xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารมลพิษหมอกควันแบบรวมศูนย์เห่ยๆ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

คนท้องถิ่นทางเหนือเขาพูดถึงปัญหาคุณภาพอากาศในฤดูแล้งมากว่า 15 ปีแล้วในยุคแรกๆ พยายามนำเสนอสภาพของแอ่งกระทะที่มีความกดอากาศต่ำ มลพิษที่เกิดไม่ระบายสะสมอยู่ในแอ่งนั้น จำได้ว่าเมื่อถึงฤดูนี้สื่อผู้จัดการรายวันนี่ล่ะที่นำเสนอค่าอากาศเกินมาตรฐานแล้วๆๆ แทบจะวันเว้นวันเพื่อบอกกล่าวสังคม ในตอนนั้นสื่อของรัฐหรือแม้แต่สื่อหลักอื่นบางค่ายยังไม่ลงกันเลยเพราะมองไม่เห็นว่าอันตรายจริง

เมื่อปี 2550 สมัยที่คุณไพบูลย์ ศิริวัฒนธรรมเป็นรองนายกฯ ก็เคยจับปัญหานี้ยกขึ้นให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ประเทศเรามันก็แบบนี้แหละ วาระแห่งชาติจึงเป็นแค่ปัญหารูทีนตามฤดูกาลที่มีหน่วยงานไม่กี่หน่วยเป็นเจ้าภาพไปตามประสา เช่น จังหวัดทำได้อย่างเก่งแค่ออกเสียงตามสาย ย้ำกับกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งไม่มีผลปฏิบัติจริงแล้วก็มีหน่วยสาธารณสุขที่ได้งบบ้างไม่ได้งบบ้างไปรณรงค์ ส่วนหน่วยงานที่ยืนพื้นเป็นหลักคือพวกกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ต้องจัดการไฟป่าอยู่แล้วจะทำอะไรได้เพราะเขตพื้นที่ดูแลมันก็แค่ดูไฟป่า ไม่ใช่ไฟบ้านที่จุดตามเรือกสวนไร่นา

มลพิษทางอากาศหมอกควันภาคเหนือมาจากแหล่งกำเนิดหลากหลายแต่ที่มีพลังทำลายเป็นแหล่งใหญ่สุดคือจากภาคเกษตรและการแอบจุดไฟเผาป่าเพื่อหวังเห็ดถอบ/ผักหวานที่จะเป็นรายได้สำคัญหลังสงกรานต์ ด้วยความที่มีบ้านอยู่ในเมืองเชียงใหม่บ่นบ้ากับปัญหานี้มาทุกปีนับแต่ 25443-44 ก็ว่าได้ สังเกตเห็นได้ชัดว่าปัญหามันหนักขึ้น ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเป็นสองสามเท่า ทั้งๆ เมื่อสิบปีก่อนแค่แตะ 120 เราก็รู้สึกว่ามากแล้ว

ทั้งๆ ที่เรารับรู้เรื่องนี้มานานแล้ว แต่ยิ่งอยู่กลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ เหมือนกับว่าประเทศเราไม่สามารถบริหารจัดการหรือป้องกันอะไรได้เลย แปลกดีไหม?

ข้อมูลและการศึกษาวิจัยมีมากมาย ถ้าไปย้อนดูการจัดประชุมสัมมนาว่าด้วยปัญหาหมอกควันทั้งระดับชาติและนานาชาติมากมายนับครั้งไม่ถ้วน มันก็ชัดเจนกันแล้วว่าอากาศพิษสัมพันธ์กับค่าฮอตสปอต ต้นตอสำคัญมาจากการเผาเพื่อการเกษตรและเผาป่าเพื่อหาประโยชน์ เพื่อสร้างแปลงเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ และก็เพื่อเตรียมการเพาะปลูกฤดูใหม่ เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของมลพิษชนิดนี้...แต่ก็ไม่เคยมีการลงมือแก้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เพราะถ้าแก้ ปัญหามันต้องดีขึ้นๆ ไม่ใช่เลวลงๆ อย่างที่เห็น

เมื่อสามสี่ปีก่อนที่ปัญหาหมอกควันภาคเหนือรุนแรงอากาศย่ำแย่ ดัชนี 300-400 ต่อเนื่องหลายวัน ก็เพราะในปีนั้นราคาข้าวโพดในตลาดโลกไต่สูงบริษัทยักษ์ใหญ่เร่งรับซื้อ การเปิดพื้นที่ป่าเขาเพื่อทำไร่ข้าวโพดขยายตัวจนภูเขาเมืองน่านหัวโล้นไปทั้งแถบ ย้อนกลับไปดูสถิติดัชนีและภาพถ่ายดาวเทียมได้เลยว่ามันสอดสัมพันธ์กันเช่นไร...แล้วข้าวโพดนี่ไม่เหมือนการเผาป่าเพื่อปลูกยางพาราที่ทำแค่ครั้งแรกครั้งเดียว แปลงข้าวโพดจำเป็นต้องเผาตอซัง พื้นที่เดิมๆ จึงเป็นแหล่งผลิตซ้ำมลพิษหนาแน่นขึ้น นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญผนวกเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเดิมๆ ที่ไม่เคยมีการแก้ ซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นอีก

แต่เราก็ยังแก้ปัญหากันแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา พอเริ่มใกล้กุมภาพันธ์ก็มีการประชุมของจังหวัดบอกกล่าวกับหัวหน้าหน่วยราชการว่าขอความร่วมมืออย่าเผา หุหุ ... ไม่มีใครเคยเชื่อ ขนาดปีหนึ่งพวกยังเผาอยู่หลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังห้องผู้ว่าฯ นั่นเลย นั่นเพราะระบบบริหารราชการรวมศูนย์แบบไทยๆ ไม่มีใครฟังใครกันในพื้นที่ ทุกคนต่างก็มีนายของตัวเองอยู่ที่กรุงเทพฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแค่เจว็ดไม่มีอำนาจจริง

ปัญหาหมอกควันจึงไม่ใช่เรื่องวาระแห่งชาติ วาระจังหวัด หรือวาระร่วมของหน่วยงานอะไรที่มีการแปะประกาศไว้ในห้องสัมมนา ที่แท้-มันเป็นแค่งานรูทีนของหน่วยงานบางหน่วย ประเทศของเราไม่ได้เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่เอางบประมาณ/โครงการเป็นตัวตั้ง บางหน่วยงานเคยมีงบประมาณรณรงค์ผ่านสื่อท้องถิ่นห้ามเผา มาบางปีไม่มีงบให้ก็ไม่ต้องทำ

แล้วก็แปลกที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องกับพิบัติภัยโดยตรงอย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแทนที่จะเป็นเจ้าภาพหลักของปัญหานี้ กลับไม่มีบทบาทอะไรเลย เห็นแค่ช่วยส่งเครื่องสูบน้ำพ่นน้ำมาช่วยเครื่องสองเครื่องซึ่งมันเป็นแค่การแก้ปัญหาปลายเหตุไปแล้ว กรมป้องกันฯ ที่ทำอะไรแปลกๆ ฤดูหนาวอากาศเย็นสบายนักท่องเที่ยววิ่งมาหากลับประกาศภัยหนาวเร่งรัดจัดซื้อผ้าห่มแจกทั้งๆ ที่บางจุดหนาวแค่สองสามวันเป็นระลอกๆ แต่พอเกิดมลพิษหมอกควันเป็นภัยต่อสุขภาพประชาชนจริงๆ กลับไม่คิดสนใจจะเสนอให้ประกาศภัยพิบัติอะไร หรือเพราะว่าการจัดซื้อหน้ากากอนามัยกระทรวงสาธารณสุขเขาจับจองการซื้อแจกอยู่แล้ว พอไม่ได้ใช้เงินเลยไม่คิดประกาศ-หือ?

ระบบการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ของเราแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหน่วยงานยั้วเยี้ยมากมายในพื้นที่ ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลยทั้งๆ ที่ปัญหาได้เกิดต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ถ้าเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งไม่แน่ว่าเขาอาจอพยพผู้คน คนป่วย เด็ก คนแก่ไปดูแลแล้ว ระบบเห่ยๆ ของเราเป็นระบบรวมศูนย์กันแบบเบี้ยหัวแตก ตอนที่ตั้งเรื่องขอตำแหน่งในพื้นที่เพิ่ม เป็นเขต เป็นสำนักเอาซี 9 ซี 10 งบประมาณมาอ้างว่าเพื่อดูแลประชาชนในท้องที่ใกล้ชิดขึ้น แต่พอเกิดเหตุต้องรอเจ้านายกรุงเทพสั่งการอยู่ดี

มันน่าตลกมากกับข่าวที่นายกรัฐมนตรีต้องสั่งผ่าน ผบ.ตร. มายังผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ให้ตำรวจเร่งรัดจับกุมผู้เผาป่าเพื่อช่วยแก้ปัญหาหมอกควัน แล้วก็น่าตลกยิ่งกว่าที่ก่อนหน้านี้ มกรา-กุมภา ไปจนถึงต้นเดือนมีนาคมที่ปัญหาเริ่มเกิด ตำรวจในภาคเหนือไม่เคยสนใจจะจับกุม หรือไปป้องปรามเหตุอะไรเลย คนอยู่ในพื้นที่น่ะเขารู้กันทั้งนั้นล่ะว่าป่าตรงจุดนี้จะต้องมีคนไปเผากันทุกปี ใครเป็นใครเห็นๆ กันอยู่ทั้งนั้น แต่ตำรวจก็เหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับกระบวนการป้องกันปัญหาหมอกควัน จนกระทั่งมีคำสั่งจากกรุงเทพฯ ลงมา ตำรวจภาคเหนือจึงขยับกันอย่างเอิกเกริก เพียงสองวันก็มีการจับคนเผาข้างทางที่ดอยสะเก็ดเรียกนักข่าวไปทำข่าวเรียบร้อย

นายกรัฐมนตรีพูดในรายการพบประชาชนเมื่อวันศุกร์ถึงปัญหาหมอกควัน รุ่งขึ้นสื่อพาดหัว ""ประยุทธ์" สั่งคุมเข้มห้ามเผาป่า ลั่นลากตัวคนผิดมาลงโทษ"

วันศุกร์นายกฯพูด พอเช้าวันจันทร์รัฐมนตรีปนัดดา ดิศกุลเรียกผู้ว่าฯ 8 จังหวัดประชุมด่วนที่เชียงใหม่ โถๆ ครับ ประชุมเร่งรัดแก้ปัญหาตอนปลายเดือนมีนาคมนี่อ่ะนะ?

เอาล่ะ ทางหนึ่งก็ต้องยกนิ้วให้กับการลงมาดูแลของคนระดับนายกรัฐมนตรีและยังดีที่ภาครัฐยังพอขยับอยู่บ้างดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่อีกทางหนึ่ง มันก็คือรูปธรรมที่จับต้องได้ของความล้มเหลวระบบบริหารราชแผ่นดินไทยอย่างถึงที่สุด !

ปมปัญหาที่ประชาชนคนไทยในต่างจังหวัดว้าเหว่อย่างถึงที่สุดก็คือ กลไกราชการในระดับพื้นที่ไม่สามารถสั่งการ/บูรณาการ/ช่วยกันดูแลปัญหากันได้เลยหรือ ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีต้องมาสั่งการเอง (เพราะผู้ว่าฯประชุมสั่งการเป็นแค่การสั่งน้ำมูกน้ำลายตำรวจไม่ทำ เกษตรไม่ช่วย กำนันผู้ใหญ่บ้านเผาเองหรือเปล่า?)

มองย้อนหลังไปสิบปีหลังจากปัญหาหมอกควันเริ่มถูกพูดถึงและเคยถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ เราต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่มีมาตรการอะไรที่มีน้ำหนักเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเลย ที่เห็นก็แค่มาตรการปลายเหตุเฉพาะหน้า เอาเครื่องบินไปตักน้ำดับไฟป่า ส่งเครื่องบินทำฝนหลวงกลางหน้าแล้งจัดที่ไม่มีความชื้นในอากาศเลย แล้วก็มีรถน้ำไปฉีดพ่นขึ้นฟ้าพอประทังนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็รอพายุฤดูร้อนหรือฝนสงกรานต์มาช่วยปัดเป่า

ไม่มีใครคิดไปเจรจากับบรรษัทยักษ์ใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังภูเขาหัวโล้น และการขยายอย่างบ้าคลั่งของไร่ข้าวโพดและการเผาตอซัง ไม่มีหน่วยงานไหนคิดมาตรการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษ สร้างกติกาใครเป็นผู้ก่อ-ใครได้ประโยชน์คนนั้นต้องจ่ายเพิ่ม

ไม่มีใครคิดเรื่องการช่วยเกษตรกรที่ต้องกำจัดวัชพืชเตรียมแปลงปลูกโดยใช้วิธีอื่นแทนการเผา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีอยู่ในบางปีที่มีมาตรการนี้ (ทำกันวงแคบๆ ไม่ใหญ่มาก) แล้วก็เงียบหายไป ถ้ารัฐอุดหนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้วิธีเผาอย่างจริงจัง รัฐจ่ายเงินส่วนนี้ไปแลกกับต้นทุนสุขภาพประชาชนเรือนล้าน แถมได้รายได้จากการท่องเที่ยวกลับมา มันคุ้มค่ากว่ากันเยอะ

ระบบบริหารรวมศูนย์เห่ยๆ ที่มุ่งไปที่อธิบดีเจ้านายตัวเอง ทำงานโดยใช้งบประมาณ/โครงการเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอาปัญหาเป็นศูนย์กลาง ระบบเช่นนี้ทำร้ายประชาชนในต่างจังหวัดมานานมากแล้ว พอเกิดเหตุใหญ่ๆ แบบนี้ทีหนึ่ง ความห่วยของระบบมันก็ประจานตัวเองทีหนึ่ง

พอฝนมา หมอกควันหาย ก็ลืมๆ กันไป ทั้งเรื่องหมอกควันและเรื่องปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของราชการรวมศูนย์

รอปีหน้าค่อยมาบ่นกันใหม่ !
กำลังโหลดความคิดเห็น