xs
xsm
sm
md
lg

ประเด็นล่อแหลมในร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

หลังอภิปรายรอบนี้ เข้าใจว่า/ขอเดาว่า กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญคงจะปรับแก้เนื้อหาในหลายประเด็น ต่อให้กมธ.ไม่อยากแก้ ผู้มีอำนาจฝ่ายอื่นในแม่น้ำทั้งห้าคงจะบอกกล่าวส่งสัญญาณให้แก้ เพราะการฝืนดันร่างเดิมไปแบบไม่แยแสสนใจอะไรเลย รังแต่จะทำให้ “การเมือง” ภายหน้ายากลำบากขึ้น หากพล.อ.ประยุทธ์และคณะจะลงจากหลังเสือสวยๆ เปลี่ยนโหมดจากรัฐบาลรัฐประหารไปสู่โหมดใหม่ จำเป็นต้องปูเสื่อ ส่องดูคลื่นลมทั้งหลายแต่เนิ่น...นับจากนี้แล้ว และเชื่อว่าทหารก็ทำอยู่

อย่าง กอ.รมน.จัดประชุมปรองดองเอานักการเมืองมารุมสกรัมร่างรธน.เมื่อวันก่อน ก็เป็นกระบวนท่าจัดการคลื่นลมกระบวนหนึ่ง ทหารมารอบนี้รอบคอบรัดกุมกว่ารอบขิงแก่คสช.เยอะ แทบไม่เปิดช่องโหว่ให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าทำเลยก็ว่าได้

ไม่รู้ว่าผู้กุมอำนาจสูงสุดในแม่น้ำทั้งห้าจะคิดเห็นอย่างไรกับเนื้อหาส่วนที่มาของ ส.ว.สรรหาซึ่งกำหนดกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้ามา เป็น ส.ว.โฉมใหม่ที่มีอำนาจมากกว่าปี 2540/ 2550

เป็นส.ว.ที่มีอำนาจมากขึ้นจนน่าเขม่น!

การกำหนดให้โควตาผู้บัญชาการเหล่าทัพมีที่นั่งใน ส.ว.เป็นสัดส่วนมากที่สุด มากกว่าข้าราชการพลเรือน วิชาชีพอื่นๆ ทุกกลุ่มเป็นจุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกสูงมาก น่าเสียดายในการอภิปรายของสปช.แทบไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องนี้มากนัก การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เท่ากับการปูพรมแดงเตรียมเก้าอี้ทางการเมืองไว้ให้กับผู้นำเหล่าทัพ เสนาธิการ ปลัดกลาโหม หลังเกษียณแบบไม่แคร์ใคร

และไม่ใช่แค่ฝ่ายทหารเท่านั้นปลัดกระทรวงที่แหลมๆ ก็มีเก้าอี้รองรับหลังเกษียณเช่นกัน รวมแล้ว ทั้งทหารและพลเรือน 20 เก้าอี้ คิดเป็น 10% ของส.ว.ทั้งหมด เหมือนไม่มากแต่ที่จริงเป็นแค่โควต้ารับประกันขั้นต่ำเพราะฝ่ายราชการทหารตำรวจปลัดกระทรวงอธิบดีที่เหลือสามารถจะใช้ช่องทางอื่น เช่นโควต้าผู้ทรงคุณวุฒิคุณธรรมเสนอตัวเข้าไปได้อีก

การปูพรมแดงให้ผู้นำเหล่าทัพปลัดกระทรวงลักษณะนี้มันระคายตา มันเป็นเป้า มันล่อแหลม!

ที่จริงส่วนที่ขี้เหร่ของรัฐธรรมนูญยังมีอีกไม่น้อย ไอ้นั่นยังไม่ดี ไอ้นี่ยังไม่เหมาะ...แต่ทว่ามันไม่สะดุดใจเท่ากับประเด็นจองเก้าอี้การเมืองให้กับผู้นำเหล่าทัพตามที่เขียนไว้แบบเอาใจกันเกินไป มันชัดเจนเกินไป หยิบขึ้นมาเมื่อไหร่อย่าว่าแต่ฝ่ายตรงกันข้ามที่ตั้งป้อมอยู่แล้ว ต่อให้คนกลางๆ หรือคนที่พอจะยังยืนข้างเดียวอยู่บ้างก็ยังส่ายหน้า

ถ้าผู้นำฝ่ายทหารไม่โลภหรือเห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้องฝ่ายกองทัพมากเกินไป รักยาวให้บั่นก็ควรส่งสัญญาณให้กมธ.ปรับแก้สัดส่วนที่มาของส.ว.สรรหาเสียใหม่ ขยำโควตาแบบเดิมแล้วกระจายใหม่ไปทั้งมาตราเลยก็น่าจะดี ...มีที่ไหนกันครับ สัดส่วนของผู้นำเหล่าทัพมีไม่กี่ตำแหน่งแต่เอาโควตาไป 10 เก้าอี้ เทียบกับอาชีพอื่นๆ หลากหลายในสังคมมันแตกต่างกันหลายเท่าตัวแบบนี้ มันจะประจานตัวเองว่าเป็นรัฐธรรมนูญสีเขียวลายพรางน้องๆ รัฐธรรมนูญพม่า รอยตำหนิแผลใหญ่เรื่องนี้กลบข้อดีอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญแทบจะมิดเลย

ผมก็พยายามจะเข้าใจกมธ. ลองเอาตัวเองไปเป็น กมธ. คิดแบบกมธ.ดู แล้วก็พบว่า...การออกแบบที่มาของส.ว.ที่ให้โควตาเหล่าทัพบวกปลัดกระทรวงอย่างน้อย 10% ของจำนวนส.ว.ทั้งหมดน่าจะมาจากความคิดเรื่องของดุลอำนาจและความพยายาม “ดุล”ให้ได้ “ได้ดุล”

โดยกมธ.มีหลักคิดว่า ต้องดึงเอาพลังอำนาจที่แท้จริง ที่มีอยู่จริงในสังคมการเมืองไทยจริงๆ เข้ามาอยู่ในโครงสร้าง (พร้อมๆ กับเพิ่มอำนาจให้พลเมือง) โดยที่แปลความหมายว่า พรรคขุนศึกอำมาตย์ราชการ (Bureaucratic Polity) เป็นส่วนหนึ่งของพลังอำนาจที่มีอยู่จริง จึงพยายามเปิดช่องให้ขุนศึกอำมาตย์ราชการเข้ามามีที่นั่งในรัฐสภา เพื่อจะต่อรองอะไรต่างๆ ทางการเมือง “ในระบบ” ต่อไป

ความคิดเรื่องการพยายาม “ดุล” ให้ “ได้ดุล” นั่นไม่ได้ผิดอะไร เพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพคือการเมืองที่ได้ดุล หากการเมืองไม่สมดุลมันก็ขาดเสถียรภาพ จะเกิดโน่นนี่ตามมา

หลักการนี้อธิบายการเมืองได้ทุกระบบไม่ว่าระบบกษัตริย์ ระบบเผด็จการทรราช ระบบสาธารณรัฐ ระบบประชาธิปไตยรัฐสภา หรือระบบอื่น มันจะทำงานได้และมีเสถียรภาพดีก็ต่อเมื่อมันสมดุล อย่างเช่นระบบกษัตริย์ก็ต้องสมดุลกับอำนาจของขุนนางและของเชื้อวงศ์ฝ่ายต่างๆ ยิ่งประชาธิปไตยซึ่งซับซ้อนกว่า ยิ่งต้องมีระบบที่เปิดให้อำนาจฝ่ายต่างๆ ใช้เวทีรัฐสภาต่อรองด้วยกติกา (โดยไม่ใช้กำลัง)

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักคิด แต่อยู่ตรงการแปลงมาปฏิบัติ ที่เริ่มต้นก็ไม่ได้ดุลเสียแล้ว !

ถ้ายุบโควตาผู้นำเหล่าทัพกับปลัดกระทรวง 20 เก้าอี้ไปรวมกับวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ก็น่าเชื่อว่าเหล่าผู้นำเหล่าทัพหรือปลัดกระทรวงก็ยังมีแต้มต่อเหนือกว่าคู่แข่งผู้เสนอตัวคนอื่นๆ อยู่ไม่น้อย ความระคายตาก็จะลดลง ความสง่างามที่ได้เข้ามานั่งในตำแหน่งจะดูดีขึ้น นี่ก็แค่คิดเร็วๆ ลองเสนอแนะวิธีดูให้เป็นตัวอย่าง ซึ่งไม่ต้องทำตามก็ได้มีวิธีอื่นอีกมากมายที่ทำได้

ปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีแค่ที่มาของส.ว.และเก้าอี้ที่ฝ่ายทหารขอจองแค่นี้หรอกครับ ที่จริงมีอีกหลายประเด็น ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายตลอดสัปดาห์มานี้ล้วนแต่น่ารับฟัง ที่สุดแล้วแม่น้ำทั้งห้าสายต้องใช้จินตนาการให้เยอะๆ ลองจำลองสถานการณ์ดูว่าหากนำไปใช้จริงก็เกิดปัญหาตรงไหน

หลักการที่กมธ.เขียนไว้ว่าห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นหลักๆ หลายข้อนี่ก็เหมือนกัน (มาตรา300) ผมติดใจข้อห้ามแก้ไขโครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา และการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

มองเผินๆ ก็น่าจะดี เพราะเดี๋ยวจะเหมือนยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ส.ส.เสนอแก้ตามใจตัวเองพวกมากลากไปเสียเละเทะ

มีเงื่อนผูกเอาไว้เพื่อป้องกันไว้ก็ดีครับ แต่อย่าเป็นเงื่อนตายประเภทเขียนคลุมห้ามแก้ไปเสียทั้งหมด เพราะมันจะเกิดปัญหาในอนาคต

เข้าใจว่าหลักการสองสภาตามร่างนี้ก็คือสภาผู้แทน กับ วุฒิสภา โดยที่ให้วุฒิสภาเป็นสภาตรวจสอบถ่วงดุลไปคานอำนาจฝ่ายบริหารและกลั่นกรองฝ่ายนิติบัญญัติอีกชั้น ดังนั้นที่มาของวุฒิควรจะแตกต่างจากส.ส. อันนี้เป็นไปตามหลักเดิมของปี 2540 และ 2550

คือถ้าเข้าใจพ้องกันแค่นี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร? แต่ปัญหาใหญ่ก็คือร่างฉบับนี้เพิ่มอำนาจให้กับวุฒิมากกว่าของเดิมน่ะสิครับ เพิ่มจนอาจจะกล่าวได้ว่าไม่ได้มีบทบาทแค่ตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น หากยังข้ามไปต่อรองในกระบวนการแต่งตั้งของฝ่ายบริหาร มีอำนาจต่อรองเสมือนพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคก็ว่าได้

ที่ยกตัวอย่างมานี้เพื่อให้เห็นภาพว่าอำนาจหน้าที่ของวุฒิฯตามร่างฉบับนี้มันไม่เหมือนเดิม ดังนั้นหากจะคงโครงสร้างอันนี้ไว้ห้ามแก้ไข ก็เท่ากับกมธ.ได้เปลี่ยนแปลง “หลักการ” สองสภา, องค์ประกอบและนิยามของการตรวจสอบถ่วงดุลเพิ่มขึ้นมาใหม่ ที่ไม่เหมือนหลักการเดิมที่วางไว้ของปี 2540/2550

เอาล่ะ พลังอำนาจของพรรคขุนศึกอำมาตย์ราชการอาจจะมีอยู่จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะคงรักษาสภาวะและพลังในระดับเดิม มีเจตจำนงเดิม(?) หรืออะไรเดิมๆ แบบที่เป็นมาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ถนอม ป๋าเปรม ขิงแก่ มาจนถึงแม่น้ำห้าสายดอกนะครับ ทุกฝ่ายและทุกกลุ่มพลัง (Interest Groups) ย่อมมีวันเพิ่มลด มีวันผงาดง้ำและหงอยเสื่อมลงไปทั้งนั้น การที่รัฐธรรมนูญจะคงโควตาเดิมๆ และอำนาจหน้าที่เดิมๆ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยมันไม่ได้ มันไม่สอดคล้องและรังแต่จะสร้างปัญหา

รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเขียนให้แก้ไขได้ในส่วนที่สมควรแก้ไข แต่ในส่วนหลักการ หากจะไม่ให้แก้ก็ต้องเป็นหลักการใหญ่จริงๆ ไม่ใช่แอบซ่อนเนื้อหาห้ามไม่ให้ลดอำนาจของฝ่ายราชการผ่านวุฒิสภาลง เพราะแบบที่เขียนไว้นี่เขียนให้ตีความคลุมไว้ยังไงพิกล

ในฐานะประชาชน (ตั้งชื่อคอลัมน์ว่าในนามพลเมืองมานานหลายปี พอเขานิยมมาใช้พลเมืองกันไอ้เราชักอยากเป็นประชาชนขึ้นมา-หุหุ) อยากเห็นผู้มีอำนาจในแม่น้ำทั้งห้าแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่ อะไรที่รื้อได้ก็ยังรื้อทันอยู่

อย่าให้รัฐธรรมนูญใหม่เป็นปมปัญหาวิกฤตการณ์ในอนาคต(อีก) สงสารประชาชนบ้างเถอะครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น