xs
xsm
sm
md
lg

ถอนฟ้องคดีฆ่าพันธมิตรฯ 7 ตุลา ระวังคุกๆๆ

เผยแพร่:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน


กรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 รัฐบาลนายสมชายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา โดยมิชอบตามหลักสากล มีการใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตายิงใส่ฝูงชนในระดับระนาบ กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 471 ราย หลายคนสูญเสียอวัยวะแขนขา ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วมีมติให้ฟ้องต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองรวม4คนคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว

และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล โดยกำหนดวันนัดไต่สวนวันที่ 8, 29 เมษายน 2559 วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 วันที่ 26 สิงหาคม 2559 วันที่ 2, 16 กันยายน 2559 วันที่ 14, 28 ตุลาคม 2559 วันที่ 11, 25 พฤศจิกายน 2559 วันที่ 2, 16 ธันวาคม 2559 วันที่ 13, 27 มกราคม 2560 วันที่ 10, 24 กุมภาพันธ์ 2560 วันที่ 10, 24 มีนาคม 2560 และวันที่ 21, 28 เมษายน 2560 เวลา 09.30-16.30 น.

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีปกติจะนัดคู่ความสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ดังนั้นคดีนี้หากไม่มีการขอเลื่อนเข้ามาคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาคดีแล้วเสร็จภายใน 40 สัปดาห์

แต่อยู่ๆก็มีข่าวว่า คณะกรรมการปปช.ชุดใหม่ ภายใต้การนำของพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.จะถอนฟ้องคดีดังกล่าวโดยอ้างว่า จำเลยทั้ง4ยื่นขอความเป็นธรรมเข้ามา

พล.ต.อ.วัชรพล ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องดูก่อนว่า ป.ป.ช. มีอำนาจจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะคดีนี้ถูกฟ้องไปที่ศาลฎีกาฯแล้วและอยู่ระหว่างการสืบพยาน ป.ป.ช. จึงให้สำนักกฎหมาย พิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเห็นว่า สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นกรรมการ ป.ป.ช. จึงหารือในที่ประชุม ได้เสียง 6 ต่อ 1 จากกรรมการ ป.ป.ช. 7 รายที่ร่วมที่ประชุมในวันดังกล่าว เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามความเห็นของกฎหมาย ต้องดูเหตุผลของผู้ถูกกล่าวหาที่ขอมาประกอบกับกฎหมายของ ป.ป.ช. ในกรณีที่จะพิจารณาเรื่องเดิมหลังจากที่ได้ มีมติไปแล้ว อย่างไรก็ดีขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานโดยให้เลขาธิการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ไปพิจารณาว่า สิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนร้องขอความเป็นธรรมมานั้นจะมีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ที่จะนำมาพิจารณาว่า ป.ป.ช. จะขอถอนฟ้องได้หรือไม่ขั้นตอนก็ยังอยู่เพียงเท่านี้

พล.ต.อ.วัชรพลเป็นคนของใคร ได้เข้ามาสู่อำนาจเพราะใครก็คงไม่ต้องอธิบาย

ส่วนนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีตัวเองเป็นประธาน มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหารระดับสูงในสำนักกฎหมาย และสำนักคดี รวมถึงสำนักคดีที่รับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าวเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยจะพิจารณาตามคำร้องขอความเป็นธรรมของนายสมชายกับพวกในกรณีดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานจะพิจารณาว่า เห็นควรถอนฟ้องคดีหรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยจะดูทั้งประเด็นกฎหมาย และเหตุผลในการถอนฟ้องคดี หากเห็นว่ามีเหตุผลไม่สมควร ก็เสนอไปว่าไม่ถอนฟ้อง แต่ถ้าสมควร ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะลงมติกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะถอนฟ้องหรือไม่

ถามว่า มติ6-1ของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ถามว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ถอนฟ้องได้หรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

มาตรา ๔๔ ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้วและไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสําคัญแก่การไต่สวน

มาตรา ๘๖ ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกคํากล่าวหาตามมาตรา ๘๔ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา

(๑) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งคดีหรือ

(๒)เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกันและศาลประทับฟ้องหรือพิพากษามีคําสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับหรือยกคํากล่าวหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้

นั่นแสดงว่าป.ป.ช.มีมติขอยื่นถอนฟ้องต่อศาลอาญาได้ครับมติ6-1ไม่ผิดหรอก แต่ถ้าถอนฟ้องกฎหมายเขียนไว้ชัดว่าต้องมี "หลักฐานใหม่" แต่แค่"หลักฐานใหม่"ยังไม่พอ ต้องเป็น"หลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ"ด้วย

ถ้าไม่มี"หลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ"นั้น “ห้ามมิให้กระทำ”

นี่คือสิ่งที่คณะทำงานชุดนายสรรเสริญซึ่งถูกตั้งเป็นคณะทำงานต้องนำมาพิจารณา ก็รอดูว่า จะทำตามข้อเท็จจริงหรืออิงกับอำนาจใหม่ในป.ป.ช.

ตามข่าวเหตุผลที่ป.ป.ช.ชุดพล.ต.อ.วัชรพล หยิบเรื่องนี้มาพิจารณาคือ จำเลยทั้งสี่ร้องขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ในการสลายม็อบ นปช.ปี 2553

นี่ถือว่าเป็น"หลักฐานสำคัญ"แห่งคดีไหม ผมว่ามันคนละเรื่องนะครับ เพราะมันเป็นคนละคดีกัน มันตลกนะครับถ้าเอาเหตุผลอีกคดีหนึ่งที่สั่งไม่ฟ้องมาเป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องคดีอื่นด้วย ทั้งๆที่พฤติกรรมแห่งคดีมันต่างกัน คนละเหตุการณ์คนละสำนวน

ดังนั้นถ้าป.ป.ช.ชุดนี้จะสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้งสี่จริงๆต้องเอา"หลักฐานใหม่"ที่อ้างว่า สามารถเป็นเหตุให้ถอนคดีนั้นมายืนยันต่อสาธารณะด้วย เพราะถ้า"หลักฐานใหม่"ไม่เพียงพอแล้วป.ป.ช.ชุดใหม่และคณะทำงานชุดนายสรรเสริญมีความเห็นว่าให้ถอนฟ้องก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่าลืมว่ากฎหมายป.ป.ช.มาตรา ๑๒๕ บัญญัติว่า ประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

ใครจะลู่ตามลมตามอำนาจก็ท่องกฎหมายข้อนี้ไว้ให้ดี

คุกๆๆนะครับ

อย่างไรก็ตามนายชาติชาย อัครวิบูลย์ รองประธานศาลฎีกา ระบุว่า ต้องดูบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ว่า ได้มีเขียนในมาตราใดหรือไม่ ที่ให้นำประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 มาใช้ ถ้าเขียนไว้เช่นนั้นก็เป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีมายื่นถอนฟ้องได้ แต่อาจจะมีปัญหาว่า คดีนี้ ป.ป.ช.ไม่ใช่ผู้ริเริ่มขึ้นเอง แต่ได้มีการร้องทุกข์โดยนายวีระ สมความคิด ส่วนเรื่องคำขอจะยกเหตุอะไรขึ้นมาอ้างหรือไม่ก็สุดแท้แต่ผู้ฟ้อง เพียงแต่การยกเหตุขึ้นมาเพื่อเป็นการปกป้องตัวเองว่าการขอถอนฟ้อง เขาก็มีเหตุผลนะ แต่ทั้งนี้สุดท้ายแล้วศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าจะให้ถอนฟ้องคดีหรือไม่

ทั้งนี้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 บัญญัติว่า คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญา จะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต หรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้วให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้องให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

คดีความผิดส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้านให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

นั่นแปลว่า ป.ป.ช.ยื่นถอนฟ้องได้ แต่คนที่จะอนุมัติหรือไม่ก็คือ ศาลซึ่งแน่นอนว่า ศาลต้องดูว่า"หลักฐานใหม่"ที่เป็นเหตุในการขอถอนฟ้องนั้นเป็น"สาระสำคัญ"ของคดีหรือไม่ด้วย

แต่ก็อยากฝากคำถามไปยังผู้ถืออำนาจ"รัฏฐาธิปัตย์"ในประเทศนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า ท่านจะยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ท่านไม่รู้สายสัมพันธ์ระหว่างประธานป.ป.ช.กับผู้ถูกกล่าวหาหรือ ท่านคิดว่านี่เป็นการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมหรือไม่ หรือจะปล่อยให้"พี่ใหญ่"ทำอะไรกับประเทศนี้ก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น