xs
xsm
sm
md
lg

วิวัฒนาการ และคำเตือนถึง “ม็อบคนกรุงฯ” ยุคโซเชียลมีเดีย

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


“ถึงคุณไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่การเมืองก็จะเข้ามายุ่งกับคุณ”

คุณผู้อ่านที่เป็นคอการเมืองอาจเคยได้ยินประโยคทำนองนี้ในภาพยนตร์เรื่อง The Lady ที่กล่าวถึงชีวิตของออง ซาน ซูจี วีรสตรีประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ผูกพันกับชีวิตของทุกคนในสังคม หากเราอยู่ในแผ่นดินที่ถูกปกครองโดยรัฐ ซึ่งมีส่วนผสมของประชากร ดินแดน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล

ในชีวิตประจำวันเราอาจจะรู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ เป็นเรื่องของความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย ในทางตรงกันข้ามหากวันใดเกิดปัญหาที่กระทบกับชีวิตประจำวัน หรือหากเห็นว่าผู้มีอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำอะไรที่เป็นการฝืนความรู้สึกของสังคม ก็จะมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ตื่นตัวกับเรื่องเหล่านั้นออกมาเคลื่อนไหว

สำหรับผม แม้ว่าสมัยเรียนอยู่ชั่นมัธยมศึกษาจะชอบอ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า แต่เรื่องการเมืองผมไม่ค่อยสนใจเลย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก กระทั่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2548 จากที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และที่สวนลุมพินี ผมก็เริ่มรับรู้ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

กระทั่งในปี 2549 ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปีแรกๆ ผมเข้าร่วมชุมนุมขับไล่คุณทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เจอพี่ๆ น้องๆ ที่ทำกิจกรรมเยาวชน กระทั่งร่วมเคลื่อนไหวในนามศูนย์ประสานงานนักเรียน นิสิต นักศึกษา (ศนศ.) ทำกิจกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่การประท้วงสถานทูตสิงคโปร์เรื่องทักษิณขายหุ้นเทมาเส็ก เดินขบวนจากสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ

มาถึงปี 2551 ก่อนหน้านั้นผมทำวารสารร่วมกับ “อาร์ท-แสงธรรม ชุนชฎาธาร” บุตรชายของอดีต ส.ว.สกลนคร และอดีต 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ก็ได้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสาธิตมัฆวานฯ เพื่อให้เข้ากับธีมการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยราชดำเนิน แต่ภายหลัง “เจ้าลี-วสันต์ วานิชย์” ชวนมาทำกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า ยังก์พีเอดี (Young PAD.) กระทั่งการชุมนุมยุติ

สำหรับการชุมนุมในยุคนี้ ด้วยความที่ผมมีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบเกือบทุกวัน และโดยเฉพาะเวลาเข้างานที่แปลกกว่าชาวบ้าน คงทำอะไรตามใจไม่ได้เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้เริ่มคิดว่าผมแก่ตัวลงเป็นผู้ใหญ่แล้ว คงไม่ได้มีหัวคิดไฟแรงต่อกิจกรรมทางการเมืองเหมือนเช่นเมื่อก่อน ก็เลยปล่อยให้คนรุ่นหลังเขาเคลื่อนไหวกันไป

ผมแวะไปที่เวทีอุรุพงษ์ ของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (ก่อนที่จะย้ายไปยังถนนราชดำเนินนอก ใกล้สะพานมัฆวานรังสรรค์) ใจหนึ่งก็ไปทำข่าว อีกใจหนึ่งก็อยากเห็นพัฒนาการของพี่ๆ น้องๆ นักศึกษารามคำแหงสถาบันเดียวกับผม และน้องๆ นักศึกษาอาชีวะอยู่ห่างๆ น่าชื่นใจอยู่บ้างตรงที่ว่า เราคงไม่ใช่รุ่นสุดท้ายที่สนใจการเมือง

สิ่งที่ผมดีใจมากที่สุด คือวันก่อนผมนัดเจอเพื่อนและรุ่นพี่ที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรากฏว่ายังพบกับเพื่อนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวเดินทางมาจากภูเก็ตขึ้นมาชุมนุม หลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน 7 ปี ส่วนอีกคนคือรุ่นน้องที่เรียนมหิดล ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการที่สระบุรีก็มาพร้อมกับแฟนที่คบหากันมานานตั้งแต่ชุมนุมเนี่ยแหละ

กลายเป็นว่าที่มาตรงนี้ไม่ได้สนใจเลยว่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ หรือดารานักแสดงปราศรัยเรื่องอะไร พวกเรากลับมาเม้ามอยหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามประสาคนที่ไม่ได้เจอกันมานานเป็นปีๆ ผมใช้โอกาสนี้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก แม้ทุกคนจะโตขึ้น เปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่อุดมการณ์เดียวกันทำให้เราหากันจนเจอ

เหตุการณ์ในวันนั้น คุณดรงค์ เจ้าของคอลัมน์คิดเห็นส่วนตัวในเว็บไซต์แมนเนเจอร์ เขียนไว้ในหัวข้อ “มิตรภาพอันหวนคืน ณ ราชดำเนิน” เอาไว้ น่าเสียดายที่ยังมีอีกหลายคนคราวนี้ยังไม่ได้เจอกัน ถ้าไม่ใช่เพราะอุดมการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งก็ได้แต่คิดว่า คนเรามันเปลี่ยนกันได้ ก็คงเป็นเพราะอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีโอกาสเข้ามากรุงเทพฯ มากกว่า

การชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี จากเดิมที่เป็นการหาเสียงโชว์ตัวของ ส.ส.พรรค เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเพียงอย่างเดียว ไม่ต่างอะไรกับเวทีผ่าความจริงที่จัดทุกอาทิตย์ หลังมีเสียงตำหนิจากสังคมก็ปรับรูปแบบเวทีโดยเอานักวิชาการและวิทยากรมาขึ้นเวทีมากขึ้น

แต่ทีนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลรีบร้อนเกินไป ลงมติตอนตี 4 ครึ่งแบบไม่ชอบมาพากล เมื่อพิจารณาเนื้อหาก็พบเจตนาที่แท้จริงคือล้างคดีทุจริตของคุณทักษิณนับสิบคดี แลกกับคดีของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้คุณทักษิณได้กลับประเทศโดยไม่ต้องติดคุก 2 ปี ตามที่คุณประยุทธ์ ศิรืพานิช กรรมาธิการคนหนึ่งเสนอ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเชื่อว่า นับตั้งแต่ล้อมปราบผู้ชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม จะไม่มีใครกล้าขัดขวางคุณทักษิณอีก ก็เป็นอันต้องสะดุ้งเมื่อกระแสสังคม ไล่ตั้งแต่นักวิชาการ อาจารย์ นิสิต นักศึกษาแบบยกสถาบัน บุคลากรทางการแพทย์ พนักงานบริษัทเอกชน แม้แต่ดารานักแสดงก็แสดงจุดยืนคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเข้มแข็ง

สัญลักษณ์สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปรากฏตามเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม การแสดงพลังตามจุดต่างๆ ทั้งย่านธุรกิจอย่างสีลม อโศก และราชประสงค์ มีผู้คนมหาศาลเป่านกหวีดแบบสุดแรง ราวกับความเชื่อของคนโบราณที่เวลาเห็นราหูอมจันทร์ให้เอาไม้ตีเกราะ เคาะฆ้อง เคาะกะละมังเพื่อไล่ราหู

ในที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เมื่อก่อนบริหารประเทศแบบไม่สนใจใคร ตั้งหน้าตั้งตาเอาพี่ชายกลับบ้าน กู้เงินนับล้านล้านบาทอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อชักหัวคิวเป็นทุนเล่นการเมือง มาวันนี้กลับส่งสัญญาณไปถึงวุฒิสภาให้คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้ ส.ส.ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้หมดเพื่อลดกระแสต่อต้าน

วิวัฒนาการของการชุมนุมของคนกรุงเทพฯ ยุคนี้มีความแตกต่างไปจากปี 2549 โดยสิ้นเชิง ประวัติศาสตร์ทางการเมืองร้างลาไปหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 มาถึงยุคที่คุณทักษิณลุแก่อำนาจ การชุมนุมจึงกลายเป็นเรื่องตื่นเต้น อีกทั้งเมื่อมีเหตุการณ์รัฐประหารก็กลับมีประชาชนกลุ่มหนึ่งมอบดอกไม้ให้ทหารเพราะเชื่อว่าเป็นฝ่ายที่ออกมาแก้วิกฤตครั้งนั้น

สิ่งเดียวที่ไม่แตกต่างกันคือ หากเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ ธรรมชาติของคนกรุงเทพฯ จะมาในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ก่อนจะกลับบ้านในช่วงดึกเพื่อไปทำงานพรุ่งนี้เช้า โดยผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดจะปักหลักพักค้างกันในแต่ละกลุ่ม ภายหลังถึงมีการจัดโปรแกรมนักปราศรัยแม่เหล็กไว้ดึกที่สุด เพื่อตรึงมวลชนไว้ให้นานที่สุด

แต่การเมืองไทยในยุค 7-8 ปีหลังรัฐประหารเป็นต้นมาไม่มีอะไรดีขึ้น กลับมาสู่วังวนเดิมในปี 2551 ที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง คุณทักษิณได้กลับประเทศ กราบพื้นสนามบินมาแล้ว แต่เมื่อศาลจะตัดสินคดีที่ดินรัชดาก็กลับหนีไปต่างประเทศ กระทั่งตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา มีอายุความถึงปี 2566 ก็ไม่ได้กลับเมืองไทยมาทุกวันนี้

การชุมนุมเล่นกันถึงเลือดตกยางออกในปี 2551 นับตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงมาป่วนพันธมิตรฯ นับตั้งแต่วันแรก กระทั่ง ส.ส.พรรคพลังประชาชนนำเสื้อแดงมาปะทะกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ มาถึงตำรวจใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม กลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณยิงระเบิด M79 ใส่ที่ชุมนุมจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับร้อยราย

มาถึงปี 2552 และ 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงจัดการชุมนุมถึง 2 ครั้ง วิวัฒนาการความรุนแรงเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการไล่ทุบรถนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ในยุคนั้น การล้มประชุมอาเซียน ปีต่อมาถึงขนาดเล่นกันถึงตาย เกิดการปะทะทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม ทหาร ชายชุดดำ กลุ่มนักรบ เสธ.แดงที่รวมตัวกันในสวนลุมพินี กระทั่งเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง

หลังปี 2553 คนกรุงเทพฯ ขยาดกับการชุมนุมทางการเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะความสูญเสียที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมือง อีกทั้งวัฎจักรทางการเมืองที่มีตัวเลือกเพียงแค่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบริหารประเทศแย่ลงไม่ได้น้อยไปกว่ากัน ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนมากปล่อยวางทางการเมือง และไม่คิดจะยุ่งเกี่ยวอีก

ในยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม เมื่อเห็นภาพของกำลังตำรวจที่นำโดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง สั่งลูกน้องตีม็อบให้ตายแล้วไปว่ากันในศาล ส่อเค้าว่าจะบาดเจ็บล้มตายก็ไม่กล้าเข้าร่วม ส่วนกลุ่มหน้ากากขาวก็ถูกฉวยโอกาสทางการเมือง กลุ่มคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินจัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงล้มเหลว

แต่ความตื่นตัวทางการเมืองกลับมาอีกครั้งเมื่อคุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคเสถียร คัดค้านการทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ หนึ่งในโครงการ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เดินเท้าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ถึงกรุงเทพมหานคร 388 กิโลเมตร

จากผู้ร่วมทางเพียงไม่กี่คน ระยะเวลายาวนานกว่า 13 วัน กลับมีเพื่อนร่วมทางเข้ามาเรื่อยๆ ในช่วงวัน-สองวันสุดท้าย เขาได้นำขบวนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางกลุ่มนิสิตนักศึกษา บุคคลมีชื่อเสียง และประชาชนทั่วไปที่รับทราบเรื่องนี้ต่างแสดงจุดยืนให้กำลังใจนับพันคน

หากจะเปรียบเทียบกับการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม องค์ประกอบที่สำคัญของการเคลื่อนไหวก็คือ การสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่เปิดกว้างในการถ่ายทอดและส่งต่อความเคลื่อนไหวให้เป็นที่รับรู้แบบลูกโซ่ จากหนึ่งคน-สองคน สู่ผู้คนอีกจำนวนที่ประเมินค่าไม่ได้

คุณศศินใช้มือถือสมาร์ทโฟน ในการถ่ายทอดการเดินทางของเขา ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย โดยมีผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเขากว่า 8 หมื่นคน ขณะที่อินสตาแกรมของดารานักแสดง บุคคลที่มีชื่อเสียงก็กลายเป็นช่องทางหนึ่งในการแสดงจุดยืนคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จำนวนมากเช่นกัน

มาถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตราสัญลักษณ์ “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีดำ ถูกเผยแพร่และส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย และเมื่อการนัดเป่านกหวีดแสดงพลังเกิดขึ้น จากการชักชวนผ่านโซเชียลมีเดียก็เกิดภาพประชาชนจำนวนมหาศาลรวมตัวกัน ทั้งที่สีลม อโศก หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากนี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ปรับรูปแบบเวทีโดยเปิดกว้างให้บุคคลที่มีชื่อเสียง รวมทั้งดารานักแสดงขึ้นเวที โดยเฉพาะแตงโม กับโตโน่ เดอะสตาร์ ก็ทำให้มีทั้งเยาวชน คนทำงาน เข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น พร้อมกับถ่ายภาพขึ้นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมให้รู้ว่าเรามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว

เทรนด์การชุมนุมทางการเมืองสำหรับคนกรุงเทพฯ ยุคนี้ ผมมองว่าเป็นการต่อสู้รายประเด็น มากกว่าที่จะต่อสู้แบบถอนร่างถอนโคน เช่นการขับไล่รัฐบาล ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ข่าวสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหลัก แม้จะดูเหมือนจะเคลื่อนไหวแบบครึ่งๆ กลางๆ แต่ก็จบลงรวดเร็วโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

มองผิวเผินคนกลุ่มนี้อาจมีความสนใจทางการเมือง แต่ก็มีเสียงค่อนแคะจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งถ้าไม่ใช่พวกลิเบอรัลปากจัดซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม ก็เป็นพวกติ่งทักษิณ (ศัพท์ของคุณสุนัย ผาสุก) ว่าที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นไปตามแฟชั่น หากถามว่าคัดค้านไปทำไม ก็อาจไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรเลยก็ได้นอกจากเกลียดทักษิณ

จำได้ว่าช่วงที่มีการชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็มีพวกลิเบอรัลปากจัดคนหนึ่งค่อนแคะว่า “กูเห็นจตุจักรนี่ เอาสัตว์ป่ามานั่งขายกันโต้งๆ ดัดจริตชนเดินผ่านไปมาทุกสุดสัปดาห์ร่วมหมืนคนต่อวัน ไม่เห็นต่อมอนุรักษ์แม่งจะทำงานกันเลย” คือบางทีก็นึกขำที่คนพวกนี้มองแต่ลักษณะบุคลิกของคนอื่นโดยที่ไม่ได้โต้แย้งข้อมูลของอีกฝ่ายเลย

อีกประการหนึ่ง คำพูดของคุณเฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ซึ่งพูดจาเสียดสีไปตามประสาของคนที่รู้ทุกเรื่อง ก็พูดว่าม็อบสีลมก็ออกมาเป่านกหวีดตอนเที่ยงไม่กี่นาที คนถึงเยอะ เพราะแต่ละคนลงมาถ่ายรูปอัพเฟซบุ๊กส่งให้แฟนดูว่า วันนี้มีกิจกรรมอย่านัดไปไหน เย็นนี้มีกิจกรรม จึงมั่นใจว่าม็อบนี้ทำไม่สำเร็จ

คุณเฉลิมคงไม่รู้หรอกว่า กิจกรรมทางสังคมบนโลกออนไลน์นั้นกลับเป็นการกระตุ้นความสนใจใคร่รู้แก่คนที่มีจุดยืนเห็นด้วย ทำให้มีผู้คนแวะเวียนไปยังถนนราชดำเนินเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศการชุมนุมจริงๆ ไม่ขาดสายอีกทั้งแคมเปญลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยใช้เว็บไซต์ change.org ก็มีผู้คนกว่าครึ่งล้านลงทะเบียน

สิ่งสำคัญที่การเคลื่อนไหวรายประเด็นควรที่จะตระหนัก คือการสื่อสารแก่สังคมให้เข้าใจในประเด็นที่จะต่อสู้ เพื่อให้มีแนวคิดที่เข้มแข็ง พร้อมกับให้ประชาชนเหล่านี้ได้มีบทบาทที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่จะต่อสู้ มากกว่าที่จะเน้นแต่ภาพมวลชนจำนวนมากเคลื่อนไหวโดยเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพทางความคิด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่ยั่งยืน

ถึงกระนั้น ในเมื่อการชุมนุมทางการเมืองไม่มีสูตรสำเร็จ สิ่งสำคัญคือใครช่วงชิงความชอบธรรมได้ก็มีเปรียบในการเคลื่อนไหว ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก็มองว่าจากนี้ไปคือห้วงเวลาของการช่วงชิงความชอบธรรม ข้ออรรถาธิบาย การจูงใจ หว่านล้อม ตลอดถึงทำให้กลัว เพราะฝ่ายหนึ่งลากยาว อีกฝ่ายหนึ่งก็อยากให้จบโดยเร็ว

แม้จะมองว่าการที่รัฐบาลยอมถอยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยเป็นชัยชนะยกแรก แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ ส.ว.จะโหวตคว่ำ แต่ในระยะเวลา 180 วันร่างกฎหมายยังคงอยู่ ส.ส.มีสิทธิ์จะหยิบมาพิจารณาเมื่อไหร่ก็ได้หลังจากนั้น อีกทั้งการทำสัตยาบันของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีผลทางกฎหมาย เชื่อถือไม่ได้

อีกด้านหนึ่ง การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นการขับไล่รัฐบาลโดยผู้นำการชุมนุมทั้งกลุ่ม คปท. กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และกลุ่มกองทัพธรรม แม้พรรคประชาธิปัตย์จะแสดงจุดยืนต่อเมื่อรัฐบาลไม่สามารถทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสูญสิ้นไปได้ แต่เนื้อหาการปราศรัยก็ย่อมมองออกว่าเป็นการไล่รัฐบาล

ด้านหนึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมมองว่า มวลชนที่ออกมาแม้จะเห็นภาพคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เจตนาคือทนไม่ได้กับพฤติกรรมของรัฐบาลและรัฐสภา อีกด้านหนึ่งก็มีคนมองว่าการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นคนละเรื่องกัน และเห็นว่าหากขับไล่รัฐบาลถ้าไม่จบลงตรงที่จุดไม่ติด ก็หนีไม่พ้นความวุ่นวายแบบใดแบบหนึ่ง

เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายสันติวิธีได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ผู้นำการชุมนุมประกาศเป้าหมายและข้อเรียกร้องที่ชัดเจน และควบคุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ส่วนตำรวจและอำนาจรัฐจะต้องไม่มีการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะต้องไม่ใช้อาวุธใด ๆ ที่อาจเป็นภัยต่อชีวิตเป็นอันขาด

นอกจากนี้ ขอให้มีการกำหนดช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วในทุกระดับ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีลักษณะยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง หรือเกิดการเผชิญหน้ากัน และขอให้สื่อสารมวลชนเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ระวังการนำเสนอข่าวสารที่เป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

ผมผ่านร้อนผ่านหนาวกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ มานาน เห็นความตายของผู้ร่วมอุดมการณ์ ตั้งแต่พี่โบว์-อังคณา สารวัตรจ๊าบ ต้องคอยระแวงระเบิด M79 ใส่ที่ชุมนุมทุกคืน บางวันกำลังจะขึ้นเวทีระเบิด M79 หล่นใส่ต่อหน้าตอนตีสาม ผมรู้สึกเห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายสันติวิธี ด้วยความคิดที่ว่า ความรุนแรงที่ผมเห็นก็รู้สึกเจ็บปวดมากพอแล้ว

หวังว่าข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ คงจะเป็นทางออกให้กับทุกฝ่ายได้เตือนสติว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหา ส่วนประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างคุณผู้อ่านก็ควรใช้สติในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่ต้องแยกแยะ สำคัญตรงที่หากจะเอาตัวและชีวิตเข้าแลกกับความรุนแรงจากอำนาจรัฐก็ควรพร้อมรับความเสี่ยงตรงจุดนี้

เพราะที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดนั้น ผลที่สุดกลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาของนักการเมืองบางกลุ่ม ฉวยโอกาสใช้ความตายของมวลชนเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่อำนาจแล้วถีบหัวส่ง บ้านเมืองก็กลับไปสู่วงจรแบบเดิม รัฐบาลที่เข้ามาไม่ว่ายุคไหนก็โกงกิน ทุจริตคอร์รัปชั่น ดีไม่ดีก็เกิดรัฐประหารซ้ำขึ้นมาอีก

หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ คือ การที่อำนาจรัฐยังคงใช้กลไกกระทรวงมหาดไทยเพื่อสนับสนุนการปรองดอง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยุติการชุมนุม และการนำคุณทักษิณกลับประเทศโดยไม่ต้องติดคุก โดยอ้างว่าเพื่อกลับมารับใช้ชาติ รวมทั้งการที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ สั่งแกนนำ นปช. ปลุกเวทีกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อข่มขวัญอีกทาง

ขณะที่กำลังตำรวจโดยรอบทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ เริ่มมีภาพของการใช้อำนาจรัฐที่จะนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย ทั้งการออกข่าวใส่ร้ายป้ายสีผู้ชุมนุมเพื่อลดความชอบธรรม การสร้างสถานการณ์ยั่วยุให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง เช่น การใช้เครื่องขยายเสียงความดังระดับสูงสุดเปิดเพลงมาร์ชสันติราษฎร์ไปยังพื้นที่ชุมนุมเพื่อก่อกวนผู้ชุมนุม

ล่าสุดกับป้ายที่ตำรวจติดตั้งเพื่อข่มขู่ผู้ชุมนุมบนสะพานมัฆวานรังสรรค์ที่ระบุว่า “เขตพื้นที่ใช้แก๊สน้ำตา” และพบว่าด้านในทำเนียบรัฐบาลยังมีป้าย “จะใช้กระสุนยาง” ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจากนั้นจะมีกระสุนจริง ระเบิดจริงจากตำรวจตามมาหรือไม่ พลันให้ผมรู้สึกวิตกกังวลถึงบ้านเมืองในยามนี้ว่าความรุนแรงทางการเมืองจะหวนคืนกลับมาอีกครั้ง

ถ้าผมภาวนาว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ที่มีรัฐตำรวจอยู่ในมือ จะหาทางออกที่ไม่ใช่ทำสงครามกลางเมืองก็คงเป็นไปได้ยาก หากย้อนกลับไปในช่วงองค์การพิทักษ์สยามที่มีผู้ชุมนุมจำนวนมากเลือดตกยางออกจากการรุมทำร้ายของตำรวจ และการชุมนุมของชาวสวนยางใน จ.นครศรีธรรมราช ก็มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพราะถูกยิง แต่ก็ไม่มีใครเหลียวแล

แม้การแสดงพลังของประชาชนบนท้องถนนเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย แต่โดยแท้จริงแล้วการออกมาต่อต้านอำนาจรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกนัก สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากก็คือ ลองถามใจตัวเองก่อนว่าผลจากการต่อสู้นั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้เสียสละแรงกาย และเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและส่วนรวมได้อย่างแท้จริงหรือไม่

หากตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ไม่เปลี่ยนใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยามคับขันเป็นสิ่งสำคัญ ลองคิดดูว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น จะพาตัวเองออกจากจุดนั้นเพื่อรักษาชีวิตอย่างไร สิ่งสำคัญคือการมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้เดินไปตามอารมณ์โดยที่เราขาดสติ ซึ่งเท่ากับนำพาตัวเราไปสู่ความรุนแรง นำมาซึ่งความสูญเสียแบบประเมินค่าไม่ได้

สุดท้ายขออนุญาตยกประโยคของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ‏ฝากถึงลูกศิษย์ที่จะไปร่วมชุมนุมว่า ถ้าเกิดเหตุร้าย อย่าเสี่ยง อย่าบ้าบิ่น เพราะเมืองไทยมีวีรชนเยอะแล้ว ต้องการคนดีที่มีชีวิต






กำลังโหลดความคิดเห็น