ปธ.กรธ.แถลงร่าง รธน.เบื้องต้น เน้นปราบโกง สกัดคนชั่วสู่การเมือง บังคับ ครม.มีหน้าที่ไม่ทำขัด รธน. ไร้อำนาจ คปป.ซุกกลไกอื่น รับกัน คสช.จุ้นองค์กรอิสระที่ตั้งยุครัฐประหารไม่ได้ ให้ คกก.ทุกชุดของ คสช.ทำงานต่อ ครม.ใหม่ยกเลิกไม่ได้หากไม่ทำผิด ชุมนุมต้องยึด กม.ปัดสกัด ยืดหยุ่นขยายเวลาร่าง กม.ลูกไม่ให้กระทบโรดแมป รับจนปัญญาปรองดอง ไม่ผ่านประชามติกลับไปเริ่มใหม่ ไม่หยิบฉบับใดมาใช้
วันนี้ (29 ม.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นหลังใช้เวลาในการร่าง 77 วันมี 270 มาตรารวมบทเฉพาะกาล โดยมีการรับฟังความคิดเห็นทั้ง ครม., คสช., สปท. และ สนช.ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 มาตรา 35 ทั้ง 10 ประการ ที่กำหนดไว้และรับฟังทุกฝ่ายโดยไม่จำกัดเวลารวมทั้งให้ทาง นิด้า สำรวจความเห็นประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย
นายมีชัยกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีกลไกป้องกันการทุจริต ป้องกันไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่อำนาจจึงทำให้นักการเมืองไม่พอใจแต่ต้องให้บ้านเมืองบริหารด้วยความสุจริตและมีการตรวจสอบตามสมควร ดังนั้นจึงเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังและเพื่อให้การเมืองไม่ใช่เป็นที่ฟอกตัวของคนที่เคยทำผิด จึงใช้หลักเดียวกับหลักที่ใช้กับผู้ใหญ่บ้าน ใครทำผิดบางอย่างที่น่ารุนแรงศาลตัดสินว่ามีความผิดไม่ว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ ได้รับการล้างมลทินหรือไม่ คนเหล่านั้นจะกลับมาเป็น ส.ส.ไม่ได้ โดยกำหนดความผิด เช่น เจ้ามือพนัน ค้ายาเสพติด ฟอกเงิน หรือฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เข้าสู่การเมืองไม่ได้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว57 ยังอยู่ แม้ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบนี้
“เรากำหนดหน้าที่ ครม.ไว้ว่าในการบริหารราชการแผ่นดินต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย ใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข ซึ่ง สตง.จะเป็นผู้ดูแล เราเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระให้สูงขึ้นและมักพูดกันว่าองค์กรเหล่านั้นไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ความจริงไม่ได้เพิ่มอำนาจจากที่เคยมีอยู่ เพียงแต่กำหนดกระบวนการไว้ให้ชัดเจนว่าอย่างไรเป็นเรื่องทุจริต อะไรไม่สมควรทำก่อความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือมาตรฐานจริยธรรมก็จะกำหนดให้ชัดเจนว่าอย่างไหนฝ่าฝืนถือเป็นเรื่องร้ายแรงและกำหนดเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามเพื่อไม่ให้เข้าสู่การเมือง หรือถ้าเข้ามาแล้วทำก็ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติเหมือนกับตายหรือล้มละลาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน” นายมีชัยกล่าว
ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่า องค์กรอิสระไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับประชาชนเพราะต้องมีความเป็นอิสระ มีแต่ประเทศคอมมิวนิสต์ที่ตั้งศาลประชาชนแต่ประเทศอื่นไม่มีจึงเป็นกลไกปกติที่สากลใช้ เพราะเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้ง ส.ส.
นอกจากนี้ ยังเพิ่มคุณสมบัติของบุคลากรที่จะทำหน้าที่องค์กรอิสระ และมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน สำหรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนกำหนดว่าอะไรที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่ห้ามประชาชนมีสิทธิทำได้ และเขียนด้วยว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนต้องไม่ขัดเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ให้เป็นภาระจนทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ยากและยังยกเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนในส่วนสำคัญที่ไม่ควรให้ประชาชนไปตะเกียกตะกายเรียกหาสิทธิเหล่านั้นไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐแทน เช่น รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน มีหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ประชาชนแค่รับบริการเท่านั้น
สำหรับกลไกการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปก็เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังไม่ใช่แค่ตอนลงคะแนนเท่านั้น การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วน ประกาศรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนรู้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรู้ข้อมูลล่วงหน้าอย่างถูกต้อง การจัดให้มีวุฒิสภาเลือกทางอ้อมเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถึงใจกลางอำนาจอย่างแท้จริงด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาพรรคการเมืองและนายทุน
อย่างไรก็ตาม ร่างนี้ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่เพราะยังต้องฟังความเห็นประชาชนเพื่อปรับแก้ให้สอดคล้องต้องกันตามเหตุผล แต่ไม่ใช่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยต้องบอกเหตุผลด้วยว่าจะให้แก้อย่างไรเพราะอะไรเพื่อให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เนื่องจากใช้กับประชาชนทั่วประเทศและเพื่อผลในอนาคตมุ่งประโยชน์ส่วนรวมจึงพร้อมรับฟังและแก้ไข
นายมีชัย ยืนยันด้วยว่า สิทธิเสรีภาพของปชช. การชุมนุม จะเป็นการคุ้มครองเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งวางเงือนไขจำกัดได้เฉพาะบางเรื่องเท่านั้น เช่นความปลอดภัยสาธรณะ สนามบิน คุ้มครองสิทธิคนอื่น ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเพื่อแสดงความไม่ไว้วางใจการบริหารของรัฐบาลแม้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังใช้เป็นมาตรฐานดำเนินการได้หรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้เพราะคำวินิจฉัยขึ้นอยู่กับเหตุการณ์แต่ละครั้งซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่แตกต่างจากเดิมและไม่เป็นการจำกัดทำให้การชุมนุมของประชาชนยากขึ้น
เมื่อถามว่าการคุ้มครองบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดย คสช.จะมีผลทำให้คนเหล่านี้ถูกแทรกแซงโดย คสช.ในภายหลังหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องถูกแทรกแซงหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหารัฐธรรมนูญ และยังไม่ทราบว่าคนเหล่านี้จะทำงานต่อไปหรือไม่เพราะต้องรอดูกฎหมายลูกที่จะออกมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับยืนยันว่าการวางระบบที่ให้อำนาจกับองค์กรอิสระและให้คณะกรรมการที่ตั้งโดย คสช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ใช่เป็นการสร้างอำนาจซ้อนทับอำนาจเพราะ รัฐบาลใหม่สามารถยกเลิกคณะกรรมการเหล่านั้นได้แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย
ส่วนกรณีที่ให้อำนาจ คสช.ใช้มาตรา 44 ได้ในช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วนั้นไม่ถือว่ามีรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ เพราะให้อำนาจไว้เพื่อให้มีเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่ยังอยู่ภายใต้บทบังคับของรัฐธรรมนูญใหม่ คือจะอยู่ในฐานะลูกของรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถถ่ายเทอำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่มีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ไปที่คณะกรรมการที่เกิดจากคำสั่งตามมาตรา 44 ได้ แต่อาจมีอำนาจในการควบคุมองค์กรอื่นได้
“ถ้ามีผลบังคับใช้ คสช.ยังคงอยู่เหนือทุกองค์กรทุกหน่วยงานแต่ไม่ใช่ คปป.เป็นอำนาจเดิมที่เขามีอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินว่า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 กับองค์กรอิสระ แต่ที่จำเป็นต้องให้อำนาจไว้ก็เหมือนให้เอาปากกาเข้ามาด้วย ไม่อย่างนั้นจะจดอย่างไร เพราะมันเกิดมาจากการปฏิวัติ เมื่อยังไม่สำเร็จ ยังต้องให้เครื่องมือเข้าไว้ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มา คสช.ก็หมด ใช้อยู่เหมือนสภาพปัจจุบันเท่านั้น ไม่รุกล้ำเกินกว่ารัฐบาลใหม่เข้ามา ถ้าคิดว่ามีปัญหาจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ได้” นายมีชัยกล่าว
ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังกล่าวด้วยว่า การขยายเวลาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกไปอีกสามเดือนนั้นหากติดใจกันมากอาจจะนำมาพิจารณาใหม่ โดยเร่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มีผลบังคับใช้ก่อนก็สามารถที่จะเลือกตั้งได้ตามกำหนดโดยไม่กระทบกับโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ และไม่มีการห้าม คสช.เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องการปรองดองทางคณะกรรมการยอมรับว่าจนปัญญาที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติก็ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ไม่มีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทน
คลิกอ่าน ร่างเบื้องต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ