xs
xsm
sm
md
lg

วันแรงงานทั้งที ขอเขียนถึงสักหน่อยก็แล้วกัน…

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


ก่อนวันแรงงาน วันที่ 1 พค. สองสามวัน ผมเดินซื้อของข้างตลาด ได้ยินแม่ค้าบอกว่า ของแพงใกล้ถึงวันแรงงาน จะซื้อก็ซื้อเสีย วันแรงงานคงไม่มีของให้ซื้อ นายจ้างต้องให้ลูกน้องหยุดงาน นายจ้างไม่อยากจ่ายค่าแรงเพิ่มเป็นสองสามแรงหรอก

ผมคิดในใจว่าวันแรงงาน วันหยุดของคนงานส่วนใหญเกือบทุกประเภท มีผลต่อจำนวนสินค้า และราคาสินค้า มีผลกับผู้ซื้อผู้บริโภคอย่างผม มีผลต่อแม่ค้า และดูจะมีนัยของกฎหมายแรงงานปนๆอยู่ในคำพูดของแม่ค้า ก็น่าสนใจดีเหมือนกันครับ

วันแรงงานสากล เป็นวันหยุดสำคัญของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ทุกๆปีก็จะมีการเคลื่อนไหวขบวนการของผู้ใช้แรงงาน ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งประเด็นปัญหาแรงงาน และประเด็นอื่นๆ ในนโยบายของรัฐ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน และระดับการใช้อำนาจรัฐของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุด สํานักงานสถิติแห่งชาติ ได้สํารวจภาวะการทํางาน ของประชากรไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2558 สรุป ภาวะการทํางานและการว่างงานของประชากรในปัจจุบัน ประชากรวัย อายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 55.1 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานพร้อมจะทำงาน 38.3 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.6 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.6 ล้านคน ผู้รอฤดูกาล 3.1 ล้านคน ผู้ อยู่นอกกำลังแรงงาน ไม่พร้อมจะทำงาน 16.8 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานบ้าน 4.9 ล้านคน ผู้เรียนหนังสือ 4.5 ล้านคน และอื่นๆ เช่น ชรา พิการ ทำงานไม่ได้ เป็นต้น 7.4 ล้านคน

ถ้าเป็นประเทศอุตสาหกรรม วันแรงงานเป็นเรื่องสำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศ สำหรับประเทศไทย วันแรงงานอาจจะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่มากที่ถือเป็นวันหยุดงาน หรือเข้าร่วมกิจกรรมวันแรงงาน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI สรุป จำนวนแรงงานจากฐานปี 2554 มีทั้งหมด 38.7 ล้านคน มีแรงงานในภาคเกษตรกรรม 16.3 ล้านคน แรงงานนอกภาคเกษตร ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ 22.4 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมไม่ถึง 5 ล้านคน แรงงานที่เหลืออยุ๋ในภาคบริการ 17.4 ล้านตน

ประเทศไทยในอดีต การผลิตในภาคเกษตรกรรมเป็นการผลิตหลักมายาวนาน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร เมื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการบริการขยายตัวมากขึ้น แรงงานภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ทุกวันนี้ มีการทับซ้อนกันระหว่างแรงงานอุตสาหกรรม และแรงงานภาคเกษตร ถึงฤดูกาลทำนา กลับไปทำนาทำไร่ก็มี หมดหน้านา กลับมาทำงานในโรงงาน และยังมีแรงงานนอกระบบ เช่น รับจ้างเอางานทำที่บ้าน หรือแรงงานที่ไม่ได้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งอาจจะไม่อยู่ในสารบบของหน่วยงานรัฐหรือไม่มีสถิติที่ชัดเจน รัฐและหน่วยงานของรัฐยังดูแลไม่ทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังมีแรงงานต่างชาติเข้ามาอีกจำนวนมาก จนแรงงานบางประเภทอาศัยแรงงานต่างชาติเป็นหลักก็ว่าได้ เช่น แรงงานการทำประมง แรงงานก่อสร้าง แรงงานธุรกิจขนาดเล็ก แรงงร้านอาหารและทำงานบ้าน เป็นต้น ซึ่งตามมาด้วยปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหาทางสังคม คดีอาชญากรรม ฯลฯ อีกสารพัด

เมื่อประชาคมอาเซี่ยนกำลังจะเปิดในอีกไม่นานนี้ ก็คงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นกันสำหรับแรงงานไทย เพราะแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะทะลักเข้ามาในไทย ไม่ว่าจะจากทั้งลาว กัมพูชา และอีกหลายๆประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยก็จะไหลออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แรงงานฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านบางอาชีพที่ไทยขาดแคลนอยู่แล้ว เช่น แพทย์ พยาบาล ฯลฯ

อัตราค่าแรงขั้นต่ำหากเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ไทยมีค่าแรงขั้นต่ำสูงเป็นอันดับ 3 โดยอันดับแรก เป็นสิงคโปร์ มีค่าแรงสูงสุดที่วันละ 2,000 บาท รองลงมาเป็นบรูไน ค่าแรงอยู่ที่วันละ 1,800 บาท ซึ่งค่าแรงของสองประเทศนี้ประเมินจากค่าแรงโดยเฉลี่ยของแรงงานไร้ฝีมือในประเทศ เพราะไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ อันดับ 3 คือ ไทย และฟิลิปปินส์ ที่มีค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันที่ 300 บาทต่อวัน อันดับ 4 เป็น มาเลเซีย วันละ 270 บาท ซึ่งค่าแรงของมาเลเซีย ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ อินโดนีเซียมีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 230 บาท สูงเป็นอันดับ 5 ส่วนประเทศที่เหลือก็มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำลดหลั่นกันไป โดยประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่อวันถูกที่สุดคือ กัมพูชา วันละ 75 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกัน ไม่เฉพาะในกลุ่มอาเซียน แม้ในกลุ่มภูมิภาคอื่นๆนอกอาเซี่ยน ก็มีผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ การเปิดเออีซี จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราจะได้เห็นเร็วๆนี้ ในขณะเดียวกัน อัตราค่าจ้างขึ้นต่ำมีผลต่อ ต้นทุนการผลิต และการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต การลงทุน และราคาสินค้า ค่าครองชีพ เชื่อมโยงไปอีกหลายปัญหา

ปัญหารายได้และหนี้สินของแรงงานไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 ผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษา ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,197 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน 2558 พบว่า แรงงานไทยสัดส่วน 94.1% มีภาระหนี้ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงสุดในรอบ 5 ปี ส่วนใหญ่ 31% เป็นหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีก 19.8% เพื่อจ่ายคืนเงินกู้ เฉลี่ยต่อครัวเรือนมีหนี้ 117,839 บาท หรือเฉลี่ยต่อคน 7,377 บาท โดย 59.6% เป็นหนี้นอกระบบ อีก 40.4% เป็นหนี้ในระบบ และ 57.8% เคยประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ โดย 63.9% ระบุว่าหมุนเงินไม่ทัน โดยคาดหวังว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าภาระหนี้ลดลง

ปัญหาค่าครองชีพ หนี้สิน กับแรงงานขั้นต่ำ เวลานี้ ค่าเฉลี่ยแรงงานไทยอยู่ที่วันละ 398.89 บาท นายธนวรรธน์เสนอให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 491.42 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 561.82 บาทใน 5 ปีข้างหน้า โดยแรงงานสะท้อนว่าภาระค่าใช้จ่ายสูงและรายได้ไม่เพียงพอ กับรายจ่าย เกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้ก่อหนี้นอกระบบสูงขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในอนาคต ทางแก้เร่งด่วน คือ 1.รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งเบิกจ่ายงบก่อสร้างทั่วประเทศ กระจายรายได้ให้ขยายตัวทุกพื้นที่ของประเทศ 2.เร่งนาโนไฟแนนซ์ให้เกิดเร็วขึ้น ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น การก่อหนี้นอกระบบก็จะมากขึ้น

ผู้ใช้แรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยถึง 117,839.90 บาท เพิ่มต่อเนื่องจากปี 2552 มีเพียง 87,399.02 บาท สัดส่วนหนี้นอกระบบสูงสุด ที่ 59.6% ของหนี้ทั้งหมด ความสามารถในการชำระหนี้ สัดส่วนมีปัญหาอยู่ที่ 81.8% การออมลดลงมากที่สุด เหลือสัดส่วนการออมที่ 21.8% ที่เหลือไม่มีการออม แรงงานมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ 35.5%
เป็นไงครับ ผลสำรวจนี้น่าละเหี่ยใจไม่น้อยทีเดียว ค่าแรงขั้นต่ำบ้านเราไม่สอดคลองเลยกับค่าครองชีพ ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่าครองชีพควรจะลดลง รายได้ประชาชนจะได้มีส่วนเหลือจากกการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันบ้าง นั้นถึงจะทำให้ประชาชนมีเงินเหลือพอมาใช้จ่ายอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพชีวิต การศึกษา การพัฒนาแรงงาน แต่ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แรงงานไม่มีเงินเหลือในกระเป๋า ส่วนใหญ่มีแต่หนี้สิน

แรงงานไทยจะไปทางไหน ชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร คำถามนี้ต้องการคำตอบ คำตอบอยู่ที่นายกฯหรืออยู่ที่แรงงานไทย???
กำลังโหลดความคิดเห็น