xs
xsm
sm
md
lg

สุราษฎร์ฯ ปั้นมวยไชยาเป็นมรดกของแผ่นดิน ส่งเสริมท่องเที่ยววิถีไทย-สร้างรายได้สู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุ่มงบประมาณส่งเสริมมวยไชยาเป็นมรดกของแผ่นดิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย พร้อมทั้งเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน ในขณะเดียวกัน ครูมวยชื่อดังเด้งรับเปิดสอนเพลงมวยยุคโบราณให้เยาวชนทั้งหญิง และชายกว่า 50 คน เข้าร่วมฝึกฝน เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดให้ยั่งยืนสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง

นายสุทธิ ศิลมัย ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายกิตติพันธ์ ปัญญอภิวงค์ นายกสมาคมมวยไชยา นายฌาน ดิษฐกระจันทร์ หรือครูพงษ์ นายศักย์ภูมิ จูฑะพงค์ธรรม หรือครูแหลม นางพรหมลี ฮั่นโต่น หรือครูแป้น ครูมวยไชยาชื่อดัง และแกนนำชุมชนในพื้นที่อำเภอไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้ร่วมแถลงข่าวที่โรงแรมวังใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ได้มีมาตรการทุ่มงบประมาณผลักดันมวยไชยาให้เป็นมรดกของแผ่นดิน และเป็นมรดกของคนอำเภอไชยา เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทยให้ยั่งยืน และเป็นการรองรับการท่องเที่ยวนานาชาติ โดยขณะนี้มีเยาวชนในอำเภอไชยากว่า 50 คน สนใจเข้าร่วมรับการฝึกฝนมวยไชยา เพื่อสืบทอดเจตนาให้มวยไชยาไม่มีวันสาบสูญ

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มวยไชยายังไม่ได้เป็นมรดกของแผ่นดิน หรือเป็นมรดกของคนไชยาอย่างแท้จริง ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดให้มวยไชยาเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการที่จะขับเคลื่อนเอามวยไชยามาเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาไปสู่การจัดการท่องเที่ยว โดยวางเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ว่าจะนำมวยไชยา มาเป็นการส่งเสริมอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น และเป็นการรองรับการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ซึ่งชาวต่างชาติให้ความสนใจจำนวนมากที่จะเข้ามาฝึกฝนศิลปะป้องกันตัว และเตรียมยึดเป็นอาชีพการชกมวย พร้อมกันนี้ ทางสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด จะขับเคลื่อนให้มวยไชยาเข้าสู่การพานิชย์ในอนาคตอีกด้วย

ด้าน นายศักย์ภูมิ จูฑะพงศ์ธรรม หรือครูแหลม ครูมวยไชยาชื่อดัง ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของมวยไชยา ว่า มวยไทยมีรูปแบบการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้นด้วยความเป็นชนชาติอิสระ และมีภูมิปัญญา วิชามวย ได้แตกแขนง แบ่งกลุ่ม แบ่งภาคกันออกไปอย่างเด่นชัด ทั้งท่ารำร่ายไหว้ครู รูปแบบลีลาท่าย่าง ท่าครู แม่ไม้ ลูกไม้ อีกทั้งความชำนาญเรื่อง การจัก สาน ร้อย ทำให้การคาดเชือก ถักหมัด มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกมากมาย จนมีคำกล่าวผูกเป็นกลอนว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา”

สำหรับความเป็นมาของมวยไชยา จากหลักฐาน และคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบชื่อจริงของท่าน ชาวเมืองเรียกขานว่า “ท่านมา” เล่ากันว่า ท่านเป็นครูมวยใหญ่ มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคต้นกรุงรัตน์โกสินทร์ ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา โดยไม่ทราบสาเหตุการมาของท่าน บางก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก หรือแม่ทัพ เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 165 ปี มาแล้ว ตรงกับช่วงสมัยรัชกาลที่ 3

พ่อท่านมา มีความเชี่ยวชาญวิชาการต่อสู้ ทั้งวิชาอาคมก็แก่กล้า มีตำนานเล่าขานเรื่องของท่านแตกต่างกันมากมาย เช่น มีเรื่องเล่าว่า มีช้างป่าได้เข้ามาทำลายพืชไร่ของชาวบ้านเสียหาย ไม่มีผู้ใดปราบได้ พ่อท่านมา ได้บริกรรมคาถา แล้วใช้กะลามะพร้าวครอบจับช้างนั้นไว้ ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธา ได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณท้องทุ่งแห่งนั้น และนั้นขนานนามว่า วัดทุ่งจับช้าง แล้วชาวบ้านได้นิมนต์ พ่อท่านมา ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้สืบมา

ศิลปะมวยของท่านได้รับการถ่ายทอด สืบต่อสู่ชาวเมืองไชยา และครูมวยต่อรุ่นต่อมาอีกหลายๆ ท่าน นับแต่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ท่านเป็นครูมวยของ ท่านหมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง) ครูนิล ปักษี ครูอินทร์ ศักดิ์เดช โดยเฉพาะ หมื่นมวยมีชื่อที่ได้รับราชทานนามนี้จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งนับเป็นเกียรติแก่ เมืองไชยา และมวยไชยายิ่งนัก

แม้ทุกวันนี้ยังมีนักมวย นักศึกษา และประชาชนเดินทางไปกราบไหว้ รำถวายมือ หน้าสถูปบรรจุอัฐิพ่อท่านมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง อ.พุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี อยู่เสมอ วัดทุ่งจับช้าง ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างมาหลายสิบปี ปัจจุบัน ได้มีพระภิกษุ (ลูกหลานครูนิล ปักษี) อยู่จำพรรษาที่วัด ดูแลพัฒนาบริเวณวัด สร้างหลังคาคลุมกันแดดฝน รักษาสภาพ สถูปพ่อท่านมา ที่ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยมีชาวบ้าน และลูกหลานที่สืบสายสกุลศรียาภัย ร่วมกันดูแล โดยจัดให้มีงานบุญใหญ่เป็นประจำในวันมาฆบูชาของทุกปี




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น