xs
xsm
sm
md
lg

การก่อการร้ายที่เบลเยียม และช็อกโกแลตโกไดวา

เผยแพร่:   โดย: โลกนี้มีคนอื่น


เมื่อนึกถึงเบลเยียม คนไทยเรามักจะเป็นเรื่องช็อกโกแลตอยู่ในอันดับต้นๆ มากกว่าที่จะรับรู้ในเรื่องการเป็นเมืองท่องเที่ยว และเมืองหลวงอย่างบรัสเซลส์ก็ห่างไกลแบบไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับปารีส ฝรั่งเศสหรืออัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์บ้านใกล้เรือนเคียง บรัสเซลส์หรือเมืองอื่นในเบลเยียมจึงมักจะอยู่เป็นติ่งห้อยท้ายในลิสต์ตารางการท่องเที่ยวของนักเดินทางบ้านเรา โดยมักจะห้อยท้ายพ่วงอยู่กับเป้าหมายหลักอย่างฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยก็ไปเที่ยวเบลเยียมมากขึ้น นอกจากบรัสเซลส์แล้ว เบลเยียมยังมีเมืองเล็กที่ช่วงหลังกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่าง แอนเวิร์ป เกนท์ หรือบรูจ

หลังๆ มานี่ มีอีกเรื่องก็คือ เบลเยียมปรากฏชื่อว่ามีส่วนร่วมกับข่าวเหตุการณ์ก่อการร้ายอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อปลายปีก่อน เบลเยียมตกเป็นข่าวเกี่ยวพันกับการก่อวินาศกรรมในปารีส ซึ่งในช่วงนั้นผมเดินทางไปเบลเยียมพอดี ก็เห็นภาพที่มีการปิดเมืองบรัสเซลส์ และมีภาพของการตรวจเข้มตามชายแดน โดยที่ในระหว่างผมขับรถตู้ข้ามแดนจากเบลเยียมไปเยอรมันที่มีจุดต้องเหลื่อมๆ เข้าเส้นทางฝรั่งเศสอยู่ก็โดยสั่งให้หยุดเพื่อตรวจพาสปอร์ทอยู่นานสองนาน

มาครั้งนี้ จากก่อนหน้าที่เป็นข่าวในฐานะพื้นที่ของการไล่ล่าผู้ก่อการร้าย คราวนี้เบลเยียมโดนวินาศกรรมที่สนามบินและสถานีรถใต้ดิน ครั้งนี้มีการประเมินกันไปในสองทาง ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวทั้งคู่ นั่นก็คือ หนึ่ง เบลเยียมเป็นเป้าอยู่แต่แรกตามแผนเดิม ที่ไล่จัดการกับปารีสก่อนแล้วมาต่อที่บรัสเซลส์ กับสอง คือเป็นเรื่องของการล้างแค้นที่เบลเยียมเป็นพื้นที่ปฏิบัติการไล่ล่าทีมงานก่อวินาศกรรมปารีส ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เบลเยียมก็ถือว่าเป็นพื้นที่ของการตามล้างตามล่าทีมงานก่อการร้ายมาโดยตลอด ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็มีการบุกค้นอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในบรัสเซลส์และมีการวิสามัญผู้ต้องสงสัยไปหนึ่งราย

ไม่ว่าจะเป็นเป้าแต่แรกหรือเพราะเป็นการเอาคืนก็ตาม แต่เบลเยียมนั้นในระยะหลังถูกนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายคนแปะป้ายให้เบลเยียมและบรัสเซลส์เป็นเมืองหลวงของทีมงานการก่อการร้ายไปเสียแล้ว ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเมืองราชการของสหภาพยุโรป หน่วยงานต่างๆ ของ EU นั้นต่างก็อยู่ที่บรัสเซลส์ และในขณะเดียวกันนั้น อีกด้านหนึ่ง ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพมาตั้งรกรากที่นี่นั้น ก็มีช่องว่างกับคนกลุ่มดั้งเดิมของประเทศมากเอาการทีเดียว

อาจจะพูดรวบย่อเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะสายอิสลามของเบลเยียมนั้นมีฐานะยากจน และในเชิงวัฒนธรรมก็ค่อนข้างผสมผสานกับสังคมดั้งเดิมไม่ได้มากสักเท่าไร ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในฐานะชนชั้นล่างเหล่านั้น จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเข้ามาชักจูงและใช้ประโยชน์ของกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะไอซิส

และในช่วงหลังจากวิกฤตก่อการร้ายที่ปารีสนั้น การไล่บี้ของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำการกดดันกลุ่มนี้แบบไม่ปราณีปราศรัย ทำให้ความคุกรุ่นเดิมยิ่งทวีความร้อนรุนแรงมากขึ้นอีก โดยเฉพาะสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มวัยรุ่น ทำให้ฝ่ายก่อการร้ายยิ่งชักจูงได้ง่ายขึ้นอีก

ปัญหาช่องว่างระหว่างคนชั้นที่ถ่างมากมักจะก่อปัญหาตามมาเสมอในทุกสังคมทุกวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการตกเป็นเป้าหมายกลุ่มอำนาจกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่ปัจจุบันต่างมีโครงสร้างองค์กรที่บริหารจัดการกันแบบองค์กรธุรกิจ เป็นเป้าหมายของการชักจูงจากให้ไปฝักใฝ่-เลือกข้างทางการเมือง ที่น่าเสียใจคือ ชนชั้นที่เสียเปรียบทางสังคมเหล่านี้มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเสมอในทางใดทางหนึ่งและจากทุกกลุ่มการเมือง เรื่องเช่นนี้มีมาทุกยุคทุกสมัย


สังคมไทยเองนั้นก็เกิดสภาพการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องรีบจัดการก่อนปัญหาจะลุกลามจนเกินเยียวยา

เบลเยียมในยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากเราจะรู้จักในฐานะเมืองแห่งช็อกโกแลตตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ห้วงยามนี้จึงปรากฏข่าวเบลเยียมเข้าไปพัวพันกับการก่อการร้ายอยู่บ่อยครั้ง

ย้อนกลับไปเรื่องช็อกโกแลต เบลเยียมช็อกโกแลตที่มีชื่อเสียงและคนส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยมากที่สุดน่าจะเป็น Godiva ช็อกโกแลตยี่ห้อนี้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเกือบร้อยปี โกไดวาเกิดขึ้นมาที่บรัสเซลส์นี่เอง แต่ต่อมาได้ถูกบริษัทซุปชื่อดังสัญชาติอเมริกันซื้อไป และล่าสุดเมื่อประมาณสิบปีก่อน ก็ได้ถูกขายอีกครั้งให้กับบริษัทธุรกิจอาหารสัญชาติตุรกีที่ครอบครองช็อกโกแลตยี่ห้อนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ที่หยิบเอาโกไดวามาชวนคุยนอกจากจะในฐานะช็อกโกแลตเชื้อสายเบลเยียมที่แสนจะโด่งดังแล้ว เรื่องน่าสนใจของโกไดวานั้นยังมีอีกเรื่อง นั่นก็คือหากใครสังเกตสัญลักษณ์ของโกไดวาจะพบว่าแบรนด์นี้จะมีโลโก้เป็นรูปหญิงผมยาวเปลือยนั่งอยู่บนหลังม้า

ผู้หญิงคนนั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของโกไดวามีตัวตนจริง เธอเป็นศรีภรรยาของท่านลอร์ดแห่งโคเวนทรีประเทศอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี คศ.997-1067 ท่านลอร์ดคนนี้เป็นผู้ครองเมือง ตามตำนานประวัติศาสตร์เล่าว่า ท่านลอร์ดนี่เป็นขาโหด เก็บภาษีหนัก กดขี่ชาวเมืองผู้อดอยากยากจนข่นแค้น แต่เลดี้โกไดวานั้นเป็นหญิงผู้มีจิตใจงดงาม นางก็เพียรพยายามรบเร้าท่านลอร์ดผู้เป็นสามีให้ลดการจัดหนักเรื่องภาษีเสียบ้าง

แต่แม้ว่าเลดี้โกไดวาจะรบเร้ากี่หนต่อกี่หน ท่านลอร์ดก็ไม่ยอม

จนวันหนึ่ง เลดี้เธออ้อนวอนท่านลอร์ดตามปกติที่เธอจะรบเร้าอยู่บ่อยๆ ท่านลอร์ดแห่งโคเวนทรีอาจจะรู้สึกรำคาญเมียขึ้นมา ท่านลอร์ดเลยโพล่งขึ้นมาว่า “นี่เธอ ถ้าเธออยากจะให้ชั้นลดภาษีให้ไอ้พวกชาวเมืองจนๆ นี่จริงๆ เอางี้มั้ย เธอยอมแก้ผ้าขี่ม้ารอบเมืองมั้ยหล่ะ ถ้ายอมชั้นจะลดภาษีให้” (อนึ่ง ผมพูดเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายนะครับ ท่านลอร์ดคงพูดด้วยลีลาอื่น)

ทั้งนี้ท่านลอร์ดเองก็คงคิดว่า ในสังคมยุคนั้น การที่หญิงสาวจะแก้ผ้าขี่ม้ารอบเมืองเป็นเรื่องที่ต่ำชั้นน่าอับอาย แต่เลดี้โกไดวาหญิงผู้มีจิตใจงดงามตัดสินใจยอมที่จะตัดสินใจแก้ผ้าขี่ม้ารอบเมืองตามคำท้าของท่านลอร์ด โดยที่ชาวเมืองทั้งหลายที่ได้รู้ข่าวก็แสดงสปิริตเพื่อเป็นการเคารพเทิดทูนเลดี้ด้วยการหลบอยู่ในบ้านและปิดประตูหน้าต่างให้เลดี้โกไดวาขี่ม้ารอบเมืองอย่างสงบปราศจากสายตาผู้คน และสุดท้ายท่านลอร์ดแห่งโคเวนทรีก็ยอมลดภาษีหลังจากที่เมียรับคำท้ากล้าแก้ผ้าขี่ม้ารอบเมือง

เลดี้โกไดวาจึงกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงจนบริษัทช็อกโกแลตที่อร่อยมากเอาไปตั้งชื่อเพื่อแสดงความระลึกถึงเกียรติยศในครั้งนั้น ส่วนท่านลอร์ดนั้นแม้แต่ผมที่ฟังเรื่องและเอามาเขียนนี้ยังจำชื่อของท่านไม่ได้

ตำนานเลดี้โกไดวาผู้เป็นสัญลักษณ์ช็อกโกแลตดังเชื้อสายเบลเยียม คือตำนานของวีรชนผู้หาญกล้าลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสามารถฝ่าวิกฤติจนประสบชัยชนะได้ เมื่อผมนึกถึงช็อกโกแลตเบลเยียมยี่ห้อโกไดวานี้ ก็ได้แต่ภาวนาให้เบลเยียมสามารถจัดการแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมที่ถูกถ่างออกมากเกินไป ให้ปัญหานี้ลุล่วงไปให้ได้ ไม่งั้นเบลเยียมคงไม่แคล้วเป็นเป้าหมายที่ต้องตาโดนใจของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่จะมาเจาะตลาดหาคนให้ตกเป็นเครื่องมือเพื่อการก่อเหตุมากขึ้นเรื่อยๆ

++++++++++++++

หมายเหตุ :
• เรื่องของเลดี้โกไดวาเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่เหมือนกันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเล่าแบบนิทาน เนื่องจากมีผู้โต้แย้งว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการนั้นไม่ปรากฎเรื่องนี้ และก็ไม่มีหลักฐานให้เห็นว่าท่านลอร์ดใจคอโหดร้ายอะไรมากมาย มีนามเป็นผู้บริจาคเพื่อสาธารณกุศลเช่นสร้างสถานที่ทางศาสนาอยู่หลายครั้ง โดยที่เรื่องของเลดี้โกไดวานี้ กล่าวกันว่ามีหลักฐานมาจากบันทึกของนักบวชในศาสนาศริสต์ ซึ่งหลักฐานในรูปแบบนี้ถือว่าค่อนข้างเชื่อถือได้ และคนส่วนใหญ่เองก็เชื่อว่าเป็นจริงมากกว่า
• ข้อถกเถียงเรื่องที่สองก็คือ เลดี้โกไดวาแก้ผ้าหรือไม่แก้ เพราะมีการใช้ภาษาที่แปลออกมาได้ประมาณว่า “ปลดเปลื้อง” ซึ่งอาจจะเป็นแค่เพียงปลดเปลื้องอาภรณ์และเครื่องประดับเหลือแต่ผ้าติดตัวแบบสภาพอนาถาอะไรทำนองนั้นมากกว่า เลดี้สูงศักดิ์สมัยนั้นจะแต่งตัวแบบจัดเต็มเสมอเวลาออกสาธารณะ เลดี้อาจจะออกมาขี่ม้ารอบเมืองแบบไม่แต่งตัวและไม่แต่งหน้าแต่งตาอย่างที่สมัยปัจจุบันเรียกกว่า หน้าสด ก็เป็นไปได้ เพราะในข้อความของหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้เจาะจงใช้คำว่า “เปลือย” แต่อย่างใด
• มีเรื่องต่อเนื่องเรื่องของนายทอมช่างตัดเสื้อ ดังที่มีคนให้สมญาพ่อคนนี้ว่า “Peeping Tom” หรือนายทอมนักถ้ำมองนั่นเอง มีเรื่องเล่าถึงเรื่องที่ชาวเมืองพร้อมใจกับแสดงความเคารพเลดี้โกไดวาด้วยการหลบอยู่ในบ้านไม่โผล่หน้าออกมาดูนางโป๊ แต่มีนายทอมช่างตัดเสื้อคนนี้ที่แอบเจาะรูมองเลดี้ และตำนานเรื่องนี้ก็บอกว่าหลังจากที่นายทอมถูกจับได้ก็โดนสหบาทาโดยชาวเมืองจนซี้แหง บางกระแสก็บอกว่าโดนชาวเมืองจิ้มตาบอดไป แต่อย่างไรก็ดี ตำนานต่อเนื่องเรื่องนี้ส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นภายหลังให้มันดราม่าเพื่อเอามัน ไม่ใช่เรื่องจริงเหมือนตำนานหลักเรื่องเลดี้โกไดวา
กำลังโหลดความคิดเห็น