กรณีรถเบนซ์พุ่งชนรถฟอร์ดจนไฟลุกท่วมทำให้นักศึกษาปริญญาโท2คนเสียชีวิตนั้น กลายเป็นกระแสในโลกโซเชี่ยลที่ต้องการให้ตำรวจดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้ก่อเหตุซึ่งขณะนี้นอนบาดเจ็บอยู่ในโรงพยาบาล เพราะเห็นชัดในคลิปที่มีผู้ถ่ายไว้ได้ว่า ผู้ก่อเหตุขับรถด้วยความประมาทและใช้ความเร็วที่สูง
ถ้าติดตามโซเชียลและจับใจความได้ สิ่งคนในโซเชียลกลัวก็คือว่า ผู้ก่อเหตุมีฐานะร่ำรวยแล้วจะรอดพ้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย จนเกิดกระแสกดดันตำรวจที่ทำคดีให้เร่งรัดเอาคนผิดมาลงโทษ ในขณะที่ตำรวจเจ้าของคดีไปตอบคำถามผ่านสื่อตะกุกตะกักจนสร้างความไม่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งทางผู้บังคับบัญชาต้องมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงชุดทำคดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม
ความจริงคดีนี้ไม่มีความซับซ้อนเลย มีคลิปขณะเกิดเหตุการณ์ชัดเจนว่า ผู้ก่อเหตุขับรถด้วยความประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ซึ่งสังคมแม้จะไม่ใช่เจ้าพนักงานสอบสวนหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมก็ตัดสินได้ทันทีว่า การกระทำผิดนั้นกระทำโดยประมาท จนทำให้มีผู้เสียชีวิต
ความกลัวว่าคนรวยทำผิดแล้วไม่ติดคุกหรือพูดกันว่าคุกมีไว้สำหรับขังคนจนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นมาลอยๆแต่เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นมาแล้ว โดยเฉพาะในคดีคนรวยที่ก่อเหตุอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตในหลายคดี
ไม่ว่าคดีหมูแฮมที่เกือบหลุดคดีในชั้นอุทธรณ์เมื่อศาลลดโทษเหลือจำคุก3ปีและลดโทษลงมาอีก1ใน3คงจำคุก2ปี1เดือนแล้วให้รอลงอาญา จากที่ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก10ปี1เดือน แต่ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตามศาลอุทธรณ์คือ2ปี1เดือน แต่ไม่รอลงอาญา
คดีลูกชายเจ้าของกระทิงแดงชนดาบตำรวจสน.ทองหล่อ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฎหมายโดยมีการสั่งฟ้องใน2ข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน และมีความเห็นไม่ฟ้อง 2 ข้อหา คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพราะหมดอายุความจากการยื้อคดีของฝ่ายผู้เสียหาย และขับรถโดยขณะมึนเมาซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ก่อเหตุดื่มก่อนเกิดอุบัติเหตุหรือหลังอุบัติเหตุ เพราะผู้ก่อเหตุอ้างว่า ดื่มหลังจากเกิดเหตุ
คดีนี้ในตอนแรกตำรวจท้องที่พยายามจะช่วยเหลือผู้ต้องหาโดยการเปลี่ยนตัวผู้ก่อเหตุจนถูกสั่งให้ออกจากราชการ ส่วนคดีจะจบลงอย่างไรนั้นยังต้องรอดูว่าผลการพิพากษาว่าจะออกมาอย่างไร จะยิ่งตอกย้ำสิ่งที่สังคมเชื่อหรือไม่
คดีแพรวา ขับรถยนต์ซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารเสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นบนทางด่วนโทลล์เวย์จนพลิกคว่ำจนมีผู้เสียชีวิต9ศพและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง จบลงด้วยการรอลงอาญา โดยศาลเยาวชนฯ มีคำพิพากษาวันที่ 31 ส.ค.55 ให้จำคุก 3 ปี ความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งคำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ ลดโทษให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกนั้นให้รอลงอาญากำหนด 3 ปี และให้คุมประพฤติกรรมจำเลยโดยให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน พร้อมให้ทำงานบริการสังคมโดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง รวมทั้งห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.57 เช่นเดียวกับศาลชั้นต้น โดยให้เพิ่มระยะเวลาการรอลงอาญาเป็น 4 ปี และให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี ในช่วงเวลารอลงอาญา 4 ปี จึงทำให้คดีสิ้นสุดตามคำพิพากษาดังกล่าว
และคดีนี้ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ผู้เสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วยค่าไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าอื่นๆ กับโจทก์ทั้ง 28 รวมเป็นเงิน 26,881,925 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธ.ค.53 ซึ่งเป็นวันที่กระทำการละเมิด
แม้เราจะต้องเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ถ้าถามสังคมว่าคิดอย่างไร ก็เชื่อว่า หลายคนยากที่จะยอมรับได้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงญาติมิตรของผู้เสียชีวิต
จริงอยู่กรณีเกิดอุบัติเหตุนั้น ฝั่งผู้สูญเสียมักจะยินยอมให้ผู้ก่อเหตุชดใช้การเสียหายมากกว่าจะต่อสู้กันจนให้ผู้ก่อเหตุติดคุก ส่วนใหญ่มักจะคิดทำนองว่า ฝ่ายตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว ไม่สามารถเอาอะไรมาคืนได้แล้ว แม้ชีวิตจะมีค่ากว่าเงินก็ตาม แต่ให้ผู้ก่อเหตุไปติดคุกชดใช้กรรมก็ไม่มีประโยชน์อะไร จึงมักจะจบด้วยการยอมรับการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย
และแม้ว่าคดีอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ แต่ศาลก็มักจะยึดหลักว่า การเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทไม่ใช่อาชญากร และผู้เสียหายได้เยียวยาจนเกิดความพอใจต่อญาติของผู้สูญเสียแล้ว ไม่เคยทำผิดมาก่อน ไม่เคยต้องโทษ ก็มักจะจบลงด้วยการรอลงอาญา
ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายอาญามาตรา 78 เมื่อปรากฏว่า “มีเหตุบรรเทาโทษ” ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน หรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๙๖/๒๕๔๐ จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ จำเลยชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนและออกค่ารักษาพยาบาลให้ผู้เสียหายพอเป็นเหตุอันควรปรานีได้
ที่สำคัญคนที่มีเงินนั้นมักจะสามารถหาทนายที่มีความสามารถในการต่อสู้ทางคดีซึ่งจะต้องพยายามหาช่องทางในการบรรเทาโทษให้กับลูกความไม่ว่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยไม่สามารถป้องกันได้ หรือเป็นผู้ป่วยทางจิตหรือเป็นโรคซึมเศร้า ต่างกับคนยากจนที่ไม่มีในส่วนนี้ เมื่อกระทำผิดก็ได้แต่ยอมจำนนและไม่หาช่องทางการต่อสู้ ไม่มีเงินในการชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจนไม่มีเหตุแห่งการบรรเทาโทษได้
นี่อาจเป็นสาเหตุที่พูดกันจนติดปากว่า คุกมีไว้สำหรับขังคนจนไม่ได้มีไว้สำหรับขังคนรวย
กระทั่งวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียก็คือว่า สังคมไม่ไว้ว่าใจกระบวนการยุติธรรม แน่นอนว่า การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สามารถยึดติดกับกระแสสังคมได้ แต่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงแห่งคดีและหลักการของกฎหมาย
แต่คดีนี้จากคลิปเห็นชัดว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดโดยประมาทขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งย่อมรู้ดีว่าจะทำให้เกิดอันตรายได้ แม้ว่าบิดาของผู้ต้องหาจะรับปากว่าพร้อมจะเยียวยาผู้เสียหายในทุกทางก็ตาม
ดังนั้นต้องดูว่าคดีที่สังคมกล่าวขวัญนี้จะจบลงอย่างไร ผลการพิพากษาจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคมได้แค่ไหน กระบวนการยุติธรรมจะอยู่ในความทรงจำใดของสังคม