xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนวิธีกระทืบประชาชนเนียนๆ แบบราชการ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เจอเรื่องของ “กระบวนวิธีกระทืบประชาชนเนียนๆ แบบราชการ” สองเรื่องซ้อน ทำให้ได้ฉุกคิดว่า ปฏิรูปการเมืองให้ตายถ้ายังไม่แก้ธรรมเนียมบ้าๆ บอๆ ของระบบราชการลักษณะแบบที่เกิด (และแบบอื่นที่คล้ายกัน) มันก็คงไม่สำเร็จหรอก

ที่จริงแล้วทั้งเรื่องปรากฏการณ์ที่เกิดไม่ใช่เกิดครั้งแรกหากแต่เป็นมานับครั้งไม่ถ้วนจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นเรื่องปกติชาชินที่ใครเขาก็ทำกันอย่างนี้ ง่าย สะดวก รวบรัดดี ผู้มีอำนาจไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือมาจากรัฐประหารนิยมชมชอบใช้กัน และก็น่าแปลกที่ตัวอย่างปรากฏการณ์สองเรื่องนี้อันแรกเป็นผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อันที่สองเป็นมรดกต่อเนื่องมาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ล้วนแต่ไม่เข้าท่าทั้งคู่ !

ไม่ว่าพรรคการเมืองหรือพรรคทหารไม่ว่ากลุ่มใดมีอำนาจต่างใช้ประโยชน์ของระบบราชการรวมศูนย์และธรรมเนียมปฏิบัติแบบเจ้าขุนมูลนายไม่เห็นหัวประชาชนเพื่อทำมาหารับประทานกันตามประสาสมบัติผลัดกันชม

เรื่องแรก- กรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีซื้อซุปเปอร์ไมโครโฟนทองคำในห้องประชุมครม.ที่เป็นข่าวคึกโครมได้ผลสรุปออกมาว่าการจัดซื้อไมโครโฟนไม่ถึงขั้นมีการทุจริต แต่มีปัญหาที่ส่วนต่างมากเกินไปทำให้มองไม่ดี จึงได้แค่สั่งการให้ผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่

นี่มันเป็นผลการสอบที่ตบหน้าประชาชนหน้าตาเฉย ผิดคาดหมายของกองเชียร์รัฐบาลไม่น้อยเพราะหลายคนแอบคาดหวังว่าพล.อ.ประยุทธ์จะอาศัยสถานการณ์นี้เชือดไก่ให้ลิงดู สร้างกระแสนิยมยกย่องว่าเอาจริงกับการคอรัปชั่น แต่ทว่ามันกลับตรงกันข้าม...รัฐบาลนี้ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลไหนๆ

ที่จริงแล้วคนในวงราชการเขารู้มานานแล้วว่าการตั้งกรรมการสอบนั้นมันเป็นเครื่องมือของผู้บริหารจะว่ามันก็คือแท็กติก ช่วยเหลือ ยื้อเวลา หาช่องทางแก้เกมการเมือง ฯลฯ มีน้อยครั้งเท่านั้นที่จะตั้งใจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงหรือเอาผิดจริงๆ มีหลายกรณีที่การตั้งกรรมการสอบที่แท้ก็คือกระบวนการฟอกผิดนั่นล่ะ

จนบัดนี้ประชาชนไทยยังไม่ได้รู้เลยว่าที่มาที่ไปของเรื่องจัดซื้อไม่ทุจริตแค่ส่วนต่างราคามันเยอะนี่มีรายละเอียดแบบไหน ใครตั้งราคากลางไปยกเมฆตรัสรู้ราคากลางมาจากไหน ถูกระเบียบหรือไม่ถูก ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเป็นเช่นไร ฯลฯ

ถ้าเป็นต่างประเทศมีเรื่องอื้อฉาวแบบนี้เขาตั้งกรรมการกลางมาสอบ สื่อมวลชนก็เข้าฟังสอบสวนได้ด้วยซ้ำ ไม่มีอะไรที่ประชาชนไม่รู้ให้มันโปร่งใสกันหายข้องใจกันไป

ถ้าจะปฏิรูปการเมืองป้องกันทุจริตคอรัปชั่นจริง การเปิดเผยข้อมูลของการตั้งกรรมการสอบเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบในแต่ละเรื่องนั้นควรจะเปิดให้ประชาชนรับทราบโดยอัตโนมัติด้วยซ้ำไป

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สปช. สนช. คนดีๆ ทั้งหลายเห็นด้วยกับเรื่องนี้ไหมครับว่าธรรมเนียมแบบนี้ของระบบราชการมันเป็นช่องของการช่วยทุจริตควรปรับปรุงปฏิรูปเสียใหม่

เรื่องที่สอง-เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สำนักงานพัฒนาพิงคนครกับบริษัทเทสโก้ที่จ้างมาศึกษารายละเอียดทำ EIA โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพจัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนหลังจากศึกษาแล้วเสร็จ

ได้ไปร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ประชุมซึ่งจัดขึ้นแค่ครึ่งวันระหว่าง 8.30-12.00 น. เห็นแล้วได้แต่ส่ายหน้าให้กับกระบวนวิธีรับฟังความคิดเห็นประชาชนของระบบราชการไทยบ้านเรา เพราะว่า นี่คือปาหี่พิธีกรรมเพื่อให้ครบตามขั้นตอนกฎหมายกำหนดเท่านั้น

โครงการนี้สืบเนื่องจากปลอดประสพอดีตรองนายกฯ กำกับดูแลสนง.พัฒนาพิงคนครซึ่งรวมเอาไนท์ซาฟารีพืชสวนโลกศูนย์ประชุมมาไว้ด้วยกันอยากทำกระเช้าไฟฟ้าจ้างบริษัทเทสโก้จำกัดมาศึกษาออกแบบและทำ EIA ทั้งๆ ที่บริษัทนี้เคยรับจ้างทำเรื่องเดียวกันนี้มาก่อนแล้วในยุคทักษิณวงเงิน 40 ล้านบาทและที่สำคัญเป็นบริษัทซึ่งลูกเมียตระกูลสุรัสวดีมีความเกี่ยวข้องถือหุ้นมาก่อนด้วย

โครงการเปิดตัวพฤศจิกายน 2556 ระหว่างเหตุวุ่นวายทางการเมืองกำหนดกรอบที่น่าทึ่งพิสดารที่สุดก็คือให้ออกแบบไปพลางศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปพลาง มีแต่เทวดาชัดๆ เท่านั้นที่ทำได้ แบบยังออกไม่เสร็จแต่ศึกษาสิ่งแวดล้อมไปแล้ว

การรับฟังความเห็นประชาชนรอบนี้สนง.พิงคนครอ้างว่าได้ศึกษาแล้วเสร็จ(เพราะสัญญากำหนดให้ทำให้เสร็จภายในสิงหาคม 2557) แต่ทว่าข้อเท็จจริงในที่ประชุมเอกสารศึกษาสุดท้ายไม่มีให้ ที่แท้ยังไม่เสร็จ จัดเวทีแค่ครึ่งวันกว่าพิธีเปิดผ่านพ้นก็ 10 โมงมีเวลาทั้งชี้แจงโครงการและให้คนถามแค่ 2 ชั่วโมงแถมวิทยากรที่ขึ้นมาชี้แจงก็ไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าด้วยการลงทุน รายละเอียดการประเมินทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นหัวข้อที่กำหนดให้ศึกษา เรื่องสำคัญอื่นๆ ไม่ได้ใส่ในเอกสารที่แจกให้ประชาชนผู้เข้าร่วม

นี่มันผิดระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการรับฟังความเห็นประชาชนในแทบทุกข้อ แต่สนง.พัฒนาพิงคนครกับบริษัทที่ปรึกษาทำเหมือนเป็นเรื่องปกติ

ก็แค่ให้มีพิธีกรรมผ่านๆ ไปแล้วก็ได้ไปอ้างว่ามีการจัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะโครงการใหญ่ๆ ที่ประชาชนสนใจภาครัฐเป็นแบบนี้มาโดยตลอดมันจึงเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ มีคนประท้วงไม่ยอมเข้าประชุมรับฟังความเห็นเวทีต่างๆ ถึงขั้นมีการปะทะต้องมีตำรวจปราบจลาจลมาดังที่เป็นข่าวหลายๆ ครั้งก่อนหน้า

เรื่องนี้หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดของกระบวนการรับฟังความเห็นให้เป็นไปตามหลักที่สากลกำหนด ประเทศของเราก็จะตั้งป้อมกันมึงสร้างกูเผาอยู่ร่ำไป

กระบวนการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศเราที่เริ่มตั้งไข่มาแต่ปี 2540 โดยประมาณไม่ได้ไปไหนเลยถอยหลังลงคูด้วยซ้ำไป

เพราะไม่มีใครเชื่อว่ามันคือ “กลไก” แก้ปัญหาด้วยเหตุผลและสันติวิธีแล้ว

เวทีรับฟังความเห็นบางทีก็แค่ปาหี่เกณฑ์ชาวบ้านฝ่ายเดียวกันมาเชียร์เพื่อเป็นใบเบิกทางไปโกงต่อ แล้วก็ปิดกั้นคนเห็นต่างไว้อีกทาง ต่อให้เปิดให้เข้าแต่ก็ไม่เปิดข้อมูลให้มันก็อีหรอบเดียวกัน

การเมืองเลว ระบบราชการล้มเหลว การทุจริตคดโกงทั้งหลายนั้นต้องแก้ไขทั้งโครงสร้างและระบบพร้อมกันไป

ที่ยกปรากฏการณ์ให้ดูเพื่อจะบอกว่าหากไม่แก้ “ระบบ” โหล่ยโท่ยเลวๆ เพื่อให้มันปกป้องประโยชน์สาธารณะและของประชาชนได้จริงแล้วไซร้ ปัญหาการเมืองสังคมเดิมๆ ก็จะยังตามมาหลอกหลอนเหมือนผีร้ายไม่ไปผุดไปเกิดเสียที

ไหนๆ หากจะปฏิรูปประเทศจริงก็ต้องขจัดสิ่งที่เป็นเครื่องมือของความชั่วร้ายที่มีไว้กระทืบประชาชนอย่างเนียนๆ เหล่านี้ไปด้วย

จะหวังได้ไหมนี่ ?
กำลังโหลดความคิดเห็น