xs
xsm
sm
md
lg

สภาปฏิรูป : จุดอ่อนของ คสช.

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น สามารถเป็นได้ทั้งจุดแข็งและก็จุดอ่อนของคณะผู้ปกครองบ้านเมือง

ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่คาดหวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ ยิ่ง คสช.ประกาศออกมาแต่เนิ่นว่าจะมีการตัดสรรสภาปฏิรูปจากแนวความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง 11 ด้าน คนก็ยิ่งตั้งความหวังไว้สูงขึ้นว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้เห็นหน้าเห็นหลังรอบด้านกันทีเดียว

อย่าลืมนะครับ อะไรที่ถูกคาดหวังไว้สูงหากเกิดพลาดไปไม่เป็นตามนั้นย่อมผิดหวังสูงเช่นกัน !

คสช. ออกแบบการได้มาซึ่งสภาปฏิรูปให้ดูหลากหลายกว้างขวางขนาดเขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เสนอมาจากระดับจังหวัด 77 คนรวมกับผู้ทรงคุณวุฒิ 11 ด้าน ปัญหาก็คือจะให้ได้บุคคลที่หลากหลายและมีคุณสมบัติเพื่อไป “เสนอแนวทางปฏิรูป” พร้อมกันด้วย

คนที่จะเป็นสภาปฏิรูปเพื่อให้เกิดการยกระดับของแนวคิดแนวทางและให้เกิดการเปลี่ยนแปลงควรต้องมีกรอบแนวคิดเพื่อการปฏิรูปมาก่อนมิฉะนั้นจะแค่เข้าไปนั่งเป็นไม้ประดับ ประเทศเราอาจจะมีคนดีคนเก่งคนที่มีประสบการณ์สูงมากมายในขอบเขตงาน 11 ด้าน อาจจะมีอดีตปลัดกระทรวง อดีตอธิบดี ข้าราชการนักวิชาการเกษียณอายุ ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่นะในจำนวนนั้นอาจมีคนที่มีแนวคิดปฏิรูปจริงๆ แค่คนหรือสองคนเท่านั้น

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปใหญ่ระบบบริหารราชการเมื่อ พ.ศ.2435 เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการบริหารปกครองใหม่ในรอบหลายร้อยปีตอนมีชนมายุ 39 พรรษาเท่านั้น และหากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใหญ่ล้วนแต่เป็นเรื่องคนของคนวัยต่ำกว่า 50 ปีเพราะคนวัยนี้สะสมประสบการณ์มากพอและก็ยังกล้าที่จะริเริ่มถางทางไปอีกเส้นทางหนึ่ง

การปฏิรูปให้ได้ผลสำเร็จนั้นชุดความคิดเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมองเห็นสภาพดั้งเดิมที่เป็นอยู่ทะลุปรุโปร่งและอาจหาญเสนอแนวทางใหม่เปลี่ยนโฉมหน้าของเดิมและมองออกว่าเปลี่ยนไปแล้วจะดีกว่าเดิมอย่างไร นักคิดนักทฤษฎีทางสังคมของโลกที่เสนอแนวคิดทฤษฎีเขย่าโลกออกมาล้วนแต่มีวัยหนุ่มฉกรรจ์ทั้งนั้น คาร์ล มาร์กซ์ เจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์เขียนหนังสือ Das Kapital ตอนอายุ 49 ปี ส่วนอดัม สมิธ เจ้าแห่งทฤษฎีทุนนิยมเสรีเสนอแนวคิดของเขาตอน 40 กว่าๆ เท่านั้น

ความคาดหวังของสังคมอยากเห็นสภาปฏิรูปกระฉับกระเฉงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเปลี่ยนแปลง...แล้วเราจะได้เห็นกันว่าบุคคลที่จังหวัดแต่ละจังหวัดเสนอขึ้นมานั้นเป็นนักปฏิรูปประเภทไหน เคยออกความเห็นเสนอแนวทางอะไรที่น่าสนใจบ้าง หรือก็แค่เป็น “คนดีๆ” ที่เคยมีตำแหน่งมีประสบการณ์ทำงานแถมไม่เคยด่างพร้อยมาก่อนแค่นั้น

สมาชิกสภาปฏิรูปเลือกยากกว่า สนช.แน่นอนครับเพราะไม่มีใครคาดหวังให้ สนช.ไปถกเถียงจากแนวคิดหลากหลายอะไรหรอก ก็รู้ๆ อยู่ว่าสนช.คือสภาที่ยกมือพร้อมเพรียงกันและเพื่อทำให้ คสช. มีปึกแผ่นมั่นคงขึ้นก็เท่านั้น

หากจะมีการปฏิรูปจริงๆ (ตอนนี้ยังไม่แน่ใจเลย-บอกตรงๆ) สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของขบวนการเปลี่ยนแปลง

นั่นเพราะการปฏิรูป...โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองการปกครองจะสะท้อนผ่านกฎกติกาในรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ดังนั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ

เช่น สมมตินะครับสมมติ หากว่า คสช.+สภาปฏิรูป+สนช. เห็นพ้องว่า หลักปรัชญาการเมืองไทยจากนี้ไปจะต้องเน้นทำให้รัฐบาลเล็กลงประชาชนใหญ่ขึ้น ก็จะต้องออกแบบโครงสร้างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีบทบาทและพลังต่างๆ มากขึ้นกว่าสิทธิหย่อนบัตร 4 วินาทีแล้วปล่อยบ้านเมืองให้นักการเมืองและข้าราชการทำกันไปเหมือนที่เคยเป็นมา แล้วก็ออกแบบกลไกตามรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกันกับปรัชญานี้

แต่สมมตินะครับสมมติ คสช.+สนช.+สภาปฏิรูป เกิดคิดว่า ปรัชญาสำคัญของการเมืองไทยยุคต่อจากนี้จะต้องเน้นการเพิ่มพลังให้ระบบราชการและคนดีๆ ให้เข้าไปช่วยบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยคุกคามต่างๆ ก็จะต้องออกแบบรัฐธรรมนูญให้นักการเมืองและทุนเข้มแข็งน้อยลงมาจากเดิมและให้ระบบราชการกับฝ่ายประจำมีพลังอำนาจมากขึ้น โดยไม่ต้องใส่ใจประชาชน
เห็นไหมล่ะครับว่า การปฏิรูปใหญ่นั้นไม่ได้ขึ้นกับสภาปฏิรูปแต่ฝ่ายเดียว แต่อย่างไรก็ตามสภาปฏิรูปที่มีภาพลักษณ์ที่หลากหลายกว่าและมาจากการสรรหากว้างขวางกว่าจะเป็นองค์กรศูนย์กลางความคาดหวังด้านบวกทั้งหลายว่าจะสามารถไปต่อรองทันทานเสนอแนวทางที่ดีต่อรัฐบาลและ คสช.ได้

ซึ่งหากว่าสภาปฏิรูปที่เขาคาดหวังกลายเป็นสภาคนแก่ สภาข้าราชการเกษียณ หรือสภาที่ไม่มีแนวคิดใหม่อะไร ความผิดหวังทั้งหลายนั้นจะลามไปยังรัฐบาลและคณะทหารในที่สุด

โฉมหน้าของสมาชิกสภาปฏิรูป 250 คนที่กำลังจะคลอดออกมาจะบ่งบอกได้ว่า คสช. ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงใหญ่จริงแค่ไหน และเปลี่ยนแปลงแบบไหน

จะปฏิรูปของระบบราชการ โดยระบบ คสช. เพื่อระบบราชการ ?

หรือว่าจะปฏิรูปของประชาชน โดยสภาปฏิรูปที่ คสช.สรรหา เพื่อประชาชน ?
กำลังโหลดความคิดเห็น