xs
xsm
sm
md
lg

สกอตแลนด์ กับ กระแสโลกการแบ่งแยกดินแดน

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

ภาพ AFP
ผมว่าคนทั่วโลกรู้จักสกอตแลนด์ในมุมต่างๆกัน บางคนอาจจะชอบผ้าลายสกอตที่มีอัตลักษณ์พิเศษ การนุ่งกระโปรงลายสกอตเป็นสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเฉพาะเอกลักษณ์ของชายสกอตในอดีต รวมทั้งเสียงปี่สกอตในขบวนแห่ในเทศกาลพิธีการต่างๆ

หลายคนสมัยเรียนประถมมัธยม รู้จักชื่อนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลก อย่าง เจมส์ วัตต์ ชาวสกอตแลนด์ผู้คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้อังกฤษก้าวนำโลกในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสตศตวรรษที่ 18
สำหรับคอหนังคลาสสิค หนังเรื่อง เบรฟฮาร์ท (Braveheart) ที่แปลชื่อเป็นไทยว่า วีรบุรุษหัวใจมหากาฬ เป็นหนังอมตะที่อยู่ในใจมายาวนาน หนังประวัติศาสตร์เรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวของวิลเลี่ยม วอลเลซ กำกับและแสดงนำโดย เมล กิบสัน ออกฉายในวันที่ 24 พฤษภาคม 1995 และสามารถคว้ารางวัลที่ยิ่งใหญ่ได้รางวัลออสการ์ถึง 5 รางวัล คือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม และสาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม

วิลเลียม วอลเลซ มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์สกอตแลนด์ เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของ การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของสกอตแลนด์ ช่วงศตวรรษที่13 เขาเป็นผู้นำที่ปลุกระดมชาวสกอตแลนด์ให้ปลดแอกตนเองออกจากการปกครองเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

สมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อชาวบ้านจำนวนมาก ถูกข่มเหงรังแก รีดนาทาเร้นจากทหารอังกฤษ ผู้หญิงจำนวนมากรวมทั้ง ภรรยาของ วิลเลียม วอลเลซ (เมล กิบสัน) ถูกข่มขืนและฆ่าโดย ทหารอังกฤษ อย่างโหดร้ายน่าสะเทือนใจ

การแก้แค้นของพวกเขา นำไปสู่สงครามใหญ่ วิลเลียม วอลเลซปลุกระดมชาวสกอตจำนวนมาก จัดตั้งกองทัพต่อสู้กับกองทัพของอังกฤษที่มีกำลังเหนือกว่า เขาเป็นผู้จุดประกายนำชาวบ้านลุกขึ้นสู้กับอังกฤษอย่างเสียสละกล้าหาญ

สกอตแลนด์ ถูกปกครองเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ รวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกับอังกฤษมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2250 หรือ 307 ปี แม้จะรวมเป็นประเทศเดียวกัน แต่ประชาชนชาวสกอตยังคงมีความแตกต่างทางความคิด ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ในปี 2542 รัฐบาลอังกฤษได้มีการผ่อนปรนแก้ไขกฎหมายให้สกอตแลนด์ปกครองตนเอง มีรัฐบาลและรัฐสภาของตนเอง สามารถกำหนดนโยบายปกครองตนเอง

ในปี 2554 รัฐบาล สกอตแลนด์ ได้รับมติจากสภาให้เดินหน้าเสนอจัดการลงประชามติให้สกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ยอมลงนามรับรองมตินี้ จะให้มีการจัดหยั่งประชามติภายในปี 2557 รัฐบาลอังกฤษเสนอให้สกอตแลนด์มีสิทธิในการบริหารจัดการด้านคลัง ภาษี และสวัสดิการมากขึ้น แลกกับการไม่แยกดินแดน หากมีการแยกดินแดน สกอตแลนด์จะไม่มีสิทธิในสกุลเงินปอนด์ และรัฐบาลอังกฤษจะยับยั้งการเข้าร่วมสมาชิกในสหภาพยุโรปของสกอตแลนด์ และขู่จะใช้นโยบายกดดันด้านธนาคารและการเงิน

แม้ว่าสกอตแลนด์จะมีประชากรเพียง 1 ใน 10 (ประมาณ 5 ล้านคน) ของสหราชอาณาจักร แต่สกอตแลนด์ มีพื้นที่ถึง 1 ใน 3 มีเมืองสำคัญศูนย์กลางทางการเงิน อย่างเอดินบะระ (Edinburgh) เมืองอุตสาหกรรมและท่าเรือที่สำคัญอย่างกลาสโกว์ (Glasgow) เมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันของยุโรปอย่างแอเบอร์ดีน (Aberdeen) และทรัพยากรน้ำมันในทะเล

ทรัพยากรน้ำมันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับสหราชอาณาจักร แหล่งน้ำมันกว่า 90% ของอังกฤษอยู่บริเวณน่านน้ำของสกอตแลนด์ ประกอบด้วยทะเลแอตแลนติกเหนือและทะเลเหนือ ซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองใหญ่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้เมืองแอเบอร์ดีน นครใหญ่สุดอันดับสามในสกอตแลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงน้ำมันของทวีปยุโรป

การลงประชามติของชาวสกอตแลนด์ เมื่อ วันที่ 18 กันยายน 2557 ผลการโหวตหลังจากการนับผลคะแนนเสร็จสิ้น 32 เขต ในเช้าวันที่19 เสียงโหวตโนสูงถึง 2,001,926 คะแนน นำโด่งโหวตเยสที่กวาดไปได้เพียง 1,617,989 คะแนน ผู้คัดค้านการแยกตัวมีประมาณ 55% ขณะที่ผู้ต้องการเอกราชมีราว 45%

ผลโหวตการลงประชามติของสกอตแลนด์ แม้ฝ่ายต้องการแยกตัวเป็นอิสระจะได้เสียงน้อยกว่า แต่จำนวน 45 เปอร์เซนต์ และการที่ประชาชนไปลงประชามติจำนวนมากกว่า 90เปอร์เซนต์ แสดงความตื่นตัวต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการใช้สิทธิเลือกกำหนดชะตาตนเองของประชาชนส่วนใหญ่

กรณีของสกอตแลนด์จะมีผลให้รัฐบาลอังกฤษต้องยอมทำตามข้อเสนอต่อสกอตแลนด์ซึ่งจะมีผลต่อการปกครองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ด้วยการโอนอำนาจด้านต่างๆจากส่วนกลาง ไปให้แก่อำนาจรัฐสภาและรัฐบาลของสกอตแลนด์และแคว้นอื่นๆของสหราชอาณาจักร

การลงประชามติในสกอตแลนด์เป็นที่จับตามองของชาวโลก เพราะ จะมีผลต่อความคิดชาตินิยมและการแบ่งแยกตนเองของหลายประเทศที่เป็นกระแสอยู่อยู่ทั่วโลก ก่อนหน้านี้มีการลงประชามติซึ่งถือว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนด้วยสันติวิธี เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ประชามติแยกอัลจีเรียออกจากฝรั่งเศส เมื่อปี 2505 ผลคือเห็นด้วย 99.72% ไม่เห็นด้วย 0.28% ประชามติแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2516 เห็นด้วย 1.1% ไม่เห็นด้วย 98.9% ประชามติแยกควิเบกออกจากแคนาดา เมื่อปี 2538 ผลคือ เห็นด้วย 49.42% ไม่เห็นด้วย 50.58% ประชามติแยกมอนเตเนโกรออกจากเซอร์เบียและมอนเตเนโกร เมื่อปี 2549 เห็นด้วย 55.5% ไม่เห็นด้วย 44.5% ประชามติแยกซูดานใต้ออกจากซูดาน เมื่อปี 2554 เห็นด้วย 98.83% ไม่เห็นด้วย 1.17%

ปัจจุบัน ยังมีกระแสการเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราชในอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น ไซปรัสเหนือ จากประเทศไซปรัส คาตาโลเนีย จากประเทศสเปน บาสก์ จากสเปนและฝรั่งเศส เคอร์ดิสถาน จากตุรกี, อิรัก และซีเรีย โซมาลีแลนด์ จากโซมาเลีย โคโซโว จากเซอร์เบีย เซาธ์ออสซีเซีย จากจอร์เจีย ทรานสนิสเตรีย จากมอลโดวา นากอร์โน-คาราบัค จากอาเซอร์ไบจาน รวมทั้ง กรณีทิเบต และอุยกูร์ ในจีน เป็นต้น

กระแสแบ่งแยกดินแดน มีเหตุผลทั้งความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิดชาตินิยม และที่สำคัญคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน การแบ่งแยกดินแดนมีทั้งการทำสงครามสู้รบกัน และการหาทางออกด้วนสันติวิธีด้วยการลงประชามติ

ผมว่าที่สำคัญที่สุด ต้องให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกชะตากรรมและกำหนดอนาคตด้วยตนเอง ไม่ควรมีใครหรือมหาอำนาจใดมาตัดสินใจแทนประชาชน ต้องให้ประชาชนเจ้าของดินแดนเป็นผู้ตัดสินเท่านั้นครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น