xs
xsm
sm
md
lg

ร่างรัฐธรรมนูญตกแล้วอย่างไรต่อ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ออกจะพลิกล็อกแต่ไม่เกินความคาดหมายกับผลการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 กันยายน 2558)

จากในตอนแรก กระแสเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่าย ยกเว้นฝ่ายการเมืองนักเลือกตั้ง ออกมาในลักษณะค่อนข้างเป็นบวก

ภายใต้การยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาโดยอาจจะขัดต่อหลักการแบบประชาธิปไตยเต็มที่ แบบที่ถือการเลือกตั้งเป็นสรณะ เลือกตั้งคือความถูกต้องทุกอย่างต้องตัดสินจากเสียงของประชาชนผ่านการกาบัตรเลือกตั้ง

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งตกไปนั้นวางอยู่บนสมมติฐานของรัฐธรรมนูญเพื่อการเปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบการแบ่งพรรคแบ่งพวก พวกเดียวกับฉันทำอะไรก็ถูกก็ชอบไปหมด แต่ถ้าคนละพวกทำเรื่องเดียวกันนั้นก็รับไม่ได้ ยอมไม่ได้

เปลี่ยนผ่านจากช่วงวิกฤตความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายสงบลงบ้าง ให้เกิดความปรองดองกันบ้างของคนต่างสีต่างผลประโยชน์ก่อน แล้วค่อยดำเนินการสร้างประชาธิปไตยที่เต็มใบกันต่อไป

ด้วยหลักการเช่นนี้ จะเห็นว่า นอกจากฝ่ายการเมืองแล้ว ไม่มีใครมีปัญหากับหลักการหรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้เลย แม้แต่ทิดสุเทพ ก็ยังออกมาสนับสนุน หรืออย่างคุณสิระ เจนจาคะ สปช.คนดังย่านหลักสี่ ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกท่านพุทธอิสระ ก็ถึงกับออกมาการันตีด้วยการวางเดิมพันเป็นเงินเดือนและเบี้ยประชุมทั้งหมดของตัวเองในฐานะ สปช.เป็นเงินถึง 1.7 ล้านบาท (ซึ่งในที่สุดแกก็ทำตามวาจา คือถึงสภาฯ ไม่มีระเบียบรับเงินเดือนคืน ก็นำไปบริจาคให้การกุศล)

กระแสการซาวเสียงภายใน สปช.ก็ออกมาในทางก้ำกึ่ง เสียงสนับสนุนให้ “ผ่าน” มีเยอะกว่า โดยฝ่ายคัดค้านนั้นต้องพยายามเร่งโน้มน้าวหรือแสดงความคิดเห็นทั้งต่อสมาชิกด้วยกันเอง และต่อสาธารณะ

แต่ก็กลับปรากฏว่า ในที่สุด เสียงฝ่าย “ไม่เห็นชอบ” กลับพลิกมาเหนือกว่าได้ในช่วงสองสามวันสุดท้าย และกลายเป็นมติตัดสินที่ทำให้รัฐธรรมนูญต้องตกไปไม่ผ่านความเห็นชอบ ด้วยเสียงที่ค่อนข้างเด็ดขาดชัดเจนถึง 30 เสียง (135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง)

หลายฝ่ายเชื่อว่าเรื่องนี้มี “ใบสั่ง” ให้คว่ำ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมัดตัวใครได้ นอกจากโผหลุดให้ฮือๆ ฮาๆ แบบไม่รู้จะไปจับมือใครดม หรืออย่างที่อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นปริศนาว่า “ต้องขอขอบคุณท่าน (สปช.ทหารที่โหวตเห็นชอบ) ทั้ง 3 ซึ่งเห็นชอบ ขณะที่ท่านอื่นก็ต้องฟังผู้ใหญ่ของเขา...ขนาดในกรรมาธิการยกร่างฯ ยังมีงดออกเสียง 1 รายเช่นกัน เพราะเพิ่งได้เป็นพลเอกมาหมาดๆ ยังต้องอยู่ในราชการต่อไป เป็นที่เข้าใจได้...” ซึ่งท่านก็ไม่ได้พูดว่าใครอย่างไรหรือมีใบสั่งหรือไม่ ให้วิญญูชนคิดพิจารณากันเอง

น่าสนใจว่าสาเหตุของการ “คว่ำร่าง” ครั้งนี้ ไม่ว่าจะมีใบสั่งอะไรหรือไม่ นั้นเป็นเพราะอะไร

สังเกตว่า กลุ่มและฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญแบบสุดๆ คือ นักการเมือง นักเลือกตั้ง และประชาชนที่เป็นฐานเสียงหรือเป็น “กองทัพ” ของนักการเมืองนั้นๆ

กลุ่มใหญ่เลยคือบรรดาเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังคงมั่นใจว่า เสียงยังดี กระสุนยังถึง นโยบายประชานิยมที่ฉีดเชื้อทิ้งไว้ยังเข้มข้น ให้มีเลือกตั้งอีกก็ยังชนะอีกอยู่ดี พวกนี้จะออกมาส่งกระแสต่อต้านเสียงดังเป็นพิเศษ

แต่ถึงกระนั้น แม้แต่ฝ่ายที่เป็นรอง แต่ยังต้องหากินอยู่กับระบอบเลือกตั้ง อย่างพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ยังมาประสานเสียงไม่เห็นด้วย แม้จะไม่ดังเท่าฝ่ายแรก

นั่นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อำนาจและบทบาทของนักการเมืองในระบอบเลือกตั้งนี้จะลดลงมาก เนื่องจากการบริหารและกำหนดนโยบายใดๆ จะต้องเป็นไปตามแผนปฏิรูปที่กำหนดไว้แล้ว โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) คอยกำกับให้ดำเนินการเป็นไปตามแผนปฏิรูป และยิ่งกว่านั้น คปป.ยังมีอำนาจเข้ามาใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติในยามเกิดวิกฤตประเทศที่ฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย

ซึ่งการมีอยู่ของ คปป.นี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองนักเลือกตั้ง “ยอมไม่ได้” และมีเค้าว่า อาจจะเคลื่อนไหวผ่านมวลชนฐานคะแนนของแต่ละฝ่าย ให้ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ในชั้นประชามติ

นอกจากนี้ ความกำกวมของเนื้อคำเนื้อความในรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจนว่า เกณฑ์ในการนับเสียงประชามติว่า “เห็นชอบ” หรือไม่นั้นจะยึดเกณฑ์ใด ระหว่างเสียงข้างมากของผู้ “มาออกเสียง” ประชามติ หรือเสียงข้างมากของผู้ “มีสิทธิ” ออกเสียงประชามติทั่วประเทศ ที่ถ้าเป็นกรณีหลังแล้ว โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามตินั้นอาจกล่าวว่าเป็นศูนย์เลยทีเดียว

เช่นนี้ การปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไป “เสี่ยงภัย” ในชั้นประชามตินั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงทีเดียว ไม่ใช่เพียงเรื่องงบประมาณที่เสียไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเครดิตหน้าตาของทั้ง สปช.และคณะกรรมาธิการซึ่งก็จะสะท้อนกลับไปที่คนแต่งตั้ง คือ คสช.โดยตรงด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ในระหว่างการรอทำประชามติ ก็ยังเปิดช่องให้บรรดา “ขาประจำ” มาเขย่าและสั่นคลอนหรือส่งเสียงรบกวนรัฐบาลได้ผ่านกระบวนการรณรงค์หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับประชามติ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าปล่อยไว้ก็กลายเป็นเวทีขยายผลของฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเคร่งครัดเข้มงวดเกินไป ก็จะถูกมองหรือถูกป้ายได้ว่าเป็นการลงประชามติในภาวะเผด็จการ

เรียกว่าโดนกันทั้งขึ้นทั้งล่อง

และในภาวะที่ฝ่ายการเมืองจ้องจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้วนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปในชั้นประชามติเสียแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่จะถูกนำไปขยายผลว่า ประชาชน “ไม่เอาด้วย” กับการปฏิรูปโดย คสช.ปีครึ่งที่ผ่านมาเสียเปล่าไปหมด

เช่นนี้ ไม่ว่าจะมีใบสั่งหรือไม่ แต่การ “ถอยก่อน” ในตอนนี้ ก็เป็นทางเลือกที่สวยงามถนอมตัวที่สุดอย่างที่เห็น

ส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะตั้งขึ้น 21 คน ที่ท่านหัวหน้า คสช.บอกว่ามีตัวในใจอยู่แล้วนั้น จะเป็นใครบ้าง ภายในสัปดาห์หน้านี้น่าจะรู้กัน

และรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบไหน ก็น่าจะขึ้นกับแนวคิดและแนวทางของผู้ร่าง ข้อสำคัญที่สุด คือจะทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว สามารถรองรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตยได้ โดยสามารถดำเนินการปฏิรูปและการปรองดองไปได้ อย่างที่ทางฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้งยอมรับได้ไม่ขัดขวาง

เป็นงานใหญ่งานยากที่ใครจะมารับตำแหน่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนี้คงต้องคิดหนักทีเดียว.
กำลังโหลดความคิดเห็น