xs
xsm
sm
md
lg

มอง 2558

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เศรษฐกิจ:

น่าหวั่นไหวจริงๆ สำหรับเศรษฐกิจปีหน้า เอาแค่สังเกตปรากฏการณ์รอบๆ ตัว อย่างที่เชียงใหม่มีอาคารพาณิชย์สร้างใหม่ขายไม่ออกเต็มไปหมด คอนโดมิเนียมใหม่เป็นพันยูนิตก็ขายไม่ออก ไปดูยอดขายรถยนต์ของปีนี้ตกต่ำมาตั้งแต่ต้นปีกระตุ้นไม่ขึ้นคนไม่มีกำลังซื้อ ฟังวิทยุเขาบอกว่าธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการยื่นขอกู้มากขึ้นเป็นราว 25% ของยอดที่ยื่นมาทั้งหมด การจับจ่ายใช้สอยรวมหดวูบ

จะโทษรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทั้งหมดก็ไม่ได้เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมันฉายแววมาตั้งยุครัฐบาลปูแล้ว ถ้าย้อนไปดูช่วงแรกที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดเงินเช่นจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนา หรืออุดหนุนเงินสดให้ชาวนาไร่ละพันก็เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนหมุนเข้าสู่ระบบก่อนจะคอพับคออ่อนสลบไปแต่ที่สุดจีดีพีไตรมาสสุดท้ายก็ยังเป็นศูนย์อยู่ดี ปัญหาอยู่ที่ปี 2558 นี่สิที่รัฐบาลมีเวลาตั้งหลักแล้ว จะจัดการทำให้มันผงกขึ้นมาได้หรือไม่ท่ามกลางสภาพแบบนี้

น้ำมันลดลงมานี่ถือเป็นเทวดาช่วยรัฐบาลก็ว่าได้อย่างน้อยก็พอมีด้านที่พอปะทะปะทังค่าครองชีพคนส่วนใหญ่ได้บ้าง แต่ก็นั่นเองสัญญาณราคาน้ำมันต่ำกว่า 60 เหรียญ/บาเรลแบบนี้มันสะท้อนถึงการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจที่กำลังสู้ในสมรภูมิเศรษฐกิจกันอยู่ดุเดือดชนิดเดิมพันคว่ำโต๊ะเลยทีเดียว เพราะน้ำมันมีผลโดยตรงกับรายได้ของรัสเซีย แต่อย่างไรก็ตามต่อให้สหรัฐไม่ได้ซัดกับรัสเซียแต่ตอนนี้เศรษฐกิจโลกซบในวงกว้างอยู่แล้ว ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐลดการนำเข้าแถมคนไม่ออกมาท่องเที่ยวมีผลต่อบ้านเราทั้งนั้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของเราพึ่งพาส่งออกกับท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แค่เบาะ ๆตอนนี้พัทยาก็ร้องโอ้กแล้วเพราะลูกค้ารายใหญ่รัสเซียหาย

การเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่คนไทยต้องทำใจไว้ก่อนแต่เนิ่นเลยว่าปีหน้าน่าจะเจอกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ประคองตัวกันอย่างไร ยิ่งหากมหาอำนาจเขามีการแตกหักรู้ผลกันย่อมมีผลกระทบแน่ๆ เพราะโลกนี้เชื่อมถึงกันหมด ดูบทวิเคราะห์ของสื่อยักษ์ต่างชาติเอาแค่เรื่องค่าเงินรัสเซียตกก็กระทบกับกิจการหลายสัญชาติที่ลงทุนในประเทศนั้นเป็นวงกว้างแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเกมที่คู่ต่อกรต่างก็ยอบแยบมีปัญหาทั้งสองฝ่ายขึ้นกับใครจะยืนระยะประคองตนได้ แต่หากเกมเดินไปถึงขั้นแตกหักเกิดสงครามเพื่อให้มหาอำนาจล้างไพ่ (ล้างหนี้/ล้างระบบ) ตามที่มีการวิเคราะห์กันจริง ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งใดในปีหน้า ภาวนาอย่าถึงขั้นสงครามโลกครั้งที่สามเลยเพราะนั่นคือนรก

การเมือง :

ปี 2558 ทั้งปีจะยังเป็นปีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ครองอำนาจน่าจะประคองตัวจุดพลุปีใหม่ได้อีกปี เพราะตามปฏิทินการเมืองที่วางไว้น่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ราวต้นปี 2559

คนที่สนใจการเมืองมักจะนึกถึง (ขยาด /หวาดระแวง) การชุมนุมประท้วงที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาแบบที่เคยเกิดมา ถามว่ามีโอกาสจะมีการชุมนุมแบบที่เสื้อแดงออกมาระหว่างสมัยรัฐบาลขิงแก่-อภิสิทธิ์หรือไม่? ตอบว่า ถึงบัดนี้ยังมองไม่เห็นแววของม็อบต่อต้านลักษณะนั้นเพราะหัวหน้าม็อบตัวจริงที่อยู่ต่างแดนไม่ประสงค์จะม็อบ แกนนำต่างๆ ยังกินอิ่มนอนอุ่นรอทหารสะดุดขาตัวเอง ส่วนที่มีคนมองว่าขาม็อบเก่าอดีตพันธมิตรหรือมวลชนกลุ่มปัญหาต่างๆ ที่เคยหนุนกปปส.จะออกมาม็อบ ก็ยังไกลเกินไป

การที่จู่ๆ มหาชนคนจำนวนมากจะตัดสินใจออกจากบ้านไปปักหลักพักค้างนานต่อเนื่องหลายวันมันต้องมีเหตุจุดประกาย มีแรงที่ใหญ่พอทำให้ “จุดติด” ขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดขึ้นกับรัฐบาลหรือตัวพล.อ.ประยุทธ์เองว่าจะเปิดช่องทำอะไรพิลึกพิกลเรียกแขกหรือไม่ เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เพราะสภาพของขั้วอำนาจที่ครองอยู่ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ทหารหากยังมีกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองประกอบเข้าด้วยกัน ผลประโยชน์มาด้วยกันกับอำนาจเสมอนี่เป็นสัจธรรม ดังนั้นจึงขึ้นกับรัฐบาลโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์จะควบคุมไม่ให้มันเกิดขึ้นแบบไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม หรืออย่างน้อยก็อย่าเกิดอย่างน่าเกลียดเกินไปจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโมเมนตั้มได้

แต่อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วยังไงก็หนีไม่พ้น กาปฏิทินไว้เลยนับจากกลางปีเป็นต้นไปกลุ่มพลังต่างๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนคงจะไม่อยู่นิ่งแล้ว จะต้องหาเหตุขยับวอร์มมวลชน ปลุกแรงสนับสนุนของตนเองในรูปแบบต่างๆ เพื่อรอรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 2559 เชื่อเหอะ การเมืองในช่วงหลังกลางปีจะแรงขึ้นอย่างแน่นอนเพราะนักเลือกตั้งเห็นเวทีเริ่มตั้งคงอยู่เฉยไม่ได้ เกมของคสช.ชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการให้กลุ่มพลังทางการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองได้มีพื้นที่เคลื่อนไหวขนาดที่ไม่เปิดให้หาเสียงองค์กรท้องถิ่นแต่งตั้งคนไปเป็นแทนก่อนอ้างว่ารอการปฏิรูป ที่แท้คือไม่อยากให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งระดับบน กลาง และล่างซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกัน นายกฯ อบต.ยังไงก็ย่อมมีส่วนเชื่อมกับ ส.ส. และพรรคการเมืองอยู่ดี แต่ต่อให้ปิดช่องยังไงก็คงปิดไม่อยู่

ประเด็นที่จะเป็นช่องให้พลังต่างๆ ขยับเคลื่อนไหวขึ้นมาประกอบด้วย

1./ รูปร่างหน้าตาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะปรากฏโฉมชัดเจนในประมาณกลางปี ตอนนั้นแหละที่ยังไงๆ เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะดังกระหึ่มขึ้น กติกาการจัดสรรอำนาจน่ะ ยังไงๆ ก็ต้องมีช่องให้วิพากษ์กัน ต้องมีกลุ่มคนที่พอใจมากพอใจน้อย

2/ ประเด็นข้อเสนอของสภาปฏิรูป โดยเฉพาะข้อเสนอและร่างพิมพ์เขียวเพื่อปฏิบัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่นการกระจายอำนาจที่จะลดอำนาจจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลง แน่นอนว่างานนี้ต้องมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่ง เช่นปลัดอำเภอที่หวังจะไต่เต้าเป็นนายอำเภอ-ผู้ว่าฯ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นแค่ผู้ตรวจสอบอปท. เฉพาะเรื่องปฏิรูปกระจายอำนาจเรื่องเดียวสามารถเรียกเสียงหนุนต้านเกิดวิวาทะใหญ่ขึ้นมา ไม่อยากจะคิดล่วงหน้าไปว่า รัฐบาลจะอ้างถึงข้อปัญหาความขัดแย้งแล้วก็แช่แข็งข้อเสนอ เลื่อนข้อพิจารณาทั้งหมดให้อยู่กับคณะกรรมการปฏิรูปที่จะยังอยู่ต่อไปข้ามไปถึงรัฐบาลใหม่ที่อาจจะถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาไปจนถึงการปัดทิ้งแบบเนียนๆ หลอกฝ่ายที่อยากปฏิรูปให้มาอยู่กับฝ่ายตนจนกระทั่งถึงเลือกตั้งก็ยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

3/ วิธีการสืบทอดอำนาจ - พรรคการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคสืบทอดอำนาจฝ่ายรัฐบาลจะถูกเพ่งเล็ง มองย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารทุกครั้งจะมีการตั้งพรรคการเมืองที่แนบแน่นกับขั้วอำนาจทหาร และพรรคการเมืองพรรคนั้นจะเป็นศูนย์กลางของแรงกระเพื่อมทางการเมืองในช่วงปลายปี การบริหารจัดการการสืบทอดอำนาจมีความละเอียดอ่อนหากทำอย่างโจ๋งครึ่มหรือเกิดพลาดก่อให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง พูดถึงประเด็นนี้นึกถึงสภาพสังคมช่วงพฤษภาทมิฬที่มีการแบ่งพรรคเทพ-มารขึ้นมาทันที

เอาแค่สามเรื่องนี้มันก็เป็นแรงกระเพื่อมใหญ่เพียงพอให้เกิดคลื่นตามมาแล้ว อย่าลืมสิแค่เด็กนักศึกษาชูสามนิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ยังมีคลื่นน้อยใหญ่ทั้งจริงทั้งดราม่าตามมาเลย แต่รัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปนี่มันเรื่องใหญ่กว่าสามนิ้วมากมายนัก รัฐบาลห้ามคลื่นไม่อยู่หรอก ครึ่งปีหลังนี่ขึ้นกับหากลยุทธ์ประคองเรือในสภาพคลื่นลมแรงให้ถึงฝั่งก็น่าพอใจแล้ว

อย่างไรเสียการเมืองไทยช่วงหลังของปี 2558 ไม่นิ่งสงบราบเรียบเหมือนช่วงหลังของปี 2557 แน่นอน...ถ้ารัฐบาลไม่สะดุดขาตัวเองคะมำก็คงไม่ถึงกับมีเหตุใหญ่ระดับเผาเมือง

สังคม :

สังคมไทยน่าจะใกล้ผ่านพ้นจากยุคมวลชน 2 ขั้วเหลือง-แดงแล้ว ที่จริงขั้วมวลชนสองสีที่ว่ามีรากเหง้าอยู่ที่ รักทักษิณ กับ เกลียดทักษิณ แค่นั้น....แต่ก็มีการแต่เติมให้เป็นเสรีนิยม ประชาธิปไตยก้าวหน้า เป็นไพร่ เป็นอำมาตย์ เป็นสลิ่มแยกย่อยออกไปมากความตามแต่จะคิดจัดแบ่งกัน หลังๆ มานี้เราได้เริ่มเห็นการแตกย่อยออกมาของกลุ่มต่างๆ ชัดเจนขึ้นตามลักษณะความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อ แม้แต่คนที่ไม่ชอบทักษิณ หรือออกมาเป่านกหวีดกับกปปส.เองก็ยังมีพวกที่ชอบและไม่ชอบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีพวกที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปและไม่เห็นด้วย ฯลฯ ไอ้บรรยากาศการแบ่งสีฆ่ามันเหมือนที่รวันดาไม่มีแล้ว

มวลชนที่พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองหลัก ลดน้อยลงอย่างชัดเจนเห็นได้จากช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พยายามจุดคนเสื้อแดงออกมาแต่ก็มีปริมาณน้อยอย่างน่าใจหาย ขณะที่กปปส.แม้จะมากมายในช่วงแรกที่ออกมาเรือนล้านแต่เพราะมีเหตุหลักจากความไม่ใจรัฐบาลที่ออกกฎหมายลักหลับ พรรคประชาธิปัตย์แตกหลังการชุมนุมกปปส. ส่วนมวลชนนกหวีดเองก็ไปคนละทิศทาง กลุ่มมวลชนที่แอคทีฟแทบทุกกลุ่มลดลงในเชิงปริมาณ

สภาพของสังคมไทยตอนนี้ไม่ใช่สภาพมวลชนสองขั้วใหญ่ หากแต่เป็นสามสี่ขั้วใหญ่ที่เต็มไปด้วยกลุ่มความคิดย่อยๆ มากมาย กลุ่มย่อยเหล่านี้อาจจะร่วมมือหรือแยกจากกลุ่มใหญ่ได้ตลอดเวลาตามสภาพปัจจัย เช่น วันหนึ่งกลุ่มเรียกร้องเรื่องพลังงานอาจเข้าร่วมกับนกหวีด แต่อีกวันก็แยกไม่ร่วมเชียร์รัฐบาลใหม่ได้

หากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สามารถควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใหญ่ เปิดช่องให้กลุ่มพลังต่างๆ ระดม/ดึงดูด/การชุมนุมเพื่อให้เกิดจิตวิทยารวมหมู่ถึงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน ฯลฯ ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป จะทำให้การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในต้นปี 2559 ยากจะเดาผล แม้ตอนนี้ยังน่าเชื่อว่าประชาชนที่นิยมในตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยจะยังมีจำนวนมากที่สุด ยังเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบที่สุดแต่ทว่าการออกแบบการเลือกตั้ง การออกแบบกติกาการเมือง ตลอดถึงการตัดช่องไม่ให้นักการเมืองสร้าง/เชื่อมต่อกับมวลชนเป็นเวลานานเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาคำนวณด้วย

ปัจจัยที่น่าสนใจคือ คนที่มีความคิดเป็นกลางๆ ที่ไม่ยึดติดเป็นสาวกของพรรคการเมือง มีความเป็นเสรีชนมีความคิดอิสระมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ หากคนกลุ่มนี้มีราว 3-5 ล้านคน จะเป็นกลุ่มที่สามารถตัดสินชัยชนะของพรรคการเมืองได้

การเมืองและสังคมไทยที่มีปัญหายาวนานต่อเนื่องหลายปี ที่แท้มาจากลักษณะพฤติกรรมและความคิดรวมหมู่ของประชาชนคนไทยเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยน สภาพปัญหาแบบเดิมๆ ก็จะไม่ไปไหน

นับแต่ปลายยุคทักษิณที่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงในพ.ศ.2548 ถึงปีหน้า 2558 เป็นเวลา 10 ปีพอดี มันเป็นเวลาที่ยาวนานมากพอจะทำให้ความคิดพฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง,

พารากราฟข้างต้นไม่ใช่ความเห็น... แต่เป็นความหวัง !
กำลังโหลดความคิดเห็น