xs
xsm
sm
md
lg

อ่านซะ! คนใจดำ ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย มีโทษปรับ 1,000 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยอยู่ในสังคมที่เสี่ยงภัยเหลือเกินกับการเป็น "คนเดินถนน" โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ทำให้ทางม้าลายกลายเป็นแค่รอยสีที่หกเลอะพื้นถนนเป็นคราบสี่เหลี่ยมสีขาวเพียงเท่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของทางคนข้ามแทบจะหาไม่ได้ในบ้านเมืองนี้

นอกจากนั้น ทางม้าลายยังกลายเป็นทางคนข้ามที่สร้างความรู้สึกน่ารำคาญให้แก่ผู้ใช้รถ ผิดกับประเทศอื่นๆ อย่างซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย หรือหลายประเทศที่มักจะชะลอความเร็วในทุกทางม้าลาย สะท้อนให้เห็นสำนึกของคน และชวนให้ย้อนกลับมามองดูสำนึกของผู้ใช้รถในประเทศไทย (บางคน)

หากใครยังจำข่าวครีเอทีฟสาวถูกรถบรรทุกชนเสียชีวิตคาที่ ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายหน้าตึกแกรมมี่ ย่านอโศกกันได้ คงจะหมดศรัทธากับทางม้าลายกันไประยะหนึ่ง แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาตื่นตัวเพื่อหยุดโศกนาฏกรรมบนทางม้าลายในครั้งนั้น โดยเฉพาะมาตรการตีเส้นซิกแซ็กเพื่อเตือนทางม้าลาย


แต่ก็ถูกตั้งคำถามกลับมาว่าหากคนขับไม่เคารพทางม้าลาย แล้วเส้นซิกแซ็กจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ปัญหานี้อยู่ที่คนมองไม่เห็นทางม้าลาย หรืออยู่ที่จิตสำนึกของคนขับที่ไม่ได้ตั้งใจจะหยุดรถตั้งแต่แรกกันแน่ ขนาดบางคนระวังอย่างถ้วนถี่แล้วก็ยังเสี่ยงอันตรายอยู่ดี


เมื่อความไม่ปลอดภัยของทางม้าลาย และจิตสำนึกของผู้ใช้รถ (บางคน) ถูกตั้งคำถาม การรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามทางจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยกระตุกต่อม "สำนึก" ของผู้ใช้รถให้ทำงานได้ดีขึ้น เห็นได้จากโครงการ Stop For Step หยุดสักนิด เพื่อชีวิตของคนข้ามถนน ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ให้รถหยุดตรงทางข้ามให้คนข้าม และคนเดินเท้าข้ามถนนตรงทางข้าม เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และผู้อื่น


สำหรับโครงการนี้ จัดทำโดย นิสิตคณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ที่ใช้ชื่อทีมว่า On The Road ซึ่งเป็นแคมเปญจากการประกวดโครงการ Toyota Campus Challenge 2015 มีจุดประสงค์ให้นิสิตทำการรณรงค์ให้ลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนภายในมหาวิทยาลัย


คลิป 1 นาทีนี้ ที่จะทำให้ชีวิตการขับขี่คุณเปลี่ยนไปตลอดกาล..."หยุดรถบริเวณทางข้าม" และ "ข้ามถนนตรงทางข้าม"https://youtu.be/ztuyTNqbOWI#stopforstep #toyotacampuschallenge

Posted by Stop For Step on Sunday, November 1, 2015


หนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ที่ถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือ คลิปวิดีโอที่มีชื่อว่า "1 นาที ที่จะทำให้การขับขี่คุณเปลี่ยนไป" เพื่อฉายภาพความอันตรายจากเหตุการณ์จริงจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมบนทางม้าลายที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คนเดินถนนในเมืองกรุงยังคงต้องเข้าใกล้ความตายอยู่ทุกวี่วัน


เช่นเดียวกับนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดโครงการรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย (เป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายของโครงการนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต (ท่าพระจันทร์) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษา 1/2558) เพื่อสร้างจิตสำนึกของผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ให้เคารพกฎหมาย และหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย โดยมีป้ายรณรงค์ "ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ผิดกฎหมาย โทษปรับ 1,000 บาท"


สอดรับกับพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ระบุไว้ชัดเจน กรณีที่ผู้ใช้รถไม่จอดหรือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายว่ามีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 21


"ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงให้ทราบ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร ให้อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีรูปตัวอย่างแสดงไว้ในประกาศด้วย"


ส่วนโทษ มีการกำหนดไว้ตามมาตรา 152 "ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท" เพราะทางม้าลายนับเป็นเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง แถมยังมีความผิดมาตรา 70 (ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ) ด้วย


นอกจากนั้นมีการระบุด้วยว่า ห้ามจอดรถทับทางม้าลายหรือในระยะ 3 เมตร ผิดตามมาตรา 57 ลงโทษตามมาตรา 148 ปรับไม่เกิน 500 บาท


นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการณรงค์อย่างยิ่งใหญ่ แม้การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนนั้นเป็นเรื่องยาก และจะต้องใช้เวลาอยู่มากก็ตาม แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เด็ดขาด เพราะผู้ใช้รถชาวไทย (บางคน) ยังมีจิตสำนึกต่ำอยู่มาก เวลาจะข้ามทางม้าลาย โปรดระวังชีวิตของตัวเองไว้เป็นดีที่สุด..หรือไม่จริง


รู้หรือไม่เกี่ยวกับทางม้าลาย

เดิมทีแถบสีสัญลักษณ์ของทางคนข้ามนี้เคยเป็นสีน้ำเงินและสีเหลืองมาก่อน โดยมีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรก (หลังทำการทอดลองใช้แล้ว) ตามท้องถนนของประเทศอังกฤษราว 1,000 จุด เมื่อปี 1949 เพื่อบ่งบอกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นทางที่อนุญาตให้คนสามารถข้ามถนนได้

แต่ก่อนนั้น สัญลักษณ์ของทางข้ามนี้จะอยู่คู่กับ 'เสาโคมไฟสัญญาณบีลิสชา' ซึ่งถือกำเนิดมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 1934 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสัญญาณให้พาหนะที่สัญจรอยู่บนท้องถนนหยุดวิ่งชั่วขณะเพื่อให้คนที่อยู่สองข้างทางได้เดินข้ามถนนอย่างปลอดภัย โดยพาหนะต่างๆ จะหยุดก็ต่อเมื่อโคมไฟสัญญาณบีลิสชาซึ่งมีสีส้มส่องสว่างขึ้น

ต่อมา เลสลี ฮอร์น บีลิสชา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแดนผู้ดี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มไอเดียนำโคมไฟสัญญาณดังกล่าวมาติดตั้งก็คิดว่าน่าจะมีการเพิ่มสัญลักษณ์ที่เป็นแถบสีบนพื้นถนนบริเวณที่มีการติดตั้งโคมไฟสัญญาณเพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นได้เด่นชัดมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ของทางข้ามที่มีแถบสีจึงถือกำเนิดขึ้น


จากนั้นก็มีการทดลองใช้สีขาว-แดง และสีขาว-ดำ ทาเป็นสัญลักษณ์ แล้วในปี 1951 สัญลักษณ์ของทางข้ามที่เป็นแถบสีขาว-ดำก็ถูกนำมาใช้คู่กับโคมไฟสัญญาณบีลิสชาอย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมกับได้รับการขนานนามว่า 'ทางม้าลาย' เนื่องจากมีลักษณะเหมือนลายของม้าลายนั่นเอง


ต่อมาอังกฤษได้นำไอเดียดังกล่าวไปใช้กับประเทศอาณานิคมของตัวเอง เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ทางม้าลายจึงกลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก และกลายเป็นเครื่องหมายจราจรที่เป็นสากลไปโดยปริยาย


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
 



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น