บุรีรัมย์ - ดีเอสไอ และ ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องครุภัณฑ์ออกกำลังกายและเครื่องนันทนาการกลางแจ้งที่บุรีรัมย์ภายใต้งบกรมพลศึกษา ปี 2556 เบื้องต้นพบราคาค่อนข้างสูงเกินจริง เตรียมรวบรวมข้อมูลส่งดีเอสไอเพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบราคากลางและท้องตลาดอีกครั้ง เผยดีเอสไอจะลุยตรวจสอบ 50 แห่งใน 9 อำเภอ ส่วน ป.ป.ท.ตรวจใน 7 อำเภอ ให้แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้
วันนี้ (10 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ประฐม นาคะเสงี่ยม ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการคดี สำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย น.ส.ฐาวิรันช์ คำนึงเนตร นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 3 นครราชสีมา และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องครุภัณฑ์ออกกำลังกายและเครื่องนันทนาการกลางแจ้ง ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้งบประมาณของกรมพลศึกษา ปี 2556 ตลอดทั้งวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยทีมเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และ ป.ป.ท.ที่ลงตรวจสอบในครั้งนี้ได้เข้าพูดคุยสอบถามข้อมูลกับ น.ส.วิมล ชอบสุข ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.บุรีรัมย์ โดย น.ส.วิมลให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวเป็นการจัดซื้อจากส่วนกลาง แล้วจัดส่งเครื่องมาติดตั้งตามพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลต่างๆ เท่านั้น ดังนั้น หน่วยงานในพื้นที่จะไม่ทราบขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อเลย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และ ป.ป.ท.ได้เดินทางลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนบ้านบุ-หนองเทา ต.ช่อผกา อ.ชำนิ ซึ่งเป็นอีกแห่งที่ได้รับมอบเครื่องออกกำลังกายในโครงการดังกล่าว พบว่ามีการติดตั้งเครื่องออกกำลังกายอยู่จำนวน 3 เครื่อง คือ ชุดเดินโยกแขน อุปกรณ์บาร์คู่ และอุปกรณ์บริหารเอว อยู่บริเวณสนามกีฬาใกล้กับประตูทางเข้า-ออกหน้าโรงเรียน พบว่ายังอยู่ในสภาพที่ใช้การได้
ส่วนราคาจากการตรวจสอบในสัญญาการจัดซื้อ พบว่าชุดเดินโยกแขนอยู่ที่ราคา 86,000 บาท อุปกรณ์บาร์คู่ 42,000 บาท และอุปกรณ์บริหารเอวอีก 45,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 170,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมการตรวจสอบส่งไปยังส่วนกลางเพื่อทำการตรวจสอบเปรียบเทียบราคากลางหรือท้องตลาดทั่วไปว่าเป็นราคาที่สูงเกินจริงหรือไม่
แต่จากการสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้ใหญ่บ้านชี้แจงว่า เป็นเพียงผู้รับมอบและให้ใช้สถานที่ติดตั้งเท่านั้น แต่ไม่ทราบขั้นตอนการจัดซื้อเนื่องจากได้มีผู้เสนอจะมอบเครื่องออกกำลังกายให้ โดยให้ทางชุมชนตัดสินใจว่าจะติดตั้งไว้จุดใด ซึ่งเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่เยาวชน และคนในชุมชนจะได้ออกกำลังกายจึงยอมให้ติดตั้ง โดยที่ไม่ทราบเกี่ยวกับการจัดซื้อใดๆ เลย
พ.ต.ท.ประฐม นาคะเสงี่ยม ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการคดี ดีเอสไอ ระบุว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในครั้งนี้จะมีการตรวจสอบทั้งเรื่องราคาในการจัดซื้อ คุณภาพมาตรฐานอุปกรณ์ และสถานที่ติดตั้งว่าอยู่ในจุดที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์แก่ชุมชนหรือไม่ ส่วนราคาการจัดซื้อจะนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับราคากลาง หรือราคาท้องตลาดอีกครั้ง
สำหรับการตรวจสอบโครงการนี้ ดีเอสไอจะตรวจสอบตามสัญญาเลขที่ 37/2556 ของกรมพลศึกษา กับเอกชนที่ชนะประมูลงานทั้ง 50 แห่งใน 9 อำเภอ ส่วน ป.ป.ท.จะตรวจสอบ 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 94/56 และ 23/56 ใน 7 อำเภอ ซึ่งคาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้