อพท.จัดเวทีถกสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง เสนอแนวทางก่อสร้างตามรูปแบบจากต่างประเทศ โดยกระเช้าจะอยู่ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ เพียง 3 กม. ใช้เสาเพียง 7 ต้น ยืนยันไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้จัดเวทีให้ประชาชน โดยเฉพาะชาวอำเภอภูกระดึงนับพันคนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและรับฟังผลการศึกษาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเตม เอนวาย เอนจิเนียริ่ง จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลการศึกษาผลกระทบและแนวทางการก่อสร้างตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา ให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็น นอกจากนั้นยังได้นำเอารูปแบบการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าจากต่างประเทศมาให้ประชาชนได้ชม และจะนำมาเป็นรูปแบบการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าในพื้นที่
จากข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ระบุว่า ได้ศึกษาการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงไว้ 5 แนวทาง แต่คณะทำงานได้เลือกแนวทาง B เนื่องจากกระเช้าจะอยู่ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เพียง 3 กม. และอยู่ใกล้บ้านห้วยเดื่อ ซึ่งอยู่ในจุดที่ชุมชนสามารถเข้ามาสร้างรายได้ทั้งจากการขายสินค้าและที่พักอาศัย
การก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนี้จะใช้งบประมาณการก่อสร้างราว 600 ล้านบาท จะใช้เสาเพียง 7 ต้น บนระยะทาง 4.5 กม. ตัวกระเช้าเป็นแบบโมโนเคเบิล หรือเคเบิลแบบสายเดียว สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ครั้งละ 4-15 คน หรือประมาณ 4,000 คนต่อชั่วโมง ส่วนวิธีการก่อสร้างจะใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงเสาไปวางตามจุดที่ได้ก่อสร้างฐานไว้ โดยคณะทำงานได้ยืนยันว่าแนวทางนี้ไม่ต้องตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
ทั้งนี้ ประเด็นการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึงเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างมานานแล้ว โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และทำให้คนทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้พิการ สามารถขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึงได้
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่างมองไปถึงปัญหาการจัดการแหล่งท่องเที่ยวหลังจากการสร้างกระเช้า ที่อาจไม่มีการจำกัดนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวชม ปัญหาขยะ การรบกวนธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งแม้จะมีกระเช้าขึ้นไปยังยอดภูกระดึง แต่การเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ บนภูกระดึงก็ยังต้องใช้แรงกายในการเดินทาง เช่น จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (วังกวาง) ไปยังผาหล่มสัก มีระยะทางถึง 9 กิโลด้วยกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com