xs
xsm
sm
md
lg

ยุติการใช้ความรุนแรง ด้วยการลงโทษทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมไทย เป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ ทุกวี่ทุกวัน ทำไมสังคมจึงใช้ความรุนแรงใช้กำลังทุบตีเข่นฆ่ากัน คดีทำร้ายข่มขืนแล้วฆ่าเหี้ยมโหด เกิดขึ้นตลอดเวลา คดีอาชญากรรมที่เกาะเต่า กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จับตามองการทำงานของตำรวจ ด้วยความกังขาของคนทั่วไปและสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

มีข้อมูลที่น่าตกใจ จากการเปิดเผยของ ศ.นพ.รณชัย คงสกลธ์ หัวหน้าโครงการหน่วยจัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่าประเทศไทยมีการใช้ความรุนแรงในอันดับต้นๆ ของโลก คือ อันดับที่7และ8 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 24-45% ตัวอย่าง ปี 2548 มีคนถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศวันละ 30 คน ในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 44 คน

นี่ยังไม่นับรวมคนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวแล้วไม่ได้เข้ารับการรักษา กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลว่าต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ถูกกระทำรุนแรงปีละ 36,800 ล้านบาทต่อปี ไม่น้อยเลยครับ

สังคมไทยมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกระดับ ทั้งในครอบครัว โรงเรียน สังคมและประเทศชาติ ทำไมจึงมีการใช้ความรุนแรง มากกว่าการใช้เหตุผลและสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ผมว่าเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญ เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบและแก้ปัญหานี้กันจริงจัง

คนในครอบครัวทะเลาะกัน ทำไมต้องทุบตีทำร้ายกัน วัยรุ่นเขม่นกันทำไมต้องยกพวกตีกัน คิดต่างกันทางการเมือง ทำไมต้องฆ่าแกงกัน?

การใช้ความรุนแรงมีหลายระดับและหลายสาเหตุ ระดับบุคคล อาจมาจากบุคลิกภาพหรือผลจากพันธุกรรม การเลี้ยงดู ขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด ในระดับครอบครัวและชุมชน เช่นครอบครัวแตกแยก มีทัศนะผิดๆว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติของสามีภรรยา สามีมีอำนาจเหนือและเป็นเจ้าของภรรยาและลูก ผู้มีอำนาจมีสิทธิกระทำต่อผู้ที่ด้อยกว่า พฤติกรรมซึมซับจากครอบครัว และเลียนแบบจากสื่อประเภทต่างๆ ความกดดันจากความเครียด ความยากจนขัดสนทางเศรษฐกิจหรืออาการจากโรคบางโรค เช่นโรคทางสมอง โรคไบโพลาร์ ฯลฯ

ล่าสุด นักร้องเพลงร็อคคนหนึ่งของประเทศไทย กำลังเป็นข่าวมาหลายวัน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด สามปีก่อน เสพอย่างหนัก จนต้องเข้าบำบัดการติดยาขั้นรุนแรง มารอบนี้มีเรื่องของการทำร้ายร่างกายภรรยา

มีการแจ้งความ แถลงข่าว เตรียมฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันระหว่างสามีภรรยา เล่นซะเป็นเรื่องราวใหญ่โตไปทั้งบ้านทั้งเมืองทีแรกมีข่าวการแบนรายการสัมภาษณ์ทั้งคู่ทางช่องเก้าอสมท. งดออกอากาศไปแล้ว แต่ในที่สุดก็เผยแพร่ทางโลกออนไลน์ผ่านยูทูป

เรื่องนี้สำหรับผมมันสะท้อนให้เห็นหลายๆอย่างทั้งเรื่องทางสังคม เรื่องของการใช้ชีวิต เรื่องครอบครัว เป็นทั้งเรื่องส่วนตัว และตัวอย่างแย่ๆทางสังคม

การเป็นดารานักร้อง ควรเป็นแบบอย่างที่ดีของคนทั่วไปโดยเฉพาะวัยรุ่น ที่เห็นเขาเป็นไอดอล ยิ่งสังคมไม่แข็งแรง วัยรุ่นไม่มีภูมิต้านทานในการเผชิญปัญหาทางสังคม อย่างในสังคมไทยทุกวันนี้ ยิ่งต้องใส่ใจระมัดระวัง ไม่ใช่ผยองทำตัวเหิมเกริมก้าวร้าวหยาบคายไม่เหมาะสมให้เด็กดู

การเป็นสิ่งที่เรียกว่าซูเปอร์สตาร์ขาร็อค ไม่ได้แปลว่าจะทำอะไรเลวๆก็ได้ เป็นคนเจ้าชู้มีเมียสองคน หรือหลายคน ก็อวดอ้างเป็นเรื่องปกติ ทำผิดทางศีลธรรมคุณธรรม ไม่ว่าอาชีพไหนก็ผิด ไม่มีข้อยกเว้นหรอกครับ การทำร้ายเบียดเบียนชีวิตคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว ที่สำคัญคือลูก เป็นสาเหตุหนึ่งของครอบครัวแตกแยก นำไปสู่ปัญหาทางสังคม

การใช้กำลังตุบตีทำร้ายร่างกายในครอบครัว เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สะท้อนผ่านเรื่องนี้ ยิ่งกระทำแบบนี้ต่อหน้าเด็กๆผมว่ายิ่งไม่เหมาะสมและไม่สมควรอย่างยิ่ง เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้คนในครอบครัวทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใครได้หรอก ผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม

เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ยังสะท้อนไปถึงสังคมภาพใหญ่ด้วย การใช้ความรุนแรงกระทำต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ด้วยอำนาจกำลังที่เหนือกว่าของผู้ชายเป็นเรื่องที่สังคมต้องประณาม กฎหมายต้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ เกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน ทุกเพศทุกวัย เป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

นอกจากหลักกฎหมายแล้ว จริงๆแล้วสังคมไทยควรมีการสร้างวัฒนธรรมการรังเกียจคนทำชั่ว คนทำผิดศีลธรรมคุณธรรม คนใช้ความรุนแรง ด้วยการลงโทษทางสังคม ด้วยการไม่บริโภคไม่ซื้อสินค้าเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ไม่สนับสนุนสินค้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ ไม่ซื้อซีดีเพลง หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นมาตรการทางสังคม เพื่อไม่ให้คนไม่ดีมีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป หรืออย่างน้อยๆก็จะได้ละอายใจซะบ้างก็ยังดี

มีวิธีการอีกมากที่สามารถรณรงค์หยุดความรุนแรง ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐโดยตรง องค์กรพัฒนาเอกชนหรือกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมควรจับมือกันประสานกับคนในสังคม เคลื่อนไหวรณรงค์กันอย่างจริงจัง ผมว่าการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ที่ผ่านมาน่าสนใจ สามารถทำให้คนสูบบุหรีละอายต่อการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและพื้นที่หวงห้าม ทำให้คนยอมรับได้ว่า สูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องเท่อีกต่อไป

ต้องรณรงค์ให้คนใช้ความรุนแรงกระทำต่อผู้อื่นรู้สึกละอาย คนใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่นไม่เท่เลย ผู้ชายทำร้ายผู้หญิงก็ไม่แมนเลย

ที่จริงมีการรณรงค์ของทางราชการเช่นสโลแกน “ไม่กระทำ ไม่นิ่งเฉย ช่วยเหลือเมื่อพบเหตุ ร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว” แต่ไม่กว้างขวางพอและยังไม่น่าสนใจไม่มีความต่อเนื่อง

สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พย.เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล หลายประเทศมีกิจกรรมยุติความรุนแรงโดยใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว ประเทศไทยครม.เมื่อปี 2542ให้เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

ผมว่าพลังจากโซเชียลมีเดียน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรณรงค์อย่างได้ผล ที่จริงมีเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป จำนวนหนึ่งที่รณรงค์ยุติความรุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งใช้หลักการนักวิเคราะห์ Data Scientist ที่พูดถึงกันมากในเวลานี้ น่าจะเป็นวิธีการให้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติความรุนแรง ได้ทั้งข้อมูล ความคิดเห็น ความร่วมมือ และการขยายวงให้กว้างขวางรวดเร็ว ผมว่าน่าสนใจนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น