xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : The Man Who Knew Infinity อุปสรรคย่อมผ่านพ้นไปได้ เมื่อมีกัลยาณมิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากชีวประวัตินักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอินเดีย นามว่า “ศรีนิวาสะ รามานุจัน” ที่นำผู้ชมย้อนอดีตกลับไปกว่าร้อยปีที่แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ในเมืองมัทราส ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย

รามานุจัน มีฐานะยากจน และกำลังพยายามหางานทำ เพื่อเลี้ยงดูภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันไม่นาน ดูๆไปเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้อื่นนัก แต่ทว่าสิ่งพิเศษในตัวเขาที่ทำให้แตกต่างก็คือ ความอัจฉริยะที่มีอยู่ในสมอง ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้ปราดเปรื่องเรื่องคณิตศาสตร์ โดยไม่ต้องเรียนหนังสือในสถาบันการศึกษาใดๆด้วยซ้ำ และความเชี่ยวชาญนี้ มิใช่เป็นแค่ความคล่องเรื่องบวกลบคูณหาร แต่เป็นความสามารถชนิดที่คิดค้นทฤษฎี และสูตรคณิตศาสตร์ ออกมาได้อย่างหลากหลาย

เขาอธิบายให้ภรรยาฟังสั้นๆว่า คนทั่วไปอาจมองเห็นเม็ดทรายในกำมือด้วยตาเปล่า แต่ทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่เขาคิดค้นได้ คือการช่วยอธิบายโครงสร้างที่อยู่ภายในเม็ดทรายนั้น

รามานุจันก็พอรู้ว่าความฉลาดของตนเอง น่าจะไปได้ไกลกว่าชีวิตที่เป็นอยู่ เขาจึงขวนขวายนำเสนอสถาบันวิชาการที่รับรองในทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่ตนค้นพบ แต่ทว่าความเก่งดังกล่าวนั้น พัฒนาไปไกลเกินกว่าคนในเมืองมัทราส จะมองว่ามีความสำคัญ หรือนำไปใช้ประโยชน์ใดๆได้

แล้วจุดเปลี่ยนชีวิตของรามานุจันก็เริ่มต้นจากการได้งานเป็นเสมียนในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้านายเป็นคนอินเดีย แต่เจ้าของเป็นชาวอังกฤษ และด้วยความฉลาดของเสมียนคนใหม่จึงสามารถจัดการบัญชีในหน้าที่การงานได้อย่างไร้ที่ติ โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องทุ่นแรงอย่างลูกคิดด้วยซ้ำ

ทักษะอันเลิศเลอดังกล่าวทำให้เจ้านายชาวอินเดียเห็นแววความเก่งของรามานุจัน ว่าไม่ใช่เพียงลูกจ้างธรรมดาๆ เขาอ่านทฤษฎีของลูกน้อง แล้วบอกว่าต้องไปได้ไกลกว่านี้ จึงร่วมกับเจ้าของชาวอังกฤษหาช่องทางส่งจดหมายแนะนำตัว พร้อมทฤษฎีแสนมหัศจรรย์ของหนุ่มมัทราส ไปถึงนักวิชาการในทรินิตี้คอลเลจ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

จดหมายถูกส่งไปถึงมือศาสตราจารย์ “ก็อดฟรีย์ ฮาร์ดี้” หนึ่งในนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของทรินิตี้คอลเลจ ซึ่งเป็นคนที่ทุ่มเทชีวิตให้กับงานวิชาการมาตลอดหลายปี

ในจดหมายนั้นฮาร์ดี้มองเห็นความแตกต่างบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานะชนชั้นแรงงานที่แสนต่ำต้อยของผู้ส่ง รวมถึงทฤษฎีคณิตศาสตร์ใหม่ๆอันน่าตื่นเต้น เขาจึงตอบรับ พร้อมเชิญให้รามานุจัน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเคมบริดจ์ เพื่อมาพิสูจน์ความสามารถ และร่วมวงวิชาการกับนักคณิตศาสตร์อังกฤษ โดยมีศาสตราจารย์ “ลิตเติ้ลวู้ด” เพื่อนนักวิชาการอีกคนคอยให้ความช่วยเหลือ

การเดินทางมาเยือนของรามานุจัน อยู่ในสถานะนักวิชาการที่ต้องแสดงและพิสูจน์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ โดยมีจุดหมายปลายทาง คือ การได้รับโอกาสตีพิมพ์ผลงานวิชาการลงในวารสารคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นเสมือนการยอมรับในสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้น

อย่างไรก็ดี การไร้สถานะด้านการศึกษา ทำให้รามานุจันได้รับการแนะนำให้เข้าชั้นเรียนในบางวิชา เพื่อทำให้เขามีตัวตน และสถานะในการอยู่ภายในสถาบันการศึกษาเก่าแก่ แต่ทว่าอุปสรรคต่างๆก็เริ่มปรากฏให้เห็น นับตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน เพราะเขาเป็นมังสวิรัติ แต่โรงอาหารของวิทยาลัย ไม่ได้เตรียมอาหารประเภทนี้ไว้เลย ปัญหานี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความไม่พอใจของศาสตราจารย์คณิตศาสตร์บางคน เมื่อเห็นรามานุจันฉลาดเกินหน้าเกินตา ทั้งๆที่เป็นแค่คนอินเดีย (ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษมาก่อน)

ความลำบากใจที่รามานุจันพบเจอ ได้รับการปลุกปลอบจากฮาร์ดี้ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ยังไม่ปล่อยให้ผลงานทางวิชาการของเพื่อนใหม่ชาวอินเดีย เผยแพร่ออกไปอย่างเป็นรูปธรรมทันที เพราะยังมีทฤษฎีบางจุดที่ผิดพลาด ซึ่งก็สร้างความไม่เข้าใจ ผสมความไม่พอใจจากรามานุจันอยู่พอสมควร เพราะเขาเชื่อมั่นว่า ความอัจฉริยะที่ตนค้นพบนั้นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร

แต่แล้วในเช้าวันหนึ่ง ความฝันขั้นแรกของรามานุจันก็สำเร็จ เมื่อฮาร์ดี้แจ้งข่าวสุดเซอร์ไพรส์ว่า ทฤษฎีคณิตศาสตร์บางอย่างของรามานุจัน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นก็ทำให้หนุ่มอินเดียได้เห็นและยอมรับข้อผิดพลาดของตนเช่นกันว่า สิ่งที่เขาคิดนั้น ยังมีจุดผิดเล็กๆน้อยๆ แต่ฮาร์ดี้ช่วยแก้ไขให้จนสมบูรณ์แบบ

หลังจากการตีพิมพ์ฯครั้งนั้น ภารกิจการพิสูจน์ทฤษฎีคณิตศาสตร์ เลขอนุกรม และสารพัดแห่งความมหัศจรรย์ในตัวเลขของผู้คลั่งไคล้คณิตศาสตร์ จึงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น แต่ทว่าปัญหาที่เข้ามาก่อกวน คือ สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้อาหารขาดแคลน และที่แย่ไปกว่านั้น รามานุจันยังเจอเหตุการณ์เหยียดเชื้อชาติ จนถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกายจากคนอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ที่มองว่าเขาเป็นชาวอินเดียที่เข้ามาอาศัยใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย โดยไม่ต้องไปร่วมสมรภูมิสงครามแบบผู้ชายชาวอังกฤษคนอื่นๆ

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศสงคราม ตลอดจนการทุ่มเทชีวิตไปกับการค้นคว้าวิชาการ ทำให้รามานุจันเริ่มมีอาการป่วยจากวัณโรค จนกระทั่งต้องล้มหมอนนอนโรงพยาบาล แทบเอาชีวิตไม่รอด

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปลายทางความสำเร็จ ภารกิจของฮาร์ดี้กับลิตเติ้ลวู้ด ต้องก้าวไปไกลและยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะเขาไม่ได้มองแค่การมอบโอกาสให้เพื่อนรักชาวอินเดีย ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเท่านั้น หากแต่ต้องการยกสถานะให้สมกับความสามารถที่มี ด้วยการให้รามานุจัน เข้าเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน ที่เต็มไปด้วยนักวิชาการ นักคณิตศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศ โดยด่านสำคัญที่พวกเขาต้องผ่านไปให้ได้ ก็คือการพิสูจน์ให้นักวิชาการคนอื่นๆยอมรับความอัจฉริยะในทฤษฎีที่รามานุจัน คิดค้นขึ้นมานับพันรายการ

ในที่สุด ความพยายามที่มุ่งมั่นมาหลายปีของทุกคนก็เกิดผล รามานุจันได้รับการยอมรับ และผลงานทฤษฎีวิชาการของเขากว่า 4,000 รายการ ก็ได้รับการพิสูจน์ความอัจฉริยะว่าเป็นจริง และเป็นหลักฐานให้คนปัจจุบันได้เห็น

เรื่องราวในภาพยนตร์ The Man Who Knew Infinity ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนั้น สิ่งที่ปรากฏเป็นแง่คิดดีๆ อาจมีทั้งเรื่องความพยายาม มุ่งมั่น จนกระทั่งประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหมาย การยอมรับผู้อื่นโดยไม่ยึดเอาเรื่องสถานะหรือเชื้อชาติที่แตกต่างมาพิจารณา แต่สิ่งที่เด่นชัดประการหนึ่ง คือ เรื่อง “กัลยาณมิตร”

กัลยาณมิตร ในความหมายของพุทธศาสนา มิได้ครอบคลุมเพียงเป็นเพื่อนที่ดี เพื่อนรัก หากมีความลึกซึ้งในรายละเอียด ที่เรียกว่า “กัลยาณมิตรธรรม 7”อันมีคุณสมบัติดังนี้

1. ปิโย มีความน่ารักน่าหลงใหล แจ่มใส เกิดความสนิทสนมให้เรารู้สึกอยากเข้าไปพบปะ สนทนาด้วย
2. ครุ มีความน่าเคารพ ประพฤติตนเหมาะสม มีคุณธรรม
3. ภาวนีโย มีความน่าเทิดทูนยกย่อง ในแง่ของปัญญา ความรู้
4. วตฺตา จ มีความฉลาดในการพูดจา โน้มน้าว ตักเตือนในสิ่งที่ดี
5. วจนกฺขโม มีความอดทนต่อถ้อยคำ การรู้จักเป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่โมโหฉุนเฉียว
6. คมฺภีรญฺจกถํกตฺตา มีความสามารถในการแถลงเรื่องล้ำลึกได้ อันหมายถึง สามารถอธิบายเรื่องที่มีความซับซ้อน ให้มิตรเข้าใจได้ง่าย และเกิดความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
7. โน จฏฐาเน นิโยชเย ความไม่ชักนำไปสู่ทางเสื่อม ชวนออกไปนอกลู่นอกทาง

คุณสมบัติทั้ง 7 ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดระหว่างความสัมพันธ์ของตัวเอกในเรื่อง ซึ่งหมายถึง ศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ ที่มอบมิตรภาพและสิ่งดีให้กับเพื่อนชาวอินเดีย กระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างงดงาม

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
กำลังโหลดความคิดเห็น