xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน เมื่อพิธีกรดังเฉียดคุก

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมือสัปดาห์ก่อน มีข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ที่น่าสนใจสุดในความคิดของผม คือข่าวคดีความการฟ้องหมิ่นประมาท ระหว่าง หนุ่มไฮโซแชมป์ นายจิรัฎฐ์ เพชรนันทวงศ์ กับชาย อานันท์ทวีป ชยางกูร ณ อยุธยา แถมงานนี้พ่วงเอาพิธีกรไปอีกสองคนคือนายวุฒิธร หรือ วู้ดดี้ และนายเฉลิมพล หรือ แจ็ค แฟนฉัน เข้าไปด้วย ลองมาดูคำพิพากษาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญกันครับ ขออนุญาตเน้นข้อความสำคัญด้วยตัวหนานะครับ

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. พ.ศ. 2558 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1229/2556 ที่บริษัท ไซดิคทิฟ อีเลเมนท์ จำกัด และนายจิรัฏฐ์ หรือแชมป์ เพชรนันวงศ์ เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง นายอานันท์ทวีป หรือชาย ชยางกูร ณ อยุธยาประธานกรรมการบริหาร บริษัท อานันท์ทวีป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทจัดงานประชาสัมพันธ์ กับพวก รวมทั้งจำเลยที่ 5 และ 6 นายวุฒิธร หรือวู๊ดดี้ มิลินทจินดา ผู้ดำเนินรายการ “เช้าดูวู๊ดดี้” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี และนายเฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ หรือ “ แจ๊ค แฟนฉัน” ผู้ดำเนินรายการร่วม เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และ 332

ตามฟ้องโจทก์บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 1- 6 มี.ค.56 จำเลยที่ 1-4 ได้ส่งจดหมายเชิญสื่อมวลชนมาทำข่าว ที่จำเลยที่1 และพวกได้เข้าแจ้งความโจทก์ที่กองบังคับการกองปราบปราม โดยจำเลยทั้งสี่ ร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ กล่าวหาว่า บริษัทโจทก์ที่1 จัดงานแสดงคอนเสิร์ตไม่เป็นไปตามที่โฆษณา และกล่าวหาว่า นายจิรัฎฐ์ โจทก์ที่ 2 โกงเงินค่าจ้างจัดออแกไนซ์ และประชาสัมพันธ์คอนเสิร์ต เมื่อ เดือน ธ.ค.55 และเมื่อวันที่ 8 มี.ค.56 จำเลยที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เช้าดูวู๊ดดี้” โดยมีจำเลยที่ 5-6 เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งใส่ความโจทก์เบี้ยวค่าจ้างการทำประชาสัมพันธ์งานคอนเสิร์ต รวมทั้งพาดพิงน้องสาวและบิดาโจทก์ ในทางที่เสื่อมเสีย ซึ่งการกระทำของพวกจำเลยทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายและให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันด้วย ชั้นพิจารณาจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์- จำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่า โจทก์มีนายจิรัฎฐ์ โจทก์ที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 56 จำเลยที่ 1ได้มีหนังสือเชิญสื่อมวลชนให้มาทำข่าวที่กองปราบปราม ในวันที่ 6มี.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่งจำเลยที่ 1ได้พาผู้ที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตเข้าแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์ ไม่ได้จัดงานตามรูปแบบที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ แล้วต่อมาวันที่ 8 มี.ค. 56 จำเลยที่ 1ได้ไปออกรายการที่จำเลย 5-6 เป็นผู้ดำเนินรายการอยู่

ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงจากการนำสืบและพยานหลักฐานที่ปรากฏ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งสื่อมวลชนให้มาทำข่าวในการแจ้งความ จากเหตุประกอบธุรกิจกับโจทก์แล้วได้มีการให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า โจทก์ชำระเงินค่าจ้างไม่ครบและไม่จัดงานคอนเสิร์ตตามที่ได้มาการโฆษณา โดยนำภาพถ่ายมาแสดงประกอบการให้ข่าว โดยมีจำเลยที่ 2-4 ที่เดินทางมาตามการนัดหมายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือภาพประกอบ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่การที่สื่อได้สัมภาษณ์จำเลยที่1 แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เชิญสื่อมวลชนมาโดยมุ่งหวังให้มีการแพร่หลายของข่าวในประการที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตหรือเป็นธรรมตามวิสัย เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากปัญหาธุรกิจส่วนตัวระหว่างโจทก์-จำเลย ซึ่งหากมีการกระทำใดที่มีการผิดสัญญาจริง จำเลยที่ 1 ก็สามารถที่จะยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ ซึ่งปรากฏว่าได้มีการฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพระโขนงแล้ว และคดีก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ (เน้นโดยผู้เขียน)

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ภาพถ่ายที่นำมาแสดงประกอบของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ใช้เป็นเอกสารประกอบการแจ้งความร้องทุกข์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ออกหนังสือเชิญสื่อมวลชน แต่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการนั้น เห็นว่าหนังสือออกโดยชื่อของจำเลยที่ 1 หากไม่ใช่จำเลยที่ 1 ย่อมจะไม่ยินยอม ขณะที่ปรากฏจ้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ก็ได้ไปกองปราบปรามตามวัน-เวลาที่ได้นัดหมายในหนังสือเชิญ ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 328 โดยมีจำเลยที่ 2-4 ร่วมกระทำความผิด

ส่วนที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปออกรายการ “เช้าดูวู๊ดดี้” ที่มีจำเลยที่ 5 -6 เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกัน แม้นายวุฒิธร จำเลยที่ 5 จะอ้างว่าเพียงแต่เรียกชื่อพี่ชายไฮโซน้ำหวาน แต่บุคคลทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นตัวโจทก์นั้น ศาลเห็นว่าจากการนำสืบจำเลยที่ 5 ที่ได้มีการเชิญจำเลยที่ 1 มาออกรายการเป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ย่อมแสดงให้เห็นว่าบุคคลทั่วไปจะเข้าใจว่าโจทก์คือใคร ซึ่ง แม้ว่าจำเลยที่ 5-6 ซึ่งเป็นสื่อมวลชนจะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และในฐานะสื่อมวลชน นอกจากต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำให้บุคคลอื่นหรือสังคมได้รับความเสียหาย ไม่ใช่เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในรายการโดยขาดการไตร่ตรองและวิเคราะห์ข้อมูลไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของบุคคลใด การกระทำของจำเลยที่ 1, 5 - 6 จึงเป็นการร่วมกันใช้ข้อความซึ่งมีลักษณะตำหนิ การตั้งคำถามในลักษณะสอดรับกัน และเป็นการใช้คำพูดที่มีลักษณะเป็นการใส่ความ ทำลายชื่อเสียงของโจทก์

จึงพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-6 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตาม ม.328 ประกอบ ม.83 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกระทงความผิด ให้จำคุกนายอานันท์ทวีป หรือชาย จำเลยที่ 1 รวมทั้งสิ้น 3 ปี และนายวุฒิธร หรือ วู๊ดดี้ ,นายเฉลิมพล หรือแจ๊ค จำเลยที่ 5- 6 ให้จำคุกคนละ 1 ปี
โดยเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของ นายอานันท์ทวีป หรือ ชาย จำเลยที่ 1, นายวุฒิธร หรือวู๊ดดี้ และนายเฉลิมพล หรือแจ๊ค จำเลยที่ 5-6 แล้ว เห็นว่า จำเลยที่1 เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดซึ่งทราบดีว่าโจทก์มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน และจำเลยที่ 1 สามารถใช้สิทธิ์ในการฟ้องคดีแพ่งอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องเรียกนักข่าวมาทำการแถลงข่าวหรือออกรายการของจำเลยที่ 5-6 แต่จำเลยกลับอาศัยโอกาสของตนในการเผยแพร่ข้อมูลให้แพร่หลายทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นผ่านสื่อมวลชน ทั้งนสพ.และโทรทัศน์ ที่มีการแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง นอกจากนี้จำเลยที่ 5-6 ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ จะต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่การแสวงหาโอกาสจากการประกอบอาชีพโดยการจัดรายการและจะต้องมีความรับผิดชอบในการสื่อสารข้อมูล หรือการเสนอข่าวต่อสื่อมวลชน เสนอข้อเท็จจริงด้วยการกลั่นกรองข้อมูลโดยรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อผู้ใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ,5-6 จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

นอกจากนี้ ให้จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาย่อใน นสพ. เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน , ไทยรัฐ , เดลินิวส์และมติชน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วย

นั่นหละครับ สาระสำคัญคำพิพากษา ขออนุญาตเน้นข้อความสำคัญด้วยตัวหนานะครับ เนื้อหามาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

งานนี้สะเทือนวงการสื่อ เพราะ พิธีกรรายการโทรทัศนส์ที่สัมภาษณ์จำเลยถูกศาลตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ด้วยเหตุผลข้างต้น ในฐานะสื่อการนำเสนอข่าวไม่ว่าเรื่องไหนควรมีการเช็คตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ดี ต้องระมัดระวังในการใช้คำพูด ต้องพยายามไม่พาดพิง ที่สำคัญ ประเด็นในการนำมาเสนอควรเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

ก็ถือว่าเป็นคดีที่เป็นบทเรียนสำหรับคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน ที่ต้องทำหน้าที่อย่างระมัดระวังมีสติในการทำงานอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม คดีนี้อยู่ในขั้นศาลชั้นต้น ยังน่าติดตามผลของคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ หรือ ศาลฎีกากันต่อไปครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น