xs
xsm
sm
md
lg

การเมือง สังคมไทยในอดีต จากเพลงปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคนโพสต์เพลงผ่านเฟซบุ๊ก เนื่องใน วันที่ 7 สิงหาคม วันเสียงปืนแตก เป็นวันที่มีความหมายสำหรับนักเคลื่อนไหวในยุค 14 และ 6 ตุลา โดยเฉพาะหลายคนที่ต้องเข้าป่า ไปร่วมต่อสู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ผมไม่ค่อยได้ฟังเพลงเก่าๆของนักปฏิวัติรุ่นนั้น ได้ฟังบ้างบนเวทีการชุมนุม อย่างเพลงของน้าหงา น้าหว่อง น้าเสก ฯลฯ

เพลงที่ชอบมากได้ฟังบ่อย คือ “แสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นเพลงเพราะมากๆ ความหมายลึกซึ้ง ใช้คำสวย ฝีมือระดับปรมาจารย์ ผลงานประพันธ์ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเขียนมีชื่อ นักปฏิวัติที่เคยติดคุกเพราะการต่อสู้อำนาจทมิฬทางการเมือง เขาเข้าป่าจับอาวุธและถูกยิงเสียชีวิตในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐในเขตภาคอิสาน

ด้วยความอยากรู้ ผมลองเปิดเข้าไปในยูทิวบ์ ปรากฏว่ามีเพลงปฏิวัติที่ไม่เคยฟังมาก่อนมากมาย และมีการจัดทำขึ้นมาหลายชุด หลายครั้ง หลายโอกาส รวบรวมจากการแสดงคอนเสิร์ตบ้าง การแสดงในกิจกรรมต่างๆบ้าง รวมทั้งการแสดงเพลงปฏิวัติโดยวงดนตรีซิมโฟนีออเคสตรา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ครับฟังแล้วหลายเพลงน่าสนใจเกินความคาดหมาย ผมไม่คิดมาก่อนว่าจะมีจำนวนเพลงมากมายขนาดนี้ มีเพลงที่ไพเราะความหมายดีๆ มีวงดนตรีทั้งวงใหญ่ของมหิดล และวงดนตรีเพื่อชีวิตที่คุ้นเคยกันมานานอย่างวงคาราวานของหน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร หรือการรวมหลายวงจากวงดนตรีนักศึกษายุค14 ตุลา และหลัง 6 ตุลา ทั้ง คาราวาน วงกรรมาชน คุรุชน และต้นกล้า ฯลฯ

ผมว่าเพลงปฏิวัติมีทั้งเพลงที่แข็งกร้าวคึกคัก และเพลงที่ลึกซึ้งอ่อนโยน ใช้คำกวี เลือกคำภาษาไทยได้ไพเราะ ลองฟังดูซิครับ

ดนตรีและเพลงไม่ว่าในยุคไหน สไตล์ไหน เป็นกระจกส่องความรู้สึกนึกคิดของผู้คน สะท้อนสังคมและการเมืองได้อย่างดี มีคุณค่าทางวัฒนธรรมด้านภาษาศิลปะดนตรี

เพลงปฏิวัติที่แต่งและร้องกันก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา จำนวนหนึ่งเป็นเพลงที่แต่งโดยนักปฏิวัติรุ่นอาวุโส รุ่นปี 2500 หรือก่อนหน้านั้น เช่น นายผี อัศนี พลจันทรผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ และบทกวีอีศาน จำนวนมากเป็นผลงานคุณจิตร ภูมิศักดิ์ เช่น เพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ แสงดาวแห่งศรัทธา หยดน้ำบนผืนทราย อาณาจักรความรัก ของจิตร ภูมิศักดิ์ ภายหลังการใช้ชีวิตในคุกและเข้าร่วมต่อสู้จิตรยังแต่งเพลงอีกจำนวนมากสะท้อนการต่อสู้ในป่าเขา เช่น ภูพานปฏิวัติทะเลชีวิต เปิบข้าว(จากบทกวี ใช้นามปากกา กวี ศรีสยาม) และเพลงมาร์ชอีกจำนวนมาก เช่น มาร์ชกองทัพปลดแอก มาร์ชชาวนาไทย ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แต่งและร้องโดย นักปฏิวัติชาวไร่ชาวนา เช่น เพลงควนกาหลง จดหมายถึงบ้าน ฉันเกิดอยู่แดนอิสาน บินหลากู้เสรี ฯลฯ มีทั้งเพลงท่วงทำนองแบบหมอลำ ของภาคอิสาน และเพลงของภาคใต้ รวมทั้งมีเพลงท่วงทำนองแบบจีนและชนเผ่าเช่น ม้ง อย่างเพลงฝั่งแม่น้ำน่าน

จนถึงเพลงน่ารักสนุกๆ แต่สะท้อนใจ อย่าง ระบำตำข้าว พ่อหนูไปเป็นทหารปลดแอก หรือลูกหมูกองร้อย ที่เล่าเรื่องราวชีวิตกินอยู่ในกองทหารป่า

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากเข้าป่า มีเพลงที่แต่ง ขับร้อง และดนตรีเพิ่มขึ้นทุกภาค ในภาคอิสาน ภาคเหนือ และใต้ เพลงเด่นๆจำนวนมากเป็นผลงานของน้าหงา (สุรชัย จันทิมาธร) น้าหว่อง (มงคล อุทก) น้าเศก(ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง) ตี้ กรรมาชน( กิตติพงษ์ บุญประสิทธิ์) จิ้น กรรมาชน( กุลศักด์ เรืองคงเกียรติ) ศิลาโคมฉาย (วินัย บุญช่วย) ป่อง ต้นกล้า (รังสิต จงฌานสิทโธ)ฯลฯ

ผมว่าต้องขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำผลงานเพลงออกมาเผยแพร่ ทั้งนนักร้อง นักดนตรี จำนวนมากใช้นักร้องนักดนตรีคนเดิมที่เคยร้องในอดีตเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาหนุ่มสาว มีการรวบรวมภาพการต่อสู้ในป่าเขามาเป็นเอ็มวีประกอบ ที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษคือผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอื่นๆอย่างราชภัฏจันทรเกษม ที่มีนักศึกษามาร่วมแสดงประกอบเพลง

ผมได้ประโยชน์จากคำอธิบายที่มาที่ไปของเพลงมากทีเดียว ผู้แต่บางคนที่ล่วงลับไปแล้วต้องอาศัยผู้รู้เห็นช่วยอธิบาย อย่างเพลง ภูพานปฏิวัติชื่อเดิม-ภูพานแห่งการปฏิวัติ¬ (พ.ศ.2508-2509) แต่งโดย จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ของ¬พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ใช้นามปากกาว่า ปรีชา ซึ่งพ. เมืองชมพู (นามปากกาของ อุดม ศรีสุวรรณ-อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์¬แห่งประเทศไทย) ระบุถึงที่มาของเพลงนี้ว่า เพื่อที่จะแต่งเพลง ภูพานปฏิวัติ คุณจิตรได้ขึ้นไปอยู่บนสันภูลม สันนี้มียอดแหลม ลมแรงมาก ผู้ที่ลำเลียงข้าวจากที่ราบขึ้นภูมาจะต้อง¬ผ่านสันนี้เสียก่อนจึงจะไปยังที่ตั้งของทั¬พได้ เสียงลมอันหวิวหวูก็ได้จากเสียงลมที่สันภู¬ลมนี้เอง

ส่วนผู้ประพันธ์เพลงที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้เล่าแรงบรรดาลใจในการสร้างงาน เรื่องราวรอบตัวของชีวิตในช่วงเวลานั้น ปัจจัยแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานั้น ทั้งในมุมของชีวิตแต่ละคน และในมุมมองสถานการณ์ของประเทศชาติและสังคม

ผมว่าการเรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านเพลงและดนตรี มีสีสันน่าสนใจ ลองเปิดยูทิวบ์ฟังเพลงเหล่านี้ดูซิครับ วันนี้ฟังเพลงแดนตาราง ที่คุณนิด กรรมาชนหรือ คุณนิตยา บุญประเสริฐร้องแล้ว คิดถึงเป็นห่วงคุณลุงสนธิ ลิ้มทองกุล ขอส่งกำลังใจถึงด้วยเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาครับ..แม้นผืนฟ้ามืดดับ เดือนลับละลาย ...ดาวยังพราย ...ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน






กำลังโหลดความคิดเห็น