xs
xsm
sm
md
lg

คิดก่อนคลิก : Blog Blocked Box

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

ขึ้นปีใหม่ทั้งที ขอเริ่มต้นปีนี้ด้วยเรื่องราวที่จะว่าหนักก็หนัก จะว่าไม่หนักก็ไม่หนักครับ ทุกวันนี้ การใช้เทคโนโลยีทันสมัยทั้งโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แทปเล็ท คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในการทำมาหากิน และประกอบธุรกิจ บางคนใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งในแต่ละวันอยู่กับเครื่องมือเหล่านี้

ในรอบปีที่ผ่านมา มีข่าวคราวมากมายเกี่ยวกับการกระทำผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ มีคนโพสต์ส่งข้อความมาทางเฟสบุ๊ค การกดไลค์ กดแชร์ จำนวนมาก ที่ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายตามมา

พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เริ่มใช้มาตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ใช้มา 8 ปี แล้วครับ ในขณะที่เทคโนโลยี่ก้าวหน้าไปเร็วมาก จำนวนผู้คนที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ขยายกว้างไกลไปอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาขึ้นมากมาย จนมีการเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยมาก หลายประเด็นเกี่ยวข้องกับพรบ.ลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการแก้ไขใหม่ในปี เมื่อปี 2558 นี้เอง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกโซเชียลมีเดีย และครอบคลุมไปถึงเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย
ในพรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุความผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ ไว้หลายกรณี ในมาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14

กฎหมายกำหนดโทษของ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การพยายามเอาผิดผู้ให้บริการซึ่งถือเป็น “ตัวกลาง” ในการสื่อสาร คำว่าผู้ให้บริการก็ตีความได้อย่างกว้างขวาง คือแทบจะทุกขั้นตอนที่มีความเกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ล้วนเป็น ผู้ให้บริการทั้งสิ้น

มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูล คอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิด ตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือ บุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

การคัดลอกไฟล์ การแชร์ภาพถ่ายรูปภาพต่างๆต้องมีการใส่เครดิตแหล่งที่มาของภาพนั้นๆ และห้ามการนำไปดัดแปลงตัดต่อ ไม่งั้นก็สามารถฟ้องร้องกันได้ครับ ยิ่งถ้าเอาภาพของไปใช้เพื่อการค้าขาย ยิ่งอาจจะเจอฟ้องหนักกว่าเดิมครับ ต้องคิดไว้ในใจเสมอว่าภาพทุกภาพมีลิขสิทธิ์ แต่ก็อย่างว่าละครับยังไงเรื่องมันจะยิ่งยากหากมีการนำภาพไปใช้หาเงินเข้ากระเป๋า

การแชร์ข้อความต่างๆหากพาดพิงถึงใคร หรือเป็นข้อความชวนเชื่อได้ว่าหมายถึงบุคคลคนนั้นแล้วละก็สามารถมีการฟ้องหมิ่นประมาทกันได้ครับ หรือพูดง่ายๆว่าเราจะเขียนหรือโพสต์อะไรถึงใครหากทำให้คนอื่นไม่พอใจก็ฟ้องกันได้ครับ ในกรณีนี้หมายถึงข้อความ บทความต่างๆด้วยนะครับ เช่นเหล่าบล็อกเกอร์ต่างๆที่ชอบเขียนบทความลงบล็อกตามเว็บไซต์ต่างๆด้วยนะครับไม่ใช่แค่เพียงสเตตัสในเฟสบุ๊คคอมเม้นท์ต่างๆหรือข้อความทางทวิตเตอร์

การแชร์ข้อความต่างๆที่ไม่เหมาะสม อาจจะมีการตีความอย่างที่ตำรวจเคยออกมาแถลงกรณีการแชร์ผังอุทยานราชภักดิ์ คือการแชร์แบบนี้อยู่ที่เจตนาและอยู่ที่เนื้อหาของการแชร์ครับ ว่าแชร์ด้วยเจตนาอะไร ต้องดูที่เจตนาละครับ
นอกจากนี้ก่อนหน้านี้ไม่นานก็ตำรวจยังออกมาพูดถึงขั้นว่าคนกดไลค์ก็อาจจะมีความผิดไปด้วย ซึ่งผมว่าข้อนี้คงวุ่นวายและซับซ้อนมากไปหน่อย ตำรวจคงจับไม่ได้หรอกครับคงได้แค่ขู่

การบล็อคเว็บไซต์ต่างๆนั้น จริงกระทรวงไอซีทีทำได้ครับ และทำเยอะมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่มักทำกับพวกเว็บโป๊ เว็บการพนันออนไลน์ แต่ที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไรคือการบล็อคเว็บหมิ่นสถาบัน หรือลบเหล่าคลิปหมิ่นต่างๆที่มีอยู่เต็มไปหมดบนโลกออนไลน์ แถมหลายคนที่ทำเรื่องเหล่านี้ก็ออกมาเปิดหน้าเดินเกมกันอย่างชัดเจน บางคนยังลอยหน้าลอยตามีบทบาทในวงการสื่อ วงการการเมืองกันอยู่เลย

การบล็อคเว็บไซต์ต่างๆที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ควรรีบดำเนินการ แต่ในขณะเดียวกันการทำงานแบบนี้ต้องทำอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพด้วย ไม่งั้นก็จะเสียเวลาเปล่าๆ โดยไม่ได้อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน

การล้อมกรอบควบคุมการใช้กฎหมายอย่างถูกต้องเต็มกำลังเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ไม่ควรใช้อำนาจในมือในการกลั่นแกล้งชาวบ้าน ดูที่เจตนา ดูที่ความสำคัญด้วยว่าสามารถทำได้แค่ไหนและอะไรควรทำไม่ควรทำ

ดู รายละเอียด พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558 ได้ที่
http://www.servertoday.com/docs/Computer_Crimes_Act_B.E._2550_Thai.pdf
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law6-050258-7.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น