xs
xsm
sm
md
lg

มาตรา 112 ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

เผยแพร่:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน

 น.ส.พัฒน์นรี หรือ หนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ระหว่างถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขังในคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.59
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

ซึ่งตัวบทของกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาดุสิดาลัย เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2548 มีความตอนหนึ่งว่า

“เรื่องที่มีแล้วเค้าก็บอกในหนังสือพิมพ์ ในวิทยุ ในโทรทัศน์ บอกว่า ที่ เดอะคิง ทำอะไร เค้าไม่วิจารณ์ แล้วก็บอก อย่าวิจารณ์ ที่จริงอยากให้วิจารณ์ เพราะว่าเราทำอะไรก็ต้องรู้ว่าเค้าเห็นดีหรือไม่ดี ถ้าไม่พูด ก็หาว่าทำดีแล้ว แต่แท้จริงที่พูด ที่ออกข่าว ให้สัมภาษณ์ บอกว่า อย่าไปวิจารณ์เดอะคิง ต้องบอกว่าอย่าไปวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าไม่ควร ในรัฐธรรมนูญ ก็มีอยู่ว่า ละเมิดมิได้ นักกฎหมายก็พยักหน้าอีกแล้ว ว่าถูกต้อง ว่าไม่ควรจะวิจารณ์ วิจารณ์ไม่ได้ ละเมิดไม่ได้ แต่ถ้าพูดว่า พระเจ้าอยู่หัวทำถูก พูดถูก ไม่ใช่ละเมิด ถ้าพูดภาษาอังกฤษ ก็ แอพปรู๊ฟพระเจ้าอยู่หัวเห็นชอบด้วย แต่ไม่เคยมีใครมาบอกว่า เห็นชอบด้วย ว่าพระเจ้าอยู่หัวๆ พูดดี พูดถูก แต่ว่าความจริงก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวถ้าใครมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่า ถ้าบอกว่า พระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัว ไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกว่า ไม่วิจารณ์ แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเค้าบอกว่าไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวๆ เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น

บางคนอยู่ในสมองพระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาดๆ ถ้าขอเปิดเผยว่า วิจารณ์ตัวเองได้ ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเค้าบอกว่า วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิดนั้น ขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบเดือดร้อน ฉะนั้นที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่า ละเมิด พระมหากษัตริย์ ให้ละเมิดได้ และถ้าเค้าละเมิดผิด เค้าก็ถูกประชาชนบอมบ์ ว่างั้น คือเป็นเรื่องขอให้เค้ารู้ว่าวิจารณ์อย่างไร ถ้าเค้าวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่ถ้าเมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญก็ว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายพระมหากษัตริย์ ลำบากแย่ อยู่ในฐานะลำบาก เพราะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ให้วิจารณ์ ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิดพระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกัน หนึ่งไม่กล้า สองไม่เอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด

แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศมีบ่อยๆ ละเมิดพระเจ้าอยู่หัว ละเมิดเดอะคิง แล้วเค้าก็หัวเราะเยาะ ว่า เดอะคิงพระของไทยแลนด์ เดอะคิงของยู พวกคนไทยทั้งหลายเป็นคนแย่ ละเมิดไม่ได้ ในที่สุดถ้าละเมิดไม่ได้ ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย ฉะนั้นบางโอกาสขอให้ละเมิดจะได้รู้กัน ว่าใครดีไม่ดี นี่พูดเลยเถิด พูดมากไป แต่ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าไม่ต้องกลัว เพราะว่าไม่ได้มีความผิด คนที่นึกว่ามีความผิดพยักหน้า พยักหน้าว่ามีความผิดจริงๆ ความจริงเค้าไม่มีความรับผิดชอบ คนที่มาก่อนนะมีความผิด แล้วคนที่พยักหน้าไม่ได้แก้ไข นี่ผิดตรงนี้ ไม่ได้แก้ไข หลบความรับผิดชอบ มันเป็นอย่างนั้น”

พระราชดำรัสครั้งนั้น ในหลวงทรงชี้ว่า พระมหากษัตริย์นั้นก็เป็นคนทำถูกได้และทำผิดได้ และพร้อมจะยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมจะให้ถูกละเมิดแต่ถ้าผู้ละเมิด ละเมิดผิดก็จะถูกประชาชนบอมบ์

ความหมายของคำว่าวิจารณ์ย่อมแตกต่างกับหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

กฎหมายมาตรานี้เขียนไว้ชัดว่าจะต้องมีพฤติกรรมอย่างไรจึงจะเข้าข่ายมีความผิด ดังนั้นอยู่ๆจะยกกฎหมายนี้ไปทำร้ายใครไม่ได้ถ้าเขาไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวหรือกฎหมายมาตรานี้จะเดินไปทำร้ายใครไม่ได้

กรณีโชติศักดิ์ อ่อนสูง กับพวกรวม 2 คน ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 วิศิษฐ์ สุขยุคล อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 กล่าวถึงกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ว่า ผู้ต้องหาไม่แสดงอาการอาฆาตมาดร้าย จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นพ้องกับอัยการ

พวกที่เรียกร้องให้เลิกมาตรา112บอกว่ามีการใช้กฎหมายมาตรานี้เพิ่มมากขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้ ก็แน่นอนสิครับเพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า ในระยะหลังขบวนการไม่เอาเจ้ามีความชัดเจนและแสดงตัวตนมากขึ้น มีคนกล้ากระทำความผิดที่เข้าข่ายมาตรานี้เพิ่มมากขึ้น คดีก็ต้องมากขึ้นเป็นธรรมดา กฎหมายอยู่นิ่งๆแต่คนทำผิดเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเอง กฎหมายก็ต้องทำหน้าที่ของมัน

คดียาเสพติดมีผู้กระทำผิดเพิ่มมากขึ้น ก็เพราะระยะหลังยาเสพติดระบาดมากเป็นเรื่องธรรมดา เราควรเลิกกฎหมายเช่นนั้นหรือ

แน่นอนว่า มาตรานี้มีหลายฝ่ายที่มีความเห็นต่างกันทั้งเสนอให้ยกเลิก ปรับปรุง และคงมาตรานี้ไว้ เท่าที่ได้ยินฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิกเป็นพวกไม่เอาเจ้าและฝ่ายที่เสนอให้ปรับปรุงส่วนใหญ่ก็เป็นนักวิชาการที่เห็นว่ามาตรานี้มีโทษที่หนักจนเกินไปควรจะลดอัตราโทษลงมา และฝ่ายที่สนับสนุนให้คงไว้ก็เป็นฝ่ายที่เทิดทูลและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่ต้องระวังก็คือ ต้องไม่ให้มาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือหยิบยกมาทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผู้ใช้กฎหมายมาตรานี้ควรจะใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาตามตัวบทที่เขียนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าถ้อยคำใดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

แต่ก็มีหลายคดีเหมือนกันที่พนักงานสอบสวนและอัยการมีคำสั่งฟ้อง แต่ต่อมาศาลตัดสินให้ผู้ต้องหาไม่มีความผิดซึ่งประจักษ์ได้ว่า การใช้มาตรานี้ยังมีหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ปัญหาสำคัญก็คือ ผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้มักจะไม่ได้รับการประกันตัวเนื่องจากศาลเห็นว่ามีโทษที่สูงและส่วนใหญ่ที่ทำผิดในมาตรานี้จะหลบหนีออกนอกประเทศเนื่องจากต่างประเทศถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง

ล่าสุดกรณีของพัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกออกหมายจับในความผิดตามมาตรา 112 เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีหลักฐานเป็นข้อความสนทนาผ่านโปรแกรมแชตเฟซบุ๊กกับแนวร่วมพลเมืองโต้กลับอีกคนหนึ่ง ซึ่งทนายฝ่ายผู้ต้องหาอ้างว่า แม่ของจ่านิวเพียงแต่เขียนข้อความว่า "จ้า"เท่านั้น แล้วอ้างว่าตำรวจบอกว่าแม้แม่จ่านิวมิได้ตอบโต้ใด ๆ แต่การไม่ห้ามปรามหรือว่ากล่าวเข้าข่ายรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งถือเป็นความผิดด้วย

ขณะที่ตำรวจยืนยันว่า คำพูดของแม่จ่านิวมีมากกว่าคำว่า "จ้า"เพียงแต่ข้อความที่กระทำผิดตามมาตรา 112 นั้นไม่สามารถเปิดเผยได้

คดีนี้ฝ่ายอำนาจรัฐถูกโจมตีมากจากต่างประเทศว่าใช้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งมารดาของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ก็คงต้องดูในชั้นศาลว่า มารดาของจ่านิวพูดแค่คำว่า"จ้า"จริงหรือ หรือเป็นไปตามที่ตำรวจยืนยันว่า มีมากกว่าคำว่า "จ้า" ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างที่ทนายของแม่จ่านิวยืนยันโดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด ฝ่ายอำนาจรัฐก็อาจจะเสียหายเพราะว่าใช้กฎหมายมาตรา 112 จนเกินความจำเป็นอย่างที่หลายฝ่ายรวมทั้งต่างประเทศออกมาแสดงความกังวล แต่ถ้าเป็นอย่างที่ตำรวจพูดข้อกล่าวหานี้ก็จะตกไป

แต่ที่ตลกก็คือ หลังจากศาลทหารให้การประกันตัวในคดีนี้นายอธึกกิจ แสวงสุขหรือใบตองแห้งโพสต์เฟซบุ้คทันทีว่า อ้าว ไหนว่ามีคำพูดอื่นนอกจาก "จ้า"ไหนว่าแม่จ่านิวพูดซะยาว ถ้ามีคำพูดหมิ่นจริง ศาลจะให้ประกันตัวได้ไง เห็นหรือยังว่าใครโกหก

ซึ่งถือเป็นตรรกะที่ตลกมาก ถ้าศาลไม่ให้ประกันแปลว่า พวกเขาจะเชื่อว่าไม่ได้มีแค่"จ้า"เช่นนั้นหรือ ส่วนที่ศาลให้ประกันก็อาจเพราะว่าศาลอาจเห็นแก่มนุษยธรรมที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องทำงานเลี้ยงลูก 3 คนและแม่อีกคนก็ได้ แล้วมีที่ไหนในโลกนี้ที่การให้ประกันตัวแปลว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ตามผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งก่อนหน้านี้ที่เสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น ข้าราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร , ตัวแทนจากรัฐสภา, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อัยการ, นักวิชาการ, ผู้นำชาวบ้าน, ผู้แทนจากสหภาพแรงงาน ฯลฯ คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กลั่นกรองทุกคดีที่ฟ้องร้องกันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเลือกสรรเฉพาะคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีมูล เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหามาตรการให้เห็นว่า มาตรา 112 มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทย และเราจะใช้มาตรานี้อย่างระมัดระวังไม่ใช่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กันทางการเมือง และยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น