเดบิตจะดูง่ายทันที จึงเหมาะสำหรับเป็นบัญชีหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน

แต่ถ้าจะเน้นการออมในจำนวนไม่มาก หากไม่ทำบัตรเดบิต จะได้รับดอกเบี้ยเต็มเม็ดเต็มหน่วย

- ฝากน้อยๆ เทียบกับดอกเบี้ย คุ้ม-ไม่คุ้ม?

แม้ว่าบัญชีออมทรัพย์พิเศษจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป โดยให้ความคล่องตัว ฝาก-ถอนเมื่อไหร่ก็ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับเงินฝากประจำที่กำหนดระยะเวลาฝากเงินไว้ตายตัว หากปิดบัญชีก่อนจะได้รับดอกเบี้ยน้อยลง

แต่พอเอาเข้าจริง เงินฝากชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับเงินเก็บที่มีมูลค่าสูงและต้องการนอนบัญชี เพราะผลตอบแทนเดี๋ยวนี้น้อยมาก

เทียบเท่ากับเงินฝากประจำ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า หรือผลิตภัณฑ์ตัวอื่น เช่น กองทุน ซึ่งมีความเสี่ยง

อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า บัญชี JustOne Savings ดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี เฉพาะเงินฝาก 1 แสนบาทแรกเท่านั้น เงินฝากตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป จะคิดดอกเบี้ยเพียงแค่ 1% ต่อปี

หากคำนวณจากกรณีผู้ฝากมีเงินนอนบัญชี 200,000 บาท ดอกเบี้ยที่แท้จริงเท่ากับ 1.63% ต่อปี

โดยมีเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ย คือ จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน คำนวณจากยอดคงเหลือเป็นรายวัน โดยจะจ่ายดอกเบี้ยทุกวันทำการแรกของเดือน ยกเว้นถ้าเป็นวันหยุดจะจ่ายดอกเบี้ยในวันทำการถัดไป

เราได้ลองคำนวณโดยใช้เครื่องมือจากเว็บไซต์ของธนาคารออมสิน (http://www.gsb.or.th) คิดจากเงินนอนบัญชี 10,000 บาท พบว่า จะได้รับดอกเบี้ยตกวันละ 0.62 บาท

ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน 2559 จะได้รับดอกเบี้ย 17.88 บาท

หากคำนวณเป็นระยะเวลา 1 ปี จะได้รับดอกเบี้ยรวมกันประมาณ 225 บาท

ถ้าทำบัตรเดบิตไปด้วย ดอกเบี้ยแค่นี้ ค่าธรรมเนียมรายปียังไม่พอ

เทียบกับบัญชี eSaver ดอกเบี้ยเทียบเท่าบัญชี ME by TMB ซึ่งคิดดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี พบว่าจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากตกวันละ 0.41 บาท

ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน 2559 จะได้รับดอกเบี้ย 11.92 บาท

คำนวณเป็นระยะเวลา 1 ปี จะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 150 บาท แต่จะสะสมและจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ทุกกลางปีและสิ้นปี

เพราะฉะนั้น หากจะได้รับดอกเบี้ยอย่างคุ้มค่าที่สุด ต้องฝากเงินนอนบัญชีตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป จนถึง 100,000 บาท จึงจะได้รับดอกเบี้ยที่คุ้มค่าขึ้นมาบ้าง

หากคิดจากเงินนอนบัญชี 100,000 บาท พบว่าบัญชี JustOne Savings จะได้รับดอกเบี้ยตกวันละ 6.16 บาท

ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน 2559 จะได้รับดอกเบี้ย 178.77 บาท

หากคำนวณเป็นระยะเวลา 1 ปี จะได้รับดอกเบี้ยรวมกันประมาณ 2,250 บาท

เทียบกับบัญชี eSaver พบว่าจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากตกวันละ 2.74 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน 2559 จะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 79.45 บาท

หากคำนวณเป็นระยะเวลา 1 ปี จะได้รับดอกเบี้ยรวมกันประมาณ 1,500 บาท

แต่จะสะสมแล้วจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ทุกกลางปีและสิ้นปี

ถ้าฝากจำนวนน้อยๆ ประมาณ 1 แสนบาท ดอกเบี้ยบัญชี JustOne Savings ชนะขาดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากต้องการฝากเงินมากกว่า 1 แสนบาทขึ้นไป เงินฝากส่วนเกิน 1 แสนบาท จะเหลือดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ตกปีละประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น

เงินนอนบัญชีตั้งแต่ 250,000 บาทขึ้นไป ดอกเบี้ยบัญชี eSaver จะเริ่มแซงหน้าดอกเบี้ยบัญชี JustOne Savings

ยิ่งฝากเยอะขึ้น ดอกเบี้ยเฉลี่ยยิ่งน้อยลง

เมื่อถามถึงความเสี่ยงในการฝากเงิน ปัจจุบันบัญชีนี้ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก อย่างน้อยหลังวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ได้กำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท

ไม่ต้องห่วงเรื่องแบงก์จะล้ม-ไม่ล้ม เพราะยังสามารถยื่นขอรับเงินในภายหลังได้

โดยสรุปก็คือ บัญชีนี้เป็นทางเลือกสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องการพักเงิน โดยได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารชั้นนำทั่วไป

แม้การฝากเงินจะดูขลุกขลักเพราะหาที่ฝากเงินยาก รวมทั้งมีปัญหายิ่งฝากเยอะ ผลตอบแทนน้อยลงก็ตาม

ถือเป็นอีกหนึ่งบัญชีที่น่าสนใจ สำหรับคนที่จะฝากแบบขำๆ

แม้จะมีคนถามว่า “ยังหวังที่จะรวยจากดอกเบี้ยธนาคารอยู่อีกหรือ?” ก็ตาม

เอนี ไอดี กลายเป็น "พร้อมเพย์" : ผูกบัญชีแบงก์ไหนคุ้มค่าที่สุด



หลังจากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังจะดำเนินโครงการระบบการชำระเงินแบบนานานาม หรือ “เอนี ไอดี” (Any ID) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) ของรัฐบาล

โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไป ใช้เลขที่บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ และ เลขที่บัญชีธนาคาร ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

หลังจากที่สมาคมธนาคารไทยตกลงในเรื่องค่าธรรมเนียมโอนเงินกันแล้ว ก็ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดตัวพร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริการพร้อมเพย์" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐ รวม 19 แห่ง

ธนาคารพาณิชย์จะเปิดให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนผ่าน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย สาขาธนาคารพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงกิ้ง

โดยบางธนาคารที่มีความพร้อมเริ่มลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นี้ และจะพร้อมกันทุกธนาคารวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป โดยไม่มีการกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน



เบื้องต้น เอกสารที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ที่สาขา ได้แก่ สมุดบัญชี หรือเลขที่บัญชีธนาคาร (บัญชีแบบไม่มีสมุดบัญชี), บัตรประจำตัวประชาชน และ มือถือ สำหรับรับ SMS OTP เพื่อยืนยันตัวตนที่สาขา

โดยมีรูปแบบในการผูกบัญชี 3 แบบ จะเป็นธนาคารเดียวกันหรือคนละธนาคารกันก็ได้ ได้แก่

แบบที่ 1 บัญชีเดี่ยว เช่น บัญชีธนาคาร + เลขที่บัตรประชาชน + เบอร์มือถือ

แบบที่ 2 หลายบัญชี ผูกได้สูงสุด 4 ไอดี แยกจากกัน ได้แก่

1.) บัญชีธนาคาร เล่มแรก + เลขที่บัตรประชาชน,

2.) บัญชีธนาคาร เล่มที่สอง + เบอร์มือถือเครื่องแรก

3.) หรือ บัญชีธนาคาร เล่มที่สาม + เบอร์มือถือเครื่องที่สอง

4.) หรือ บัญชีธนาคาร เล่มที่สี่ + เบอร์มือถือเครื่องที่สาม

แบบที่ 3 หลายเบอร์ ใช้วิธีการผูกบัญชีที่หลากหลาย เช่น

1.) บัญชีธนาคาร เล่มแรก + เลขที่บัตรประชาชน,

2.) บัญชีธนาคาร เล่มที่สอง + เบอร์มือถือเครื่องแรก หรือ + เบอร์มือถือเครื่องที่สอง หรือ + เบอร์มือถือเครื่องที่สาม

หรือ 1.) บัญชีธนาคาร เล่มแรก + เลขที่บัตรประชาชน + เบอร์มือถือเครื่องแรก

2.) บัญชีธนาคาร เล่มที่สอง + เบอร์มือถือเครื่องที่สอง

3.) บัญชีธนาคาร เล่มที่สอง + เบอร์มือถือเครื่องที่สอง ฯลฯ

ทั้งนี้ หากใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือผูกกับบัญชีใดแล้ว จะนำไปผูกกับบัญชีอื่นอีกไม่ได้ จนกว่าจะมีการยกเลิกการลงทะเบียนเดิมก่อนที่ธนาคารต้นทาง



สำหรับค่าธรรมเนียมการโอนเงิน จะเริ่มให้บริการรับโอนระหว่างประชาชนเดือนตุลาคม 2559 ผ่านเมนู "พร้อมเพย์" ทุกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร เช่น เอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง แอปพลิเคชั่นบนมือถือ โดยช่องทางการโอนเงินตามปกติของธนาคารยังคงให้บริการตามปกติ

วิธีคิดค่าธรรมเนียม บริการพร้อมเพย์ ไม่มีการแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวกัน หรือต่างธนาคาร แต่จะอ้างอิงวงเงินในการโอนแต่ละครั้งเป็นหลัก

- วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ

- วงเงินมากกว่า 5,000-30,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ

- วงเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ

- และ วงเงินมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ



อย่างไรก็ตาม การนำบัญชีธนาคาร ทั้งบัญชีออมทรัพย์ และกระแสรายวัน (ไม่ใช่บัญชีร่วม) ผูกกับบริการพร้อมเพย์นั้น หากต้องการใช้สำหรับรับเงินโอน มีคำแนะนำในการผูกบัญชีอย่างไรให้คุ้มค่า ดังนี้

1. บัญชีเงินเดือน สำหรับข้าราชการประจำ ข้าราชการตำรวจ (ธนาคารกรุงไทย) ข้าราชการกระทรวงกลาโหม (ธนาคารทหารไทย) และ พนักงานประจำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคารใหม่ให้ยุ่งยาก เหมาะสำหรับรับเงินสวัสดิการจากรัฐ หรือ เงินคืนภาษีผ่านเลขที่บัตรประชาชนโดยตรง

อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อไม่ให้ยุ่งยากในการตรวจสอบที่มาของเงินที่เข้าบัญชี ก็สามารถทำได้ แล้วใช้วิธีผูกกับบริการธนาคารบนมือถือ ผ่านแอปพลิเคชั่น ก็จะสามารถเช็กยอดเงินได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

2. บัญชีบัตรนักศึกษา มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ มักจะออกบัตรประจำตัวนักศึกษาผูกกับบัญชีธนาคารอยู่แล้ว สามารถนำบัญชีจากบัตรนักศึกษาไปใช้ผูกบัญชีพร้อมเพย์ก็ได้ และธนาคารบางแห่งยังยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีแก่นักศึกษาอีกด้วย

3. บัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับอาชีพเกษตรกร ที่มีธุรกรรมกับทาง ธ.ก.ส. โดยตรง เนื่องจากธนาคารจะดูแลกลุ่มลูกค้านี้โดยตรง เช่น สินเชื่อเพื่อเกษตรกร

4. บัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรกดเงินฟรี แม้บัตรเดบิตบางธนาคาร โดยปกติจะถอนเงินหรือสอบถามยอดฟรีทุกธนาคารทั่วประเทศ แต่การฝากเงินหรือโอนเงินหากไม่ใช่จังหวัดเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็เสียเงินอยู่ดี หากโอนเงินจำนวนน้อยๆ ผ่านพร้อมเพย์ไปยังบัญชีที่มีบัตรถอนเงินได้ฟรีจะสะดวกกว่า

5. บัญชีธนาคารที่ฝากเงินนอกเวลาทำการยาก สาขามีจำนวนน้อย เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ปกติจะโอนเงินต่างธนาคารได้เฉพาะผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียม 25-35 บาทต่อรายการ แต่ถ้าโอนเงินผ่าบริการพร้อมเพย์ โอนต่ำกว่า 5,000 บาทได้ฟรี

6. บัญชีที่ไม่มีค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี หรือ ค่ารักษาบัญชีน้อยที่สุด สำหรับคนที่ไม่ค่อยทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร เพราะหากบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกิน 1 ปี จะคิดค่ารักษาบัญชีส่วนใหญ่อยู่ที่ 50 บาทต่อเดือน จนยอดเงินเหลือ 0 หรือติดลบ ก็จะปิดบัญชีในที่สุด

แต่สำหรับธนาคารขนาดเล็ก บัญชีที่ไม่มีค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี มักจะมีเงื่อนไข เช่น ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต ปีละ 350 บาท เป็นต้น

สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่คิดค่ารักษาบัญชีต่ำที่สุด ได้แก่ บัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีมียอดเงินคงเหลือไม่เกิน 500 บาท และขาดการติดต่อกับธนาคารตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อบัญชีต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การผูกบัญชีธนาคารกับเลขที่บัตรประชาชน ควรที่จะใช้สำหรับรับเงินสวัสดิการจากรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินช่วยเหลือเกษตรกร หรือ เงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร เพราะเลขที่บัตรประชาชนเป็นความลับ ไม่ควรเปิดเผยแก่ผู้ใดทั้งสิ้น

แต่หากเป็นคนที่ทำธุรกรรมทางการเงินเป็นประจำ เช่น ค้าขายออนไลน์ ควรใช้การผูกบัญชีธนาคาร กับเบอร์มือถือที่ติดต่อลูกค้าเป็นประจำแยกต่างหาก เพื่อความสะดวกและเพิ่มทางเลือกแก่ลูกค้าในการโอนเงินค่าสินค้าด้วยค่าธรรมเนียมประหยัดกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น