xs
xsm
sm
md
lg

ร้านขาแช่ลำธารกับประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เรื่องราวของร้านอาหารที่จังหวัดเชียงใหม่รุกล้ำจัดโต๊ะเก้าอี้ไปตั้งอยู่กลางลำธารให้ลูกค้าเปลือยเท้าแช่น้ำใสเย็นท่ามกลางธรรมชาติพงไพรซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมยื้อกันมานานหลายเดือนจนเรื่องไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ออกมาอนุโลมให้ทำในนามของการส่งเสริมการท่องเที่ยวมันไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตยตามที่พาดหัว แต่พอลำดับเรื่องราวลึกลงๆ ไปผมพบว่ามันเกี่ยวครับ....

การรุกล้ำลำธารไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องของการล้ำลำน้ำสาธารณะเท่านั้น แต่กรณีนี้ยังเกี่ยวพันกับความคิดพื้นฐานของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่คิดว่าที่สาธารณะแบบนี้ใครก็เข้าไปรุกล้ำทำประโยชน์ได้ ลำธารมันก็ไหลของมันไม่เห็นเป็นไรเลยถ้าจะไปตั้งเก้าอี้นั่งแล้วก็เก็บขึ้นมา

หากมีการนับกันจริงๆ เชื่อว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมอาจจะน้อยกว่าแบบโดนทิ้งห่างจากฝ่ายเสียงที่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้ผ่านๆ ไปเถอะ ก็แค่ห้อยขาในน้ำสนุกดี เพราะว่าสังคมไทยไม่เคร่งครัดเอาจริงเอาจังกับสิทธิส่วนรวมหรือสมบัติส่วนรวมมากนัก

สิทธิส่วนรวม ที่แปลว่า เราเองก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมด้วยนะ ! มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคยเลยสำหรับสังคมไทย

ถนนหนทางทางเท้าฟุตบาท เราเคยรู้สึกไหมว่ามันเป็นสมบัติที่เรามีส่วนเป็นเจ้าของ? คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่เคยรู้สึกผิดปกติกับป้ายโฆษณาที่ยึดเสาไฟฟ้าริมทางไปติดไว้แถมยังล้ำพื้นที่ฟุตบาทอีกต่างหาก มองเห็นป้ายมาแปะตั้งไว้ก็งั้นๆ เขาขายอะไรเหรอ เอ๊ะ ถูกดีนะ...แล้วก็ขับรถผ่านไป

ถนนปากซอยทำเลดีพวกก็ทยอยมายึดเป็นคิวรถแล้วก็เป็นพื้นที่ทำมาหากินเฉพาะกลุ่มไป กลายเป็นพื้นที่มีมูลค่าหากใครต้องการเข้ามาร่วมทำมาหากินก็ต้องจ่ายให้กับผู้อ้างความเป็นเจ้าของคิว ทั้งๆ ที่ถนนตรงนั้นมันเป็นที่ของส่วนรวม...มีใครสักกี่คนที่รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องนะ เพราะนี่เป็นสมบัติส่วนกลางที่ฉันมีส่วนเป็นเจ้าของร่วม

สำนึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของในสมบัติสาธารณะแบบที่ว่านี่แหละครับคือรากพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ อะไรที่เป็นสมบัติของรัฐเช่นดินน้ำป่าไม้ทรัพยากรที่แท้ก็คือสมบัติร่วมกันของประชาชนในชาติ ยิ่งเป็นพวกสาธารณูปโภคพื้นฐานถนนหนทางเสาไฟฟ้าแล้วยิ่งชัดเจนเพราะมันสร้างมาจากภาษีของประชาชน

สำนึกสาธารณะ กับ สำนึกความเป็นเจ้าของสิทธิ ดูให้ดีๆ ยังเป็นเรื่องเดียวกันกับความเท่าเทียมเสมอภาคของประชาชนแต่ละคนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย

สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมบัติประดามีในแผ่นดินนี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ทางทำกินทั้งหลายของไพร่ฟ้าประชาชนตลอดถึงสิทธิในการอยู่อาศัยในขอบเขตขัณฑสีมามาจากการประทานลงมา...นี่เป็นชุดความคิดดั้งเดิมของสังคมไทยเมื่อ 100 ปีก่อน แต่เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯท่านทรงเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยจึงทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นไม่เสียเลือดเนื้อเหมือนบ้านเมืองอื่นทั้งๆ ที่หากจะสู้กันจริงไม่แน่นะคณะราษฎรอาจไม่มีแผ่นดินอยู่กันทั้งก๊กก็เป็นได้ แต่ปรากฏว่าแม้บ้านเมืองจะเปลี่ยนระบอบมาเป็นประชาชนเป็นใหญ่ แต่อำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของประชาชนจริงตามที่ทรงว่าไว้ในจดหมายจริงๆ

ระบอบประชาธิปไตยของเราจึงเป็นแต่เปลือก มีแค่รูปแบบแต่ไม่ได้เอารากปรัชญาที่เป็นสำนึกพื้นฐานมาจริงๆ

ความคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจ มีสิทธิที่เท่าเทียม ไม่ได้มีอยู่จริงมานานแล้วตั้งแต่แรกเริ่ม 2475 มาเลย เพราะมันเป็นแค่เปลี่ยนอำนาจเบ็ดเสร็จจากกษัตริย์มาอยู่ในมือของคณะและระบบราชการแทน

ในยุคก่อนโน้นจึงมีการประกาศ “สิทธิ” ที่ไม่เท่าเทียมอยู่เหนือราษฎรทั่วไปสืบทอดกันมาจากยุคอำมาตย์ศักดินา เช่น ประกาศ “เขตราชการห้ามเข้า” “ใช้ในราชการเท่านั้น” ก็คือว่า ความคิดว่าอะไรๆ ก็เป็น “ของหลวง”ราษฎรไม่เกี่ยวมันข้ามระบอบสืบทอดกันอยู่ต่อผ่านระบบราชการรวมศูนย์ที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร

คำว่า “ของหลวง” ก่อนปี 2475 เป็นของหลวงจริงๆ แต่หลัง 2475 ศัพท์คำว่าของหลวงควรจะหมายถึงสมบัติร่วมของชาติและประชาชน แต่ทว่ามันกลับเป็นความหมายแค่สิทธิของระบบราชการหรือรัฐบาลจะจัดการชาวบ้านไม่เกี่ยวไปเสียฉิบ

คนไทยทั่วไปทำยังไงหรือครับ ก็มีความรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิเฉพาะเขตบ้านรอบรั้วของตัวเท่านั้น พอหลุดออกจากรั้วบ้านตัวเองไปสู่พื้นที่สาธารณะที่เป็นของหลวงมันไม่ใช่ของฉันแล้ว ฉันไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับเจ้านายท่าน อาทิ ถนนหนทางก็ขึ้นกับกรมทาง แม่น้ำไม่ไปแตะต้องอะไรขึ้นกับเจ้านายกรมเจ้าท่า ป่าไม้ภูเขาไม่ใช่ของฉันขึ้นกับหลวงท่านเจ้านายกรมป่าไม้ กิจการต่างๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้าหลวงพ่อเมืองผู้ปกครองคิดจะทำกัน

สำนึกสาธารณะของสังคมไทยจึงอ่อนแอเรื่อยมาเพราะรากเหง้าของเราเป็นแบบนี้ เปลี่ยนแปลงแต่เปลือกพิธีกรรม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ความคิดความเข้าใจของคน

สมบัติสาธารณะเป็นเรื่องของเจ้านายหรือหน่วยราชการเป็นผู้รับเหมาดูแลไป ไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน มันจึงกลายเป็นโอกาสช่วงชิงของหลวงมาทำเงินให้กับตน มีโอกาสจองฟุตบาทไว้ก็จองอ้างสิทธิ์แถมให้เช่าต่อได้อีก เห็นที่ว่างๆ รีบไปตั้งป้ายโฆษณาเสียเลย แล้วก็มีการจ่ายเงินจ่ายทองให้กับหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ เป็นระบบทำมาหากินบนสมบัติส่วนรวมไปเลย ไม่มีใครว่าอะไรเพราะคนส่วนใหญ่เห็นเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นโอกาสของเขา ว่างั้นไปโน่นเลย

ต่อไปร้านอาหารริมลำธารแต่ละอำเภอจะเลียนแบบร้านตั้งโต๊ะเอาขาราน้ำกันเป็นทิวแถว อ้างว่าที่โน่นทำได้ ผู้ว่าฯอนุญาตแล้ว ทำไมฉันจะส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้างไม่ได้ คนไปเที่ยวก็ไม่คิดอะไรสนุกเสียอีกได้นั่งกินดื่มกลางลำธาร แล้วเชื่อเหอะต่อไปเจ้าของร้านเดิมเจ๊งก็จะขายสิทธิการตั้งโต๊ะห้อยขาแช่น้ำในลำธารให้กับผู้ลงทุนเจ้าใหม่ต่อๆ ไปอีก

ที่ของหลวงใครมาก่อนได้ก่อน..ไม่ใช่ที่ของประชาชนใช้ร่วมกันซะที่ไหน !

อีแบบนี้แหละบ้านเมืองเราจึงมีของสาธารณะส่วนรวมน้อยลงๆ เรื่อยๆ ฟุตบาทก็มีน้อยลง พื้นผิวถนนก็มีน้อยลง ลำธารให้คนส่วนรวมได้ใช้ร่วมกันก็มีน้อยลง แม้กระทั่งผืนน้ำทะเลก็มีการปักปันสิทธิทำมาหากินกันหมดแล้ว

นักการเมืองอาศัยวิธีคิดเรื่อง “ของหลวง” “ที่หลวง” “เงินหลวง” แบบนี้แหละหลอกลวงชาวบ้าน เอาเงินงบประมาณจากภาษีซึ่งที่แท้เป็นของส่วนรวมไปแจกจ่าย ทำโครงการขี้หมาหาหัวคิว บางโครงการไม่เข้าท่าอะไรเลยผลาญเงินเปล่าๆ แต่ชาวบ้านก็ยิ้มรับ...ของหลวงให้มาเอาๆ ไปเหอะ ดีกว่าไม่ได้ เป็นบุญเป็นคุณกับพรรคการเมืองนั้นไปอีก

ความรู้สึกเป็นเจ้าของสมบัติสาธารณะ เป็นความคิดพื้นฐานเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นว่าด้วยสิทธิของประชาชนพลเมือง สะท้อนถึงหลักความเท่าเทียมเสมอภาคซึ่งมันไม่เสมอภาคจริงถูกทำให้บิดเบี้ยวเป็นสิทธิของชาวบ้านกับสิทธิของราชการ ดินน้ำป่าถนนหนทางการใช้เงินหลวงชาวบ้านอย่าแหยม...เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ 2475 พอมาทศวรรษนี้นายทุนพ่อค้า ข้าราชการ หรือนักการเมืองยุคใหม่ก็ช่วยกันทำให้เบี้ยวต่อไปอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น