xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศ : เชียร์ศาลสกัด พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ลล.

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ในบรรดาเครื่องมือทางอำนาจที่สำคัญที่สุด 3 ประการอันประกอบด้วย งบประมาณ อำนาจบริหารราชการ และการควบคุมสื่อ ต้องถือว่า งบประมาณเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด

งบประมาณเป็น “หัวใจ” ของการสร้างอำนาจ-ค้ำยันอำนาจและบันดาลประโยชน์จากการมีอำนาจ ลองคิดดูรัฐบาลไม่มีเงินมาใช้จ่ายจะใช้ข้าราชการคงไม่มีคนอยากให้ใช้เพราะไม่มีเงินเดือนจ่าย จัดซื้อจัดจ้างเพื่อชักเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ ขาดเงินเหมือนขาดใจ อย่าลืมนะครับว่าธรรมเนียมดั้งเดิมในการฉ้อราษฎร์บังหลวงน่ะคือการหากินกับงบประมาณแผ่นดิน ถ้าไม่มีงบฯให้จัดการไม่รู้จะมีอำนาจการเมืองไปทำไม

อันที่จริงอำนาจอีก 2 ด้านคืออำนาจบริหารราชการกับอำนาจการสื่อสารก็สำคัญนะครับ ขอเลี้ยวเข้าซอยมาอธิบายสั้นๆ พอสังเขปดังนี้

เรื่องอำนาจสื่อนี่สำคัญเพราะมันเกี่ยวข้องกับทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ การควบคุม การชักจูงสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนหรือราษฎรในประเทศตามหลักที่ว่าน้ำทำให้เรือลอยได้น้ำก็คว่ำเรือได้ การเอาชนะทางการเมือง Perception สำคัญกว่า Fact การสื่อสารในยุคก่อนแค่คุมทีวีกับวิทยุได้ก็อยู่แล้วแต่ในปัจจุบันสื่อไม่ได้กระจุกเหมือนแต่ก่อน การควบคุมโดยช่องทางเป็นไปไม่ได้แล้วแต่จะเน้นไปที่การสร้างวาระ การผูกขาดเหนี่ยวรั้งจูงใจฯลฯ ในกลวิธีแทน อธิบายสั้นๆ ว่าคุม Hardware ไม่ได้แล้วต้องหันมาสู้กันทาง Software แทน

ขณะที่อำนาจคุมระบบบริหารและราชการก็คือการควบคุมกลไกและกติกา ในยุคก่อนผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งบนดินใต้ดินเช่นใบอนุญาตโรงงานเหล้า เบียร์ โรงงานน้ำตาล ไปจนกระทั่งบ่อนซ่องล้วนมาจากกลไกราชการอำนวยให้ อำนาจราชการเป็นทั้งเครื่องมือค้ำจุนอำนาจปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามและเป็นช่องทางสร้างฐานอำนาจเอาคนของตัวเองกินตำแหน่ง โยกย้ายแต่งตั้งทีก็คือเงิน ทำโครงการใช้งบประมาณก็ยิ่งเป็นเงิน ใช้อำนาจต่อยอดร่ำรวย และใช้ร่ำรวยรักษาอำนาจโดยมีระบบราชการเป็นสะพานเชื่อม

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วอำนาจจากงบประมาณกลับเป็นอำนาจหัวใจ ไม่มีเงินซะอย่างไปทำอะไรก็ไม่ได้ดังภาษิตที่ว่ากองทัพเดินด้วยท้อง

กว่าที่ระบอบประชาธิปไตยจะพัฒนาขึ้นมาได้ทั้งยุโรปและอเมริกาปมปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องสร้างไปพลางอุดไปพลางกว่าจะอยู่ตัวคือระบบการงบประมาณ เพราะเงินของแผ่นดินได้มาจากประชาชนถือเป็นเงินของส่วนรวมที่ยกให้ฝ่ายบริหารและกลไกต่างๆ ได้ใช้จ่าย “แทน” ประชาชน เขาจึงมีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดกว่ากฎหมายอื่นๆ

งบประมาณแผ่นดินจึงหมายถึงการบรรยายสรุปสถานะและทิศทางก้าวเดินของประเทศ ต้องแจกแจงยอดรายได้ ยอดที่จะใช้ แจกแจงว่าจะกู้มาเพิ่มแค่ไหนไม่ให้มากไปจนเป็นภาระ ระบบงบประมาณมีความซับซ้อนเพราะต้องมีระบบอุดช่องโหว่รอยรั่วแต่มนุษยชาติก็มักจะเจอกับการทุจริตคอรัปชั่นกันทุกสังคมเป็นมาแต่ยุคโน้นเลย

กฎหมายงบประมาณจึงเป็นกฎหมายพิเศษต่างจากกฎหมายทั่วไป เพราะ เงิน คือ อำนาจ เป็นหัวใจของกิจกรรมทั้งหมดทั้งปวง สังคมประชาธิปไตยส่วนใหญ่จึงวางกฎว่าหากกฎหมายเงินไม่ผ่านรัฐบาลก็ต้องลาออก เพราะหากไม่ลาออกทุกอย่างของประเทศชะงักไปหมดแน่นอน

หลายวันมานี้ รัฐบาลเพื่อไทยนำกฎหมายกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเข้าสู่การพิจารณามีการถกเถียงอภิปรายโน่นนี่กันมากมายแต่ไม่ค่อยได้ยินแง่มุมหลักการคุ้มครองประชาชนจากการใช้เงินโดยรัฐมากนัก อาจเพราะว่าประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้ต่างจากเพื่อไทยที่ละเมิดหลักสำคัญว่าด้วยการใช้เงินของรัฐโดยวิธีการนอกงบประมาณมาก่อนหน้าแล้วจากเงินกู้ไทยเข้มแข็ง

นักการเมืองอาจคิดว่าการตราพระราชกำหนดกู้เงิน หรือออกพระราชบัญญัติถือเป็นการรับผิดชอบต่อประชาชนแล้วเนื่องจากกฎหมายจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อเสียงข้างมากว่ายังไงก็เป็นไปตามนั้นนี่ก็หลักเสียงข้างมากแล้วนี่?

มองจาก ส.ส.แค่นี้ก็พอแล้วนี่ผ่านสภาเป็นอันจบ แต่จากมุมของประชาชนยังไม่พอครับ !!

นั่นเพราะว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน จะต้องคุ้มครองหลักการสำคัญว่าด้วยคลังของประเทศ เพราะหากมีการละเมิดหลักการใช้จ่ายเงินก็เท่ากับละเมิดต่อประชาชนเจ้าของประเทศ เจ้าของเงิน และยังเป็นผู้แบกภาระเงินกู้ทั้งหมดนั้นด้วยซ้ำไป

บอกแล้วไงว่าเงินคือหัวใจของอำนาจ หลักการประชาธิปไตยคือป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมาก ต้องให้อำนาจไปโดยมีเงื่อนไขกำกับไม่เหมือนกับการตีเช็คเปล่าที่เป็นวิธีการของเผด็จการ

การกู้เงินนอกงบประมาณเป็นนวัตกรรมที่นักการเมืองเพิ่งคิดขึ้นมา ขอแค่มีเสียงข้างมากก็ผ่านออกมาใช้ได้แล้วก็โมเมว่าเงินก้อนนี้อยู่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงไม่ต้องผ่านการตรวจสอบเหมือนเงินในงบประมาณ นวัตกรรมแบบนี้เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างเผด็จการรัฐสภาขึ้นมาโดยแท้

ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลหลายเรื่องนะเช่นต้องรื้อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานใหม่ทั้งรถไฟทางคู่ ถนนหลวงไฮเวย์เชื่อมประเทศยกเว้นแต่รถไฟความเร็วสูงที่ที่ไม่สุดระยะไปซะทุกสายแบบมีเลศนัย แต่ทว่า หลักการสำคัญที่สุดที่ต้องรักษาไว้คือการคุ้มครองประชาชนจากการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีขอบเขต อยู่นอกกฎเกณฑ์ เกินไปจากหลักการ

โครงการรถไฟทางคู่ ไฮเวย์ต่างๆ กู้ในงบประมาณได้นี่ครับยังไม่เกินเพดานเลย เสนอเป็น พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีก็ได้ ทำเลยครับ ถ้าทำแบบนี้ขอประกาศว่าจะเป็นผู้สนับสนุนโครงการล่วงหน้าเลยเอ้า !

ขอย้ำว่าหลักการสำคัญของประชาธิปไตยนอกจาก Minority rights – Majority rule แล้วหลักสำคัญที่สุดก็คือการไม่ให้ผู้ที่มีอำนาจมีอำนาจมากเกินไปมันจึงเกิดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นมา ถ้าปราศจากการถ่วงดุลปล่อยให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเกินไปก็จะเกิดเผด็จการที่ยากแก่การปราบปรามขึ้นมาตัวหนึ่งโดยเผด็จการตัวนั้นสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตยไว้หลอกพวกโง่ๆให้หลงเชื่ออีกต่างหาก

สองพารากราฟข้างต้นของบทความนี้ได้อธิบายไปแล้วว่างบประมาณแผ่นดินเป็นหัวใจของอำนาจ ก่อให้เกิดอำนาจเพิ่มขึ้นมา ก่อให้เกิดการค้ำยันสร้างความแข็งแกร่งให้กับอำนาจและก่อให้เกิดผลพลอยได้ลาภผลร่ำรวยตามมา

งบประมาณ คือ อำนาจ !

การเพิ่มงบประมาณก็คือการเพิ่มอำนาจในทางการเมืองโดยตรง !

และการเพิ่มเงินนอกงบประมาณก็คือการเพิ่มอำนาจการเมืองโดยลดเงื่อนไขตรวจสอบถ่วงดุลนั่นเอง !

พรบ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านขัดกับหลักการสร้างประชาธิปไตยละเมิดหลักการพื้นฐานนี่เป็นการสุ่มเสี่ยงมากที่จะสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ยิ่งทำให้ระบบการเมืองบิดเบี้ยวไปใหญ่ ยิ่งเบี้ยวไปมากเท่าไรโอกาสจะเห็นเผด็จการเสียงข้างมากยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

ฝ่ายที่หนุนรัฐบาลมักจะค่อนขอดคนที่ค้านว่าเอะอะก็ค้าน ขอยืนยันว่าตัวผมไม่ได้ค้านการใช้เงินพิเศษเพื่อลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่แค่ขอให้กลับไปใช้ช่องทางปกติปิดช่องไม่ให้เกิดการผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวในระบบการปกครองบ้านเมืองต่อให้พรรคเพื่อไทยสะดุดตีนตัวเองพรรคการเมืองไหนๆ ไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือพรรคอะไรก็ไม่ควรใช้ช่องทางนี้ใช้เงินของประชาชนอีกแล้ว หากประชาธิปัตย์ขึ้นมาแล้วจะกู้เงินทำไทยเข้มแข็งด้วยการนอกงบประมาณผมก็จะค้านครับ บอกไว้ล่วงหน้าเหมือนกัน

เสียงในสภาของเรามันเป็นเสียงข้างมากลากไป หากยื่นไมโครโฟนไปสัมภาษณ์ถามว่าเหตุใดจึงยกมือเรื่องโน้นเรื่องนี้เชื่อขนมเหอะว่าตอบได้ไม่ถึง 30% ที่เหลือมันก็แค่นักยกมือตามโพยแห่ตามเป็นฝูงวัวฝูงควายขนาดประชุมอยู่ยังถ่ายรูปกันเล่นน่าอเนจอนาถ กฎหมายตัวนี้ยังไงก็ผ่านรัฐสภาและจะไปเจอด่านศาลรัฐธรรมนูญ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองหลักการสำคัญให้กับประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระงบประมาณทั้งกู้ทั้งผ่อน และนี่ยังไม่สำคัญเท่ากับการสร้างบรรทัดฐานศรีธนญชัยทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ (เพราะงบประมาณคือหัวใจอำนาจ) ลงไปอีกหลักหนึ่ง

ประเทศนี้ถูกฝ่ายการเมืองทำลายหลักตรวจสอบถ่วงดุลไปแล้วหลายเรื่องและนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หากศาลรัฐธรรมนูญเลือกจะตัดสินโดยยึดหลักการไม่ให้พรบ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านผ่านไปได้ คนที่การเมืองเข้าเลือดในสายตามีแต่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์อาจมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ข้างประชาธิปัตย์ เป็นอำมาตย์ล้มรัฐบาลเอยทั้งๆ มีคนอีกจำนวนมากที่เป็นภาระหนี้โดยไม่เห็นเกี่ยวกับการแย่งชิงทางการเมืองของสองพรรค

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งจึงได้แค่ภาวนาว่าขอให้ศาลแสดงความกล้าหาญคุ้มครองหลักการสำคัญว่าด้วยการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจครั้งสำคัญของประเทศนี้ เพราะนี่คือการคุ้มครองประชาชนให้ยังอยู่กับแนวทางประชาธิปไตยและสังคมที่พอมีหลักประกันอะไรอยู่บ้าง

อนึ่ง-ใครที่คิดว่าไอ้นี่เพิ่งมาดัดจริตค้านตอนเพื่อไทยไม่เห็นค้านตอนประชาธิปัตย์...ไม่เป็นความจริงหรอกนะครับผมพอมีหลักฐานยืนยันว่าตอนที่ประชาธิปัตย์ออกกฎหมายเงินกู้ผมทำอะไรไปบ้าง และขอให้เชื่อเถอะต่อให้พรรคอะไรขึ้นมาหากทำแบบนี้อีกก็ต้องค้านทั้งนั้น !
กำลังโหลดความคิดเห็น