xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่จะยังพอหวังได้บ้าง

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เคยพูดเสมอว่าการปฏิรูปหากประชาชนเห็นพ้องกันจริงๆ สามารถเริ่มทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ผู้มีอำนาจมาแต่งตั้งหรือต้องมีอำนาจรัฐเท่านั้น ในบางเรื่องบางประเด็นหากเป็นความต้องการของมหาชนแล้วไซร้อย่างไรเสียผู้มีอำนาจก็ต้องยอมรับฟังและปรับเปลี่ยนได้เสมอเช่นกรณีเสียงคัดค้านสัมปทานพลังงานรอบ 21 เป็นต้น

การปฏิรูปที่กำลังดำเนินไปของแม่น้ำห้าสายหลังการรัฐประหารที่ว่ามีกรรมาธิการแยกไป 18 คณะทำการปฏิรูปกว้างขวาง 18 ด้าน ไม่ใช่จำกัดเฉพาะแค่วงสปช.เท่านั้น เพราะเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในบางประเด็นก็คาบเกี่ยวกับข้อเสนอปฏิรูปด้วย ผ่านไตรมาสแรกของปีมา เราก็เริ่มมองเห็นอะไรรางๆ ได้ว่าส่วนใดจะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางส่วนใดที่ไม่ได้ขยับอะไรแตกต่างจากที่เคยและส่วนใดที่ส่อแววว่าอาจจะถอยหลัง

อย่างเช่นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจซึ่งเคยพูดกันมามากมาย เลิกกระจุกเน้นกระจายทำให้ส่วนกลางเล็กลงแต่พอเอาเข้าจริงทั้งกรรมาธิการรธน.และสปช.ก็ยังไม่เรียกว่าเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างจริง นั่นคือระบบบริหารราชการแผ่นดินยังเป็นลักษณะรวมศูนย์เช่นเดิม อาจมีเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นบ้างคือโครงสร้างระดับภาค (หรือถ้าไม่คุ้นให้นึกถึงมณฑลเทศาภิบาลไว้) ซึ่งมันก็คือการปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลางเป็นการภายใน การมีโครงสร้างภาคหมายถึงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรืออธิบดีเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ตำแหน่งและไม่ใช่ตำแหน่งลอยแบบก่อน มีเนื้อหาและมีอำนาจจริงใหญ่โตอยู่ในมณฑลภาคของตัว และก็ไม่ใช่แค่นั้นระบบงบประมาณที่เดิมเสนอขึ้นโดยกรมกองต่างๆ ต้องแชร์ให้กับการเสนองบประมาณโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งด้วย

ที่กล่าวมาก็คือการปฏิรูปภายในระบบรวมศูนย์ไม่ใช่การปฏิรูปกระจายอำนาจ การเกิดโครงสร้างระดับภาคขึ้นมาจะทำให้การรวมศูนย์มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะว่าการเสนอแผนและงบประมาณผ่านกรมแบบเดิมมันล้าหลังและทอดทิ้งพื้นที่ออกไปทุกทีๆ ...ในสถานการณ์ที่กระแสเรียกร้องกระจายอำนาจเริ่มดังขึ้นส่วนกลางจึงต้องปรับตัวเองดังที่เห็น และที่สำคัญนี่เป็นหมากที่แยบยลทีเดียว เพราะฝ่ายประจำจะสามารถสกัดการแทรกแซงของนักการเมืองอย่างส.ส.หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่เคยนั่งหัวโต๊ะคุมงบจังหวัดได้

ไม่ใช่แค่นั้นนี่คือหมากที่วางดักไว้ล่วงหน้าสำหรับการถ่วงดุลและคานการกระจายอำนาจในอนาคต ต่อให้จังหวัดไหนมีกระแสกระจายอำนาจสูงๆ สามารถแยกออกไปได้จริงรัฐธรรมนูญได้เขียนดักเอาไว้แล้วว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่กระจายไปแล้วนั่นน่ะจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับ “ภาค” ด้วย

“ภาค” หรือที่ผมมักจะคิดในใจเสมอว่ามันคือมณฑลเทศาภิบาลเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มากับการปฏิรูปครั้งนี้ แต่เป็นของใหม่ของฝ่ายประจำ คือข้าราชการส่วนกลาง พวกซี 8 ซี 9 ผู้ว่าทั้งหลายดีอกดีใจมากกว่าใครอื่น

จะคาดหวังได้แค่ไหนยังไม่รู้ชัดคงต้องรอดูองค์ประกอบอื่นๆ ของการปฏิรูปใหญ่ทั้งกระบวนควบคู่ไปด้วย

กระแสปฏิรูปน่ะมาแล้วแน่ๆ เฉพาะภาคประชาชนเองก็ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเก่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่สลัดทิ้งภาวะสองขั้วไปแล้ว

ผมพบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่สาวกพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณเพื่อไทย หรือจำนวนไม่น้อยที่เคยไปร่วมเป่านกหวีดที่แสดงท่าทีรับไม่ได้กับการที่รัฐบาลทำสิ่งไม่เข้าท่า หรือกระทั่งกระแสไม่เห็นด้วยกรณีสนช.ให้ลูกเมียรับตำแหน่ง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ส.ส./ส.ว.ชุดก่อนๆ หน้าทำกันมา) ประชาชนพลเมืองที่ยึดหลักการความถูกต้อง อยากเห็นบรรทัดฐานใหม่แบบนี้แหละที่จะทำให้การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงของสังคมนี้เป็นจริงขึ้นมา ต่อให้ผู้มีอำนาจไม่ว่ามาจากเลือกตั้งหรือรัฐประหารไม่เอาด้วยก็ตาม

พลังอำนาจของประชาชนพลเมืองที่เป็นเสรีจริงๆ และจะเป็นเสียงที่ตรวจสอบถ่วงดุลเสนอแนะอำนาจภาครัฐในยุคต่อไปมีความหมายแน่ ผมเชื่อเช่นนั้น

สิ่งที่ตัวผมสนใจเป็นพิเศษในขณะนี้คือ “สมัชชาพลเมือง” ฟังจากที่มีการแถลงกันก่อนหน้าเหมือนอยากจะให้เป็นพื้นที่ของฝ่ายประชาชนไปดุลอำนาจของฝ่ายการเมืองและราชการ แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดอาจจะเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชาก็ได้หากกฎหมายลูกเขียนให้สมัชชาพลเมืองเป็นแค่เวทีแสดงงิ้วเปิดรูระบายให้ประชาชนไปแสดงกันโดยไม่ได้มีผลอะไรกับกระบวนการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เท่าที่ได้ยินมามีร่างจากฝ่ายต่างๆ ชิงเสนอกันไป อีตรงนี้แหละที่น่าห่วง

อันที่จริงภาคประชาสังคมเขามีความคิดเรื่องยกระดับความเข้มแข็งของประชาชนให้เป็นเหมือน “อำนาจที่สี่” มาก่อนหน้าแล้ว อย่างพวกที่ผลักดันจังหวัดจัดการตนเอง-กระจายอำนาจได้เสนอให้มีสภาพลเมืองเป็นโครงสร้างอำนาจหนึ่ง ไปคานสภานักการเมืองที่มาจากเลือกตั้งและฝายบริหาร มิฉะนั้นการเรียกร้องกระจายอำนาจก็จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาไปเสียเปล่า กระจายอำนาจแบบที่ไม่เพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองท้องถิ่นคงยิ้มร่ารับส้มหล่นแต่พวกเดียว

ที่ผ่านๆ มาเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มักจะมองผ่านสายตาของผู้เล่นในเกมอำนาจคือมองผ่านนักการเมือง มองผ่านนายทุน มองผ่านฝ่ายประจำ หรือชนชั้นได้เปรียบเป็นสำคัญ โฟกัสแรกๆ ที่ถูกจับจ้องวนเวียนแต่หมวดที่มาของอำนาจ มีส.ส.ได้กี่คน ระบบแบ่งเขตอย่างไร คนเดียวเบอร์เดียวหรือหลายเบอร์ มีลากตั้งแต่งตั้งมั้ย ในบรรดาผู้อยู่ในโครงสร้างใหญ่เขาคานกันอย่างไร ฯลฯ

ไม่ค่อยมีใครโฟกัสเริ่มจากประโยชน์และอำนาจพื้นฐานของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสักเท่าไหร่ แม้กระทั่งเมื่อตอนรัฐธรรมนูญ 50 ก็ไม่ค่อยมีนักวิชาการ นักต่อสู้หรือนักอะไรสนใจมองหมวดที่ 3 สิทธิเสรีภาพของประชาชนนัก พอเริ่มปั๊บก็มุ่งไปมองว่าอำมาตย์ฟาดฟันกับนักการเมืองกันอย่างไร มีแต่นักวิชาการที่คอยคิดแทนนักการเมือง ไม่ค่อยมีนักวิชาการที่คิดแทนประชาชนสักเท่าไหร่

การชักคะเย่อกันระหว่างพลังอำนาจเดิมๆ ที่หมายถึง ทุนใหม่เก่า/นักการเมืองแต่ละฝ่าย/ฝ่ายประจำ/เทคโนแครตและรวมถึงฝ่ายวิชาการที่ใกล้ชิดวงจรอำนาจ มันก็เรื่องหนึ่ง รอบนี้ท่าทางฝ่ายประจำวางหมากบี้ฝ่ายการเมืองค่อนข้างชัด ซึ่งก็คงจะได้ว่ากล่าวกันเมื่อเห็นร่างฉบับเต็ม แต่ก็นั่นล่ะมันก็แค่มิติเดียวที่เราท่านถูกหลอกให้หลงเล่นไปกับมันมานาน ปัญหาการเมืองในหลายปีมานี้เป็นเรื่องการชักคะเย่อของดุลอำนาจสองขั้วนักการเมืองนายทุนขุนศึกอำมาตย์ข้าราชการที่แทบไม่ค่อยเกี่ยวกับอำนาจและประโยชน์ของประชาชนจริง

สำหรับตัวผมแล้ว, ผมสนใจการเพิ่มพลังอำนาจของฝ่ายประชาชนมากที่สุดในตอนนี้ ถ้าประชาชนเข้มแข็งแบบที่กลุ่มพลังงานเขาเป็น หรือแบบที่ใครขึ้นมาหากโกง ทำอะไรไม่เข้าท่าก็จะคัดค้านโดยไม่สนพรรคหรือตัวบุคคล ฯลฯ หากมีโครงสร้างที่รองรับและเอื้อการเติบโตของพลังส่วนนี้จริงๆ ประเทศนี้ก็ยังพอมีหวังอยู่บ้าง

อันดับแรกอยากเห็นกฎหมายลูกที่ว่าด้วยสมัชชาพลเมืองที่สามารถเหนี่ยวรั้งตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของทุกฝ่ายได้จริง (ส่วนประเด็นว่าด้วยอำมาตย์วางสนุ้กนักเลือกตั้ง ตีกรอบไม่ให้ขยับอะไรนั่นก็เป็นอีกเรื่อง คอยฟังนักการเมืองเขาโวยกันดีกว่าเสนอหน้าไปเถียงให้แทน)

ให้ประชาชนมีอำนาจจริงฟังดูเหมือนง่ายแต่ที่จริงน่ะยาก จริงใจไม่จริงใจดูจากร่างกฎหมายลูกว่าด้วยสมัชชาพลเมืองนี่ล่ะ ว่ามันจะก้าวหน้าขนาดเป็นอำนาจที่ 4 ที่เสริมเข้าไปในโครงสร้างการเมืองยุคใหม่ หรือเป็นแค่เวทีรูระบายหลอกเด็กเล่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น