xs
xsm
sm
md
lg

“ชีทแดง” ม.รามคำแหง ที่ไม่ใช่แค่เอาไม่อยู่?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมหายไปจากการจัดรายการ “ข่าวเด็ดแมเนเจอร์” ทางช่อง NEWS1 ถึง 2 วันติดกัน เพราะต้องลางานไปสอบไล่ภาคที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เวลานี้กำลังเรียนปริญญาตรีอีกใบหนึ่ง สมัครเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ แผนวิชาบริหารรัฐกิจ (แผน C) โดยเทียบโอนหน่วยกิตจากปริญญาใบแรกส่วนหนึ่ง

เหตุผลที่สมัครเรียนไม่ใช่เพราะคิดว่าตัวเองเก่ง แต่รู้สึกว่าตัวเองยังใช้ชีวิตวัยรุ่น ชีวิตนักศึกษาไม่เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาจะเข้ามาที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็มีเพียงแค่มาสอบคนเดียวเท่านั้น

กระทั่งได้มารู้จักเพื่อนที่เรียนคณะรัฐศาสตร์กลุ่มใหญ่ จึงเกิดความผูกพันขึ้นมา เลยมีความรู้สึกว่า อยากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นเด็กรามฯ ที่มีเพื่อนเรียน และมีคนเรียนเป็นเพื่อนให้ลึกซึ้งกว่านี้

ตราบใดที่ตัวเองยังไม่แก่ ก็ควรที่จะทำตัวให้ยังหนุ่มอยู่เสมอ

จริงๆ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เรียนปริญญาตรีใบที่สอง เพื่อนผมอีกคนหนึ่งที่จบรัฐศาสตร์ แผนวิชาการปกครอง (แผน A) ก็เรียนภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจอีกเล่ม โดยตั้งใจว่าจะไปเป็นผู้สอบบัญชี

วันไหนที่สอบวันเดียวกัน ก็ยังมานั่งอ่านหนังสือเป็นเพื่อน ยังบ่นอยู่เลยว่าข้อสอบยากเพราะต้องคำนวณ ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้มีเพียงแค่เราคนเดียว อย่างน้อยๆ ก็มีเพื่อนที่เรียนปริญญาตรีใบที่สองด้วยกัน

มีคำถามตามมาอีกว่า ทำไมไม่เรียนปริญญาโท ...

เหตุผลเดียวสั้นๆ คือ เงินไม่พร้อม ค่าเทอมที่นี่อย่างต่ำๆ หลักแสนบาท แม้จะแบ่งจ่ายออกเป็นงวดๆ ก็ตาม แต่เห็นเพื่อนไปเรียนแล้วจ่ายค่าเทอมงวดละ 2-3 หมื่นบาท ทั้งๆ ที่รายได้ต่อเดือนก็ไม่ได้สูงมาก เห็นแล้วก็รู้สึกเหนื่อยแทน

เพราะฉะนั้น การเรียนปริญญาตรีใบที่สอง ตราบใดที่ตัวเองยังไหวก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ยิ่งช่วงนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังจะเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ช่วงกลางเดือนนี้ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานแล้วได้ศึกษาเพิ่มเติมหรือเรียนปริญญาใบที่สอง

โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้มากขึ้น เช่น คณะรัฐศาสตร์ ปกติเรียนตลอดหลักสูตร 145 หน่วยกิต สามารถเทียบโอนหน่วยกิตละ 50 บาท ได้สูงสุดถึง 82 หน่วยกิต

และหากใครเคยผ่านวิชาโทรัฐศาสตร์ (PS, PA หรือ POL) ยังสามารถเทียบโอนได้อีกเพื่อให้เหลือวิชาเรียนน้อยลง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอื่นก็สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้เช่นกัน หน่วยกิตละ 100 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคณะ โดยในขั้นตอนการสมัครจะมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละคณะคอยให้คำปรึกษา

แต่อย่าเพิ่งถามว่าจะจบเมื่อไหร่ ตราบใดที่อะไรๆ มันยังไม่แน่นอน ยังไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้าตัวเองจะไปรอดไหม เพราะเทอมหน้าต้องสอบวิชาอัตนัย ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากกว่า

มีอยู่คำพูดหนึ่งที่เป็นหลักคิดในการใช้ชีวิตมาโดยตลอด มาจากหนังสือการ์ตูนรวมเล่มที่มีชื่อว่า BUG ของนามปากกา “แมลงปีศาจ” เคยกล่าวเอาไว้ว่า

"ห้ามเล่าสิ่งที่กำลังจะทำให้ใครฟัง จนกว่าจะทำเกือบเสร็จแล้ว"

เพราะฉะนั้นจะเรียนจบเมื่อไหร่ จบรุ่นที่เท่าไหร่ จึงเป็นเรื่องของอนาคต และต้องบอกตามตรงว่า เรียนปริญญาตรีอีกเล่มนี่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปรอดหรือเปล่าเลย ...

OOO

เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แตกต่างไปจากที่อื่น ตรงที่มีลักษณะเป็น “ตลาดวิชา” คือ เปิดรับสมัครนักศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือก

แม้จะมีการจัดการเรียนการสอน แต่ก็ไม่บังคับให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียน จะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ โดยถือว่าผู้ที่เข้าชั้นเรียนและไม่เข้าชั้นเรียน ก็มีสิทธิ์ในการสอบไล่ได้เหมือนกัน

และเมื่อนักศึกษาไม่ได้เข้าชั้นเรียน ก็ต้องอาศัยตัวช่วยเพื่อให้ตัวเองสอบผ่านแต่ละวิชา โดยมีเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งตำราเรียน เอกสารประกอบการสอน ซึ่งจำหน่ายที่คณะ หรือจะเป็นวีดีโอบันทึกการเรียนการสอนของแต่ละวิชา

แต่เครื่องมือที่นักศึกษาในสาขาวิชายอดนิยมมักใช้ในช่วงสอบก็คือ “ชีทแดง” เอกสารแนวข้อสอบที่ชมรมจากภายนอกมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น พิมพ์ด้วยกระดาษถ่ายเอกสาร ประกอบด้วยข้อสอบ และคำอธิบายแต่ละคำตอบโดยละเอียด

ชีทแดงที่ได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษามากที่สุดมาจาก “ชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์” ซึ่งพิมพ์ด้วยปกสีแดง (เป็นที่มาของคำว่าชีทแดง) ผลิตออกมาครอบคลุมหลายวิชา ส่วนมากจะเป็นข้อสอบแบบปรนัย เลือกคำตอบจากตัวเลือก

นอกจากชีทแดงแล้ว “เอกสารสรุป” ปกสีน้ำเงินก็เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาเช่นเดียวกัน เพราะเห็นว่าหนังสือตำราเรียนนั้นมีเนื้อหามากเกินไป เหมาะสำหรับนักศึกษาที่ไม่มีเวลาเข้าฟังคำบรรยาย หรือมีเวลาเตรียมตัวสอบน้อย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเอกสารประกอบการเรียนซึ่งเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากมีเนื้อหาสลับซับซ้อน เช่น สำนักพิมพ์นิติสาสน์ (ลุงชาวใต้) ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์

แม้ว่าการอ่านชีทแดงก่อนสอบจะได้รับความนิยม แต่ก็มีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะที่มาของข้อสอบเก่านั้นเอามาจากไหน เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษานำข้อสอบออกจากห้องสอบ เว้นแต่วิชาอัตนัยบางวิชา

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยออกมาปฏิเสธการเผยแพร่ข้อสอบเก่า เพราะกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยห้ามนำข้อสอบออกนอกพื้นที่ ส่วนข้อสอบที่นำมาเผยแพร่ให้นักศึกษาซื้อไปอ่านนั้นไม่ทราบว่าตั้งแต่สมัยใดแล้ว

ช่องโหว่ที่ทำให้ชีทแดงเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา มาจากการที่ข้อสอบที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำถาม หรือคำตอบ หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ทำให้กลายเป็นว่าแค่อ่านชีทแดง ดูแนวข้อสอบอย่างเดียวก็สอบผ่านได้

ปัญหานี้อาจารย์ผู้สอนหลายคนต่างก็มองเห็นมาตลอด กังวลว่านักศึกษาที่จบออกมาจะกลายเป็นบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากเรียนรู้แบบผิดๆ โดยการท่องจำข้อสอบ มากกว่าความรู้ความสามารถที่ได้จากการเรียน

ในระยะหลังๆ ทางมหาวิทยาลัยและอาจารย์ผู้สอนพยายามแก้ปัญหา เช่น คณะรัฐศาสตร์ได้เปลี่ยนการออกข้อสอบวิชาเอกเลือก เป็นอัตนัยทั้งหมดเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา และคณะสื่อสารมวลชนก็เริ่มทยอยเปลี่ยนในบางวิชาเช่นกัน

เพราะฉะนั้น วิชาที่ออกข้อสอบแบบปรนัย ซึ่งเป็นวิชาที่นักศึกษานิยมใช้ชีทแดงเป็นเครื่องมือมากที่สุด ก็จะเป็นวิชาศึกษาทั่วไป วิชาแกน หรือวิชาเอกบังคับบางวิชาเท่านั้น

กลายเป็นคำถามยอดฮิตในช่วงสอบว่า “วิชานี้ ชีทแดงเอาอยู่ไหม?”

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปสอบวิชาแกน และวิชาเอกบังคับมา 7 เล่ม พบว่าจะมีอยู่ 3-4 วิชาที่อาจารย์ผู้สอนพยายามออกข้อสอบไม่ให้ซ้ำกับเนื้อหาในชีทแดงมากที่สุด โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่ไม่มีอยู่ในชีทแดง แต่มีอยู่ในคำบรรยาย

บางวิชาจะมีบางคำถามที่เน้นอิงกับสถานการณ์บ้านเมือง และสถานการณ์โลกในปัจจุบันมากที่สุด เช่น การต่อต้าน Single Gateway, รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2015 หรือนายกรัฐมนตรีกล่าวอะไรในการประชุมยูเอ็นครั้งที่ 70 ฯลฯ

บางวิชาแม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่ก็เปลี่ยนวิธีการออกข้อสอบ เช่น มีคำตอบอยู่ 5 ตัวเลือก แต่โจทย์ที่ออกมาให้ดูว่าตรงกับคำตอบข้อไหน หรือมีโจทย์แล้วให้เลือกคำตอบระหว่าง ถูก กับ ผิด

ถ้าถามความรู้สึกมั่นใจว่าทำได้ไหม บางวิชาถ้าเตรียมตัวมาดี คิดว่าทำเท่าที่ทำได้ก็ดูเหมือนง่าย นอกเสียจากว่า ถ้าคิดจะเอาเกรด A กับวิชานี้ มันจะดูยากและเครียดทันที แต่ด้วยความที่ผ่านตรงจุดนั้นมาแล้วเลยไม่คาดหวังอะไรมาก

แต่สำหรับบางวิชาที่เห็นว่าชีทแดงเอาไม่อยู่ แม้จะซื้อเอกสารประกอบการสอนจากคณะมาอ่านควบคู่กันไปด้วย แต่ก็คิดว่า ยังต้องลุ้นอีกว่าจะผ่านหรือไม่

ทำไปทำมา วิชาที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้การคิดวิเคราะห์อย่างแท้จริง ก็คงจะเป็นวิชาเอกเลือก ที่ออกข้อสอบแบบอัตนัย หรือสอบข้อเขียนนั่นเอง

ข้อสอบแบบข้อเขียนเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจเฉพาะบุคคล ไม่อาจอาศัยชีทแดงได้เพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยทั้งการอ่านเอกสารประกอบการเรียน การฟังคำบรรยาย แม้กระทั่งการคิดวิเคราะห์ หรือจากประสบการณ์ส่วนตัว

นึกถึงตอนที่เรียนปริญญาตรีใบแรก เจอวิชาข้อเขียนเหมือนกัน ในตอนนั้นแม้จะซื้อชีทแดงมาอ่าน พร้อมกับเอกสารประกอบการเรียน ที่ซื้อมาจากร้านถ่ายเอกสารของคณะ แต่เมื่อสอบแล้วก็พบว่า เราพึ่งชีทแดงในวิชาแบบนี้ได้น้อยมาก

สุดท้ายแล้วต้องอาศัยความเข้าใจในเนื้อหาล้วนๆ จึงจะทำข้อสอบแบบข้อเขียนออกมาได้

OOO

โดยส่วนตัวผมมองว่า หากไม่นับการได้มาซึ่งข้อสอบเก่าว่าเอามาจากไหน ที่ผ่านมาเวลาเราเดินเข้าร้านหนังสือ เราจะได้เห็นบรรดาแนวข้อสอบตั้งแต่สอบเข้าโรงเรียนมัธยม สอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบเข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เต็มไปหมด

มันจะไม่เกิดเรื่องดรามาในมหาวิทยาลัยขึ้นมาเลย ถ้าชีทแดงจะเป็นเพียงแค่แนวข้อสอบที่ใช้อ่านประกอบการเรียน โดยไม่ได้ระบุที่หน้าชีทว่า “เฉลยข้อสอบภาคล่าสุด” ที่เป็นคำถามว่าข้อสอบออกจากมหาวิทยาลัยได้อย่างไร

แม้จะสงสัยว่าข้อสอบที่เอามาพิมพ์เป็นชีทแดงนั้นมาจากไหน ได้มาโดยสุจริตหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของนักศึกษาโดยตรง หรือหากผิดก็เหมือนกับไปสนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยต้องไปแก้ปัญหากันเอาเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อนักศึกษาต่างก็พึ่งพาชีทแดงแล้ว ทำอย่างไรถึงจะให้นักศึกษาส่วนใหญ่เปลี่ยนทัศนคติ วิธีการออกข้อสอบโดยให้โจทย์และคำตอบที่แตกต่าง ไม่ซ้ำกับชีทแดงที่วางจำหน่าย เป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา

หรือในอนาคตอาจจะเห็นวิธีตัดไม้ข่มหนาม ด้วยการเปลี่ยนข้อสอบจากแบบปรนัย มาเป็นอัตนัยมากขึ้น เฉกเช่นในคณะยอดนิยมอย่างรัฐศาสตร์ ที่เปลี่ยนวิชาเอกเลือกแบบยกแผน หรือสื่อสารมวลชนที่เริ่มทยอยเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้

น่าคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับนักศึกษารุ่นหลังๆ หากต้องบีบให้คนที่ไม่มีเวลาเข้าฟังคำบรรยาย หรือมีเวลาเตรียมตัวสอบน้อยไปเข้าหาติวเตอร์ เสียค่าใช้จ่ายเริ่มต้นหลักพันบาทต่อวิชา กลายเป็นว่าแพงกว่าค่าชีทแดงรวมกันทั้งเทอมเสียอีก

การแก้ปัญหาเรื่องชีทแดง นอกจากจะต้องปรับทัศนคตินักศึกษาแล้ว การสร้างช่องทางให้นักศึกษาเข้าถึงเนื้อหาก็เป็นสิ่งสำคัญ ทุกวันนี้วีดีโอคำบรรยายย้อนหลัง ยังมีปัญหาภาพไม่ชัด วิดีโอขัดข้อง ดูไม่ได้ โหลดช้า และสะดุดบ่อยครั้ง

เคยเห็น อ.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์กลุ่มวิชาการปกครอง โพสต์เฟซบุ๊กในช่วงเปิดเทอม มองว่าการอ่านชีทแดงเป็นความมักง่ายของนักศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะมุ่งแต่จะอ่านชีทแดง ท่องข้อสอบ ชีทเจาะเกราะเพื่อให้สอบผ่าน โดยไม่สนใจการพัฒนาสติปัญญาและทักษะของผู้เรียน

ที่ผ่านมาได้รับเรื่องราวจากบรรดาผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาขั้นสูงว่า บัณฑิตที่จบออกมา ไม่สามารถร่างหนังสือ เขียนหนังสือ หรือเขียนรายงานในการทำงานได้ เนื่องจากวิธีการเรียนที่ผิดๆ

การอ่านเพียงแค่ชีทสรุปและแนวข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจมีการตัดทอนรายละเอียดบางอย่างออกไป ทำให้ฐานความรู้จากวิชาพื้นฐานไม่แน่นพอ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว โดยเฉพาะกับการเรียนในรายวิชาที่สูงขึ้นไป

อาจารย์แนะนำว่าให้ศึกษาทั้งหนังสือ เอกสารประกอบการสอน การฟังบรรยาย ชีทสรุป และชีทแนวข้อสอบทั้งหมด นอกจากนั้นควรหาความรู้เพิ่มเติมจากตำราของมหาวิทยาลัยอื่น หรือสำนักพิมพ์อื่นมาอ่านประกอบเพื่อเพิ่มความรู้

ส่วนคนที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อาจารย์มองว่าอย่าใช้คำว่า “ไม่มีเวลา” หรือ “ต้องทำงาน” เป็นข้ออ้างที่จะมักง่ายในการเรียน ยิ่งต้องตระหนักถึงความพยายามในการยกระดับความรู้และสติปัญญาด้วยการทำงานหนักกว่า

โดยแนะนำว่า อาจจะลดจำนวนวิชาในการลงทะเบียนลง หรือขยายเวลาในการจบการศึกษาออกไป เน้นไปที่ความรู้ความสามารถ สติปัญญาที่ได้จากการเรียน มากกว่าจำนวนวิชาหรือหน่วยกิตเยอะๆ จนสับสน ไม่มีเวลาเตรียมตัวที่เพียงพอ

ในโอกาสของการเริ่มต้นเปิดภาคการศึกษา ผมขอฝากข้อคิดเรื่องการเรียนกับทั้งนักศึกษาใหม่และนักศึกษาปัจจุบันดังนี้ครับ1.เรื่...

Posted by Phermsak Chariamphan on Sunday, July 12, 2015


ส่วนเพื่อนที่จบรัฐศาสตร์รุ่นก่อนหน้านี้ ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ข้อสอบไม่ตรงชีทแดงมันเป็นประโยชน์อยู่ดี แค่รู้จักใช้ ไม่ตกเป็นทาส แล้วถ้าคนอ่านไม่แค่อ่านคำถามแล้วจำคำตอบ ก็ให้อ่านคำบรรยายด้านล่างดูบ้าง

เพราะข้อสอบปรนัยมันก็ก็วนไปวนมา อ่านหลายเทอมก็จับจุดถูก อันไหนไม่เข้าใจก็ไปเปิดหนังสือเพิ่ม หน้าอ้างอิงก็มีให้ไปหาอ่านเพื่อขยายความ ซึ่งจะมีการระบุว่ามาจากตำราฉบับไหน

โดยส่วนตัวมีความเชื่ออยู่เสมอว่า ชีทแดงไม่ใช่ทุกอย่างในการเรียนรามคำแหง ตราบใดที่เราต้องเจอวิชายากๆ ที่ไม่มีชีทแดงวางขาย หรือบางวิชาการอ่านชีทแดงเพียงอย่างเดียวคงช่วยอะไรไม่ได้

ถึงตอนนั้นโดยธรรมชาติแล้ว นักศึกษาก็จะมีแรงผลักดันให้ต้องศึกษาวิชานั้นๆ เพิ่มเติม และท้ายที่สุดหากผ่านจุดนี้มาได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการเรียน จากความพยายามของเราเหมือนกัน

สมัยนี้ไม่มีใครอ่านชีทแดงเพียงอย่างเดียวแล้วเรียนจบหรอก ไม่เช่นนั้นอาจารย์คงไม่หาทางออกข้อสอบอัตนัย หรือปรนัยให้แตกต่างจากชีทแดง แล้วได้ยินเสียงนักศึกษาบ่นทุกเทอมว่า “เอาไม่อยู่” เฉกเช่นทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจารย์ได้แนะนำให้เราหันมาใส่ใจกับการเรียนอย่างมีคุณภาพ มากกว่าพึ่งพาชีทแดงเป็นหลัก ก็เป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนควรรับฟังและนำไปปฏิบัติ หากต้องการที่จะเรียนเพื่อหาความรู้ มากกว่ามุ่งเน้นที่จะคว้าใบปริญญาบัตรเพียงอย่างเดียว

แม้จนถึงขณะนี้เราจะเห็นนักศึกษารามคำแหง ยังคงที่จะพึ่งพาชีทแดงในช่วงสอบเป็นหลักก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น