xs
xsm
sm
md
lg

ถอนคงยาก รากมันยาว

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ติดตามข่าวเรื่องการถอดถอนและการดำเนินคดีจำนำข้าวกันอีกสักนิด ที่ยังต้องเกาะติด เพราะนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่พอจะมองออก หรือชี้ชะตาได้ว่า การยึดอำนาจโดยอ้างว่าจะปฏิรูปในรอบนี้นั้น มีความ “จริงใจ” แค่ไหน

เพราะนี่เป็นเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมายล้วนๆ และเป็นกระบวนการกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องรอข้อเสนอจากใครหรือดำเนินการอะไรเลย

ในที่สุด หลังจากการประชุมลับนานร่วม 3 ชั่วโมงครึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ก็ได้มีมติ “รับ” สำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามรายงานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช.ด้วยคะแนนเสียง 87 ต่อ 75 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง

สรุปว่า สนช. “รับ” เรื่องถอดถอนไว้พิจารณา หรืออาจจะกล่าวอีกทางหนึ่งได้ว่า มตินี้เท่ากับ “รับ” ว่าตัวเองมีอำนาจถอดถอน ก็อาจจะเรียกว่าหมดเรื่องกันไปได้เรื่องหนึ่ง

แต่ข้อกังขาที่ทำให้ประชาชนผู้ติดตามกรณีถอดถอนนี้ออกจะไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นมวยล้ม คือ มติในการถอดถอนนั้น ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะต้องเป็นไปด้วยมติ 3 ใน 5 ตามมาตรา 65

สนช.มีทั้งหมด 200 คน 3 ใน 5 ก็คือเลขกลมๆ เลย 120 เสียง

ดังนั้น จึงพอคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร ในเมื่อเสียงที่เห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจถอดถอนของ สนช.มีเพียง 87 เสียง รวมกับเสียงที่งดออกเสียงอีก 15 เสียง ก็ยังได้แค่ 102 เสียง ขาดอีก 18 เสียงถึงจะถอดถอนได้

ส่วนเสียงที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจของ สนช.มีถึง 75 เสียง นั่นก็แปลว่าถ้าเสียงทั้งหมดยืนยันเหมือนเดิมว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจ สนช.จึงไม่ถอดถอน ก็เป็นอันจบเกม

หรือใครสักคนอาจจะว่านั่นเป็นการมองในแง่ร้าย เสียง 75 เสียงอาจจะไม่ยืนตามเดิมก็ได้ อาจจะมีบางส่วนที่เสียงแตกออกมาว่าถอดถอน แต่นั่นก็คือเราก็ต้องทำใจด้วยว่า เสียงที่ให้ “รับ” ไว้ อาจจะเป็นลักษณะ “รับไว้ก่อนค่อยว่ากันทีหลัง” พอมาคิดมานึกอีกทีก็อาจจะไม่ถอดถอนก็ได้ ดังนั้นเรื่องจะออกมาทางนี้ก็ยังเป็นไปได้

เท่ากับมองเห็นภาพไรๆ แล้วว่า สุดท้ายเรื่องถอดถอนจะออกธงอย่างไร

และยิ่งเมื่อคิดว่า ปกติแล้ว สนช.ชุดนี้มีความเป็นเอกภาพสูงมาก มักจะมีความเห็นตรงกันมาตลอด เนื่องจากตั้งมาจากกลุ่มคนที่มีพื้นเพที่มาไม่ต่างกันนัก ถ้าไปย้อนดูมติต่างๆ ของ สนช.มักจะออกมาแบบเสียงขาด เห็นแตกเห็นต่างกันไม่เกิน 5 เสียง 10 เสียง เช่น ตอน พ.ร.บ.งบประมาณ ก็เสียง 142 ต่อ 2 (ในตอนนั้น สนช.มี 144 คน) หรืออย่าง พ.ร.บ.เรื่องกฎหมายคุ้มครองสัตว์ก็มีมติผ่าน 188 ต่อ 1 หรือล่าสุดก็มีมติ 167 ต่อ 16 ให้เลื่อนกรณีถอดถอนนายกฯ ปูออกไปสิ้นเดือน

เอกภาพ และเกือบๆ เอกฉันท์แบบนี้เอง ทำให้เราพอจะคาดหมายได้ว่า ถ้า สนช.จะ “เอา” อะไร ก็มักจะเอาตามกัน แต่พอมาถึงเรื่องนี้ ก็กลับมาเสียงแตกกันได้อย่างประหลาด

จึงไม่แปลกใจที่หลายคนปลงไปล่วงหน้าแล้วเรื่องการถอดถอน ว่าคงอยากได้เห็นคนถูกถอดถอนเพราะคดีโกงจำนำข้าว หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง

หรือถ้าจะเอาว่า พึ่งทางสภาฯ ไม่ได้ ไปพึ่งทางศาล ก็ปรากฏว่ากระบวนยุติธรรมต้นน้ำ ก็ชักอย่างไรๆ อยู่ เมื่อในที่สุด อัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช.ก็ยังคุยกันไม่ได้ข้อสรุป ว่าจะสามารถฟ้องยิ่งลักษณ์ได้ในคดีจำนำข้าวหรือไม่ มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสำนวนบางจุด ที่จะต้องถกกันต่อ รอนัดใหม่ “ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นเมื่อไร”

จริงอยู่ที่ว่า แม้ในทางกฎหมาย ในที่สุดอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถฟ้องได้เอง แต่การฟ้องได้เองก็ต้องไปหาทนายความมาฟ้อง ซึ่งเหลี่ยมคูทางการต่อสู้คดีก็ไม่น่าสู้กับอัยการที่เป็นมืออาชีพกว่า และเป็นทนายของรัฐได้

ทั้งไม่ต้องถามว่า ในเมื่อมี “ทนายของรัฐ” แล้ว “องค์กรปราบปรามการทุจริตของรัฐ” ทำไมต้องเดือดร้อนไปหาทนายเองด้วย

เล่นเอาวังเวงกันไปสำหรับคนที่รอเห็นคนมีอันเป็นไปด้วยกระบวนการของกฎหมาย ทั้งในระบบรัฐสภา และกระบวนยุติธรรม

ตกลงแล้ว ในที่สุด การยึดอำนาจก็ดี การใช้อำนาจในการตรวจสอบใดๆ ก็ตาม ในที่สุดเมื่อถึงตอนที่จะเผด็จศึก หรือลงดาบสุดท้ายก็มีอันติดๆ ขัดๆ ไปหมด

ข้อกฎหมายทั้งหลายอยู่ดีๆ ก็มีจุดนั้นติด จุดนี้ขัด ข้อเท็จจริงที่มี ก็กลายเป็นว่า ไม่ชัด ผูกมัดไม่ได้

แม้ยังไม่สามารถฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากในที่สุดแล้ว คดีการถอดถอน ทั้งในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือคดีจำนำข้าว รวมทั้งการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องนั้นในที่สุดก็มาแท้งเสียกลางทางไปหมด เอาผิดใครไม่ได้เลย

ก็แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายระบอบทักษิณนั้นยิ่งใหญ่ขนาดไหน

ต่อให้โดนยึดอำนาจรัฐประหารไปถึงสองครั้ง ก็ไม่สามารถ “ล้าง” ได้ แม้ตอนนี้จ่อๆ จะล้างได้ ขนาดมีสายยางไปรออยู่หน้ากองแล้ว คนฉีดน้ำก็ปอดแหกไม่กล้าเปิดก๊อก

ก็ไม่รู้จะหวังอะไรได้ ส่วนทางมวลชนที่เป็นเหมือนกองหนุน ก็เห็นชัดว่าแกล้งหลับแกล้งตาย ถึงเวลานึกสนุกอยากลุกขึ้นมาแสดงพลังก็ทำได้

นักวิชาการและพวกต้านรัฐประหารที่เงียบไปนาน ก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวขายหน้าตาออกสื่อให้ชาวโลกเห็น ล่าสุดที่ไปร่วมแจมป่วนในงานเปิดตัวหนังชื่อดังอย่าง The Hunger Games: Mockingjay ที่เป็นเรื่องการต่อสู้กับเผด็จการในประเทศสมมติ ก็ถูกเอาไปตีความเข้ากับประเทศไทย ไปยึดเอาสัญลักษณ์การชู 3 นิ้วของเขามาเนียนนุ่มว่าเป็นการต่อต้านรัฐประหารไทยด้วย

ชาวบ้าน เกษตรกร ก็ยังโหยหานโยบายประชานิยม ในขณะที่แผลทางเศรษฐกิจอย่างกรณีจำนำข้าว และรถคันแรกที่ส่งผลในเรื่องหนี้เสีย กำลังซื้อ และการแทรกแซงตลาดรถยนต์ทั้งมือหนึ่งมือสอง ก็เตรียมพร้อมจะหนองแตกให้เป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจในปีหน้าของรัฐบาล

แน่นอนว่าเครือข่ายระบอบทักษิณก็แค่นอนยิ้ม รอให้รัฐบาลล้มไปเองเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะมาถึงจากแผล และจากการที่ไม่ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณให้เกลี้ยง

รอเวลาไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญวิเศษวิโสเพียงไร ถ้าในที่สุดแล้วมีการเลือกตั้งทั่วไป พวกเขาก็กลับมาได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะออกแบบกติกา กลไก เป็นตาข่ายฟ้าละเอียดยิบแค่ไหนก็ตาม

หรือเพราะคิดว่า ในที่สุดระบอบทักษิณก็คงกลับมาอีกในอนาคตอันใกล้ เลยทำให้ใครที่ใจไม่ถึง ไม่กล้าทำอะไรให้กระทบกระเทือน

เหมือนกับการถอนต้นไม้พิษขนาดยักษ์ที่ถอนยาก เพราะรากมันทั้งฝังลงลึก และแผ่ออกไปกว้างขึ้นทุกทีๆ จนจะดันบ้านพังลงมาทั้งหลังอยู่แล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น