ผมได้มีโอกาสดูภาพยนตร์ภาคล่าสุดในรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 29 พค.2557 ก็เป็นช่วงที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คชส.) ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่สี่ทุ่ม จนถึงตีห้า ปรากฏว่าในวันนั้น คชส.ประกาศลดเวลาเคอร์ฟิว เป็นเที่ยงคืนถึงตีสอง ก็คงโล่งใจขึ้นละครับสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ทั้งผู้สร้างและผู้ชม
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ห้องตัดต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ส่งผลให้ฟิล์มบางส่วนเสียหาย จนถึงขั้นต้องถ่ายทำกันใหม่เลยทีเดียวแถมท่านมุ้ยตัดต่อภาพยนตร์จนถึงคืนสุดท้ายของวันที่ออกฉาย อันนี้ต้องขอชมสปิริตของทั้งผู้กำกับ นักแสดงและทีมงานทุกคน ที่ช่วยกันทำขึ้นมาใหม่สำเร็จจนได้ และต้องใช้เวลานานต่อเนื่องนับทศวรรษ นับเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์ ผลงานฝีมือผู้กำกับมือโปร “ท่านมุ้ย” ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และเป็นงานสร้างของบริษัทเนรมิตโปรดักชั่น
ภาพยนตร์ใช้ทุนมหาศาลและนักแสดงจำนวนมากทั้งตัวเอกและตัวประกอบ นักแสดงหลายคนได้สวมบทบาทติดต่อมาหลายภาค สมเด็จพระนเรศวรหรือพระนเรศแสดงโดยพันโทวันชนะ สวัสดี หรือพระเจ้านันทบุเรงที่สวมบทโดยจักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ และพระมหาเถระคันฉ่องโดยสรพงษ์ ชาตรี ฯลฯ
นักแสดงบางคนจากเด็กตอนนี้โตเป็นหนุ่มรอคอยกันมายาวนานนับ 10 ปีทีเดียวละครับ สำหรับภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นับจากภาคแรกถึงภาคที่ 5 ยุทธหัตถี ที่ถ่ายทำเสร็จ กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ในช่วงนี้ เป็นที่สุดของการรอคอยของคนไทยก็ว่าได้ เป็นตำนานอิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา การประกาศอิสรภาพจากพม่าและปกป้องเอกราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
มหาสงครามยุทธหัตถีบนหลังช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา(มังสามเกียด)พระราชโอรสพระเจ้านันทบุเรงแห่งหงสาวดี เป็นไคลแม็กซ์ของตำนานสมเด็จพระนเรศวร เป็นศึกชนช้างที่มีแผ่นดินและเอกราชของอยุธยาเป็นเดิมพัน ชัยชนะครั้งนี้ตอกย้ำเอกราชของอยุธยา ไม่เป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานต่อมามากว่า 150 ปี ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.2310
เนื้อหาในภาพยนตร์ไม่ซับซ้อน เล่าเรื่องเหตุการณ์สองฝ่ายเมื่อราวปี พ.ศ.2129 ทั้งฝ่ายพระเจ้านันทบุเรงแห่งหงสาวดีที่ทรงแค้นเคืองหลังการปราชัยต่อสมเด็จพระนเรศวร ในศึกที่พระองค์ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนต้องเสียไพร่พลและพระสิริโฉม เมื่อทราบข่าวอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน สมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา จึงโปรดให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง
ฉากสำคัญๆ ทั้งฉากการรบ ชนช้างยุทธหัตถี และฉากอลังการในท้องพระโรงของพระเจ้านันทบุเรงหงสาวดี และท้องพระโรงของอยุธยาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวร เป็นโจทย์ที่ยากเหนือธรรมดา เป็นฉากที่มีรายละเอียดของสถานที่ เครื่องแต่งกายเครื่องประดับของตัวละครจำนวนมาก ที่มียศศักดิ์แตกต่างกัน รวมทั้งลำดับขั้นตอนพระราชพิธี และองค์ประกอบในฉากที่ต้องสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ทั้งฝ่ายไทยและพม่า
สำหรับคนไทย ผมว่าการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อให้คนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ควรชื่นชมสนับสนุน ความจริงยังมีเรื่องราวในประวัติศาสตร์อีกมากที่ควรนำมาถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ ของศิลปะการแสดง
การทำสงครามกู้เอกราช รักษาอิสรภาพกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รักษาชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน เป็นความกล้าหาญเสียสละของบูรพมหากษัตริย์และบรรพบุรุษของคนไทย ควรค่าแก่การสดุดีเชิดชูคารวะของคนไทยรุ่นหลังยุค
ความโชคดีของผมคือมีคุณแม่เป็นนักประวัติศาสตร์ทำให้การดูหนังเรื่องนี้แล้วมานั่งถกกับคุณแม่เป็นอะไรที่สนุกมากๆครับ แถมได้ความรู้อะไรเยอะมากเลยผมเลยขอเอาเกร็ดต่างๆ เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันครับเผื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากในภาพยนตร์ในปีพ.ศ.2129 พระกันเป็นสองคู่ อันเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของแผ่นดิน
เรื่องแรกที่ผมขอหยิบมานั้นก็คือเรื่องขอมณีจันทร์ ซึ่งในเรื่องสุดท้ายได้ขึ้นเป็นมเหสีในสมเด็จพระนเรศวร แต่จากการคุยกับคุณแม่ คุณแม่บอกว่าในประวัติศาสตร์เธอเป็นแค่นางสนมเอก แต่อย่าลืมว่านี่คือตำนาน (ตามชื่อเรื่อง) และอย่างไงซะ ภาพยนตร์ก็ต้องมีพระเอกนางเอกเป็นธรรมดา
หรือกรณีอย่างพระราชมนู หรือบุญทิ้งพระสหายและทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวรก็เป็นตัวละครหนึ่งซึ่งมีบทบาทและสีสันมากในภาพยนตร์เรื่องนี้การเล่าเรื่องผ่านตัวละครตัวนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการสะท้อนภาพสามัญชนผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวจากคนตัวเล็กๆ ที่เงยหน้าขึ้นไปมอง สิ่งที่ตัวเองเคารพและศรัทธา
กรณีของพระเจ้านันทบุเรงที่ถูกไฟครอกจนเสียโฉมนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้ถามคุณแม่ คุณแม่บอกว่ามีเหตุการณ์นี้จริง แต่ไม่มั่นใจว่าเกิดขึ้นในศึกการเผาค่ายหลวงหรือเกิดในศึกอื่นๆ
หรือกรณีอย่างพระราชมนู หรือบุญทิ้งพระสหายและทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวรก็เป็นตัวละครหนึ่งซึ่งมีบทบาทและสีสันมากในภาพยนตร์เรื่องนี้การเล่าเรื่องผ่านตัวละครตัวนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการสะท้อนภาพสามัญชนผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวจากคนตัวเล็กๆที่เงยหน้าขึ้นไปมอง สิ่งที่ตัวเองเคารพและศรัทธา
มาถึงเรื่องอื่นๆบ้าง อย่างชุดเกราะทั้งของไทยและพม่านั้น ในสมัยก่อนน่าจะไม่มีมากนัก แม้ว่าจะเริ่มมีการเข้ามาของทั้งทหารรับจ้างจากยุโรป หรือการทำการค้าขายกับต่างประเทศ อย่างเกราะของทางฝั่งอโยธยา หรือทางฝ่ายสยามของพระนเรศวร ก็น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเกราะของอัศวิน
เนื้อหารายละเอียดมุมมองประวัติศาสตร์อาจเห็นต่างกัน เช่น เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา เรื่องของเจ้าขรัวมณีจันทร์ ฯลฯ และมีข้อโต้แย้งปลีกย่อยจากคนดูในหลายประเด็น เช่น ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถตกมันวิ่งเตลิดเข้าไปกลางวงข้าศึก ในภาพยนตร์มีพายุลมพัดฝุ่นตลบพอสงบสองพระองค์ตกอยู่กลางวงล้อม หรือพระมหาอุปราชาแต่งองค์เหมือนแม่ทัพคนอื่นเพื่อให้แยกไม่ออกว่าพระองค์อยู่ตรงไหน ในภาพยนตร์พระมหาอุปราชาทรงมหามงกุฎทองคำประดับพลอย ทรงชุดเกราะทองคำ แตกต่างจากแม่ทัพคนอื่นชัดเจน ฯลฯ
ผมว่าการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบค้นคว้าแลกเปลี่ยนกัน จะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาของคนไทยโดยเฉพาะเยาวชน ประวัติศาสตร์ที่คนไทยรับรู้หรือเด็กไทยเรียนกันอยู่ ยังน่าตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบกันอีกมาก
พูดถึงเรื่องเหล่านี้แล้วก็คงต้องพูดถึงฉากยุทธถัตถีสักหน่อย ต้องขอพูดตรงๆเลยว่าในสายตาของผมกราฟฟิก CG ยังไม่เนียนเท่าไร โดยเฉพาะในเรื่องของช้าง เพราะช้างบางฉากก็งายาว บางฉากก็งาสั้น จนพอถึงฉากยุทธหัตถีงากลับยาวมากๆ แถมฉากก็ดูไม่อลังการเท่าไรนัก
อีกสิ่งหนึ่งคืออาจจะเพราะการรีบทำให้เสร็จทันกำหนดฉายรอบสื่อ (รอบที่ผมไปดู) ทำให้ฉากบางฉากอาจจะดูขาดๆ หายไปบ้างตัดได้แบบไว และจบแบบไม่ทันได้ตั้งตัวกันเลยทีเดียว ก็เอาเป็นว่าหลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เวอร์ชั่นเต็มออกมา คล้ายๆ กับที่เราเคยได้ดู สุริโยไทเวอร์ชั่น 5 และ 8 ชั่วโมงกันมาแล้ว
แต่เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยหากเทียบกับสาระสำคัญที่ท่านมุ้ยใส่ไว้ในหนัง เพื่อสื่อถึงหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจงรักภักดี เรื่องความเสียสละ และเรื่องของความสามัคคีซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นอะไรที่คนไทยกำลังต้องการอย่างมากในเวลานี้ ดังนั้นแล้ว ผมจึงขอเชียร์ให้ไปดูกันให้มากๆ เพราะอย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้ก็จะทำให้คุณรักและหวงแหนประเทศชาติมากยิ่งขึ้น