xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นมาในการรุกรานของทุนในสังคมไทย และความหมายแท้จริงของประชารัฐ

เผยแพร่:   โดย: โลกนี้มีคนอื่น


เมื่อสมัยมนุษย์ยุคหิน นอกจากเรื่องกินอยู่หลับนอนแล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลกับมนุษย์ที่เข้ามาแรกสุดก่อนเรื่องอื่นก็คือความกลัว คนเรากลัวความมืด คนเรากลัวฟ้าร้อง คนเรากลัวสัตว์ดุร้าย สิ่งแรกที่มนุษย์ตั้งสติและหาวิธีการที่จะบริหารจัดการด้วยก็คือความกลัว เมื่อคนเรากลัวความมืด เราจึงหาทางรู้จักกับไฟ เรียนรู้ที่จะจุดไฟ เมื่อเรากลัวสัตว์ร้าย เราจึงคิดประดิษฐ์อาวุธอย่างขวานหิน หอกไม้แหลม เพื่อเอาไว้ต่อสู้นอกเหนือจากการใช้มือเปล่า หลังจากเราบริหารกับความกลัว เราก็เริ่มคิดถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ การสร้างบ้าน สร้างสะพาน สร้างเสาเข็ม สร้างโรงงาน สร้างรถยนต์ และอื่นๆ ต่อมาเมื่อเรามีความมั่นคงในชีวิต รู้จักพัฒนาความเป็นอยู่ เราก็ก้าวสู่เรื่องราวที่มากไปกว่าเรื่องพื้นฐาน เราจึงดูหนัง ฟังเพลง เราจึงมีแฟชั่น เราจึงเล่นกีฬา เราจึงอยากได้เหรียญรางวัล เราจึงเชียร์ทีมลิเวอร์พูล และมีความรู้สึกร่วมเมื่อทีมชนะ และเราจึงอยากรู้เห็นและมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์นั่นเอง

ดร.ชัยอนันต์ พ่อของผมเอง เคยบัญญัติทฤษฏีที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์รัฐ” โดยระบุถึงกระบวนการและขั้นตอนของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง 2475 โดยอธิบายว่า สังคมไทยก่อร่างขึ้นมาเป็นโครงสร้างหลัก 3 อย่างค้ำยันระหว่างกัน นั่นก็คือมิติของ “มั่นคง-พัฒนา-ประชาธิปไตย” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสามมิติที่กล่าวมานั้น ผลัดกับมีบทบาทเด่นและบทบาทรองในแต่ละยุคท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนผ่านกันไป

ทฤษฏีไตรลักษณรัฐวางกรอบวิเคราะห์และอธิบายตั้งแต่ช่วงหลังจากการเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยบอกว่าในยุคแรกนั้น สังคมไทยตอบสนองและให้ความสำคัญเบื้องต้นกับเรื่องความมั่นคงก่อนในอันดับแรก ในยุคนั้นการปกครองโดยกึ่งเผด็จการโดยกลุ่มทหารจึงสามารถดำรงอยู่ ในขณะที่ยุคต่อมา เราเข้าสู่ยุคของการพัฒนา เราแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุคนั้นประเทศเราขับเคลื่อนด้วยกลุ่มข้าราชการ หรือกลุ่มที่เรียกว่า “เทคโนแครต” ทั้งในส่วนของฝ่ายปกครองและฝ่ายเศรษฐกิจ จนเรื่อยต่อมาถึงยุคที่ประชาธิปไตยโดยนักการเมืองเข้ามามีบทบาทกันเต็มรูปแบบ

ในยุคของมิติด้านพัฒนาเป็นพระเอก ผมมองว่า กลุ่มเทคโนแครตเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการพัฒนา ภายใต้การขับเคลื่อนประเทศของกลุ่มทหารที่ทำหน้าที่กุมกลไกสำคัญในการเมืองการปกครอง เทคโนแครตในยุคนั้นผู้เดินเครื่องการพัฒนาจึงยังคำนึงถึงเรื่องปัจจัยด้านมั่นคง ดังนั้นการก้าวเท้าร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศจึงทำร่วมกับขุนทหาร ในสมัยนั้น จะว่าไป เทคโนแครตรุ่นแรกและหลังจากนั้นสักหนึ่งหรือสองรุ่น ยังมีความคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะค่อนข้างมาก ดังนั้น ช่องทางในการกอบโกยผลประโยชน์ของรัฐมาเป็นส่วนตัวจึงยังไม่เปิดให้กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มทุนเอกชนต่างๆ เดินเข้ามาสักเท่าไร

หากจะมีจังหวะเวลาสักช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยเรามีจุดหักเหในการที่ประชาชนเริ่มต้องการเข้าไปรู้เห็นและมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองก็อาจจะกล่าวได้ถึงช่วงยุคหลังปี 2516 ในช่วงเวลาดังกล่าว เราผ่านยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้วร่วมสามสิบปี สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติถูกตั้งขึ้นมาในช่วงปี 2502 เราเข้าสู่เส้นทางของการพ้นจากยุคการให้ความสำคัญของเสถียรภาพและความมั่นคง เข้าสู่ยุคของการให้ความสำคัญของการพัฒนาเพื่อความอยู่ดีกินดี ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่คนในสังคมนั้นก็จุดประกายที่จะเริ่มหันมาสนใจในเรื่องของการรู้สึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพูดถึงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมให้มากขึ้นในกระบวนการปกครอง ต้องการรับรู้ถึงความเป็นประชาธิปไตยที่จริงจังมากขึ้น

วาร์ปมาถึงยุคช่วงปี 2530 เป็นยุคของพล.อ.ชาติชาย ยุคนี้มีมิติทางการเมืองในรูปแบบใหม่เข้ามาหลายอย่างโดยเฉพาะการเข้ามารุกรานอย่างจริงจังของทุน กล่าวได้ว่าเป็นยุคตั้งต้นของการพัฒนาผ่านโครงสร้างที่บริหารโดยนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ในยุคก่อนหน้าที่เทคโนแครตนั้นค่อนข้างเคร่งครัดในการคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ ด้วยเหตุที่ว่าจึงทำให้ช่องทางในการเข้ามาของกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มทุนเอกชน ที่จะเข้าสู่ทรัพยากรของชาตินั้นมีทางเดินให้เข้าถึงน้อยมาก แต่ในยุคที่นักการเมืองและกลุ่มการเมืองเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศสูง ประกอบกับเทคโนแครตด้านเศรษฐกิจผู้เป็นกลุ่มคุมกลไกด้านพัฒนายุคหลังๆ ก็ต่างจากยุคแรก กลุ่มผลประโยชน์ในยุคหลังปี 2530 จึงหาเส้นทางแหวกเข้ามาสู่ผลประโยชน์ของชาติเดิมภายใต้กระบวนการพัฒนาประเทศที่ถูกคุมกลไกไว้สำหรับสาธารณะ เกิดปรากฏการณ์การเข้ามาทำมาหากินของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มทุนเอกชนที่เกาะแข้งเกาะขาเข้ามากับนักการเมือง จนทำให้สถานการณ์เกิดความเละเทะ นำมาสู่การรัฐประหารในท้ายสุด

พอถึงยุคต่อมาตั้งแต่ยุคของทักษิณ มิติใหม่ทางการเมืองก็คือ ผู้นำของกลุ่มทุนที่เคยเข้ามาผ่านเส้นทางเกาะขานักการเมืองในยุค2530 คนอย่างทักษิณและคณะตัดสินใจทำความเข้าใจกับระบบเลือกตั้งแล้วเข้ามาบริหารประเทศโดยตรง ไม่ต้องผ่านนักการเมืองให้มันวุ่นวาย และในที่สุด “ทุนเอกชนก็ยึดระบบเบ็ดเสร็จ” สุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะเกิดการกลับมาหมุนเวียนเป็นวัฐจักรที่คุ้นเคยกันในชื่อวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยที่มิติด้านความมั่นคงกลับเข้ามาเพื่อความสมดุลให้กับโครงสร้าง

ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่ามานี้ จะเห็นได้ว่า ปัญหาของประเทศไทยเรานั้น เกิดจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวกับสามมิติของโครงสร้าง “มั่นคง-พัฒนา-ประชาธิปไตย” ที่ไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างสามส่วนนี้เอาไว้ให้ได้

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น ผมมองว่ามันไม่ใช่แต่เพียงเรื่องของการจัดการกับนักการเมืองคอรัปชั่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ถ้าหากย้อนไปยังสิ่งที่อธิบายมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าต้นตอของทั้งหมดก็คือ การปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็น “ทุนเอกชน” เข้ามาหาประโยชน์เบียดบัง “ผลประโยชน์สาธารณะ

จะว่าไปแล้ว “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลชอบพูดถึงนั้น หากเป็นประชารัฐที่ตกผลึกมาจากความพยายามที่จะคลี่คลายปัญหาเบื้องต้นที่พูดมาทั้งหมดข้างต้นเกี่ยวกับสามมิติทางโครงสร้างของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีที่มาจากอดีตที่ยุคแรกนั้นผู้ปกครองมีบทบาทสูง-ประชาชนมีบทบาทน้อย มิติเรื่องมั่นคงเดินหน้าที่จะพัฒนา โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย (ผ่านระบบประชาธิปไตย) เป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า “รัฐล้อมสังคม” จนเกิดทฤษฏีฝั่งตรงข้ามที่พูดถึง “สังคมล้อมรัฐ” ที่ไอเดียต้นทางสุดโต่งที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “คอมมิวนิสต์” นั่นแหละ และในช่วงหลังผู้คุ้นเคยและเจนจัดกับคำนี้ พอมาทำงานการเมืองก็เอามาปรับใช้ในรูปแบบ “ประชานิยม” ที่เราคุ้นเคยกันดี

ตามทฤษฏีทางรัฐศาสตร์ “รัฐล้อมสังคม” และ “สังคมล้อมรัฐ” ที่ต่อสู้กันมาหลายทศวรรษ ประเทศไทยที่ใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย ก็มีความพยายามจะหาทางสายกลาง นั่นก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างมีบทบาทเท่าๆ กันอย่างได้สมดุล นั่นเป็นที่มาของต้นกำเนิดคำว่า “ประชารัฐ” หรือมีรากฐานมาจาก “สังคมร่วมรัฐ” คือการจับมือร่วมเดินหน้าไปด้วยกันระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน” นั่นเอง

ในยุคที่การนำ “ประชารัฐ” มาต่อสู้กับ “ประชานิยม” นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ต้องพึงตระหนักและห้ามเข้าใจผิดอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับ “ประชารัฐ” ก็คือ ประชารัฐคือสังคมร่วมรัฐเป็นการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคประชาชนโดยเน้นผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ประชารัฐไม่ได้หมายถึงการจับมือระหว่างรัฐและทุนเอกชน

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล นั่งอธิบายด้วยการยกตัวอย่างเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ ให้ผมฟังระหว่างนั่งวงกาแฟกันเมื่อเช้านี้ว่า ประชารัฐที่เดินถูกทางก็คือ สังคมที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าหมูปิ้งหน้าปั้มหน้าชื่นตาบานสามารถประกอบอาชีพของตัวเองได้อย่างพอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ ประชารัฐไม่ใช่หมูปิ้งที่ปั้มลงทุนทำขายเองขายดีแล้วพ่อค้าแม่ค้าหมูปิ้งหมดทางทำมาหากิน

หากเราไม่สามารถเดินหน้ากระบวนการตามหัวใจที่แท้จริงของประชารัฐได้ ก็จะกลายเป็นว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น