xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเกิดที่รามคำแหง : มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ 2556

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ก่อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ 2516 เมื่อ 40 กว่าปีก่อน นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ชมรมคนรุ่นใหม่ ตีพิมพ์หนังสือรายสะดวกที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ”

โดยปกติกลุ่มนี้ได้ตีพิมพ์หนังสือเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยเป็นประจำ เพื่อสะท้อนแนวความคิดต่อเพื่อนนักศึกษา ในช่วงที่สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอนโดยอำนาจเผด็จการทหารในรัฐบาลยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ เป็นหนังสือรายสะดวกฉบับสุดท้ายของกลุ่ม ที่นำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อข้อความสี่บรรทัดในหน้า 6 ของหนังสือระบุว่า

"สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ"


ข้อความดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นการตำหนิรัฐบาล กรณีเฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2516 มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และพบซากสัตว์ป่า โดยเฉพาะซากกระทิงจำนวนมาก เป็นข่าวดังในขณะนั้น

รัฐบาลแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจลับ แต่นิสิตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ออกมาเปิดเผยว่าเฮลิคอปเตอร์ลำนี้กลับจากการตั้งค่ายพักแรมเพื่อฉลองวันเกิด และใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ป่า

เหตุเกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ในวันนั้นมีทั้ง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร อยู่กับนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ประมาณ 60 คน โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยาน นักข่าว และนิสิตนักศึกษาไปสังเกตการณ์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการต่ออายุราชการของจอมพลถนอมในฐานะผู้บัญชาการทหารสุงสุด และจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว

เพียงแค่ข้อความที่ระบุออกมาอย่างลอยๆ เกิดปฏิกิริยากับ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในยุคนั้น สั่งคัดชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากบัญชีนักศึกษา

มหาวิทยาลัยตั้งข้อหาตั้งชมรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้สถานที่ชุมนุมเป็นครั้งคราวโดยพละการ เขียนหนังสือก้าวร้าวผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย ในทางที่ทำให้ผู้อื่นเกลียดชังตำหนินักศึกษาที่ตั้งหน้าเล่าเรียนว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว

ในที่สุด การลบชื่อนักศึกษา 9 คน กลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมตัวประท้วง โดยมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เข้าร่วมสนับสนุน

นำมาซึ่งการเดินขบวนประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2516 เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาทั้ง 9 คน กลับเข้ามาเป็นนักศึกษาดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก

ต่อมา ศนท. ได้เพิ่มข้อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน กระทั่งนักศึกษา 9 คนกลับเข้าเป็นนักศึกษาตามปกติ ขณะที่ ดร.ศักดิ์ลาออกจากอธิการบดีตามข้อเรียกร้องแรก

แต่ข้อเรียกร้องของ ศนท. ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญภายในหกเดือนนั้นไร้ผล นำมาซึ่งการก่อตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ

กลุ่มปฏิบัติการราว 20 คน เดินแจกใบปลิวในใจกลางกรุงเทพฯ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ตำรวจได้จับกุมนักศึกษาที่แจกใบปลิว 11 คน

ก่อนที่จะออกหมายจับเพิ่มอีก 2 คน กลายเป็น “13 กบฏรัฐธรรมนูญ” ชนวนสำคัญนำไปสู่เหตุการณ์มวลมหาประชาชนรวมตัวกัน 14 ตุลาคม 2516 เกิดการจลาจลกระทั่งจอมพลถนอมออกนอกประเทศ

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาแห่งที่สองของประเทศไทย หลังจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเข้าสู่ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อตามนโยบายของรัฐ

เหตุการณ์อีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือ “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

ผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินกลางพากันหนีตาย หลังตำรวจและทหารกว่า 6 พันนายเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินกลางไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

มหาวิทยาลัยรามคำแหงกลายเป็นสถานที่ชุมนุมของผู้รอดชีวิต เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 หลังภาพการสังหารประชาชนโดยตำรวจและทหารถูกเผยแพร่ แต่ฟรีทีวีและวิทยุภายใต้กลไกของรัฐถูกแทรกแซงและบิดเบือนข่าวสาร

ค่ำวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังคงปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน

คืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2535 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยแพร่ภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง และพล.อ.สุจินดา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พล.อ.สุจินดาได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง วันต่อมาได้ประกาศลาออก จากนั้นได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชนต่อชัยชนะที่เกิดขึ้น

นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 พื้นที่ทุกตารางนิ้วของมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นสงบสุขมาตลอด โดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองอยู่วงนอกมหาวิทยาลัยตามแต่อุดมการณ์ของแต่ละกลุ่ม

ปัจจุบัน รศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นอธิการบดี ด้วยสโลแกนที่ว่า “ดูแลลูกศิษย์เหมือนลูกหลาน”

หากใครที่ติดตามการเมืองในรั้วรามคำแหงมาโดยตลอดจะทราบกันดีว่า ในปัจจุบันขั้วพรรคการเมืองในปีนี้มีอยู่สองขั้วใหญ่ๆ คือพรรคตะวันใหม่ กับพรรคสานแสงทอง ที่ขับเคี่ยวกันมาโดยตลอดด้วยจุดขายที่แตกต่างกัน

พรรคตะวันใหม่มีจุดขายตรงที่การเน้นกิจกรรมของนักศึกษา ซึ่งมักจะได้รับการเลือกตั้งหลายสมัยซ้อน ส่วนพรรคสานแสงทองเน้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัย มักจะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนฉิวเฉียด

ถึงกระนั้น นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) คนปัจจุบัน คือ อุทัย ยอดมณี จากพรรคสานแสงทอง ได้ผันตัวไปเป็นแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ชุมนุมขับไล่รัฐบาลในขณะนี้

แม้การเคลื่อนไหวของนายอุทัยจะทำให้นักศึกษาที่มีแนวคิดทางการเมืองอีกขั้วหนึ่งไม่พอใจ มีการดึงสภานักศึกษา และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มาเป็นพวกตอบโต้ แต่ รศ.วุฒิศักดิ์ก็ให้อิสระแก่นักศึกษา

เมื่อการเมืองบานปลาย จากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำไปสู่การโค่นล้มระบอบทักษิณ รศ.วุฒิศักดิ์ก็แสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

การชุมนุมที่หน้าหอนาฬิกาหน้ามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 เกิดขึ้นหลังแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เช่าสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล

การปักหลักพักค้างในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัย มีการใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดังโดยรอบ เมื่ออาคารเรียนรวมและห้องบรรยายส่วนใหญ่มีลักษณะแบบเปิด ทำให้รบกวนสมาธิการเรียนการสอน

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงยังแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทั้งการที่การ์ดกลุ่มคนเสื้อแดงขับขี่จักรยานยนต์ยั่วยุชาวบ้านและนักศึกษาที่อาศัยในซอยรามคำแหง 53 เมื่อคืนวันที่ 28 พฤศจิกายน จนเกิดการปะทะ

การที่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงทำร้ายร่างกายนักศึกษาหญิงที่แต่งกายมีธงชาติประกอบ ซึ่งคนเสื้อแดงคิดว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ใช้ธงชาติเป็นสัญลักษณ์

ที่นักศึกษาไม่พอใจมากที่สุด คือการที่มีมือดีกรีดป้ายข้อความ “ลูกพ่อขุนทั่วประเทศคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” โดยทำลายตราสัญลักษณ์ คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีถึงที่สุด

ภาพตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยถูกทำลาย ถูกส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียแบบไฟลามทุ่ง นำมาซึ่งการรวมตัวกันของนักศึกษาและศิษย์เก่า โดยมีนักศึกษาอาชีวะและผู้ชุมนุมจากเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเข้าร่วมสมทบ

การชุมนุมในวันนั้นเป็นไปอย่างสงบ และแยกย้ายกันกลับบ้าน กระทั่งบ่ายวันที่ 30 พฤศจิกายน ได้นัดหมายชุมนุมอีกรอบ โดยได้ยื่นหนังสือไปยังสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ก่อนที่จะกลับมาชุมนุมที่เดิม

แต่แล้วในช่วงเย็นก็เกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อชายสองคนจากกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามายั่วยุนักศึกษา ก่อนจะหลบหนีไปในซอยรามคำแหง 53 กระทั่งนักศึกษารายหนึ่งวิ่งออกมาจากซอย ถูกตีจนศีรษะแตก ระบุว่าถูกกลุ่มคนเสื้อแดงตี

จากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น เมื่อรถเมล์ ขสมก. เฉพาะกิจที่ขนคนเสื้อแดงผ่านมา พร้อมกับมีเสียงคล้ายเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด กลุ่มนักศึกษาจึงโกธรแค้นปาก้อนอิฐและไม้เข้าใส่รถเมล์จนกระจกแตกกระจาย

นอกจากนี้ มียานพาหนะบางคันบนทางยกระดับรามคำแหงขว้างสิ่งของจนมีเสียงคล้ายระเบิด เกิดความแตกตื่น นำมาซึ่งความโกธรแค้น เช่น มีการทุบรถแท็กซี่ที่รับคนเสื้อแดง มีการล้อมรถเมล์สาย 115 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงโดยสารมา

อีกฟากหนึ่ง แกนนำคนเสื้อแดงขึ้นปราศรัยภายในสนาม เรียกร้องให้เตรียมพร้อมออกมาเคลื่อนไหว โดยมีรัฐมนตรีอย่าง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และ จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ร่วมปลุกระดม

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ปราศรัยข่มขู่นักศึกษา ด้วยการตราหน้าเป็นชายฉกรรจ์ว่า “ตอนมาคุณเดินมา ผมยังดีใจที่ตอนกลับคุณวิ่งกลับไป ผมไม่อยากให้คุณนอนกลับ ผมยืนยันได้”

จตุพร พหรมพันธุ์ แกนนำอีกคนหนึ่ง ปราศรัยว่า “ถ้าน้องๆ จะชุมนุม ก็ให้ใช้สิทธิ์ของเขาไป การปลุกระดมคนให้มาราชมังคลาฯ คนเจ็บตัวไม่ใช่คนในราชมังคลาฯ แต่จะเป็นน้องๆ เอง”

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ปราศรัยเปรียบนักศึกษารามคำแหงเหมือนสุนัขบ้า ระบุว่า “"บางเส้นมีหมาบ้าเราต้องหลบหมาบ้า เพื่อจัดการกับหัวหน้าหมาบ้า"

ส่วน อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ปราศรัยซ้ำเติมอีกว่า “ไอ้พวกนักศึกษานอกรีตรามคำแหง เรียนไม่จบมึงมาปั่นป่วน เดี๋ยวเจอน้องๆ กูจะไฝว้ ไฝว้ ไฝว้”

ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม บริเวณซอยรามคำแหง 24 (ซอยเสรี) ด้านหลังมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บ โดยกระสุนมาจากข้างกำแพงรั้วหลังมหาวิทยาลัย ไม่ต่ำกว่า 20 นัด

ในที่สุดนักศึกษารามคำแหง นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ วัย 21 ปี ถูกยิงเข้าบริเวณชายโครงด้านซ้าย 2 นัด เสียชีวิตที่โรงพยาบาลรามคำแหง กลายเป็นศพแรกจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ ผศ.วุฒิศักดิ์เปิดประตูมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาเข้ามาหลบความวุ่นวายภายนอก ต่อมาเมื่อมีเหตุปะทะด้านหลังมหาวิทยาลัย จึงได้ย้ายไปอยู่ลานหน้าสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประมวลผล (สวป.)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกเล่าในคืนวันนั้นว่า ได้ประสานงาน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีบางคน รวมทั้งตำรวจนครบาล 4

แต่คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่สามารถมาได้ เพราะการจราจรติดขัด จึงยื่นคำขาดผ่านสื่อว่า ถ้าไม่สามารถที่จะส่งคนขึ้นมาดูแลลูกศิษย์ได้ รัฐบาลกับตนก็อยู่คนละข้าง

“ถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษากฎเกณฑ์กติกาบ้านเมือง ดูแลคนมือเปล่าได้แบบนี้ ผมว่าใช้ไม่ได้ ผมเองไม่ได้เลือกข้าง ไม่ได้เลือกใคร แต่วันนี้ได้เห็นกับตาตัวเองว่าลูกศิษย์ลูกหาผมนั้นโดนยิง โดนทำร้ายขนาดนี้ ผมคิดว่าใช้ไม่ได้”

บริเวณหลังมหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่อันตราย เพราะมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากออกมาไล่ทำร้ายนักศึกษาที่เดินผ่าน บางจุดกลุ่มนักศึกษาส่องสอดหาคนเสื้อแดงและกันไม่ให้เข้าพื้นที่มหาวิทยาลัย จนมีการปะทะกัน

เวลา 02.00 น. ที่ซอยรามคำแหง 24 แยก 14 ผู้ชุมนุมเสื้อแดง 1 ราย คือพลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ ทหารจาก จ.กาญจนบุรี ถูกยิงกลางศรีษะ กระสุนทะลุผ่านหมวกกันน็อค นำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1

เช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2556 สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นหลายครั้ง นักศึกษาต่างพากันหนีตายเข้าไปในตึกศิลาบาตร ด้านหลังหอประชุมรามคำแหงมหาราช

ในขณะนั้น มีนักศึกษาถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 คน ถูกกระสุนปืนยิงเข้ากลางหลังจนได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 คน และอีก 1 คน ถูกกระสุนปืนเข้าที่บริเวณขา

อีกด้านหนึ่ง ช่วงเช้าที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน พบศพนายวิโรจน์ เข็มนาค อายุ 43 ปี ผู้ชุมนุมกลุ่มแดงพิมลราช จ.นนทบุรี ถูกยิงกระสุนเข้าที่อกด้านซ้ายเสียชีวิต บริเวณด้านล่างสเตเดี้ยม ฝั่งติดคณะวิศวกรรมศาสตร์

เวลา 07.00 น. ที่หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย เกิดการปะทะกันอีกครั้ง เป็นเหตุให้นายวิษณุ เภาพู่ อายุ 26 ปีถูกยิงเข้าที่หน้าอกซ้าย อาการสาหัส ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลรามคำแหง

ทางมหาวิทยาลัยพยายามจะเคลื่อนย้ายนักศึกษาออกนอกมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย หรือเปิดประตูมหาวิทยาลัย จะมีชายชุดดำสั่งการทำร้ายนักศึกษา และมีหน่วยซุ่มยิงจากมุมสูง

พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บังคับกรมทหารราบที่ 11 กองพันที่ 1 รักษาพระองค์ นำทหาร 200 นาย รักษาความปลอดภัยบริเวณภายในและโดยรอบ พร้อมพานักศึกษาไปส่งยังสถานที่ปลอดภัย ด้วยรถบัสของมหาวิทยาลัย

ขณะที่กรุงเทพมหานครได้ส่งรถ 10 คัน เพื่อเข้าไปเคลื่อนย้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงออกจากมหาวิทยาลัย และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือโรงเรียนวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

แม้การลำเลียงนักศึกษาจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง แต่มีการสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลา 15.45 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้รถโดยสารปรับอากาศ 2 ชั้น ทะเบียน จ.กำแพงเพชร บริเวณหน้าสนามราชมังคลากีฬาสถาน

เพลิงได้ลุกไหม้เกือบ 1 ชั่วโมง มีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากหัวหมากเข้ามาฉีดน้ำระงับเหตุ กระทั่งเพลิงสงบ พบโครงกระดูกติดอยู่ที่บริเวณช่วงบันไดทางขึ้นรถ

อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมาผู้ปกครองของศพที่ติดอยู่ในรถบัสมาที่ สน.หัวหมาก หลังทราบจากหลักฐานทั้งหัวเข็มขัด โทรศัพท์มือถือไอโฟน รวมถึงกุญเเจบ้านเเละเเหวน โดยผู้เสียชีวิตน่าจะเป็นนายสุรเดช คำเเปงใจ อายุ 17 ปี ลูกชาย

โดยเพื่อนของผู้ตายเล่าว่า เมื่อเที่ยงของวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อนอีกคนหนึ่งชักชวนไปซื้อของ โดยขี่รถจักรยานยนต์จากซอยเอกมัย 30 มายังบริเวณหน้าสนามราชมังคลากีฬาสถาน ก่อนถูกระเบิดปิงปอง ไม่สามารถหาทางกลับออกไปได้

ก่อนจะเจอกลุ่มนักศึกษาไม่ทราบสถาบันอยู่บริเวณนั้นชักชวนขึ้นไปบนรถบัส ไม่นานได้ยินเสียงคนตะโกนว่าไฟไหม้รถ จึงรีบกระโดดลงมา เเละพลัดหลงกันก่อนมาเจอตน พยายามโทรศัพท์ติดต่อนายสุรเดชแต่ติดต่อไม่ได้

ส่วนคนขับรถบัสระบุว่าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ได้มาส่งคนเสื้อแดง 25 คนมาร่วมชุมนุม เมื่อมาถึงซอยรามคำแหง 24 ถูกชายฉกรรจ์ใช้อาวุธปืน ไม้ และขวดทุบเข้าที่รถ จึงนำรถไปจอดที่เกิดเหตุและพากันหลบเข้าไปข้างใน

โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น 2 วัน 1 คืนในครั้งนี้ จากการแถลงของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2556 เวลา 08.00 น. มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บอีก 71 ราย

แม้เหตุการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ประชาชนและนักศึกษาที่อาศัยอยู่ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังคงหวาดระแวงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อรู้ว่าเหตุการณ์คล้ายกับปี 2553 หวนคืนกลับมา

มาคราวนี้กลายมาเป็นสถานศึกษาที่ไม่สมควรมีความขัดแย้งเข้ามาเกี่ยวข้อง ติดกันเป็นการกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีสนามจัดการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมบันเทิง มีน้อยครั้งเท่านั้นที่ใช้เป็นสถานที่ปราศรัยทางการเมือง

อีกด้านหนึ่ง กำลังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความจริงที่เกิดขึ้น ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่ปราศรัยปลุกระดมมวลชน กับฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายร่วมกับนักศึกษา

แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงแถลงข่าวในวันถัดมา นายจตุพรอ้างว่าเป็นการสร้างเรื่องว่าคนเสื้อแดงร่วมมือกับรัฐบาลทำร้ายนักศึกษารามคำแหง เหตุการณ์ทั้งหมดถูกหยิบยกมาสร้างสถานการณ์เพื่อโค่นล้มรัฐบาล

ขณะที่กระบอกเสียงของกลุ่มคนเสื้อแดง สถานีโทรทัศน์เอเชียอัปเดต พยายามเลือกวิดีโอคลิปเฉพาะในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกทำร้าย พร้อมทั้งโจมตีนักศึกษารามคำแหงว่า “นี่หรือม็อบคนดี”

อีกด้านหนึ่ง ผศ.วุฒิศักดิ์ ก็แถลงข่าวประณามคนก่อเหตุและคนสั่งการทำร้ายนักศึกษา ซึ่งใช้สิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมเนื่องจากไม่พอใจที่เพื่อนถูกทำร้ายก่อนหน้านั้น แต่กลับมีการใช้ปืนสั้น สไนเปอร์ และระเบิดทำร้ายนักศึกษา

ขณะเดียวกัน ยังเสียใจกับบทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาประชาชน และไม่อยากให้ตำรวจบิดเบือนว่าเป็นผู้ประสานงานให้ทหารเข้ามาช่วยเหลือรับตัวนักศึกษา

นอกจากนี้ ยังขอขอบคุณกรมทหารราบที่ 11 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ช่วยนักศึกษา ที่น่าสังเกตคือพอทหารเข้ามา คนก็อุ่นใจว่าได้รับการคุ้มครอง เหตุซุ่มทำร้ายก็ไม่ปรากฏ

รศ.วุฒิศักดิ์ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการนำคนร้ายมาลงโทษ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ทุกครั้งที่มีการชุมนุมก็จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ขณะเดียวกัน ในภาพใหญ่ สังคมไทยก็ไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้อีก

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ใช่ฐานที่มั่นทางการเมืองของใคร เป็นสถานที่ให้การศึกษาหาความรู้ อยากให้มองนักศึกษาว่ามีการแสดงเจตจำนงต่างๆ โดยบริสุทธิ์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงย้ำอีกครั้ง

แม้การคลี่คลายความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะยังดำเนินต่อไป แต่ปัญหาก็คือ เมื่ออธิการบดีกล่าวว่ามีการใช้ปืนสั้น สไนเปอร์ และระเบิดทำร้ายนักศึกษา แต่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงอ้างว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ ผลที่สุดจะเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน ตัวละคร “ชายชุดดำ” ที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับกลุ่มคนเสื้อแดง หวนคืนกลับมาอีกครั้งเคียงคู่กับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ย่อมบ่งบอกอะไร

ชายชุดดำ มือสไนเปอร์ สองคำนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะจบลงในปี 2553 แต่เมื่อหวนกลับมาทำให้คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางตึกสูงหวาดระแวงมากกว่าเดิม ในยามที่การเมืองยังร้อนแรง ประชาชนต้องเสี่ยงตายเพิ่มขึ้น

เหตุการณ์ในวันนั้น สื่อมวลชนรายหนึ่งสามารถจับภาพชายสวมเสื้อดำใช้ปืนสั้นจ่อยิงไปยังกลุ่มนักศึกษารามคำแหง ซึ่งลายเสื้อที่ปรากฏในภาพคล้ายกับกลุ่มแนวร่วมคนเสื้อแดงต่างจังหวัด จะเป็นความจริงหรือไม่

หลังจากนักศึกษารามคำแหงเสียชีวิต ในช่วงกลางดึกกลุ่มคนเสื้อแดงถูกยิงตั้งแต่ช่วงตีสอง ก่อนจะถูกยิงที่ใต้สนามในช่วงเช้า และที่หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทยนั้น กลุ่มผู้ลงมือมีมูลเหตุจูงใจประการใด

และรถบัสที่คนขับรถอ้างว่าถูกปล้นจอดอยู่ที่หน้าสนามราชมังคลากีฬาสถาน ตามคำบอกเล่าของเพื่อนผู้ตาย กลุ่มนักศึกษาไม่ทราบสถาบันชักชวนขึ้นไปเพื่อจุดประสงค์ใด และรถถูกเพลิงไหม้ด้วยสาเหตุใด

ที่สำคัญ ตำรวจถูกตั้งคำถามจากนักศึกษาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าไม่ให้ความช่วยเหลือ หนำซ้ำยังมีภาพของการช่วยเหลือกลุ่มคนเสื้อแดงโดยมิได้เหลียวแลนักศึกษาที่หนีตายในมหาวิทยาลัย

สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่ถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่สิ่งที่อยากจะฝากไปถึงผู้บริหารคือ “ความปลอดภัยในรั้วรามคำแหง” โดยเฉพาะรั้วด้านหลังมหาวิทยาลัย และด้านการกีฬาแห่งประเทศไทย ยังมีช่องโหว่อยู่มาก

ปัจจุบันรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหงกับภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรั้วคอนกรีตที่ซอยรามคำแหง 24 หรือรั้วโปร่งบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัย สามารถปีนเข้า-ออกได้อย่างง่ายดายเพราะรั้วไม่สูงมาก สมควรที่จะปรับปรุงหรือไม่

นอกจากนี้ สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ หลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จะมีนักศึกษาคนใดกล้าแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เรื่องนี้คงอยู่เหนือความคาดหมายของผู้บริหาร แต่ไม่เกินวิสัยที่จะหามาตรการวางแผนรับมือในอนาคต

สุดท้ายขอให้กำลังใจอธิการบดีที่ดูแลลูกศิษย์เหมือนลูกหลาน ถึงขั้นยอมเสี่ยงตาย และขอไว้อาลัยแก่นักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นพี่น้องพ่อขุนรามคำแหงคงต้องจำไปจนตาย








กำลังโหลดความคิดเห็น