อาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ ยังไม่มีหลักประกันบำเหน็จบำนาญ หรือประกันสังคม เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสนับสนุนการออมไว้เป็นหลักประกันยามเกษียณขึ้นเป็นผลสำเร็จ
จุดประสงค์หลักที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ คือ ผู้ที่เข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ จะได้รับเงินบำเหน็จและบำนาญ ไว้ใช้ในการดูแลตัวเองหลังจากที่ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป โดยเฉพาะคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ควรที่จะมีหลักประกันตนเอง
โดยในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ จะเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนอย่างเป็นทางการ ผู้สนใจเพียงแค่มีอายุ 15-60 ปี ไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญข้าราชการหรือเอกชน หรือเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินกรณีชราภาพ ใช้เพียงบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไปสมัครได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาไหนก็ได้ทั่วประเทศ
ตามหลักการกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องส่งเงินสะสมงวดแรกขั้นต่ำ 50 บาท แล้ววันหลังทยอยส่งกี่ครั้งก็ได้ แต่ตลอดทั้งปีต้องส่งเงินรวมกันไม่เกิน 13,200 บาท รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในสิ้นเดือนถัดไป ตามแต่ละช่วงอายุ สูงสุดไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน หรือ 1,200 บาทต่อปี จะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 5 ปี ตามสภาวะเศรษฐกิจ
โดยอายุ 15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี, อายุ 30-50 ปี รัฐจ่ายให้ 80% ของเงินสะสม แต่ต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี, อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปีรัฐจะสมทบจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี โดยเงินที่สะสมนี้จะได้รับดอกเบี้ยด้วย ยิ่งออมเงินเร็วและสูง จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน
ถ้าจะกล่าวถึงความมั่นคงของ กองทุนการออมแห่งชาติ นั้น ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ ปี 2554 เป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ส่วนสำนักงานประกันสังคมอยู่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ
เงินที่สมาชิกแต่ละคนส่งเข้ากองทุนฯ จะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ของเงินกองทุน โดยมีคณะอนุกรรมการจัดการกองทุน ให้คำปรึกษาต่อคณะกรรมการกองทุน ระยะแรกทางสำนักงานจะเป็นผู้บริหารกองทุนเอง แต่หากเงินกองทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ก็มีแนวคิดจ้างเอกชนมาบริหารเหมือนกองทุนประกันสังคมและ กบข.
รัฐบาลจะรับประกันผลตอบแทนของสมาชิก เมื่ออายุ 60 ปี หรือเสียชีวิต จะให้ผลตอบแทนของเงินสะสมและเงินสมทบได้ไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง
อาจมีคนสงสัยว่า ส่งเงินตอนนี้ แล้วจะได้ใช้อีกทีตอนไหน ...
กองทุนนี้ต้องคอยจนถึงอายุ 60 ปี จึงจะได้ใช้เงินบำนาญรายเดือน เดือนละเท่าๆ กันตลอดชีวิต หากเสียชีวิตจะคืนเงินที่เหลือให้ทายาท แต่ถ้ามีเงินในบัญชีไม่ถึงจำนวนบำนาญขั้นต่ำ (ปัจจุบันอยู่ที่ 600 บาท) จะจ่ายเป็น “เงินดำรงชีพ” เท่ากับบำนาญขั้นต่ำเป็นรายเดือน โดยนำจำนวนเงินในบัญชี หารด้วยจำนวนบำนาญขั้นต่ำ จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด
ถึงกระนั้น สมาชิกยังมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาล (ปัจจุบันเดือนละ 600-1,000 บาท) ตามปกติ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
ในกรณีพิการหรือทุพพลภาพก่อนอายุ 60 ปี จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปี แต่หากเสียชีวิตจะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินในบัญชีของแต่ละคน ถ้าลาออกจากการเป็นสมาชิกก่อนอายุ 60 ปี เงินที่ได้รับ จะได้เฉพาะเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสมเท่านั้น
สำหรับอาชีพที่สามารถสมัครเข้ากองทุนการออมแห่งชาติได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระหว่างประกอบอาชีพ จะเป็นคนว่างงาน หรือกำลังเป็นนักเรียน นักศึกษาอยู่ก็สมัครได้ เพราะคุณสมบัติเพียงแค่ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครูหรือครูใหญ่โรงเรียนเอกชน ซึ่งมีบำเหน็จบำนาญแต่ละหน่วยงาน และไม่เป็นลูกจ้างที่มีสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอยู่แล้ว
อาจมีคนสงสัยว่า ตอนที่สมัครกองทุนยังไม่มีงานทำ เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือประกอบอาชีพอิสระ วันหนึ่งบรรจุเป็นข้าราชการ เป็นทหาร ตำรวจ ที่มีระบบบำเหน็จบำนาญ หรือได้งานทำในบริษัทเอกชนที่มีระบบประกันสังคมจะทำอย่างไร ถ้าไม่ลาออกก็ไม่จำเป็นต้องลาออก สามารถคงเงินไว้ในกองทุนได้ จะออมหรือไม่ออมก็ได้ แต่รัฐจะไม่จ่ายเงินสมทบ
หากลาออกจากงานในระบบก่อนอายุ 60 ปี สามารถออมต่อได้จนถึงอายุ 60 ปี โดยรัฐจะจ่ายเงินสมทบให้
พูดถึงความน่าสนใจของกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็น “บำนาญประชาชน” ก็ว่าได้ เพราะปกติแล้วหากไม่ใช่ข้าราชการที่มีบำนาญ หรือพนักงานบริษัทเอกชนที่ได้รับเงินจากประกันสังคม หรือบางบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ประชาชนกลุ่มที่เหลือเหล่านี้หากแก่ตัวไปแล้วไม่มีหลักประกันก็คงจะยังชีพโดยไม่เป็นภาระแก่บุตรหลานลำบาก
ปรากฏว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้า และอาชีพอิสระอื่นๆ กลับไม่มีใครทราบมาก่อนเลยว่ากำลังจะมีกองทุนการออมแห่งชาติเกิดขึ้น ส่วนคนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เมื่อรู้ว่าคุณสมบัติไม่สามารถสมัครได้ก็ไม่น่าสนใจ แม้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะเชิญชวนให้มาสมัครสมาชิกก็ตาม
แม้จะเป็นนโยบายที่ดี ที่ให้ประชาชนได้มีทางเลือกยืนด้วยลำแข้งตัวเอง มากกว่านโยบายประชานิยมที่เน้นการแจกแบบให้เปล่ามากกว่า แต่ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีอุปสรรคไปบ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรชี้แจงข้อมูลและประโยชน์ที่จะได้รับให้ทราบอย่างชัดเจน และควรสร้างแรงจูงใจให้มีคนมาสมัครเป็นสมาชิกให้มากขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้
ขณะเดียวกัน การสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ไม่มีหลักประกันเห็นถึงความสำคัญของการออมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เอาเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อค่าครองชีพกระชากสูงขึ้น ก็มีรายได้เพียงแค่พอเลี้ยงชีวิตวันต่อวันเท่านั้น แม้จะมีเงื่อนไขส่งเงินเข้ากองทุนขั้นต่ำเพียงแค่ปีละ 50 บาทก็ตาม
ไลฟ์สไตล์การออมของคนไทย เท่าที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งสำรวจออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของบัญชีฉุกเฉินหรือบัญชีเงินเก็บระยะสั้น มากกว่าการเก็บออมเพื่อการใช้หลังเกษียณ รวมถึงยังไม่รู้จักวิธีการบริหารเงินออม โดยพบว่าคนส่วนใหญ่จะนำเงินออมไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา หรือผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่ได้ทำให้เงินออมนั้นงอกเงย
คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยจัดการสัมมนาเรื่อง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ จากการสอบถามแรงงานพบว่ามีความต้องการได้รับบำเหน็จมากกว่าบำนาญ เนื่องจากต้องการนำเงินที่ได้ออมไปใช้ตามความจำเป็นของครอบครัว และชำระหนี้สิน ก่อนที่จะเสียชีวิต
ขณะเดียวกัน ผู้ประกันตนได้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเป็นบำเหน็จได้ ถ้าผู้ประกันตนได้สิทธิรับบำนาญ อีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนไม่ทราบหรือไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกการออมในรูปแบบใด และไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันเกษียณอายุจะมีเงินออมเท่าไหร่
ที่สำคัญ กองทุนการออมแห่งชาติไม่เอื้อประโยชน์ต่อแรงงานที่ต้องย้ายไปย้ายมาระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบ ทำให้คนอาจจะออมไม่ครบตามเงื่อนไขของกองทุน และส่งผลให้หลุดพ้นออกจากระบบบำนาญระบบใดระบบหนึ่ง และเสียสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการออมเงินกับกองทุน
ที่มา : http://www.fpo.go.th/FPO/member_profile/it-admin/upload/file/3(2).pdf
สุดท้าย ... ถ้าจะถามถึงความน่าสนใจของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยส่วนตัวสนับสนุนให้คนที่อยู่นอกระบบบำนาญหรือประกันสังคมเป็นสมาชิกกองทุนเลย เพราะตัวเองเป็นสมาชิกไม่ได้ แม้จะเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม และตรวจสอบเงินบำเหน็จชราภาพแล้วได้ไม่มากไม่น้อย พอสมควร แต่ก็ยังหวั่นใจตรงที่การให้เงินบำนาญที่ไม่เป็นธรรม
ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่อายุครบ 55 ปี เมื่อเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) แล้ว จะได้เงินบำนาญ โดยคำนวณจากร้อยละ 20 ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน (5 ปี) สุดท้าย แต่หากออกจากงานแล้วมาสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ส่งเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 432 บาทจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับฐานเงินเดือนเพียงแค่ 4,800 บาท
เมื่อกฎหมายประกันสังคมบังคับให้รับเฉพาะเงินบำนาญ โดยคำนวณมาจากฐานเงินเดือน 5 เดือนสุดท้าย คือ 4,800 บาท ไม่สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จนับหมื่นนับแสนที่เก็บมาทั้งชีวิตเพื่อนำไปใช้ตามความจำเป็นของครอบครัว และชำระหนี้สินได้ สุดท้ายจึงได้แค่เงินบำนาญที่เป็น “เศษเงิน” ต่ำสุดเพียงแค่ 960 บาทต่อเดือนเท่านั้น
อย่างที่โวยวายกันในเว็บพันทิปเมื่อปีที่แล้ว จนป่านนี้ยังไม่มีการแก้ไขเป็นรูปธรรม
เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเงินก้อนนับหมื่นนับแสนจากประกันสังคมที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิตเมื่ออายุ 55 ปี จะต้องจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ซึ่งก็หมายถึงต้องลาออกจากงานก่อนอายุ 50 ปี และแจ้งการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นทางการ หางานทำเป็นฟรีแลนซ์พร้อมถูฝ่ามือรอแก่ตัวอีกที
พูดง่ายๆ คือ ประกันสังคมไม่มีตัวเลือกว่า อายุ 55 ปี จะรับเงินก้อน (บำเหน็จ) หรือเงินบำนาญ แตกต่างจากข้าราชการที่ถึงเงินเดือนไม่หวือหวา แต่ก็เลือกรับได้ระหว่างเงินก้อนหรือเงินบำนาญ อีกทั้งเงินเดือนข้าราชการคงที่กว่า หน้าที่การงานมั่นคงกว่า กลายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกสำหรับมนุษย์เงินเดือนในระบบประกันสังคมเฉกเช่นทุกวันนี้
เพราะฉะนั้นใครที่ประกอบอาชีพอิสระ กองทุนการออมแห่งชาติ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะพิจารณา แม้จะออมเยอะกว่าหมื่นสามไม่ได้ ไม่เหมาะสำหรับคนใจร้อนที่ต้องหมุนเงินบ่อยครั้ง และผลตอบแทนยามชราจะไม่หวือหวา แต่ก็พอที่จะแบ่งเบาภาระลูกหลาน มีเงินใช้เพิ่มเพื่อให้รางวัลแก่ตัวเองยามเกษียณได้ดีทีเดียว.