อย่าเพิ่งงงกับชื่อบทความกันนะครับผม มีเฉลยตอนท้ายบทความแต่อย่าขี้โกงด้วยการคลิ๊กเม้าส์ลงไปอ่านเฉลยก่อนนะครับช่วยกรุณาอ่านบทความให้จบก่อนแล้วค่อยไปดูเฉลยด้านท้ายนะครับ
เมื่อเริ่มต้นบทความเรื่องตัวเลขขนาดนี้ก็คงต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่เด็กเรียนไม่ใช่เด็กเก่งคณิตศาสตร์ชนิดที่ว่าไม่เคยได้เกรด 4 วิชาคณิตศาสตร์หรือวิชาอะไรที่เกี่ยวข้องเลยแต่ด้วยเหตุอะไรก็ไม่รู้ทำให้ผมชอบดูหนังเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์หรือเพราะเป็นหนังชีวประวัติซึ่งก็ชอบมากๆ ทั้งทีบางครั้งก็ไม่ได้เข้าใจทฤษฏีเกี่ยวกับคณิตศาสตร์สักเท่าไรแต่ดูหนังเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์ นักคิดอัจฉริยะทีไร มักได้ข้อคิดใหม่ๆ แง่คิดมุมมองมนุษย์มาเรื่อยๆ
อย่างเรื่อง A beautiful mind หนังระดับตำนานของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ จอห์น แนช นักคณิตศาสตร์ผู้เห็นภาพหลอนตลอดเวลา จนบางครั้งแยกไม่ออกเลยว่าอะไรคือเรื่องจริงอะไรคือภาพหลอน หรือจะเป็นเรื่อง The imitation game ที่เล่าถึงนักคณิตศาสตร์ ชื่ออลัน ทัวร์ริ่ง ผู้สร้างคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก เพื่อเอามาถอดรหัสอีนิกม่าของเยอรมันสมัยสงครามโลก
วันนี้ก็มีหนังเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์อีกคนหนึ่งมาแนะนำครับ หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า The Man Who Knew Infinity(อัจฉริยะโลกไม่รัก) เรื่องราวของของหนุ่มชาวอินเดียผู้หลงใหลในตัวเลขที่มีชื่อว่าศรีนิวาสะ รามานุจัน ฟังชื่อยาวๆก็ออกแนวคล้ายๆ คนไทยนะครับเนี่ย
หนังเรื่องนี้ สร้างจากชีวิตจริงของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอินเดียที่อาภัพที่สุดเป็นวรรณกรรมยอดขายอันดับ 1 ถูกถ่ายทอดผ่านปลายปากกาของ โรเบิร์ต คานิเกล (Robert Kanigel) เมื่อนำมาทำเป็นภาพยนตร์มี เดฟ พาเทล (Dev Patel) จาก Slumdog Millionaire สวมบทบาทของ รามานุจัน
ชายผู้นี้มีพรสวรรค์ เกิดมาบนความยากจนในเมืองอีโรด ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ที่ไม่มีแม้เงินเรียนหนังสือ แต่ด้วยความสนใจในตัวเลข รามานุจัน ศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง 10 ขวบ ท่องตรีโกณได้ทั้งเล่ม ศึกษาตรีโกณมิติจนเชี่ยวชาญ สร้างทฤษฏีคณิตศาสตร์ของตัวเองเมื่ออายุ12 ได้ทุนเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยของรัฐในเมืองคัมบาโคนัม แต่เรียนไม่จบถูกไล่ออกเมื่ออายุ 20 เพราะผลการเรียนวิชาอื่นย้ำแย่และยังยากจนไม่มีเงินเรียนต่ออีกด้วย หลังจากนั้นทำงานเป็นเสมียนที่สำนักงานบัญชีแห่งหนึ่งในเมืองมัทราสเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ก่อนจะได้รับเชิญไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่ออายุ 30แต่ไม่ได้รับการยอมรับ
เขาเป็นนักคณิตศาสตร์อินเดียครับ พูดถึงอินเดีย เป็นประเทศในซีกโลกตะวันออกที่มีรากเหง้าอารยธรรมโบราณเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณิตศาสตร์ ทำให้ผมคิดถึงตัวเลขฐาน10 มีเลข 1-9- 0 คิดคำนวณด้วย หลัก 10,100,1000…. ที่เราเรียกว่าเลขอาราบิก หรือที่เรียกว่า ระบบเลขฮินดู อาราบิก คนทั่วโลกนำไปใช้พัฒนาความรู้ทางคณิตศาสตร์ และภูมิปัญญาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆ เป็นเลขที่คิดค้นโดยคนอินเดีย แล้วถูกนำไปเผยแพร่ในโลกตะวันตกโดยคนอาหรับ จนเป็นระบบเลขที่ใช้กันทั่วโลก จนถึงทุกวันนี้
ผมว่าสังคมคนอินเดียน่าทึ่งมาก ที่จนก็จนมาก ที่รวยก็รวยล้น ชนชั้นวรรณะเคร่งครัดสุด ความรู้ทางปรัชญาและศาสนาลึกล้ำ ความเก่งกาจขั้นอัจฉริยะของคนก็เลิศ หลายครั้งการแข่งขันสำคัญๆ ทางคณิตศาสตร์ แชมป์โลกเป็นคนอินเดีย เดี๋ยวนี้ดูหนังฝรั่ง จะมีนักวิทยาศาสตร์เป็นคนตะวันออกญี่ปุ่นจีนอินเดียปรากฏอยู่ด้วยเสมอ การพัฒนาความรู้ทางคอมพิวเตอร์ของอินเดียในปัจจุบันก็ถือว่าล้ำหน้ามาก
เข้าเรื่องตัวหนังบ้างดีกว่านะครับ หนังเปิดมาด้วยรามานูจันกำลังคิดสูตรและแก้สมการเลข โดยใช้ชอล์กเขียนลงบนพื้นวัดเขียนยาวมากครับ ก่อนเขาจะหางานทำจนได้ แม้จะเรียนไม่จบ เขาได้งานเป็นเสมียน นายจ้างเป็นคุณลุงแก่ๆรับรามานูจันเข้าทำงาน โดยมีข้อแม้แปลกๆ ว่า รามานูจันต้องมาอธิบายสูตรคณิตศาสตร์เหล่านี้ให้เขาฟังทุกเย็นหลังเลิกงาน
จากนั้นทั้งคู่สนิทสนมกันมาก คุณลุงคนนี้แหละครับมีส่วนแนะนำรามานูจันให้ได้รู้จักกับนายฝรั่งผู้ช่วยเหลือส่งจดหมายแนะนำเขาให้กับ ศาสตราจารย์ฮาร์ดี้(ก็อดฟรีย์ แฮโรลด์ "จี. เอช." ฮาร์ดี้) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ทีแรกเขาคนนี้ดูถูกรามานุจันมากประมาณว่าไอ้เด็กเมื่อวานซืนคนนี้นะเหรอที่สามารถแก้สมการยากๆพวกนี้ได้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ภายหลังการตายของรามานุจัน เมื่อมีคนถามเขาว่า งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เขาทำให้แก่วงการคณิตศาสตร์คืออะไร? ฮาร์ดี้ตอบโดยไม่ลังเลว่า “คือการค้นพบรามานุจัน”
ศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ เชิญรามานุจันมาอังกฤษ พร้อมทั้งสัญญาว่าจะตีพิมพ์หนังสือให้เขาด้วย ทำให้เขาและรามานุจันได้ร่วมมือกันคิดทฤษฏีทางคณิตศาสตร์ขึ้นมากมาย ตอนแรกๆของหนังทำให้เห็นได้ชัดว่าการเดินทางไปอังกฤษของรามานุจันนั้น เขาต้องเผชิญความลำบากในการปรับตัวมากมาย ทั้งเรื่องอาหารการกิน อากาศที่หนาวเย็น ศาสนาที่แตกต่าง โดยเฉพาะการดูถูกจากคนที่มองเขาว่าเป็นชาวอินเดีย เป็นพวกอาณานิคมของอังกฤษ
รามานุจันอยู่อังกฤษเพื่อหวังว่าจะได้ตีพิมพ์หนังสือ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เขาจะได้พาแม่และภรรยามาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เขาทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำ จนเริ่มป่วยเป็นวัณโรค อาการของเขาหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อศาตราจารย์ฮาร์ดี้ทราบเรื่องก็ช่วยเหลือรามานุจันทุกอย่าง พร้อมทั้งออกมาขอโทษ ว่าเขาทำตัวเป็นเพื่อนที่ไม่ดีเอาเสียเลย ไม่เคยดูแลรามานุจันเลย
ศาสตราจารย์ฮาร์ดี้จึงพยามช่วยรามานุจัน ให้เขาได้มีตำแห่งทางวิชาการเป็นนักวิจัยของวิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และยังเป็นสมาชิกราชสมาคมแห่งลอนดอนอีกด้วย ทั้งหมดนี้คือการพยามช่วยเพื่อนของศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ เพื่อให้รามานุจันมีชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้
แม้รามานุจันจะเฉลียวฉลาดและกระตือรือร้นขนาดไหน ก็ยังคงไม่เป็นที่ยอมรับ ด้วยเหตุผล ทั้งความต่างของเชื้อชาติ วุฒิทางการศึกษา การเป็นคนเชื่อมั่นในความคิดตัวเอง แต่ไม่สามารถพิสูจน์สิ่งที่ตนค้นพบได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เขาก็พยายามต่อสู้พิสูจน์ตัวเอง และทฤษฎีสูตรต่างๆที่เขาค้นพบ
ท่ามกลางสภาวะกดดันของชีวิต และความวุ่นวายจากสงครามโลก ส่งผลให้เขาเป็นโรคซึมเศร้า สุดท้ายเรื่องนี้ก็ต้องจบลงด้วยความเศร้าครับ ชีวิตจริงไม่ใช่ละคร รามานุจันตายด้วยวัณโรค ในวัย เพียง 32 ปีเท่านั้น แต่ก็ได้ทิ้งผลงานการคิดค้นทางคณิตศาสตร์เกือบ 4,000 รายการ ทั้งที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง และยังคงรอการพิสูจน์ แก่อนุชนรุ่นหลังจนถึงวันนี้
เอาละครับใครอยากดูหนังเรื่องนี้อาจจะต้องรอแผ่นออกแล้วละครับในโรงภาพยนตร์คงไม่มีให้ดูแล้ว เพราะเข้าน้อยโรงน้อยรอบเหลือเกิน น่าเสียดาย หนังดีๆคนไทยมีโอกาสได้ดูน้อยมาก แต่ผมรับรองได้ครับว่าหนังเรื่องนี้ดีจริง
ก่อนจากกกันสิ่งหนึ่งผมได้จากหนังเรื่องนี้เต็มๆก็คือ จะชนชั้นไหนวรรณะใด ก็เป็นคนพิเศษได้ได้ทั้งนั้น “ พระเจ้ามักมีอารมณ์ขัน” วลีนี้ติดปากและได้ยินบ่อยๆจากปากคุณอาท่านหนึ่งที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ การให้สติปัญญาระดับนี้กับชายจนๆ คนหนึ่ง มันก่อให้เกิดภูมิปัญญายิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาความรู้ของโลก
รามานุจันเป็นนักคณิตศาสตร์คนที่สองที่ผมเขียนถึงต่อจากจอห์ แนช นักคณิตศาสตร์ที่ชีวิตทุกข์ทรมานจากอาการเห็นภาพหลอน แต่อัจฉริยะเหลือเกิน ผลงานล้ำค่า ส่วนผลลัพท์ทางจิตใจมันไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้จริงๆครับ
อ่าชื่อบทความนี้หลายคนอาจจะงง แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วละก็หลายคนคงพอเดาได้ว่ามันคือลำดับของตัวหนังสือภาษาอังกฤษ ที่เมื่อนำมาเรียงต่อกันจะได้คำว่า R a m a n u j a n ก็คือชื่อรามานุจันในภาษาอังกฤษนั้นเองละครับ ขำก่อนจากกันในสัปดาห์นี้ก็แล้วกันครับผม