xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มอำนาจประชาชนลงใน รธน.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

หัวใจสำคัญที่สุดที่เป็นแกนกลางของสังคมประชาธิปไตยคือหลักแห่งสิทธิ-เสรีภาพความเท่าเทียมของประชาชน

องค์ประกอบส่วนที่เหลือไม่ว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้า การออกแบบโครงสร้างความสัมพันธ์อำนาจต่างๆ จะแยกแบบไหน-คานกันแบบไหน จะออกแบบมีกี่สภา จะให้มีส.ส.มากกว่าสหรัฐอเมริกาสักกี่เท่าดี รวมถึงการเลือกตั้ง ล้วนแต่งอกออกจากโครงเสาเข็มที่เรียกว่า สิทธิ-เสรีภาพของประชาชนทั้งสิ้น

แต่การสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยเราตลอดแปดสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้สร้างบนฐานเสาเข็มที่เป็นปรัชญาหัวใจดังกล่าวนั้น โครงสร้างของเราจึงไม่สมดุลเดี๋ยวก็ล้มๆ ไม่สามารถเดินทางไปสู่สังคมประชาธิปไตยจริงๆ เสียที เฉพาะยี่สิบปีหลังมานี้ที่เราคิดว่าเรามาไกลแล้วก็แค่การสลับกันขึ้นครองอำนาจของเผด็จการจากการเลือกตั้ง กับ รัฐประหารโดยคณะทหาร มีการเลือกตั้งก็แค่พิธีกรรมเปลือกๆ ไว้ให้นายทุนเจ้าของพรรคขึ้นครองเมือง

รัฐธรรมนูญปี 2540 ประเทศของเรามีการยกระดับเนื้อหาว่าด้วยหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิมมากมายบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีศัพท์เท่ๆ เช่น “ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์” ยิ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยกระดับข้อความในหมวดนี้มากขึ้นอีกแต่ทว่าเวลานำมาปฏิบัติจริงหลักสิทธิเสรีภาพที่ว่ากลับไม่มีผลในทางปฏิบัติสักเท่าใดเลย

ตัวอย่างเช่น ......

(ตัวอย่างที่1) กฎหมายบัญญัติว่าสิทธิของบุคคลในครอบครัวเกียรติยศชื่อเสียงตลอดความเป็นส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลได้รับความคุ้มครองจากการแสวงข้อมูลโดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคล– รัฐคุ้มครองได้จริงหรือ จู่ๆ มีใครไม่รู้เอาเบอร์โทรของเราโทรมาขายของได้ดื้อๆ เพราะมีการขายเบอร์โทรฯส่วนบุคคลเป็นสินค้าไปซะ

(ตัวอย่างที่2) บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ – รัฐเปิดเผยจริงหรือ ขนาดยื่นขอข้อมูลจากรัฐสภาซึ่งออกกฎหมาย พรบ.ข้อมูลข่าวสารเองมากับมือก็ไม่ได้ตามที่ขอ รัฐทำโครงการใหญ่เช่นจำนำข้าวไม่เคยเปิดเผยข้อมูลนั้นให้สาธารณะรับทราบจริงเพราะอาศัยช่องโหว่กฎหมาย ไม่ต้องแคร์ว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิประชาชนในเรื่องใดบ้าง

(ตัวอย่างที่3) บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงเหตุผลคำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐก่อนการอนุญาตดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ข้อบัญญัตินี้ยกระดับสิทธิของประชาชนสูงขึ้นมาจากยุคก่อนหน้าเพราะบังคับให้ผู้มีอำนาจบริหารคำนึงถึงประชาชนเจ้าของอำนาจให้มาก แต่ทว่าในทางปฏิบัติจริงสิทธิข้อนี้ถูกละเมิดมากที่สุด โครงการน้ำของปลอดประสพแท้งเพราะละเมิดสิทธิข้อนี้ แบบว่ารัฐมีอำนาจอยากทำก็ทำติดนิสัยจากระบบราชการยุคเดิม แม้กระทั่งล่าสุดโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพภายใต้การกำกับของอดีตรองนายกฯปลอด ก็มาแบบเดิม คือไม่สนจะให้ข้อมูลจริงแก่ประชาชน มีการเปิดรับฟังความเห็นปาหี่พอเป็นพิธีเท่านั้น

ที่จริงมีอีกเยอะครับ “สิทธิ” ที่บัญญัติไว้แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง มีไว้เท่ๆ เป็นแค่เปลือกแต่กินไม่ได้ เช่น สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองฯ สิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในทางปกครอง โดยเฉพาะสิทธิในชุมชนท้องถิ่นนี่ไม่เคยปรากฏว่ารัฐสนใจว่ามันมีอยู่จริงเลย ฯลฯ

สิทธิเสรีภาพคือเสาเข็มเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างใหญ่

ปัญหาของการเมืองไทยในระยะหลายปีมานี้เกิดจากความไม่สมดุลของโครงสร้างอำนาจเพราะเราไปคิดออกแบบจิปาถะแต่ไม่เอาเสาเข็มมาใส่

ระบบถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างส่วนต่างๆ ง่อนแง่นมานานและที่สุดก็พังทลายประเทศถึงทางตัน แบบที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารทุกคนก็เห็นกันอยู่

แนวความคิดแบบเดิมอย่างกลไกรัฐธรรมนูญ 2550 พยายามจะแก้โดยการเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายประจำ (องค์กรอิสระ ส.ว. ศาล ป.ป.ช.) เข้าไปหวังว่าจะตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้งได้แต่ที่สุดก็ไม่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพดังหวังเกิดเผชิญหน้ากันระหว่างอำนาจอธิปไตย ส.ส.ประกาศไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญเละเทะไปหมด รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาก็คิดจะแก้รัฐธรรมนูญล้มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลายให้อำนาจนิติบัญญัติจากการเลือกตั้งใหญ่สุด เลือกตั้งมาแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ปิดปากฝ่ายค้านก็ได้ลงมติตอนตีสี่ก็ได้ แนวคิดแก้รัฐธรรมนูญไปไกลไปถึงยุบองค์กรอิสระทิ้ง

หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเริ่มคงไม่ย้อนกลับไปเดินตามรอยแนวคิดเพิ่มอำนาจฝ่ายประจำเพื่อคานฝ่ายการเมืองแบบเดิม เพราะต่อไปเชื่อเหอะก็จะมีพวกมาจากเลือกตั้งคิดจะแก้โละทิ้งฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล (อีก)

โมเดลความคิดแบบชักเย่อระหว่าง ฝ่ายประจำกับฝ่ายการเมือง ที่เป็นมาควรยุติได้แล้วเพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่ามันไม่ไปไหน

หลักคิดที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญน่าจะรับไปพิจารณาให้มากก็คือ หลักการเพิ่มอำนาจของฝ่ายประชาชน

ซึ่งก็คือการย้อนกลับไปยึดกุมรากปรัชญาของประชาธิปไตยก็คือ หลักสิทธิ-เสรีภาพ ของประชาชนเป็นหลัก

การเพิ่มอำนาจประชาชน ที่แท้ก็คือ การเติมดุลพลังอำนาจใหม่เพิ่มลงไปในสมการอำนาจให้เกิดสมดุลใหม่ เพราะก่อนหน้านี้อำนาจของประชาชนที่แท้จริงไม่เคยอยู่ในสมการอำนาจการเมืองไทยเลย

อย่างเก่งก็เป็นแค่องค์ประกอบ หรือแค่ฐานอำนาจอ้างอิงเท่านั้น !

การเพิ่มอำนาจประชาชนไม่ได้หมายความว่าให้ประชาชนมีนิ้วกายสิทธิ์สั่งการอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการไปไล่ปลด ไล่สอบสวนใครตามใจได้ แต่ทว่าหมายถึงการทำให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองจากการรุกล้ำ บิดเบือน การใช้อำนาจของภาครัฐ (บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ)

ไม่ต้องอะไรมากหรอกครับ แค่ประชาชนมีหลักประกันว่าจะไม่มีการละเมิดหลักการพื้นฐานว่าด้วยสิทธิ-เสรีภาพที่บัญญัติไว้ แค่นี้ดุลอำนาจของฝ่ายประชาชนก็เพิ่มขึ้นมากมายแล้ว

ตำรวจยัดข้อหาใครไม่ได้ ละเมิดคนได้ยาก รัฐบาลทำโครงการอุบาทว์สักแต่คิดทำไม่แจ้งชาวบ้าน ไม่เปิดประชาพิจารณ์อย่างแท้จริงไม่ได้ เพราะหากแค่เกณฑ์คนมาเชียร์เหมือนที่รัฐบาลก่อนหน้าทำกฎหมายใหม่ต้องมีช่องทางให้ประชาชนฟ้องร้องได้โดยตรงอย่าต้องไปเที่ยวตั้งสมาคม มูลนิธิอะไรมาฟ้องแทน

หรือเอาแค่หลักการเรื่องสิทธิในการรู้ข้อมูลข่าวสาร หลักการนี้ข้อเดียวหากเป็นจริงขึ้นมา ประเทศนี้จะสว่างขึ้นเยอะ สว่างขนาดที่ลดการทุจริตมิชอบลงได้เยอะ ยิ่งหากมีการแก้กฎหมายข้อมูลข่าวสารใหม่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิข้อมูลข่าวสารสามารถเอาโทษ เอาผิดคนที่ละเมิดไม่ยอมเปิด รับรองว่า กรณีแบบที่ประธานรัฐสภานำคณะไปดูฟุตบอล หรือกรณีรัฐมนตรีปิดข้อมูลจำนำข้าวแบบหน้ามึนก็จะทำไม่ได้อีกแล้ว

การเติมดุลอำนาจของประชาชนในสมการโครงสร้างอำนาจการเมืองแบบใหม่เป็นสิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าความคิดเพิ่มอำนาจฝ่ายประจำไปทะเลาะกับฝ่ายการเมืองแบบที่เคยทำๆ มา

ดุลอำนาจประชาชนดังกล่าวที่แท้คือการกลับไปตั้งหลัก ยึดโยงอยู่บนหลักการของสิทธิ-เสรีภาพปัจเจกชนอันเป็นรากปรัชญาของประชาธิปไตยที่แท้ ประชากรของประเทศนี้ถูกทำให้หลงเชื่อไปว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งมายาวนาน จนลืมไปว่ารากเหง้าปรัชญาที่แท้จริงของมันอยู่ที่สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของพวกเขาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น