บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยาก สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่จะหาข้อสรุปในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝั่งของคนเราในชีวิตปกติประจำวันกับฝั่งทางศาสนาที่อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ หลายครั้งที่เราคงเคยถามตัวเองถึงประเด็นความสัมพันธ์ดังกล่าว และตั้งคำถามถึงเรื่องที่ว่าเราต้องการอะไรจากศาสนากันแน่
ประโยคที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนโตก็คือ “ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ” ทั้งนี้ผมนับถือพุทธ ก็จะคาดหวังกับวัดมาตลอดว่า เข้าวัดเจอพระเพื่อหาความสบายใจ
อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ทั่วไปของผมเอง ตลอดอาจจะหมายรวมถึงคนชั้นกลางทั่วไปในเมืองหลวง ก็อาจจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ก็คือ เอาเข้าจริง เราไม่ค่อยคุ้นเคยกับพระเท่าไรนัก
ในทุกวันนี้ส่วนใหญ่เจอเข้าวัดเจอพระตามงานพิธี ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานทำบุญต่างๆ รวมถึงการทำสังฆทานในวันเกิด ในวันครบรอบวันเสียชีวิตของญาติผู้ใหญ่เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบของการที่เราเข้าวัดไปแต่ไม่มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะเจอพระ พูดง่ายๆ คือเข้าไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิในวัดแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปฏิสันถารกับพระที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในวัด ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ ที่ว่ามานี้ จะต่างกับสังคมไทยในอดีต หรือสังคมชนบทในต่างจังหวัดที่ความสัมพันธ์ของคนกับพระจะมีความใกล้ชิดกันมากกว่า
ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็อาจพูดได้ว่า คนสมัยนี้ โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองหลวงทั่วๆ ไปนั้นไม่ค่อยจะมีความสัมพันธ์ถึงขั้นเรียกได้ว่าสนิทกับพระเท่าไรนัก ซึ่งทั้งนี้ก็มาจากโอกาสที่เรากับพระท่านไม่มีจังหวะที่จะได้ทำความรู้จักกันจนมีความใกล้ชิดสนิทสนม และนั่นเองที่ความใกล้ชิดสนิทสนมจึงจะนำเรื่องความสบายใจให้เกิดขึ้นได้ยามคนเราพบปะสนทนา
บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวถึงแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับพระ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เวลาเราเห็นพระทำอะไรแล้วอยากจะมีทัศนคติต่อการกระทำนั้นๆ
ทั้งนี้ก็เพราะข้อแรกเลยคือเรากับท่านอยู่กันละคนพื้นที่คนละเขตแดน ที่เขาเรียกกันว่า ศาสนจักรกับอาณาจักรอะไรนั่น เราใช้ชีวิตทางโลก พระท่านใช้ชีวิตทางธรรม การปฏิบัติตนทางโลกกับปฏิบัติตนทางธรรมย่อมแน่นอนว่ามีลักษณะที่ต่างกัน
การปฏิบัติทางวิถีแห่งธรรมได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งสูงส่งกว่าทางโลก ดังนั้นพระจึงได้รับการเคารพจากเราผู้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในฝั่งนี้
ข้อต่อมาคือ เป็นหลักธรรมชาติอยู่แล้วว่า ดีที่สุดคืออย่าไปตัดสินอะไรที่มันไม่สามารถระบุชัดเจนได้ในข้อเท็จจริง หลายสิ่งหลายอย่างเราจะบอกถึงมันว่าดีหรือไม่ดี ก็เพราะเราคิดว่ามันดีหรือไม่ดีกับตัวเรา ซึ่งทั้งนี้ดี-ไม่ดีอาจจะผันแปรไปตามความคิดของคน ดีของเราอาจไม่ดีของคนอื่น ดีของคนอื่นอาจไม่ดีของเรา เรื่องความสวยความงามก็เช่นกัน
ขนาดเรื่องของคนธรรมดาเองยังยากเลย อย่าว่าแต่มุมมองต่อพระ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่พูดยากกว่า การพยายามจะทำความเข้าใจมนุษย์ด้วยกันเองยังยากเหลือเกิน การพยายามจะทำความเข้าใจกับพระจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าหลายเท่า
พระบางรูปอยู่ด้วยแล้วรู้สึกว่าท่านรู้เยอะเหลือเกิน ไม่เพียงเฉพาะแต่ทางธรรม แต่ยังเป็นเรื่องวิถีชีวิตทางโลกที่ท่านพยายามชี้ทางเรา บางท่านวิเคราะห์การเมืองได้แหลมคม บางท่านกล่าวถึงการบริหารจัดการได้ราวกับกูรูเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการเปลี่ยนแปลงของโลกท่านก็อ่านสถานการณ์ขาด
ผมเคยถาม ก็ได้รับคำตอบว่า เป็นพระก็ต้องรู้ทันโลกเพื่อที่จะมาสอนเราอย่างไรหล่ะ เพราะเราอยู่ทางโลก พระอยากสอนเราให้เป็นคนดี ใช้ชีวิตถูกต้องดีงาม พระเลยต้องทำความเข้าใจกับทางโลกเพื่อที่จะมาสอนคนในสังคม พระท่านก็ต้องปรับตัวให้ทันโลก หรือบางครั้งนำกระแสโลกบ้างก็มีให้เห็น เช่นบางท่านอาจจะให้คำแนะนำทางการเมืองกับนักการเมืองที่เป็นลูกศิษย์เสียด้วยซ้ำ
คนสมัยนี้จึงเข้าวัดเจอพระแล้วได้การช่วยเหลือในหลากมิติ บางคนเข้าวัดแล้วได้หลักบริหารจัดการชีวิต บางคนเข้าวัดไปคุยแตกฉานเรื่องการเมือง บางคนเข้าวัดแล้วรวย และอื่นๆ อีกมายมาก
พอเราชอบแบบนี้ พระท่านจึงรับรู้ว่าเราชอบ พอเป็นไปมากเข้าบ่อยเข้า พระท่านก็มีความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ของท่านกับของเรา ...มีจังหวะที่สอดคล้องกันในทางโลกกับทางธรรมอย่างกลมกลืนจนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าอะไรคือเรื่องทางโลกอะไรคือเรื่องทางธรรม
ก็ไม่รู้สินะ มันอาจจะเป็นความทันสมัยกระมัง
พระรูปหนึ่งท่านเคยบอกกับผมว่า “คนในสังคมเป็นอย่างไร พระท่านก็เป็นอย่างนั้นแหละโยม”
อย่างไรก็ดี ก็มีหลายครั้งที่ผมมีโอกาสเจอพระบางท่านที่คุยอะไรกับเราด้วยภาษาง่ายๆ ด้วยเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกฉลาดทันโลกอะไรมากมาย แต่เพียงแค่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ สุดท้าย ผมลองถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ ว่า เวลาเข้าวัดแล้วก็อยากได้อะไร คำตอบก็คือ ชอบเจอกับพระที่คุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ ...เอาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวพอ