xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อมีข่าวว่า ศรส.กำลังเรียกปลัดกระทรวงไปประชุมเพื่อกำหนดท่าทีในการปฏิบัติต่อ กปปส.เพราะมีปลัดกระทรวงบางกระทรวงให้การต้อนรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นอย่างดี ทำให้รัฐบาลเสียหน้า

อันที่จริงการที่ปลัดกระทรวงให้การต้อนรับนายสุเทพนั้น ผมเห็นว่าทำถูกแล้ว เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้มวลชนเกิดความไม่พอใจแล้วเข้าปิดล้อมกระทรวง จนเป็นเหตุให้ข้าราชการไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มองในแง่นี้

บทบาทของข้าราชการนับว่ามีความสำคัญเพราะเป็นผู้ปฏิบัติการสนับสนุนรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถทำงานอยู่ได้ และทางนายสุเทพก็เข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดี จึงมุ่งเป้าไปที่การแสวงหาความสนับสนุนจากข้าราชการ

แต่ก่อนข้าราชการทำงานไปตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งในหลายกรณีก็เป็นข้าราชการด้วยกันเอง ยังไม่มีพรรคการเมืองและนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในยุคที่ไม่มีการเลือกตั้งข้าราชการก็เข้าไปเป็นรัฐมนตรีเสียเอง ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ข้าราชการก็ต้องปรับตัว เป็นเหตุให้รัฐมนตรีซึ่งเป็นนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ยอมรับใช้แทนที่จะอาศัยระบบคุณธรรมเหมือนเดิม ในสมัยนี้ข้าราชการบางคนจึงได้เลื่อนตำแหน่งเร็วมาก เพราะความใกล้ชิดสนิทสนมกับนักการเมืองนั่นเอง

ในอังกฤษข้าราชการประจำจะทำงานด้วยความเป็นกลาง และไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง ผิดกับในอเมริกาที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าข้าราชการที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจ ข้าราชการก็จะรู้เกมและยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้ว่าข้าราชการที่ไม่สังกัดพรรคยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันดีว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

ระบบราชการไทยมีการพัฒนาอย่างจริงจังในสมัยรัฐกาลที่ 7 ซึ่งเริ่มมีความคิดที่จะให้ระบบราชการเป็นอาชีพที่มีระบบคุณธรรม ระบบราชการเป็นแหล่งสำคัญในการเลื่อนสถานภาพทางสังคม อย่างที่ละครทีวีลูกทาสสะท้อนความสำคัญของข้าราชการ ในยุคที่สังคมมีทาสและไพร่ การเลื่อนฐานะในสังคมก็ทำผ่านการเข้าบวชเรียน และการสมัครเข้ารับราชการ เพราะข้าราชการมีตำแหน่ง การได้เลื่อนยศเป็นขุนหลวง พระ พระยา จึงเป็นบันไดทางสังคมที่สำคัญ

ควบคู่ไปกับการขยายตัวของระบบราชการก็คือ การขยายตัวของระบบการศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกๆ มักเข้ารับราชการ และมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ทำหน้าที่เหมือนกับโรงเรียนฝึกคนเข้ารับราชการ

เมืองไทยมีการวางรากฐานระบบราชการที่น่าสนใจ สถาบันที่สำคัญในยุคแรกๆ ก็คือกฎหมาย มีการฝึกอบรมนักกฎหมายอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ การผลิตเนติบัณฑิตในยุคนี้ นำมาซึ่งรากฐานของระบบตุลาการที่แข็งแกร่งในเวลาต่อมา

กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงฝ่ายพลเรือนที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องกับการปกครองและการใช้อำนาจ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจึงมีอำนาจมาก โดยเฉพาะระดับนายอำเภอ เด็กหนุ่มในสมัยก่อนจึงนิยมเข้ารับราชการในกระทรวงนี้

ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาประเทศ กระทรวงอื่นๆ ก็เริ่มมีความสำคัญ ในสมัยปัจจุบันคนหนุ่มสาวนิยมเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว พวกนักเรียนนอกนิยมเข้ารับราชการในสำนักงบประมาณสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่กรมวิเทศสหการซึ่งเป็นกรมใหม่ กรมนี้มีคนอยากเข้ามากเพราะดูแลทุน และความช่วยเหลือจากต่างประเทศ มีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท

การรับราชการต้องอาศัยทักษะหลายอย่างนอกจากความรู้ และที่สำคัญก็คือต้องเข้าเจ้านายได้ ไม่เป็นที่เขม่นของผู้บังคับบัญชา อธิบดีเป็นผู้มีความสำคัญและมีอำนาจสูงสุด

คนที่เรียนจบมาใหม่ๆ เมื่อเข้ารับราชการก็ต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการร่างหนังสือราชการ ในบางกรมอธิบดีจะเป็นผู้สอนงานเอง อย่างคุณบุญชนะ อัตถากร ที่กรมวิเทศสหการ เป็นต้น คุณบุญชนะก็ใช้วิธีการที่เรียนรู้มาจากพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยไชยันต์ อีกทอดหนึ่ง

วิธีการที่คุณบุญชนะใช้ก็คือ การให้ข้าราชการออกไปติดต่องานกับชาวต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็ให้ทำบันทึกเรื่องราวและความเห็น กรมวิเทศสหการมีระเบียบแบบแผนในการเสนอเรื่อง โดยระบุต้นเรื่องคือความเป็นมาของเรื่องก่อน และเสนอประเด็นที่จะต้องพิจารณา ลงท้ายด้วยการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นับว่าเป็นวิธีการที่ก้าวหน้า และทำให้เกิดคนเก่งๆ หลายคน ผู้ซึ่งเคยทำงานที่กรมวิเทศสหการต่อมาได้เป็นปลัดกระทรวง และอธิบดีตลอดจนนักการทูตหลายคน

การที่ ศรส.จะเรียกปลัดกระทรวงไปปรามนั้น ผมเห็นว่าคงไม่สำเร็จ เพราะข้าราชการระดับนี้มีศักดิ์ศรี และมีความสำนึกสูง ก็คงได้แต่แสดงอำนาจบาตรใหญ่ไปเท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น