ความเดิมตอนที่แล้ว : เวียดนามพอสังเขป (1) : วีรบุรุษแอบจับ
คนไทยมักจะสงสัยคนเวียดนามอยู่อย่างหนึ่ง คือ คนเวียดนามทานเนื้อสุนัข หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ “เนื้อหมา” หรือเปล่า?
คำถามนี้ แน่นอนว่าคณะสื่อมวลชนที่ไปศึกษาดูงาน ก็ไม่พลาดที่จะต้องถามไกด์คนเวียดนามอย่าง คุณแคท
คุณแคท ก็ตอบทำนองว่า คนเวียดนามทานเนื้อสุนัขจริง แต่ทานกันเป็นบางภาค เช่น ภาคเหนือของเวียดนาม ส่วนภาคใต้ของเวียดนามเขาก็ไม่ทาน
สอดคล้องกับเลขานุการชมรมนักข่าวอาเซียน นเรศ เหล่าพรรณราย ที่กล่าวเสริมในเฟซบุ๊กว่า จริงๆ คนเวียดนามไม่ได้นิยมกินเนื้อสุนัขกันบ่อย จะกินเฉพาะงานสำคัญ และเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ไม่ใช่จับหมาข้างถนนมากิน
ถ้าไม่ได้นิยมกินเนื้อหมา แล้วคนเวียดนามชอบกินเนื้ออะไร?
ตอบง่ายๆ คนเวียดนามกินเนื้อหมู เนื้อไก่ เหมือนบ้านเรานี่แหละ โดยบริโภคเนื้อหมูมากเป็นอันดับต้นๆ
ข้อมูลจากซีพีเอฟ เวียดนามระบุว่า คนเวียดนามบริโภคเนื้อหมูมากถึง 31 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และมีจำนวนสุกร 43 ล้านตัว แต่การเพาะเลี้ยงสุกรของเวียดนาม ส่วนใหญ่จะเพาะเลี้ยงแบบหลังบ้านมากถึงร้อยละ 80
จะมีเพาะเลี้ยงระบบปิดมาตรฐานเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ซึ่งซีพีเอฟของไทยเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกการเพาะเลี้ยงระบบนี้ โดยรัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม การบริโภคของคนเวียดนามมักจะบริโภคหมูสดที่ผ่านการชำแหละมาใหม่ๆ มากกว่าหมูแช่แข็ง เพราะถูกมองว่าคุณภาพและรสชาติจะเปลี่ยนไป อร่อยสู้หมูสดไม่ได้
ตลอดสี่วันสามคืนที่ผมอยู่เวียดนาม เมนูที่ได้รับประทานเป็นประจำ มีแค่ซี่โครงหมูตุ๋นยาจีน เนื่องจากหนึ่งในผู้ร่วมทริปนับถือศาสนาอิสลาม โดยเมนูส่วนใหญ่จะทำจากเนื้อปลาน้ำจืด เนื้อไก่ และอาหารทะเล
อย่างเช่น ปอเปี๊ยะปลา ที่ใช้เนื้อปลาทอดกับผักสดม้วนรวมกันกับแป้งปอเปี๊ยะสด ทานกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวหวาน หรือจะเป็นซุปเนื้อปูก็อร่อยไม่แพ้กัน และที่ขาดไม่ได้แต่ละมื้อคือน้ำพริกกุ้งเสียบ
แต่เมนูที่คนเวียดนามนิยมรับประทานมากที่สุดก็คือ “เฝอ” ซึ่งคล้ายก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา แต่ต่างกันที่เส้นและน้ำซุป ในนครโฮจิมินห์ร้านเฝอหาง่ายพอๆ กับร้านสะดวกซื้อ บางร้านก็เปิดให้ฝากท้องกันตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
พูดถึงเรื่องอาหารแล้ว ก็ขอพูดถึงเครื่องดื่มกันบ้าง ที่เวียดนามเครื่องดื่มไม่ต่างไปจากบ้านเราเท่าไหร่ มีโคคา-โคล่า และเป๊ปซี่เหมือนกัน แต่รสชาติจะจืดกว่าโค้กบ้านเราที่เน้นรสชาติหวานแหลม
บางครั้งเวลาเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็มักจะมีเครื่องดื่มที่นำเข้าจากบ้านเรา เช่น เครื่องดื่มจำพวกสุราผสมรสผลไม้ น้ำผลไม้อย่างยี่ห้อมาลีกล่องใหญ่ก็มีขาย หรือไม่ก็ผลิตภัณฑ์เบียร์ อย่างเบียร์สิงห์ที่นำเข้ามาจากเมืองไทย
ส่วนเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังของไทยอย่างกระทิงแดงก็มีวางจำหน่ายด้วย แต่เป็นรูปแบบกระป๋อง มีโรงงานผลิตในเวียดนาม สนนราคากระป๋องละ 10000 ดอง (15.50 บาท) ตามร้านโชห่วยจะมีขายส่งแบบยกแพ็คด้วย
คุณแคท ไกด์ชาวเวียดนามเล่าให้ฟังว่า ระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าเวียดนาม พบว่าทั้งสองประเทศคุณภาพดีเหมือนกัน แต่ที่คนเวียดนามนิยมสินค้าไทยเพราะบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส และการออกแบบดูทันสมัยกว่า
อย่างไรก็ตาม จากการพิสูจน์ด้วยตาตัวเองพบว่า ผลิตภัณฑ์บางอย่างเวียดนามถูกจริง อย่างเครื่องสำอางบางยี่ห้อที่เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น ผมถามนักข่าวสาวที่ไปซื้อของด้วยกัน เธอบอกว่าถูกกว่าของไทย
ที่โฮจิมินห์ ร้านสะดวกซื้อไม่มีเซเว่นอีเลฟเว่น มีแต่แฟมิลี่มาร์ท คอนวีเนียนสโตร์แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น และแบรนด์คอนวีเนียนสโตร์ในท้องถิ่น ซึ่งมาตรฐานร้านสะดวกซื้อที่นั่นดีกว่าบ้านเราพอสมควร
ส่วนห้างสรรพสินค้าที่นับได้ก็จะมี บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งมีอยู่ 28 สาขา ตามมาด้วย ลอตเต้ มาร์ท มีอยู่ 9 สาขา, อีออน มอลล์, และเมโทร (METRO) ไฮเปอร์มาร์เก็ต
สำหรับเบียร์ ที่เวียดนามนิยมกันก็จะมียี่ห้อ ไซง่อนเบียร์ กับยี่ห้อ 333 จากการที่ผมจิบทั้งสองยี่ห้อย้อมใจแล้ว พบว่า ไซง่อนเบียร์อร่อยกว่าเบียร์บางยี่ห้อในบ้านเรา ส่วนยี่ห้อ 333 แรงแทบกัดกระเพาะ
ตอนที่นั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ อ่านหนังสือพิมพ์ทราบมาว่า เจ้าสัวเบียร์ช้างอย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็เตรียมที่จะเข้าไปเทคโอเวอร์ไซง่อนเบียร์ที่รัฐบาลเวียดนามถือหุ้นจำนวนหนึ่งแล้ว
แต่ก็คงไม่ได้ทำให้รสชาติเบียร์ไซง่อนเปลี่ยนไปเป็นเบียร์ช้างได้หรอกกระมัง
พูดถึงเครื่องดื่ม ถ้าไม่พูดถึงเรื่องกาแฟเลยก็กระไรอยู่ คนเวียดนามมักจะนิยมรับประทานกาแฟไม่แพ้บ้านเรา โดยมีแบรนด์ดังอย่าง ตรังเหงียน (TRUNG NGUYEN) บริษัทผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามเป็นเจ้าตลาด
เวลาเราเดินใจกลางนครโฮจิมินห์ จะพบเห็นร้านกาแฟตรังเหงียนตกแต่งอย่างทันสมัยด้วยโทนสีน้ำตาล-ส้ม ให้เราได้นั่งจิบกาแฟกัน แม้จะมีกาแฟแบรนด์ยักษ์อย่าง สตาร์บัคส์ มาเปิดสาขาในเวียดนามแบบปูพรมก็ตาม
ตรังเหงียน นอกจากมีร้านกาแฟให้นั่งชิลล์หลายสาขาในนครโฮจิมินห์แล้ว ยังเป็นเจ้าของเดียวกับกาแฟยี่ห้อ จีเซเว่น (G7) ซึ่งเป็นสินค้ายอดฮิต และมีคนไทยนิยมซื้อกาแฟปรุงสำเร็จแบบทรีอินวันยี่ห้อนี้ไปฝากจำนวนมาก
เวลาที่เราไปเดิน ตลาดเบนถั่น ใจกลางนครโฮจิมินห์ เมื่อเดินไปตรงกลางตลาดจะขายเมล็ดกาแฟ เรายังเห็นแพ็คเกจกาแฟจีเซเว่นด้วย สนนราคา 1 กล่อง 20 ซอง กล่องละ 45000 ดอง (70 บาท) ซึ่งเป็นราคาบริษัทที่ต่อไม่ได้
แต่ข้างๆ กันกลับพบว่ามีเนสกาแฟเวียดนามขายด้วย เป็นกาแฟเย็นที่เวลาชงใส่น้ำร้อนครึ่งหนึ่งก่อน แล้วถึงใส่น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง สนนราคากล่องละ 50000 ดอง (78 บาท) แพงกว่ากันนิดหน่อย
ปัจจุบันมีบริษัทในไทยนำเข้ากาแฟจีเซเว่นอย่างเป็นทางการแล้ว ไกด์ชาวไทยเตือนว่า หากจะซื้อไปเป็นของฝากสักพอสมควรก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าขนมาเป็นจำนวนมากราวกับซื้อไปขายต่อ อาจถูกศุลกากรบ้านเราเพ่งเล็งเอาได้
อีกประเภทหนึ่งที่นิยมไม่แพ้กันก็คือ กาแฟขี้ชะมด ซึ่งมักจะซื้อไปเป็นของฝากจำนวนมาก แต่เท่าที่ไกด์เล่าให้ฟังราคาสูงพอสมควร อีกอย่างหนึ่ง เคยดูสารคดีการทำกาแฟขี้ชะมดในเคเบิลทีวีแล้วเลยไม่กล้ารับประทาน
ส่วนเครื่องดื่มประเภทชา ไกด์สาวชาวเวียดนามแนะนำ ชาอาร์ติโช๊ค ซึ่งเป็นสมุนไพรช่วยลดน้ำตาลสำหรับโรคเบาหวาน แต่ต้องสั่งล่วงหน้าหนึ่งวัน เพราะไม่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาด (เค้าว่ามาแบบนั้น)
วิธีจิบกาแฟของคนเวียดนาม ถ้าเป็นทางภาคใต้ มักจะนั่งแช่ในร้านกาแฟจำนวนมาก เวลาดื่มมักจะจิบกันโดยใช้ช้อนชาตักแล้วใส่ปากทีละช้อน ไม่ได้ยกซดแบบบ้านเรา พร้อมกับอ่านหนังสือพิมพ์หรือพูดคุยกัน
คนเวียดนามจะอยู่ในร้านกาแฟอย่างต่ำๆ 1 ชั่วโมง หากใครรีบดื่มแล้วลุกขึ้นก่อนก็มักจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ เจ้าของร้านกาแฟที่เวียดนามไม่ได้ว่าอะไรหากเรานั่งแช่ ต่างจากบ้านเราที่มักจะมีดราม่าในอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง
ผมไปที่จังหวัดเกิ่นเธอ (Can Tho) ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเพื่อดูงานในวันที่สอง เช้าวันที่สามเราไปตลาดน้ำกัน
ที่นั่นต่างจากตลาดน้ำดำเนินสะดวกบ้านเราตรงที่ว่า เขาขายของกันในแม่น้ำเลย
เปรียบเทียบได้ว่า เรือลำใหญ่ขายส่ง เรือลำเล็กขายปลีก สารพัดสินค้า ผลไม้ อาหารการกิน ก๋วยเตี๋ยว แม้กระทั่งกาแฟก็พายเรือมาขายที่นี่ สนนราคากาแฟแก้วละ 10000 ดอง (15.50 บาท)
ผมลองซื้อกาแฟจากเรือในตลาดน้ำมาจิบ เสียวไส้ตรงที่เวลาชงเสร็จร้อนๆ ใส่แก้วพลาสติกคล้ายแก้วน้ำอัดลมที่ขายหน้าโรงเรียน แรกๆ เวลาใช้ช้อนชาจิบรู้สึกเกร็งๆ บ้าง แต่พอดื่มไปดื่มมารู้สึกชิน และดีกว่ารีบซดกาแฟเลย
ถ้าจะเล่าให้ฟังด้วยความรู้สึกแบบอุปทานไปเองก็คือ ปกติเวลาดื่มกาแฟมักจะมีอาการคือวิงเวียนศีรษะ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากคาเฟอีน แต่พอจิบกาแฟทีละช้อนชาแบบคนเวียดนามกลับพบว่าไม่มีอาการปวดหัวเลย
ส่วนกาแฟกระป๋องผมชอบกาแฟยี่ห้อหนึ่ง กระป๋องแบบสลิมสีชา รสชาติอร่อยมาก แต่จำชื่อยี่ห้อไม่ได้ ซื้อจากร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท ราคา 14000 ดอง (21.75 บาท) ดื่มแล้วไม่เวียนหัวเช่นกัน
น้องเทียน ผู้สื่อข่าวเกษตรช่อง 7 สี สนใจส้มโอจากแม่ค้าที่พายเรือมาขาย แม่ค้าส่งมาให้ชิมพบว่าหวาน แต่ไม่ฉ่ำเท่าส้มโอบ้านเรา พอซื้อไปปรากฏว่ารสชาติกลับขมอมเปรี้ยว กลายเป็นเรื่องเฮฮากันไป
พูดเรื่องกินจนอิ่มแล้วก็นอนหลับกันบ้าง
วัฒนธรรมของคนเวียดนามอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "การนอนกลางวัน" ซึ่งบรรพบุรุษมักจะสอนให้นอนเป็นประจำ
นักเรียนที่นี่เข้าโรงเรียน 6 โมงครึ่ง 7 โมงเช้าเปิดสอน จากนั้น 11 โมงครึ่งถึงบ่ายโมงครึ่งก็จะออกมารับประทานอาหารกลางวัน แล้วนอนกลางวัน ก่อนที่จะกลับเข้าโรงเรียน เปิดสอนต่อบ่ายโมงครึ่งจนถึงเย็น
ส่วนวัยทำงาน ช่วงเวลาพักเที่ยงพนักงานก็มักจะนอนกลางวันเป็นระยะเวลา 15-20 นาที แล้วตื่นขึ้นมาไปทำงานต่อ ส่วนในพื้นที่ชนบท จะนอนกลางวันกันจนถึง 3-4 โมงเย็นก็มี ช่วงเวลานั้นตามบ้านคนจะเงียบมาก
จะมีในเมืองบางส่วนที่แบ่งเวรสลับกันเข้านอนเพื่อให้งานเดินต่อเนื่อง พอหลังสี่โมงเย็นรถมอเตอร์ไซค์จะพบเห็นจำนวนมาก ยิ่งวันศุกร์และเสาร์ในนครโฮจิมินห์จะซิ่งกันแบบทั้งวันทั้งคืน
คนเวียดนามมีความเชื่อว่า การนอนกลางวันคือการพักผ่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายในการทำงานยามบ่าย หากใครไม่นอนแต่ยังฝืนทำงาน ประสิทธิภาพของร่างกายจะลดลง
แต่ก็ไม่ได้นอนหลับนาน แค่ 15-20 นาทีต่อครั้งเท่านั้น ไม่เช่นนั้นหากหลับยาวจะมีปัญหาต่อสุขภาพ
มีบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในเวียดนามออกกฎของบริษัทว่าห้ามนอนกลางวัน ปรากฎว่าเรื่องสะพัดไปยังโลกออนไลน์ ถูกชาวเวียดนามประณามการออกกฎที่ฝ่าฝืนวัฒนธรรมของที่นี่
กระทั่งบริษัทไอทีเจ้านั้นยอมยกเลิกกฎของบริษัทในที่สุด
สำหรับทริปนี้เนื่องจากทางหลวงในเวียดนามใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงถือโอกาสได้นอนกลางวัน แต่บนรถทัวร์แบบครึ่งหลับครึ่งตื่น โดยเฉพาะจากเกิ่นเธอไปโฮจิมินห์ใช้เวลา 6 ชั่วโมง
แต่หลับแบบนี้คงไม่สบายเหมือนอยู่บ้านหรอก.
ก่อนจะปิดท้ายทริปทำงาน คุณแคทตอบคำถามแก่คณะสื่อมวลชน ระหว่างเดินทางไปยังสนามบินเตินเซินเญิ้ต เพื่อเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯ ว่าศิลปิน-ดาราคนไหนในเวียดนามที่ฮิตที่สุด
สมัยก่อน ศิลปินไทยที่โด่งดังในเวียดนามจะเป็น “ไชน่า ดอลล์” เจ้าของเพลง “ก็หมวยนี่คะ”
ตามมาด้วย “อมิตา ทาทา ยัง” ที่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มาร้องเพลงและถ่ายทำเอ็มวีคู่กับศิลปินเวียดนาม “ธันวุย”
แต่ที่โด่งดัง และมีแฟนคลับเหนียวแน่นเวลานี้ก็คือ “บี้ เดอะสตาร์” หรือ สุกฤษฏิ์ วิเศษแก้ว
ส่วนดารานักแสดงของไทยที่ฮิตก็จะเป็น “มาริโอ เมาเร่อ”
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ซีรีส์วัยรุ่นที่โด่งดังอย่าง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่เวียดนามก็ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยมีนักศึกษานำไปใส่ซับไตเติลเป็นภาษาเวียดนามในยูทิวบ์
ปัจจุบันซื้อลิขสิทธิ์และพากษ์เวียดนาม ฉายกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว
มีเพื่อนที่ทำงานอยู่วงการโทรทัศน์เล่าให้เธอฟังว่า ที่เวียดนามซื้อลิขสิทธิ์ละครจากช่อง 5 และช่อง 7 ไปออกอากาศที่นู่นได้ แม้จะเป็นละครเก่าแล้วก็ตาม
แต่ช่อง 3 กลับไม่ขาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม
ส่วนกระแสเกาหลี เธอบอกว่ามาแรงไม่แพ้กัน ทั้งโซนยอชิแด ซูเปอร์จูเนียร์ (จริงๆ มีอีกเยอะ แต่จำชื่อไม่หมด)
แม้ราคาบัตรจะสูง แต่วัยรุ่นที่นั่นก็ไม่ละความพยายาม บางคนยอมนั่งเครื่องบินเพื่อมาชมคอนเสิร์ตสักครั้งในชีวิต คงไม่ต่างจากเมืองไทยที่วัฒนธรรมเค-ป๊อบยังคงทรงอิทธิพลกันอยู่ในเวลานี้
ขอจบเรื่องราวของเวียดนามพอสังเขปเพียงแค่นี้ ... สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับ.
คำถามที่พบบ่อย : โฮจิมินห์มีอะไรเที่ยว?
หลังจากที่ผมไปเยือนเวียดนาม มีคนถามว่า ที่นครโฮจิมินห์มีอะไรน่าเที่ยวบ้าง แต่เนื่องจากเป็นการเดินทางเพื่อไปศึกษาดูงานเป็นหลัก จะเที่ยวนครโฮจิมินห์แบบจริงจังก็วันสุดท้ายแล้ว เลยบอกเล่าให้คุณผู้อ่านอย่างละเอียดไม่ได้
หลักๆ ที่ไปเยี่ยมชมคือ ตลาดเบนถั่น แหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมของที่นี่ แบ่งเป็นสองโซน คือ โซนของรัฐบาล แต่งกายด้วยเสื้อสีเขียว ราคาย่อมเยาแต่ต่อรองไม่ได้ กับด้านในที่ใครต่อราคาเก่งก็สามารถช้อปได้ในราคาถูกสุดๆ
สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ ถ้าเป็นกาแฟ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือเมล็ดบัว จะอยู่ใจกลางตลาด
ผู้ค้าที่นี่นอกจากพูดไทยได้นิดหน่อยแล้ว ยังรับธนบัตรของไทย โดยเฉพาะใบละ 20 และ 100 บาทสภาพดี
แต่ถ้าสนใจสินค้าแฟชั่น แล้วหวังจะได้ช้อปของแบรนด์เนม ทราบมาว่าที่เวียดนามมีนโยบายให้ส่งออกสิ่งทอร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือให้ทำลายทิ้ง
จะหาของแท้ย่อมไม่มี มักจะได้คำตอบว่าเป็นของบริษัท หรือของก็อปเกรดเอ
ต่อด้วยรับประทานอาหารกลางวันแบบบุฟเฟ่ต์ ที่ร้าน Buffet Ganh Bong Sen ชั้นใต้ดิน B3 ศูนย์การค้ายูเนียนสแควร์ ใจกลางเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยที่สุดในเมือง
ต่อจากนั้น ไปเที่ยวชม โบสถ์นอร์ทเธอร์ดาม สถาปัตยกรรมแบบกอธิคด้วยตัวอิฐสีส้มแดง มีเอกลักษณ์ที่หอคอยคู่สี่เหลี่ยมอยู่ด้านหน้า สูง 40 เมตร พร้อมรูปปั้นพระแม่มารีสีขาว นำเข้ามาจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี
ละแวกโบสถ์นอร์ทเธอร์ดามหากเป็นช่วงพิธีแต่งงานจะคึกคักเป็นพิเศษ ด้านข้างโบสถ์อีกฝั่งเป็นสวนสาธารณะ จะมีวัยรุ่นมานั่งจิบกาแฟบนพื้นจำนวนมากตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืน
จนถูกขนานนามว่าเป็น “สามเหลี่ยมวัยรุ่น”
ถัดจากโบสถ์จะเป็น ไปรษณีย์กลางไซง่อน ออกแบบโดยสถาปนิกคนเดียวกับที่ออกแบบหอไอเฟล ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ที่นั่นมีของที่ระลึกจำหน่าย และสามารถส่งโปสการ์ดกลับไปยังเมืองไทยได้อีกด้วย
ปิดท้ายกันที่ ทำเนียบเอกราช หรือปัจจุบันเรียกว่าหอประชุมรวมชาติ เดิมเป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาลหุ่นเชิด หรือรัฐบาลเวียดนามใต้ที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลัง แต่ภายหลังฝ่ายเวียดนามเหนือช่วงชิงเอกราชมาได้
ภายในมีทั้งห้องประชุม ห้องทำงานประธานาธิบดี ชั้นบนเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ลงไปชั้นใต้ดินเป็นทั้งหลุมหลบภัยและห้องบัญชาการ ห้องที่ใช้วางแผนยุทธศาสตร์ ห้องวิทยุโทรคมนาคม
ในนครโฮจิมินห์ยังมีสถานที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย ทั้งพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ พิพิธภัณฑ์สงคราม สภาประชาชน รวมทั้งยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ทั้งการแสดงหุ่นกระบอกน้ำ และการล่องเรือชมทัศนียภาพแม่น้ำไซง่อน
แม้ระบบขนส่งมวลชนของที่นี่จะหมดเร็วในช่วงค่ำ อีกทั้งแท็กซี่ยังมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดี แต่ในขณะนี้ทางการเวียดนามกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของนครโฮจิมินห์ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2561
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโฮจิมินห์ มีรถโดยสารประจำทาง บขส. กรุงเทพฯ-กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ใช้เวลา 11 ชั่วโมง ถึงกรุงพนมเปญค้าง 1 คืน ต่อด้วยรถประจำทาง พนมเปญ-โฮจิมินห์ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง
ส่วนเที่ยวบินตรงจากสนามบินดอนเมือง โดยสายการบินแอร์เอเชีย วันละ 3 เที่ยวบิน และสนามบินสุวรรณภูมิ มีการบินไทยวันละ 2 เที่ยวบิน, เวียดนามแอร์ไลน์วันละ 4 เที่ยวบิน, เวียดเจ็ทแอร์วันละ 2 เที่ยวบิน, เจ็ทสตาร์วันละ 1 เที่ยวบิน
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) สำหรับการเดินทางครั้งนี้