xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนทัศน์ภัยโล้น แก้วับัติภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

กรมชลประทานแจ้งว่าปีนี้น้ำในเขื่อนใหญ่เหลือน้อยมาก เขื่อนสิริกิติ์เหลือน้ำที่ใช้การได้ 11% เขื่อนป่าสัก 9% ส่วนเขื่อนใหญ่ที่สุดคือเขื่อนภูมิพล เหลือน้ำที่ใช้การได้แค่ 4% นับว่าแล้งสุดในรอบ 51 ปีนับแต่ก่อสร้างเขื่อนยักษ์ยันฮีแห่งนี้เลย

นักวิทยาศาสตร์ท่านบอกว่าเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญเกิดร้อนแล้งไปทั่วภูมิภาค เอลนิโญ่ก็เรื่องหนึ่งครับเพราะในรอบ 50 ปีมานี้ประเทศไทยก็ผ่านเอลนิโญ่มาหลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่เคยถึงขนาดทำให้เขื่อนยักษ์ใหญ่สุดอย่างเขื่อนภูมิพลถึงขนาดเหลือน้ำเก็บต่ำสุดถึงเพียงนี้

เพราะเอลนิโญ่มาผสมโรง มันจึงทำให้เราได้เห็นจุดอ่อนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ต่อให้ไม่มีเอลนิโญ่เราก็เจอแล้งย่ำแย่อยู่แล้ว และจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

สถิติบอกเราว่าปริมาณน้ำท่าจากตอนเหนือของเขื่อนใหญ่ ทั้งน้ำปิง น้ำน่านมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ อย่างแม่น้ำปิงซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่อำเภอเชียงดาวด้านติดพรมแดนพม่าเหนือเชียงใหม่ไปราว 100 ก.ม.ไหลผ่านอำเภอต่างๆ ลงมาผ่านตัวเมือง เข้าลำพูน ลงไปยังเขตจังหวัดตากมีปริมาณลดลง แค่ใช้อุปโภคบริโภคกันในที่ราบแอ่งเชียงใหม่ก็แทบไม่พอแล้ว ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนจึงน้อยลงๆ ยังไงเล่า!!!

ส่วนน้ำน่านน่ะยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะดอยเมืองน่านหัวโล้นหมดแล้วดังภาพที่ได้เผยแพร่ทั่วไป ซึ่งพูดแล้วก็น่าปวดใจที่ป่าต้นน้ำภาคเหนือถูก “เร่ง” บุกเบิกทำลายแปรเป็นไร่ข้าวโพดเอาไปทำอาหารสัตว์ ในรอบหลายปีมานี้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาแรงซึ่งมี “เจ้าสัว” ไม่กี่รายที่รับซื้อมาแปรรูปทำกำไร

ป่าต้นน้ำที่เหลืออยู่น้อย ก็ยิ่งแทบไม่เหลือ สภาพแบบนี้ปีไหนแล้งก็แล้งวายวอด ทีท่วมก็ท่วมวอดวาย ฝนตกลงมาก็ไม่มีป่าดูดซึมอุ้มรับน้ำไว้ สภาพเดียวกับทะเลทรายนั่นล่ะ

ประเทศไทยเรามีพื้นที่ปลูกข้าวโพดราวๆ 7.5 ล้านไร่ แปลกประหลาดมากที่ดันกระจุกปลูกอยู่บนดอยภาคเหนือเสีย 5.5 ล้านไร่ และในจำนวนนั้นเป็นที่ป่าที่ไม่เหมาะสมที่สูงชันถึง 3.5 ล้านไร่ กว่าครึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในภาคเหนืออยู่ในเขตป่าเขาสูงชัน นอกจากทำลายต้นน้ำแล้วยังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอีกต่างหาก พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวพวกก็เผาตอซังเกิดควันไฟคลุมภาคเหนือเป็นวงกว้างหนักยิ่งกว่าเก่า

ภูเขาหัวโล้นและการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตอกย้ำภัยแล้งให้แล้งหนักยิ่งไปอีก ต่อไป เมื่อพูดถึง “ภัยแล้ง” ก็ต้องพ่วง “ภัยโล้น” เขาหัวโล้นเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของปัญหาด้วย!

ตัวการใหญ่กว่าที่ต้องโทษให้หนักๆ ก็คือนายทุน กับ รัฐบาล โทษแต่ชาวบ้านไม่ได้

เพราะโครงสร้างการเมืองไทยยุคหลังๆ ทุนเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจการเมือง อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองและนโยบายสำคัญ โดยมีระบบราชการรวมศูนย์ร่วมมือด้วย เป็น สามประสานสามานย์!

นายทุนไร้สำนึก – อำนาจการเมืองตามใจทุน – ราชการรวมศูนย์!

ข้อเท็จจริงของการเมืองแบบไทยๆ ก็คือหลายปีมานี้อธิบดีที่ไม่สนองการเมืองอยู่ไม่ได้ เบอร์รองๆ ก็วิ่งเข้าหานักการเมืองเพื่อแซะคนข้างบนให้ตัวเข้าสวมแทน ข้าราชการไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เรื่องเขาหัวโล้น รวมถึงข้าวโพดรุกป่าและจำเพาะเจาะจงที่ป่าภาคเหนือมีต้นตอมาจากสามสามานย์นี่แหละ

ตัวอย่างใกล้ๆ ที่เพิ่งผ่านไป รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปากหนึ่งประกาศจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านล้านบาท บอกว่าจะกันงบประมาณไว้ปลูกป่าต้นน้ำถึง 1 หมื่นล้านบาทเป็นประวัติการณ์ ตอนที่บอกกับสื่อโชว์วิสัยทัศน์ใหญ่บอกว่าการรักษาป่าต้นน้ำเป็นเรื่องสำคัญ บลาๆๆๆ

หุหุ ช่างน่าหัวร่อ! ก็รัฐบาลยิ่งลักษณ์เองนี่แหละที่มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไปดูบัญชีแนบท้ายโซนนิ่งพื้นที่เหมาะสมปลูกข้าวโพดของเขาดูสิ เขตป่าต้นน้ำทั้งนั้น

ก็คือรัฐบาลนี่เองแหละที่ส่งเสริมให้ถางดอยทางอ้อม ผ่านนโยบายส่งเสริม ประกันราคา นายทุนดีดนิ้วส่งสัญญาณว่าข้าวโพดๆ ราชการก็สนองตอบ ข้าวโพดๆๆ อย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าจะปลูกกันที่ไหน เผาตอซังกันอย่างไร กูไม่สน หน้าที่กูคือส่งเสริม

ป่าต้นน้ำเลยกลายเป็นเขาหัวโล้น ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เมืองน่านแต่คลุมไปทั้งภาคเหนือ น้ำน่านแห้งขอด น้ำยม น้ำวัง น้ำปิงก็เช่นกัน ป่าต้นน้ำปิงแถวๆ อำเภอเชียงดาวด้านชายแดนพม่าก็เกลี้ยงเป็นแถบๆ เหมือนกัน ลองส่องจากกูเกิ้ลแม็ปเป็นกระสายก็ได้ ขนาดเป็นข้อมูลย้อนหลังก็พอเห็นร่องรอยของสภาพป่าต้นน้ำปิงได้ดีว่าเริ่มโล้นแบบไหน

จึงไม่น่าแปลกเลยครับที่เขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำน้อยสุดนับแต่เปิดใช้มา !!!

รัฐบาลชุดนี้กำลังขะมักเขม้นทวงคืนผืนป่า เที่ยวไปไล่ฟันต้นยางพาราชาวบ้าน อย่าลืมมองเรื่องป่าต้นน้ำด้วย และที่สำคัญต้องประกาศกระบวนทัศน์ที่ชัดเจนถึงการเอาจริงเอาจังกับการรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นกระบวนทัศน์หลักของการปฏิบัติการทั้งมวล เพื่อให้เป็นไปทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ได้เริ่มมีกลไกการแก้ปัญหาหมอกควันมลพิษของบางจังหวัด บางแห่งพยายามแก้โดยมุ่งไปที่การเผาตอซังข้าวโพด ป้องกันไม่ให้มีการเผา แต่เหมือนจะไม่กล้าแตะปัญหาการใช้พื้นที่ดอยไปปลูกพืชไร่อ้างว่าเป็นแผนระยะปานกลางระยะยาวอะไรก็ว่าไป

ซึ่งไปๆ มาๆ อาจจะกลายเป็นแค่การระดมพลังกันแก้ปัญหาเผาตอซังไม่ให้มีหมอกควัน โดยไม่เข้าไปแตะปัญหาการบุกรุกป่าต้นน้ำซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ใหญ่กว่า ร้ายแรงกว่า

ปีนี้แล้งจัด บางท่านอาจจะโบ้ยไปที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ปลอบใจตนว่ามันไม่ปกติแค่ปีนี้ ...ที่แท้แล้ว...ต่อให้มีหรือไม่มีเอลนิโญ่เราก็เผชิญวิกฤติอยู่แล้ว

การแก้ปัญหาวิกฤตป่าต้นน้ำต้องอาศัยกระบวนทัศน์และการระดมสรรพกำลังเป็นพิเศษ จะฝากไว้กับโครงการรูทีนแบบงบปลูกป่าเป็นหย่อมๆ หรือแยกกันทำหน่วยนี้ปลูก หน่วยนี้ห้ามตัด อีกหน่วยส่งเสริมให้ตัดแบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้วครับ ฝ่ายหนึ่งปลูกกันปีละไม่กี่พันไร่ อีกฝ่ายส่งเสริมให้รุกปลูกพืชไม่กี่ปีเป็นล้านไร่โดยมีเงินทองเศรษฐกิจเป็นเครื่องล่อใจ ผลก็เห็นๆ กันอยู่ และที่สำคัญรัฐต้องเจรจากับผู้ผลิตอาหารสัตว์อย่างจริงจัง ถ้าลดพื้นที่ปลูกภาคเหนือสัก 3 ล้านไร่ไปปลูกอะไรที่ยั่งยืนกว่าจะได้ไหม รัฐต้องสะกิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯถามว่าโซนนิ่งส่งเสริมปลูกพืชทำลายป่าต้นน้ำน่ะแก้ไขได้ไหม

แล้งสุดๆ แบบนี้ทางหนึ่งก็น่าหดหู่ แต่อีกทางก็ดีไปอย่าง ตรงที่น้ำลดตอผุด ทำให้เราได้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริง มองโลกในแง่บวกปลอบใจตัวเองไปพลางๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น